วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

ไม่ใหญ่แต่สำคัญ

On June 19, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

การเปิดตัว “คณะสามมิตร” นำโดย “สมศักดิ์-สุริยะ-ปรีชา” เริ่มปฏิบัติภารกิจเดินสายดูดอดีต ส.ส.ภาคอีสานและภาคเหนือเข้ามาอยู่ในสังกัดอย่างจริงจัง ซึ่งแน่นอนว่าพรรคเพื่อไทยจะได้รับผลกระทบโดยตรงต่อการเคลื่อนไหวนี้ ต้องติดตามกันต่อไปว่า “คณะสามมิตร” จะขยายไซซ์ของตัวเองได้มากแค่ไหนจากที่มีอดีต ส.ส. อยู่ในสังกัดราว 15-20 คน แม้จะเป็นกลุ่มไม่ใหญ่มาก แต่น่าจะเป็นตัวแปรสำคัญทางการเมืองหลังการเลือกตั้งภายใต้กติกาปัจจุบันที่เอื้อต่อกลุ่มการเมืองขนาดเล็กให้มีอำนาจต่อรองทางการเมือง

ความคืบหน้าเกี่ยวกับการเลือกตั้งล่าสุด “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้นำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ขึ้นทูลเกล้าฯแล้วตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา

ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับจะทรงอยู่ในพระบรมราชวินิจฉัย 90 วัน ตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด เมื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. จะมีผลบังคับใช้ทันที ขณะที่ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ต้องรอไปอีก 90 วันจึงจะมีผลบังคับใช้ ซึ่งเป็นไปตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เขียนบทเฉพาะกาลขยายเวลาบังคับใช้เอาไว้

เมื่อกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. บังคับใช้ ก็บวกกรอบเวลาสำหรับจัดเลือกตั้งเข้าไปอีก 150 วัน หรือ 5 เดือน ตัวเลขกลมๆจึงเป็น 3+3+5 เดือน หรือในอีก 11 เดือนต้องมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ไม่ช้าไปกว่านี้ แต่จะสามารถเร็วกว่านี้ได้กรณีโปรดเกล้าฯร่างกฎหมายลงมาก่อน 90 วัน หรือกรณีรัฐบาลไม่ใช้กรอบเวลาเต็ม 150 วันสำหรับจัดเลือกตั้ง

การเลือกตั้งตามโรดแม็พในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าจึงมีทั้งความเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ในระดับใกล้เคียงกัน ซึ่งน่าจะมีความชัดเจนให้เห็นพอสมควรในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ หลังจากที่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานพูดคุยกับตัวแทนพรรคการเมือง

เมื่อทิศทางการเมืองมีความชัดเจน การเคลื่อนไหวเพื่อเตรียมตัวลงสนามเลือกตั้งก็จะมีความชัดเจนมากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนขั้วย้ายข้างของบรรดาอดีต ส.ส.

ล่าสุดมีการเปิดตัว “คณะสามมิตร” นำโดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข บุคคลระดับอดีตรัฐมนตรีและแกนนำตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย ภารกิจแรกคือการเดินสายทาบทามบรรดาอดีต ส.ส. ในภาคอีสานและภาคเหนือให้ย้ายมาทำงานร่วมกัน แต่ยังกั๊กว่าจะยกโขยงพากันไปสังกัดพรรคการเมืองใด โดยให้เหตุผลในเบื้องต้นว่าจะรอดูนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองก่อน หากนโยบายพรรคไหนสอดคล้องกับแนวทางของกลุ่มก็จะไปร่วมงานกับพรรคการเมืองนั้น

อย่างไรก็ตาม สามารถจับทางคณะสามมิตรนี้ได้ไม่ยาก เพราะการทำงานการเมืองที่ผ่านมาในอดีตบ่งบอกแนวทางชัดเจนว่าพร้อมเข้าร่วมกับผู้มีอำนาจที่เสนอผลประโยชน์ทางการเมืองให้ได้

แน่นอนว่าพรรคเพื่อไทยจะได้รับผลกระทบที่สุดจากการเคลื่อนไหวของคณะสามมิตร เพราะตกเป็นเป้าการดูดอดีต ส.ส. ซึ่งต้องติดตามกันต่อไปว่าคณะสามมิตรจะขยายไซซ์ของตัวเองได้มากแค่ไหนจากที่มีอดีต ส.ส. อยู่ในสังกัดราว 15-20 คน ซึ่งถือว่ามากพอที่จะใช้ต่อรองทางการเมืองได้ภายใต้กติกาเลือกตั้งปัจจุบัน

การเปิดตัวของคณะสามมิตรย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อพรรคเพื่อไทย แม้จะเป็นกลุ่มไม่ใหญ่มาก แต่น่าจะเป็นตัวแปรสำคัญทางการเมืองหลังการเลือกตั้งหากรักษาขนาดของกลุ่มเอาไว้ได้


You must be logged in to post a comment Login