วันอังคารที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2567

หนี้เน่าสะพัด / โดย พระพยอม กัลยาโณ

On July 19, 2018

คอลัมน์ : สำนักข่าวพระพยอม

ผู้เขียน : พระพยอม กัลยาโณ

หนี้เน่า หนี้เสีย หนี้ไม่ก่อรายได้ หรือเอ็นพีแอล มีมากขึ้นสำหรับเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่เรียกว่า “กยศ.” เพราะเรียนจบแล้วไม่มีงาน ไม่มีรายได้ อาจมีบางคนมีงานแต่รายได้ไม่พอจ่าย ส่วนคนที่มีงานแต่ไม่จ่ายคืนเลยก็มี แต่เด็กส่วนใหญ่คงไม่อยากโดนฟ้อง อยากคืนหนี้ให้หมดเร็วที่สุด

ขณะที่ครูก็เป็นหนี้เงินกู้โครงการสวัสดิการต่างๆจนหนี้พอกไม่มีจ่ายนับหมื่นนับแสนคน บางคนมีความจำเป็นต้องกู้เพื่อการดำรงชีวิต ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าใช้จ่ายลูก แต่บางคนก็ใช้จ่ายเกินตัว หรูหราฟู่ฟ่า พอมีปัญหาก็ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลช่วย รัฐบาลจะเอาเงินที่ไหนมาช่วย เพราะเป็นภาษีของประชาชน แต่ที่ออกมาพูดเรื่องธนาคารออมสินให้ผ่อนปรนเงื่อนไขการจ่ายเงินกู้คืน จึงเรียกร้องให้ผ่อนปรนเงื่อนไขให้สามารถจ่ายได้ โดยเฉพาะครูที่เกษียณแล้ว

หนี้ครูไม่เหมือนหนี้เกษตรกร จึงต้องดูว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาอย่างไร เพราะหนี้เกิดจากหลายเงื่อนไข ครูไม่ได้เบี้ยวหนี้ มีคนบอกว่าถ้ารัฐบาลช่วยหนี้ครูก็ต้องช่วยหนี้เกษตรกรด้วย ต้องดูทั้งระบบให้เป็นธรรมและเท่าเทียมกัน แต่รัฐบาลจะเอาเงินมาจากไหน เงินคงคลังวันนี้ก็ติดลบ เตี้ยติดดิน

เรื่องหนี้เกี่ยวข้องกับการบริหารชีวิตด้วย ต้องรู้จักที่จะใช้จ่าย เคยมีผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งทางภาคเหนือจัดงานฉลองขึ้นบ้านใหม่พร้อมกับฉลองวันเกิดอย่างใหญ่โต ใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่ายฟุ่มเฟือย ในที่สุดก็ล้มละลายและถูกสอบเพราะโกงหลายเรื่อง รวมถึงอาหารกลางวันเด็กด้วย

อาตมานึกถึงครูรุ่นก่อนๆที่ใช้ชีวิตเรียบง่าย สมถะ กินน้อย ใช้น้อย อย่างครูศรีสอางค์ ทองเพียร ที่เป็นครูสอนอาตมา แกใช้ชีวิตเรียบง่ายจริงๆ สามีเป็นอาจารย์ใหญ่ ครูใหญ่ แต่ยังเอาข้าวใส่ปิ่นโตหม้อเขียวไปกิน วันหนึ่งเกิดลืมปิ่นโต อาตมาต้องพายเรือไปส่งให้ แกก็ให้อาตมา 1-2 บาท ทำให้นึกถึงความประหยัดอดออม ไม่ใช้จ่ายอะไรสุรุ่ยสุร่ายจนเป็นหนี้

ตามหลักพุทธศาสนาบอกว่า “อิณา ทานัง ทุกขัง โลเก” การกู้หนี้เป็นทุกข์ เป็นทุกข์ของโลก ดังนั้น อย่าเป็นหนี้ก็จะไม่ทุกข์ ก็ต้องบอกกล่าวถึงครูที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเรื่องหนี้ต้องดูเหตุผลและความจำเป็นด้วย ถ้ารัฐบาลช่วยปลดหนี้ให้ครูก็ต้องช่วยกลุ่มอื่นๆด้วย ครูจึงต้องพิจารณาว่าข้อเรียกร้องถูกต้องเหมาะสมหรือไม่

เมื่อเปรียบเทียบหนี้เกษตรกรแล้วแตกต่างกันลิบ เกษตรกรต้องลงทุนทั้งน้ำ ปุ๋ย ยา ค่าแรง แต่ครูลงทุนลงแรง ลงทุนความรู้สอนเด็ก มีค่าใช้จ่ายก็ไม่มากเท่าเกษตรกร ก็ต้องพิจารณา “สัมมากัมมันตะ” อาชีพที่ชอบ “สัมมาอาชีวะ” ใช้จ่ายชอบ

ยิ่งช่วงนี้รัฐบาลไม่ร่ำรวย เก็บภาษีก็ไม่ได้มากพอกับรายจ่าย ก็ขอฝากทุกองค์กรอย่าบีบคั้นรัฐบาลมากนัก รัฐบาลเครียดอยู่แล้ว ทั้งยังโดนต่อว่าเรื่อง “ดูด” อีก จะดูดใครและจะถูกดูดกลับอย่างไรก็ขอฝากให้ช่วยกันร่วมกันทำให้ประเทศกลับมาเข้มแข็ง เงินคลังเข้มแข็ง อย่าเจาะรูจนเงินคลังร่อยหรอไม่พอพัฒนาประเทศเลย

เจริญพร


You must be logged in to post a comment Login