วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

ก้าวหน้าไปอีกคืบ

On July 13, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

ผลการประชุม สนช. เพื่อลงมติรับรอง กกต.ชุดใหม่ แม้จะยังได้ กกต. ไม่ครบตามโควตา 7 คน แต่ให้ความเห็นชอบ 5 คน ถือว่าเพียงพอต่อการเริ่มต้นทำงานต่อจาก กกต.ชุดเดิมที่ต้องถอยออกไป ส่วนอีก 2 โควตาที่เหลือ มีเวลาอีก 90 วันที่จะหามาเติมให้เต็มจำนวน ด้วยสัดส่วนเพียง 2 ที่นั่งเปิดกว้างให้ใช้วิธีส่งหนังสือเชิญบุคคลที่ต้องการให้มาเป็น กกต. ได้อย่างไม่น่าเกลียดจนเกินไป เพราะอ้างได้ว่าเป็นเสียงส่วนน้อยที่ไม่สามารถครอบงำหรือชี้นำ กกต. ที่เหลืออีก 5 คนได้ การได้ กกต.ชุดใหม่มาเตรียมจัดเลือกตั้งแน่นอนว่าช่วยทำให้ภาพของโรดแม็พเลือกตั้งเด่นชัดขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง

การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาลงมติรับรองหรือไม่รับรองบุคคล 7 รายชื่อที่ผ่านกระบวนการสรรหาให้เป็นกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหม่ ซึ่งเป็นที่จับตาดูของหลายฝ่าย ผลปรากฏออกมาว่า ผ่านการรับรองให้เป็น กกต. 5 ราย ไม่ผ่านการรับรอง 2 ราย

3 ใน 5 รายที่ผ่านการรับรองเป็นบุคคลที่มาจากกระบวนการสรรหาของคณะกรรมการสรรหา ส่วนอีก 2 รายเป็นตัวแทนที่ผ่านการลงมติเลือกมาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา

3 รายที่มาจากกระบวนการสรรหาและได้รับการรับรองให้เป็น กกต. ประกอบด้วย 1.นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 2.นายอิทธิพร บุญประคอง อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย 3.นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)

2 รายที่มาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคือ 1.นายปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา 2.นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา

สำหรับ 2 รายชื่อที่ไม่ผ่านการรับรองจากที่ประชุม สนช. ให้ทำหน้าที่ กกต. ประกอบด้วย 1.นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร 2.นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดหลายจังหวัด

ในกรณีของนายสมชายมีรายงานระบุว่า ที่ สนช. ไม่ลงมติรับรองให้เป็น กกต. เพราะเคยถูกตัวแทนประชาชนผู้ได้รับความเสียหายกรณีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ยื่นหนังสือคัดค้านการเป็น กกต. แม้คดีความจะยังไม่ถึงที่สุด แต่เมื่อมีข้อร้องเรียนก็ต้องรับฟัง

ส่วนกรณีของนายพีระศักดิ์ ด้วยความที่เคยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดมาหลายจังหวัดจึงทำงานใกล้ชิดผูกพันกับนักการเมือง ทำให้มีข้อกังวลเรื่องความเป็นกลางทางการเมือง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในคุณสมบัติสำคัญของผู้ที่จะมาทำหน้าที่กรรมการในองค์กรอิสระ แต่อย่านำเหตุผลนี้ไปเปรียบเทียบกับการเลือกบุคคลเป็นกรรมการองค์กรอิสระอื่นก่อนหน้านี้ เพราะอาจทำให้เห็นความสองมาตรฐานอยู่พอสมควร

อย่างไรก็ตาม แม้ สนช. จะลงมติรับรอง กกต.ชุดใหม่ไม่ครบทั้ง 7 คน แต่การรับรอง กกต. 5 คน ถือว่ามากเพียงพอที่จะทำให้ กกต.ชุดใหม่เริ่มทำงานได้ เพราะถือว่าครบองค์ประกอบตามกรอบกฎหมาย

ส่วนอีก 2 รายจะต้องกลับไปสรรหามาใหม่ โดยสามารถทำได้ 2 ทางคือ เปิดรับสมัครเป็นการทั่วไป กับการส่งหนังสือเชิญบุคคลที่เห็นว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมในการทำหน้าที่ กกต. ให้มายื่นใบสมัครก่อนส่งชื่อให้ที่ประชุม สนช. ลงมติรับรอง

ด้วยสัดส่วน 2 ใน 5 หากจะเชิญใครมาเป็น กกต. ก็คงไม่ถึงกับน่าเกลียดมาก ไม่ว่าจะติดภาพลักษณ์เอนเอียงทางการเมืองไปทางใด เพราะอ้างได้ว่าเป็นเสียงข้างน้อย ไม่สามารถควบคุมหรือชี้นำการทำงานของ กกต. ในการจัดเลือกตั้งได้ ซึ่งคณะกรรมการสรรหามีเวลา 90 วัน ที่จะตัดสินใจว่าจะใช้วิธีใดคัดเลือก กกต. อีก 2 คนที่ยังว่างอยู่

สรุปการคัดเลือก กกต.ชุดใหม่แม้จะยังได้กรรมการไม่ครบทั้ง 7 คน แต่ถือว่ามี กกต.ชุดใหม่เข้ามารับไม้ต่อจาก กกต.ชุดเก่าเพื่อทำหน้าที่จัดและควบคุมการเลือกตั้งแล้ว อาจทำให้หลายฝ่ายเบาใจได้อีกเปลาะหนึ่ง เพราะการได้ กกต.ชุดใหม่เข้ามาทำงานช่วยทำให้ภาพของโรดแม็พเลือกตั้งเด่นชัดขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง


You must be logged in to post a comment Login