วันพฤหัสที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2567

ถ้ำหลวง: 17 วันแห่งภารกิจช่วยทีมหมูป่าจากมิตรภาพ ความร่วมมือ คราบน้ำตา

On July 17, 2018

 

กราฟฟิกเด็กเตะฟุตบอล

เว็็บไซต์บีบีซีไทยรายงานการช่วยเหลือหมูป่าอะคาเดมีออกมาจากถ้ำหลวงอย่างปลอดภัยโดยทีมกู้ภัย ทำให้ที่หลายคนคิดว่าเป็น “ภารกิจที่เป็นไปไม่ได้” (Mission Impossible) กลายเป็นเรื่องจริงขึ้นมา นับตั้งแต่นักฟุตบอล 12 คนและโค้ชติดอยู่ภายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย มาตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. ที่ผ่านมา

การช่วยเหลือสมาชิกทีมหมูป่าตลอดกว่าสองสัปดาห์ที่ผ่านมา กลายเป็นเหตุการณ์ที่โลกต้องจดจำ เพราะถูกร้อยเรียงโดยเรื่องราวแห่งมิตรภาพ สายใยแห่งมนุษยชาติ ความสูญเสียที่กลายเป็นพลังที่ผลักดันในภารกิจครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

บีบีซีขอประมวลเรื่องราวแห่งประวัติศาสตร์นี้อีกครั้ง

เมื่อการฉลองวันเกิดไม่เป็นไปตามที่คิด

เรื่องราวเริ่มต้นในวันที่ 23 มิ.ย. อันเป็นวันคล้ายวันเกิดครบ 17 ปีของนายพีรพัฒน์ สมเพียงใจ หรือ น้องไนท์ สมาชิกทีมหมูป่า และเป็นนักเรียนจาก ร.ร.แม่สายประสิทธิ์ศาสตร์

หลังจากที่เขาและเพื่อน ๆ ทีมหมูป่า พร้อมด้วยผู้ช่วยผู้ฝึกสอน หรือ โค้ชเอก นายเอกพล จันทะวงษ์ ได้ซ้อมฟุตบอลเสร็จแล้ว ทุกคนก็ปั่นจักรยานมุ่งหน้าไปที่ถ้ำหลวง เพื่อที่จะฉลองวันเกิดให้กับน้องไนท์

ภาพของเด็ก ๆ ทีมหมูป่าที่โพสต์บนเฟซบุ๊กก่อนที่พวกเขาจะเดินทางเข้าไปในถ้ำหลวงImage copyrightFACEBOOK/NOPPARAT KANTHAWONG
คำบรรยายภาพภาพของเด็ก ๆ ทีมหมูป่าที่โพสต์บนเฟซบุ๊กก่อนที่พวกเขาจะเดินทางเข้าไปในถ้ำหลวง

ก่อนเข้าไปภายในถ้ำ พวกเขาได้ทิ้งกระเป๋าและจอดรถจักรยานไว้ตรงทางเข้าถ้ำ พกเพียงไฟฉายไปเพราะคาดว่าจะอยู่ภายในถ้ำราวหนึ่งชั่วโมง แต่ฝนที่ตกอย่างหนักในช่วงเวลานั้น ทำให้เกิดน้ำท่วมปิดปากถ้ำจนทำให้พวกเขาต้องติดอยู่ภายใน

เค้กที่ยังรอเจ้าของวันเกิดImage copyrightAFP
คำบรรยายภาพเค้กที่ยังรอเจ้าของวันเกิด

อีกด้านหนึ่ง ที่บ้านของน้องไนท์ ครอบครัวได้เตรียมของขวัญและขนมเค้กไว้ฉลองวันเกิดให้ แต่จนพลบค่ำน้องไนท์ก็ยังไม่กลับมาทำให้ทางบ้านเริ่มเป็นกังวลจึงตามหาและทราบว่า น้องไนท์ติดภายในถ้ำหลวง ในขณะที่เค้กวันเกิดถูกเก็บไว้ในตู้เย็นรอเจ้าของวันเกิดจนถึงวันนี้

หมูป่าหายตัวไปไหน?

เทือกเขาขุนน้ำนางนอนได้ชื่อเพราะว่า หากมองดี ๆ เทือกเขานี้จะมีลักษณะคล้ายผู้หญิงนอนหงาย ทอดกายเป็นเขตแดนกั้นระหว่างไทยกับเมียนมา ภายในเทือกเขายังมีถ้ำหลวงซึ่งมีความยาวของระบบโถงถ้ำภายในถึง 10 กิโลเมตร และเป็นถ้ำที่มีความใหญ่ติดอันดับ 4 ของประเทศ

เทือกเขาขุนน้ำนางนอนImage copyrightGETTY IMAGES

เสน่ห์ความงามของถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนอย่างไม่ขาดสาย มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมเช้ากลับเย็น หรือแม้แต่บรรดาเด็ก ๆ ท้องถิ่น ที่ชื่นชอบกิจกรรมผจญภัยก็มักเข้าไปกันเสมอ

ในอดีตก็เคยมีรายงานว่ามีคนพลัดหลงในถ้ำหลวงนี้และสูญหายไปอยู่บ้าง แม้ถ้ำจะดูสงบเงียบสวยงามในหน้าแล้ง แต่ในถ้ำก็มีป้ายเตือนไว้ว่าห้ามเข้าถ้ำตั้งแต่เดือน ก.ค. เป็นต้นไป เนื่องจากเมื่อน้ำหลากมา ถ้ำหลวงก็จะกลายเป็นสถานที่อันตรายแบบสุดขั้ว เพราะน้ำอาจท่วมสูงได้ถึง 5 เมตรในบางแห่ง

โจชัว มอร์ริส มัคคุเทศก์ท้องถิ่นบอกกับบีบีซีว่า ในช่วงฤดูฝนน้ำจะหลากมาพร้อมกับโคลนจำนวนมาก จนทำให้แทบมองไม่เห็นอะไร

ร่องรอยที่เหลือที่ปากถ้ำImage copyrightAFP

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับชาว อ.แม่สาย เมื่อบรรดาผู้ปกครองทราบแล้วว่า ลูก ๆ เข้าไปเล่นในถ้ำหลวงผ่านแอปพลิเคชันสนทนา ในวันที่ฝนตกหนัก มีอย่างเดียวคือพวกเขาต้องมุ่งหน้าสู่ถ้ำเพื่อตรวจสอบ

เมื่อถึงปากถ้ำ สิ่งที่พวกเขาพบก็คือ รถจักรยานถูกจอดทิ้งไว้ เช่นเดียวกันกับกระเป๋าและรองเท้าฟุตบอล ที่ถูกวางไว้ เป็นสัญญาณไม่ดีแก่พวกเขาอย่างมาก

ตัดภาพกลับไปในถ้ำ กลุ่มสมาชิกหมูป่าพบว่าตกอยู่ในสถานการณ์คับขันแล้ว ในขณะปริมาณน้ำที่ไหลเข้ามาในถ้ำมีจำนวนมาก เนื่องจากฝนตกต่อเนื่องมาหลายวัน ข้อมูลจากญาติที่ออกมาที่ได้สนทนากับเด็ก ๆ เมื่อออกมาแล้วบอกว่า เมื่อเข้าไปได้สักพักก็เกิดน้ำท่วมฉับพลันภายในถ้ำ ทำให้พวกเขาต้องถอยร่นหนีน้ำเข้าไปลึกภายในถ้ำมากยิ่งขึ้น

ภาพกราฟฟิกจำลอง

ถามว่าลึกขนาดไหนนั้น จุดที่ทีมดำน้ำจากอังกฤษเจอเด็ก ๆ ก็คือ บนเนินนมสาว ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปราว 4 กิโลเมตรจากปากถ้ำ ซึ่งเลยจุดที่เรียกว่า หาดพัทยา เข้าไปอีก

ในสภาพภายในถ้ำลึก รายล้อมไปด้วยความมืดมิด แทนที่จะทำให้พวกเขาหวาดกลัวจนถึงขีดสุด ทว่าพวกเขากลับรวบรวมสติ ใช้หินที่มีตรงนั้นขุดเนินดินเป็นที่พักพิงเพื่อที่จะนั่งอยู่ร่วมกันรักษาอบอุ่นของร่างกาย โค้ชเอก ซึ่งเคยบวชเป็นพระมาก่อน ใช้สอนให้เด็ก ๆ นั่งสมาธิ ควบคุมลมหายใจลดการใช้ออกซิเจน เพื่อรักษาความแข็งแรงของร่างกาย ขณะที่ไม่มีอาหาร พวกเด็ก ๆ ก็อาศัยน้ำที่หยดที่ซึมออกจากหินงอกหินย้อยประทังความหิว หากพิจารณาแล้วพวกเขากลับอยู่ในสภาพที่เอื้อให้มีชีวิตรอดต่อไปสักระยะ

กราฟฟิกเด็กนั่งฟุตบอล

ระดมกำลังช่วยกันทุกทาง

ส่วนภายนอกถ้ำหลวงนั้น ปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือทีมหมูป่าก็ดำเนินการไปอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็น ทีมนักทำลายใต้น้ำจู่โจมหรือหน่วยซีล ตำรวจ และหน่วยกู้ชีพอื่น รวมไปจนถึงกลุ่มจิตอาสาต่างระดมกำลังกันเพื่อสนับสนุนภารกิจนี้ให้สำเร็จลุล่วงไป

เจ้าหน้าที่ค้นหาปล่องภายนอกถ้ำหลวงImage copyrightAFP
คำบรรยายภาพเจ้าหน้าที่ค้นหาปล่องภายนอกถ้ำหลวง

แม้ว่าในช่วงแรกจะไม่ทราบพิกัดแน่ชัดว่าทีมหมูป่าติดอยู่จุดไหนถายในถ้ำ แต่เจ้าหน้าที่ก็ใช้ทุกวิถีทางที่จะเข้าไปยังจุดที่คาดว่าบรรดาเด็ก ๆ และโค้ชติดอยู่ ซึ่งในขณะนั้นเชื่อว่าติดอยู่ตรงจุดเรียกว่า “หาดพัทยา” ไม่ว่าจะเป็นการส่งเจ้าหน้าที่ปูพรมสำรวจโพรงถ้ำจากด้านนอก ที่มีความเป็นไปได้ว่าจะมีช่องทางเข้าสูโถงต่าง ๆ ภายในถ้ำ ในขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ทางวิศวกรรมและกลุ่มขุดเจาะน้ำบาดาลก็ช่วยกันขุดเจาะน้ำออกมา เพื่อพร่องน้ำภายในถ้ำและน้ำใต้ดินให้ออกมามากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

นอกจากนี้ยังอาศัยเทคโนโลยีอื่น ๆ ในการช่วยติดตามด้วย เช่น โดรน สุนัขดมกลิ่น

อีกทางหนึ่งที่คิดว่าช่วยได้คือการสวดมนต์ อ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยให้เจ้าหน้าที่ค้นหาเด็ก ๆ หมูป่าได้โดยเร็วและช่วยให้เด็ก ๆ ยังปลอดภัยดี

ญาติสวดมนต์Image copyrightAFP

นานาชาติร่วมภารกิจ

เรื่องราวปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือเด็ก ๆ หมูป่า ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ ของ อ.แม่สาย จ. เชียงรายแล้ว เพราะปฏิบัติการครั้งนี้ต้องการกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะการดำน้ำในถ้ำที่น้ำท่วม ทำให้กลุ่มกู้ภัยนานาชาติเดินทางเข้ามา กลุ่มแรกเดินทางมาถึงพื้นที่ในวันที่ 28 มิ.ย. ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการกู้ภัยของกองทัพอากาศสหรัฐ ฯ นักดำน้ำในถ้ำจาก สหราชอาณาจักร เบลเยียม ออสเตรเลีย และประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย รวมทั้งอีกหลายชาติอย่าง ลาว, จีน ฯ ที่ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการกู้ภัยเข้ามาช่วย

หน่วยกู้ภัยนานาชาติImage copyrightGETTY IMAGES

ตลอดการค้นหา เจ้าหน้าที่กู้ภัยและนักดำน้ำจากนานาชาติ ต้องเผชิญกับความยากลำบาก ไม่ใช่เพียงอุปสรรคจากน้ำท่วมสูง แต่ยังรวมไปถีงลักษณะทางกายภาพของโพรงถ้ำใต้น้ำมีการเปลี่ยนแปลงภายหลังน้ำท่วม บางจุดก็เต็มไปด้วยโคลนตม ทำให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นยากลำบากมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม 7 วันหลังจากที่เด็กหายตัวไป เจ้าหน้าที่กู้ภัยก็สามารถรุกคืบเข้าไปภายถ้ำได้อีก โดยสามารถเข้าถึงโถงที่ 3 ซึ่งถือว่าเป็นโถงขนาดใหญ่ และเจ้าหน้าที่กู้ภัยได้ตัดสินใจใช้โถง 3 เป็นจุดบัญชาการเพื่อติดต่อประสานงานกับศูนย์บัญชาการตรงปากถ้ำ

ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จก็อยู่ที่นั่น คำกล่าวนี้มักเป็นจริงเสมอ เพราะหลังจากนั้นเพียงวันเดียว นักดำน้ำชาวอังกฤษก็มีข่าวดีที่ทำให้ทุกคนที่เฝ้ารอ “คนแปลกหน้าที่อยากเจอที่สุด” ได้เฮกัน

13 คนใช่ไหม? เยี่ยมยอดมาก!

ค้นพบเด็ก ๆ ในถ้ำ

นายจอห์น โวลันเธน และนายริชาร์ด สแตนตัน นักดำน้ำชาวอังกฤษต้องดำน้ำผ่านโพรงถ้ำที่แคบและมืด และติดตั้งเชือกนำทางไปด้วย ในที่สุดทั้งสองคนก็เข้าถึงหาดพัทยาที่คาดเด็กจะอยู่กัน แต่ปรากฏว่าไม่พบร่องรอยอะไรเลย ต่อจากนั้นพวกเขาจะมุ่งหน้าเข้าไปอีกไม่กี่ร้อยเมตรก็พบโพรงที่มีอากาศ

“ทุกครั้งที่มีโพรงอากาศ เราจะโผล่ขึ้นมาแล้วตะโกน และสูดอากาศเพื่อรับกลิ่น” จอห์นบอกกับบีบีซี ซึ่งวิธีนี้คือขั้นตอนมาตรฐานในการกู้ภัย

“เราได้กลิ่นของเด็ก ๆ ก่อนที่จะเจอและได้ยินพวกเขา”

ถ้ำหลวง: ‘กลิ่น’ นำไปสู่การพบตัวเด็ก

กองทัพจิตอาสา

ลานพื้นที่หน้าถ้ำหลวงอาจจะดูแคบไปถนัดตา เมื่อกองทัพสื่อมวลชนทั้งจากไทยและต่างประเทศ รวมทั้งเจ้าหน้าที่และบรรดาจิตอาสาเข้ามาปักหลักเพื่อทำหน้าที่ โอบล้อมด้วยป่า ในช่วงแรกของการทำงานฝนตกอย่างต่อเนื่องทำให้พื้นดินกลายเป็นพื้นโคลน

อย่างไรก็ตามในสถานการณ์อันแสนยากลำบาก น้ำใจก็หลั่งไหลมา ไม่ว่าจะเป็นการตั้งครัวพระราชทาน ที่ให้บริหารอาหารและเครื่องดื่มฟรีแก่เจ้าหน้าที่และสื่อมวลชน ความช่วยเหลือของจิตอาสาก็ขยายครอบคลุมไปหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ขับรถมอเตอร์ไซค์รับส่งฟรี รถสองแถวฟรี รับซักเสื้อผ้าให้เจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนฟรี

ถ้ำหลวง: กองทัพอาสาสมัครของไทย

วีระบุรุษผู้สละชีพ

จ่าสมาน หรือ นาวาตรี สมาน กุนัน คือ บุคคลที่ต้องถูกจารึกชื่อในปฏิบัติการช่วยเหลือหมูป่าครั้งนี้ เพราะถือว่าเป็นวีรบุรุษที่เสียชีวิตระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ใคร ๆ ไม่คาดคิดและไม่ต้องการให้เกิดขึ้น เหตุเกิดขึ้นในวันที่ 6 ก.ค. ในระหว่างที่ลำเลียงถังบรรจุอากาศเข้าไปภายในถ้ำ เขาได้หมดสติเนื่องจากขาดอากาศทำให้นักดำน้ำบัดดี้ต้องดึงตัวเขาขึ้นมาและพยายามช่วยชีวิตแต่ก็ไม่สามารถยื้อชีวิตของเขาไว้ได้ จ่าสมานต้องสละชีพด้วยอายุเพียง 38 ปีเท่านั้น

จ.อ. สมาน กุนัน วีรบุรุษถ้ำหลวง

การสูญเสียอดีตเจ้าหน้าที่หน่วยซีล ไม่ได้หยุดยั้งภารกิจการช่วยเหลือทีมหมูป่า ในขณะที่พิธีศพของจ่าสมานจัดขึ้นอย่างสมเกียรติ และต่อมาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า จ่าเอก (จ.อ.) สมาน กุนัน ทหารกองหนุนประเภทที่ 1 ชั้นที่ 3 สังกัดกองเรือยุทธการ เป็นผู้ที่ประกอบคุณงามความดี และได้อุทิศความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์จนกระทั่งตนเองเสียชีวิต มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน องค์กร และนานาประเทศ

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 5 และมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติยศทหาร พุทธศักราช2479 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศ นาวาตรี (น.ต.) เป็นกรณีพิเศษให้แก่ จ่าเอก สมาน กุนัน และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นประถมาภรณ์ช้างเผือก เป็นกรณีพิเศษ

บรรยากาศที่สนามบิน จ.ร้อยเอ็ดเป็นไปอย่างโศกเศร้า โดยมีครอบครัวและญาติของ จ.อ. สมาน มารอรับศพ เมื่อ 7 ก.ค.Image copyrightWASAWAT LUKHARANG/BBC THAI
คำบรรยายภาพบรรยากาศที่สนามบิน จ.ร้อยเอ็ดเป็นไปอย่างโศกเศร้า โดยมีครอบครัวและญาติของ จ.อ. สมาน มารอรับศพ เมื่อ 7 ก.ค.
พวกหรีดImage copyrightWASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

การจากไปของ จ.อ. สมาน ทำให้เขาถูกยกให้เป็นฮีโร่ แต่สำหรับวลีพร ภรรยาบอกว่า ชายผู้นี้คือฮีโร่ในชีวิตของเธอมาโดยตลอด

ประกาศดีเดย์

ผ่านเรื่องดีใจที่ได้พบเจอเด็ก ๆ ทีมหมูป่าแล้ว ผ่านเสียใจจากการสูญเสียมาแล้ว ตอนนี้ถึงเวลาที่จะต้องเริ่มปฏิบัติการลำเลียงทีมหมูป่าออกจากถ้ำหลวง

นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายฯ แถลงในวันที่ 8 ก.ค. ว่า “วันนี้คือ “ดีเดย์” โดยเริ่มปฏิบัติภารกิจตั้งแต่เวลา 10.00 น. โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ 13 คน และซีลไทย 5 คนเข้าร่วมปฏิบัติการ และคาดว่าเด็กคนแรกจะออกจากถ้ำในเวลาประมาณ 21.00 น. ”

ในการลำเลียงเด็ก ๆ หมูป่าและโค้ชออกจากถ้ำ ทีมกู้ภัยจะต้องนำตัวเด็กผูกติดกับเปลกู้ภัยที่ผูกติดกับรอกอีกที เพื่อให้ทีมกู้ภัยสามารถดึงตัวเด็กออกมาอย่างสะดวกทั้งในจุดน้ำท่วมและจุดแคบ ขณะเดียวกันมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ต้องให้ยาคลายเครียดกับเด็ก ๆ ในระหว่างการลำเลียงเพื่อป้องกันภาวะตื่นตระหนกจนทำให้หน้ากากออกซิเจนที่ครอบทั้งใบหน้าหลุดระหว่างการปฏิบัติการImage copyrightAFP/ROYAL THAI NAVY
คำบรรยายภาพในการลำเลียงเด็ก ๆ หมูป่าและโค้ชออกจากถ้ำ ทีมกู้ภัยจะต้องนำตัวเด็กผูกติดกับเปลกู้ภัยที่ผูกติดกับรอกอีกที เพื่อให้ทีมกู้ภัยสามารถดึงตัวเด็กออกมาอย่างสะดวกทั้งในจุดน้ำท่วมและจุดแคบ ขณะเดียวกันมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ต้องให้ยาคลายเครียดกับเด็ก ๆ ในระหว่างการลำเลียงเพื่อป้องกันภาวะตื่นตระหนกจนทำให้หน้ากากออกซิเจนที่ครอบทั้งใบหน้าหลุดระหว่างการปฏิบัติการ

ขณะเดียวกันนั้น สื่อมวลชนได้ถูกร้องขอให้ออกจากพื้นที่บริเวณหน้าถ้ำหลวง เพื่อเปิดทางให้การลำเลียงเด็กนักฟุตบอลและโค้ชออกจากถ้ำได้อย่างสะดวกมากขึ้น พร้อมจัดส่วนที่ทำการ อบต. โป่งผาเป็นศูนย์สื่อมวลชนแห่งใหม่แทน

ตลอดสามวันนับจากนั้น สมาชิกหมูป่าก็ทะยอยถูกลำเลียงออกจากถ้ำหลวงและถูกนำส่งตัวไปยังโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ด้วยรถพยาบาลและเฮลิคอปเตอร์ ก่อนที่มรสุมจะเข้ามา

หมูป่าพร้อมหน้ากันอีกครั้ง

ในช่วงสัปดาห์แรกที่โรงพยาบาล เด็ก ๆ หมูป่ายังต้องได้รับการตรวจร่างกายอย่างละเอียด ยังต้องสวมชุดคลุม หน้ากาก เพื่อป้องกันการติดเชื้อ แต่ทีมแพทย์ระบุว่าทุกคนยังแข็งแรงดีและยังโบกมือทักทายผู้ปกครองที่เข้ามาเยี่ยม ซึ่งระยะแรกอนุญาตให้เยี่ยมข้างนอกห้องผู้ป่วยก่อน แต่ตอนนี้บางส่วนสามารถเยี่ยมไข้ได้เป็นปกติแล้ว

ส่วนเรื่องอาหารนั้น ในช่วงแรกต้องรับประทานตามความคำแนะนำของแพทย์ ส่วนตอนนี้น้อง ๆ บางคน สามารถรับประทานอาหารปกติได้แล้ว ก่อนหน้านี้น้อง ๆ บางคนเคยร้องขอว่า อยากกินขนมปังช็อกโกแลต

หน่วยซีล 4 คนสุดท้ายที่ออกมาจากถ้ำหลังภารกิจเสร็จสิ้นลงImage copyrightAFP
คำบรรยายภาพหน่วยซีล 4 คนสุดท้ายที่ออกมาจากถ้ำ ภายหลังภารกิจเสร็จสิ้นลง

สำหรับฝั่งเจ้าหน้าที่กู้ภัยแล้วบอกว่าภารกิจครั้งนี้ คือความหวังจะน้อย แต่พวกเขาต้องทำ

“ความหวังเล็ก ๆ เท่านั้นเอง แต่ว่าด้วยความที่เราต้องสู้ ต้องทำให้ได้ คือความหวังเล็ก ๆ เนี่ยแต่เราต้องทำ เราอย่าทิ้งความหวังนั้น” พล.ร.ต. อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ กล่าวในบทสัมภาษณ์พิเศษกับบีบีซีไทย

เปิดใจ พล.ร.ต. อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ

มีหลายคนเคยคาดการณ์ว่า เรื่องราวเด็กนักฟุตบอล 12 คนและโค้ชติดภายในถ้ำหลวงอาจจะจบด้วยเรื่องโศกนาฏกรรม แต่ด้วยแรงพลังของคนทั้งในประเทศและต่างประเทศ กลับทำให้เรื่องราวของชุมชนเล็ก ๆ ในจังหวัดชายแดนเหนือสุดของไทย กลายเป็นเรื่องธรรมดาที่ผูกโยงสายใย มิตรภาพ ความร่วมมือ และความคาดหวังไปพร้อม ๆ กับคนทั้งโลก และทำให้ถ้ำหลวงกลายเป็นเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกไปแล้ว

เรื่องราวการช่วย 13 ชีวิตทีมหมูป่ากลายเป็นเรื่องราวที่ถูกกล่าวขวัญของคนไทยImage copyrightAFP
คำบรรยายภาพเรื่องราวการช่วย 13 ชีวิตทีมหมูป่ากลายเป็นเรื่องราวที่ถูกกล่าวขวัญของคนไทย

หากถามว่า อนาคตของถ้ำหลวงจะเป็นอย่างไร อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช บอกว่า แผนเร่งด่วนในตอนนี้คือการเร่งฟื้นฟูระบบนิเวศน์ในพื้นที่ เช่น ส่วนที่ต้องมีการเปลี่ยนทิศทางการไหลของน้ำเพื่อช่วยในการป้องกันไม่ให้น้ำไหลวกเข้ากลับไปภายในถ้ำ

ถ้ำหลวง: จากปฏิบัติการกู้ภัยสู่หนังฮอลลีวูด

ส่วนแผนระยะยาวนั้น ทางการท้องถิ่นบอกว่ามีแผนที่จะปรับพื้นที่ถ้ำให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์และแหล่งท่องเที่ยว ในขณะเดียวกันมีผู้สร้างภาพยนตร์อย่างน้อยสองรายที่สนใจสร้างหนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับภารกิจช่วยเหลือ 13 ชีวิตหมูป่าในถ้ำหลวง ให้เป็นหนังในระดับฮอลลีวูดที่ผูกปมเรื่องจากภารกิจดังกล่าว

สำหรับเด็ก ๆ สมาชิกหมูป่าและโค้ชเอก ภายหลังจากออกจากโรงพยาบาล สิ่งแรกที่จะต้องทำการกลับไปใช้ชีวิตกับครอบครัวหลังจากไม่ได้พบเจอกันมาเป็นเวลาหลายสัปดาห์ และสิ่งถัดไปการบวช เพื่อความเป็นศิริมงคล และปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไป ตามความเชื่อศาสนาพุทธ และยังเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้กับ จ่าแซม ผู้เสียสละมากที่สุดในภารกิจครั้งนี้

นอกเหนือจากนี้ยังมี น้องไนท์ ที่ยังคงไม่ได้ฉลองวันเกิดครบ 17 ปีกับครอบครัวเลย ทางผู้ปกครองบอกว่าจะจัดงานฉลองวันเกิดให้ตามสัญญาอย่างแน่นอน

หมายเหตุบทความนี้เรียบเรียงโดยทีมงานบีบีซีไทย จากรายงานต้นฉบับที่ตีพิมพ์โดยบีบีซีนิวส์ และเนื้อหาบางส่วนมาจากบีบีซี บริสตอล, บีบีซีไทย, ภาพอนิเมชัน โดย เดวีส์ สุรยา และขอขอบคุณชาวเชียงรายและคนไทยทีมีส่วนทำให้รายงานนี้เกิดขึ้น


You must be logged in to post a comment Login