วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

คนยิวในเซี่ยงไฮ้ / โดย ศิลป์ อิศเรศ

On June 22, 2018

คอลัมน์ : ร้ายสาระ

ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ

(โลกวันนี้วันสุข วันที่ 22-29 มิถุนายน 2561)

เมื่อครั้งที่นาซีเรืองอำนาจใหม่ๆ ไม่เพียงแค่อนุญาตให้ชาวยิวอพยพย้ายถิ่นฐานได้เท่านั้น แต่พวกเขาทั้งข่มขู่และบีบบังคับให้ออกไปจากประเทศ แต่ปัญหาก็คือไม่มีประเทศไหนยอมรับคนยิวเข้าประเทศนอกจากชาวเซี่ยงไฮ้ในประเทศจีน

นโยบายกำจัดชาวยิวของพรรคนาซีทำให้หลายๆประเทศไม่กล้าออกวีซ่าให้คนยิวเข้าประเทศ จะมีก็แต่เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีนเท่านั้น ที่ไม่เพียงแค่ยอมรับคนยิวเข้าประเทศ แต่ยังไม่ต้องขอวีซ่าอีกด้วย เรียกว่าอยากมาเมื่อไรก็มาได้เลย ดังนั้น เมืองเซี่ยงไฮ้จึงกลายเป็นที่พึ่งสุดท้ายของชาวยิวที่จะหลบหนีจากภัยคุกคามของนาซีได้

คนส่วนใหญ่มีความเชื่อว่าชาวยิวทุกคนในทุกประเทศที่ถูกนาซีบุกเข้ายึดครองจะถูกกักกันตัวเอาไว้ แต่เฮนนี เวนการ์ต หนึ่งในคนยิวที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ได้เล่าว่าไม่จริงเสียทั้งหมด เพราะในช่วงแรกที่พรรคนาซีเรืองอำนาจ พวกเขาอนุญาตให้คนยิวอพยพออกนอกประเทศได้ แต่ปัญหาคือไม่มีประเทศไหนยอมออกวีซ่าให้คนยิว

ขณะที่เซี่ยงไฮ้เป็นเพียงเมืองเดียวที่ยอมรับคนยิวเข้าประเทศโดยไม่ต้องขอวีซ่า ชาวยิวส่วนใหญ่จึงหนีตายเดินทางไปยังเมืองเซี่ยงไฮ้ จนกระทั่งในปี 1941 เส้นทางจากยุโรปสู่เมืองเซี่ยงไฮ้ถูกปิดเพราะเป็นจุดยุทธศาสตร์การทำสงคราม

ให้แต่ไม่อนุญาต

พรรคนาซีต้องการกำจัดชาวยิวออกจากทวีปยุโรป พวกเขาจึงทั้งข่มขู่ ทั้งบีบบังคับให้คนยิวออกไปให้พ้นๆจากประเทศที่นาซีเข้ายึดครอง โดยมีเงื่อนไขว่าการขออนุญาตออกนอกประเทศของชาวยิวจะต้องมีเอกสารยืนยันว่าเป็นบุคคลโปร่งใส ไม่มีอะไรปิดบังซ่อนเร้น เช่น มีเอกสารชำระภาษีตามกฎหมายอย่างถูกต้อง มีการแจ้งบัญชีทรัพย์สิน มีวีซ่าหรือเอกสารยอมรับให้เข้าประเทศจากประเทศปลายทาง ซึ่งเอกสารเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่หามาให้ได้ง่ายๆ

อาจเป็นเพราะเกรงว่าการรับชาวยิวจะเป็นการนำภัยเข้าประเทศได้ในภายหลัง จึงไม่มีประเทศใดกล้าออกวีซ่าให้ แม้แต่สวิตเซอร์แลนด์ซึ่งเป็นประเทศที่เป็นกลางก็ไม่ยอมออกวีซ่าให้กับชาวยิวที่มีเครื่องหมาย “J” สีแดงประทับบนหนังสือเดินทาง

ชาวยิวหลายพันคนจึงเลือกเดินทางยังเมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน เพราะเป็นเพียงสถานที่เดียวที่สามารถเดินทางมาได้เลยโดยไม่ต้องขอวีซ่า และบางครั้งก็ไม่ขอดูแม้กระทั่งหนังสือเดินทาง การยอมให้เข้าเมืองได้อย่างอิสระดำเนินไปถึงปี 1939 จึงเริ่มมีการจำกัดจำนวน ผู้ที่ออกกฎจำกัดจำนวนชาวยิวนั้นไม่ใช่รัฐบาลจีน หากแต่เป็นญี่ปุ่นกับเยอรมันที่เข้ามามีอิทธิพลในประเทศจีน

กฎระเบียบใหม่ระบุว่า ชาวยิวที่มีเครื่องหมาย “J” สีแดงประทับบนหนังสือเดินทางจะต้องยื่นเรื่องขออนุญาตก่อนเดินทางมายังเมืองเซี่ยงไฮ้ ชาวยิวกลุ่มนี้จะถูกตรวจค้นอย่างเข้มงวดในประเทศต้นทาง ทรัพย์สินมีค่าทั้งหมดจะถูกยึดเอาไว้ พวกเขาต้องเดินทางแบบตัวเปล่า ไม่มีเงินติดตัวแม้แต่แดงเดียว ดังนั้น จึงเบนเข็มมายังเมืองหงโข่ว ซึ่งอยู่ติดกับเซี่ยงไฮ้ เพราะเป็นเมืองเล็กๆที่มีค่าครองชีพต่ำกว่า

ดีกว่าตาย

เดิมทีมีคนยิวเดินทางมาประกอบธุรกิจในเซี่ยงไฮ้เพียงไม่กี่พันคน แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์ “Kristallnacht” (คืนกระจกแตก) ซึ่งเป็นการทุบทำลายข้าวของ วางเพลิงบ้านเรือน ร้านค้า และสังหารหมู่ชาวยิว ระหว่างวันที่ 9-10 พฤศจิกายน 1938 มีชาวยิวเสียชีวิต 91 คน และบาดเจ็บจำนวนมาก ทำให้มีชาวยิวกว่า 20,000 คน หนีตายเดินทางมายังเซี่ยงไฮ้ภายในเวลาเพียง 2 วัน

นับตั้งแต่เหตุการณ์คืนกระจกแตกเป็นต้นมา ชาวยิวก็หลั่งไหลเข้าสู่เซี่ยงไฮ้อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งกองทัพญี่ปุ่นออกกฎจำกัดจำนวนชาวยิวเมื่อเดือนสิงหาคม 1939

เซี่ยงไฮ้ในยุคนั้นเป็นเมืองใหญ่ มีธุรกิจหลากหลายประเภท ทั้งโรงภาพยนตร์ ร้านค้า สถานบันเทิง และสถานศึกษา แต่หลังจากถูกรุกรานโดยกองทัพญี่ปุ่น เศรษฐกิจเมืองเซี่ยงไฮ้ก็ถูกทำลายทีละน้อยๆจนกระทั่งญี่ปุ่นบุกเข้ายึดครองอย่างเต็มรูปแบบในปี 1941 เมืองเซี่ยงไฮ้ก็ถูกทำลายจนย่อยยับหมดสภาพ

ชาวยิวที่เดินทางมาเซี่ยงไฮ้หลังปี 1941 เขียนบันทึกว่า “เป็นเมืองที่ร้อนและชื้น ขยะเกลื่อนถนน ตามหนทางมีซากหนู ซากแมว ซากสุนัข และทารกแรกเกิด” แต่อย่างน้อยเซี่ยงไฮ้ก็ยังยินดีต้อนรับชาวยิวที่หนีร้อนมาพึ่งที่ร้อนน้อยกว่า

ชาวยิวเมืองหงโข่วค่อยๆสร้างเนื้อสร้างตัว เปิดธุรกิจร้านค้า ร้านอาหาร ร้านเสริมสวย โรงเรียน ธรรมศาลา จนกลายเป็นชุมชนย่อมๆที่ต่อมาถูกเรียกว่า “เวียนนาน้อย”

ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

ชาวยิวอาศัยอยู่ในเมืองเซี่ยงไฮ้และหงโข่วอย่างมีความสุข จนกระทั่งเยอรมันแต่งตั้งพันเอกโยเซฟ ไมซิงเกอร์ เป็นผู้ประสานงานระหว่างกองทัพเยอรมันและญี่ปุ่น โยเซฟเสนอ “แผนไมซิงเกอร์” มีเป้าหมายหลักคือ ให้จับตัวชาวยิวมาใช้แรงงาน หรือนำมาเป็นหนูทดลองทางการแพทย์

เดชะบุญที่ญี่ปุ่นไม่เห็นด้วยกับแผนไมซิงเกอร์ อย่างไรก็ตาม เดือนกุมภาพันธ์ 1943 ญี่ปุ่นออกกฎระเบียบให้ชาวยิวในเซี่ยงไฮ้ที่เดินทางมาอยู่หลังปี 1937 ต้องอพยพออกจากเมืองมาอยู่ที่เมืองหงโข่ว

หงโข่วเป็นเมืองเล็กๆที่มีชาวจีนและชาวยิวอาศัยอยู่ก่อนหน้านี้นับแสนคน การอพยพชาวยิวจำนวนหลายหมื่นคนจากเซี่ยงไฮ้มายัดกันอยู่ในเมืองเล็กๆแห่งนี้ทำให้เกิดการขาดแคลนอาหารและที่อยู่อาศัย เป็นผลให้เกิดโรคระบาดตามมา

ที่พักอาศัยแต่ละแห่งมีคนอยู่อย่างน้อย 30-40 คน อาคารบางหลังมีผู้คนอยู่ใต้ชายคาเดียวกันถึง 200 คน เกิดการปันส่วนอาหาร ชีวิตความเป็นอยู่เป็นไปอย่างแร้นแค้น แต่อย่างน้อยพวกเขาก็ยังคงมี “ชีวิต”

ชาวยิวอาศัยอยู่ในเซี่ยงไฮ้และหงโข่วจนกระทั่งสิ้นสุดเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 พวกเขาจึงอพยพกลับไปยังยุโรป เหลือเพียงชาวยิวจำนวนไม่กี่ร้อยคนที่ยังคงปักหลักอยู่ในเซี่ยงไฮ้ ส่วนอาคารร้านค้า สิ่งปลูกสร้างต่างๆของชาวยิว ปัจจุบันถูกรื้อทิ้งไปหมดแล้ว เหลือแต่เพียงธรรมศาลาโฮเฮลโมสช์ที่นำมาใช้เป็น “พิพิธภัณฑ์ชาวยิวลี้ภัย” เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

670-1

1.ครอบครัวชาวยิวในเซี่ยงไฮ้

670-2

2.ร้านขายของชาวยิวในเซี่ยงไฮ้

670-3

3.เหตุการณ์คืนกระจกแตก

670-4

4.ชาวยิวบนถนนตงซาน

670-5

5.โฆษณาร้านทำหมวกของคนยิว

670-6

6.ป้ายห้ามผู้ลี้ภัยออกนอกเขตเซี่ยงไฮ้

670-7

7.เอกสารอนุญาตผู้ลี้ภัยเดินทางนอกเขตควบคุม

670-8

8.ใบอนุญาตเดินทาง

670-9

9.พิพิธภัณฑ์ชาวยิวลี้ภัย

 


You must be logged in to post a comment Login