วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

โภชนาการในเด็กวัยเรียน / โดย ฝ่ายโภชนาการ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

On June 22, 2018

คอลัมน์ : พบหมอศิริราช

ผู้เขียน :  ฝ่ายโภชนาการ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

(โลกวันนี้วันสุข วันที่ 22-29 มิถุนายน 2561)

เด็กวัยเรียนหมายถึงเด็กที่มีอายุ 6-12 ปี เด็กวัยนี้จะเจริญเติบโตและมีพัฒนาการทางร่างกายและจิตใจ รวมทั้งการเรียนรู้อันเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่ชีวิตที่มีคุณภาพในอนาคต ดังนั้น อาหารจึงเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเด็กในวัยนี้ได้รับอาหารไม่เพียงพอหรือไม่เหมาะสมจะส่งผลทำให้ร่างกายแคระแกร็น สติปัญญาทึบ ไม่มีความพร้อมในการเรียน ประสิทธิภาพการเรียนรู้และการทำงานต่ำ

จะทราบได้อย่างไรว่าเด็กมีการเจริญเติบโตตามปรกติ

ผู้ปกครองควรเป็นผู้ติดตามการเจริญเติบโตของเด็ก โดยการชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูง และนำมาเทียบกับน้ำหนักและส่วนสูงต่ออายุที่เหมาะสมของเด็ก

โภชนาการในเด็กวัยเรียน

เด็กวัยนี้มีการเคลื่อนไหวและใช้พลังงานอยู่ตลอดเวลา ไม่หยุดอยู่เฉยยกเว้นไม่สบาย ดังนั้น ร่างกายจึงต้องการสารอาหารต่างๆครบทั้ง 5 หมู่ ในปริมาณที่เพียงพอ

ชนิดอาหารที่ควรเลือกให้เด็ก

1.เนื้อสัตว์ เป็นสารอาหารที่ให้โปรตีน ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อ และฮอร์โมน ควรเลือกเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน เพื่อเป็นการปลูกฝังนิสัยการบริโภคที่ดีให้แก่เด็ก และควรให้อาหารทะเล เครื่องในสัตว์ สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง

2.ไข่เป็ด ไข่ไก่ ควรได้รับวันละ 1 ฟองทุกวัน

3.ถั่วเมล็ดแห้ง เด็กวัยเรียนควรกินถั่วเมล็ดแห้งเป็นประจำ เพราะถั่วเมล็ดแห้งมีโปรตีน แคลเซียม และวิตามินบี 2 มาก

4.นมสด เป็นอาหารที่ให้โปรตีนและแคลอรีสูง และยังมีแคลเซียม วิตามินเอมาก ซึ่งเหมาะสำหรับเด็กที่กำลังเจริญเติบโต เด็กจึงควรดื่มนมทุกวันอย่างน้อยวันละ 1 แก้ว

5.ผักใบเขียวและผักสีเหลือง ควรให้เด็กบริโภคในมื้ออาหารทุกมื้อ และควรสับเปลี่ยนชนิดให้หลากหลาย เพื่อให้เด็กได้รับวิตามินและแร่ธาตุครบถ้วน

6.ผลไม้สด เป็นแหล่งที่ดีของวิตามินและเกลือแร่ โดยเฉพาะวิตามินซี เด็กควรได้รับผลไม้ทุกวัน และเลือกชนิดให้หลากหลายตามฤดูกาล

7.ข้าว ก๋วยเตี๋ยว หรือแป้งอื่นๆ ควรจัดให้เด็กในมื้ออาหารทุกมื้อ หรือกินในรูปของขนมบ้างก็ได้ โดยเลือกข้าวหรือแป้งที่ผ่านการขัดสีน้อย เพราะมีวิตามินและแร่ธาตุมาก

8.ไขมันหรือน้ำมันพืช เป็นแหล่งที่ดีของพลังงาน และช่วยให้วิตามินที่ละลายในน้ำมันถูกดูดซึมได้ดีขึ้น ควรเลือกน้ำมันพืชเพื่อใช้ในการประกอบอาหารให้แก่เด็ก เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง เป็นต้น

9.น้ำ ควรให้เด็กบริโภคน้ำสะอาดวันละ 6-8 แก้ว หรือให้เพียงพอกับปริมาณที่สูญเสียไปในแต่ละวัน

สารอาหารแต่ละชนิดควรให้เด็กบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม เพราะถ้าให้ในปริมาณมากเกินจะทำให้เด็กมีภาวะโภชนาการเกินหรืออ้วนได้

โภชนาการในเด็กวัยเรียน

1.ควรจัดอาหารหลักให้เด็กบริโภคให้ครบทั้ง 3 มื้อ ไม่ควรเว้นมื้อใดมื้อหนึ่ง โดยเฉพาะมื้อเช้า

2.ควรจัดอาหารให้ครบถ้วน ได้สัดส่วน และเพียงพอกับความต้องการของร่างกายเด็ก

3.ควรให้เด็กบริโภคอาหารตรงเวลา ไม่ควรให้เด็กกินขนมจุบจิบ

4.ควรจัดอาหารว่างให้เด็กบริโภคตอนสายและตอนบ่าย

5.ในแต่ละมื้อไม่ควรจัดให้มีอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลอย่างเดียวเท่านั้น ควรพยายามจัดอาหารให้ครบหมู่

6.ผู้ปกครองควรให้ความสนใจกับสภาพจิตใจของเด็ก เพราะมีผลกระทบถึงการกินอาหารและภาวะโภชนาการของเด็ก

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง

อาหารที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็กได้แก่ อาหารหมักดอง เนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก อาหารรสจัด น้ำอัดลม ชา กาแฟ ขนมหวานจัด ท็อฟฟี่ ขนมกรุบกรอบ อาหารพวกนี้จะทำให้เด็กอิ่มและไม่บริโภคอาหารมื้อหลัก ทำให้เด็กได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายน้อย

 

 


You must be logged in to post a comment Login