วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567

ดราม่าการเมือง

On June 6, 2018

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 8-15 มิถุนายน 2561)

ฉากบีบน้ำตานองหน้าและแก้มของ “ลุงกำนัน” นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส. ที่ไหลพรั่งพรูออกมาเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2561 ในวันเปิดประชุมพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ถือเป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยในยุคทหารครองเมือง ยุคที่แบ่งฝ่ายแบ่งพวกกันชัดเจนระหว่าง “เผด็จการ” กับ “ประชาธิปไตย”

นายสุเทพรู้ดีว่าจะเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างไรหลังจากเป็นหนึ่งในแกนนำจัดตั้งพรรค รปช. เพราะก่อนหน้านี้ได้ประกาศย้ำครั้งแล้วครั้งเล่าว่าจะไม่เล่นการเมือง ไม่เป็นนักการเมือง ไม่ตั้งพรรคการเมือง และจะไม่รับตำแหน่งหน้าที่ทางการเมืองใดๆ แต่วันนี้กลับประกาศว่า “แม้ตัวเองจะเป็นจุดอ่อนของพรรคนี้ให้คนนำมาโจมตีว่าผมตระบัดสัตย์ แต่ผมขอประกาศเลยว่าจะไม่อยู่เบื้องหลัง ผมจะยืนเคียงข้างพี่น้องประชาชน และผมไม่สนใจคำวิจารณ์เหล่านั้น”

ย้อนคำพูด “สุเทพ” ไม่เล่นการเมือง

2 ธันวาคม 2556 เวทีแจ้งวัฒนะ “เมื่อตัดสินใจออกมาทำงานให้พี่น้องประชาชนคราวนี้ จะไม่กลับไปลงเลือกตั้งผู้แทนราษฎรและไม่กลับไปพรรคประชาธิปัตย์อีกแล้ว จบงานนี้ผมไม่เป็นนักการเมืองอีกแล้ว”

12 มิถุนายน 2559 วัดท่าไทร สุราษฎร์ธานี “ไม่เป็นแล้ว ไม่สมัครรับเลือกตั้งอีกแล้ว ไม่กลับไปบนถนนการเมืองแบบเดิมแล้ว พอแล้ว แต่ไม่ทิ้งประเทศนะ”

7 กรกฎาคม 2559 ทำบุญวันเกิดครบรอบ 69 ปี “ไม่คิดกลับไปสู่ภาคการเมืองอีกแล้ว คือผมไม่กลับพรรคประชาธิปัตย์แน่นอน ไม่ตั้งพรรคการเมืองใหม่แน่นอน ผมไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่เป็นนักการเมือง ส.ว.สรรหาก็ไม่เต็มใจ”

17 มิถุนายน 2560 มูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย “ได้ประกาศว่าจะไม่ลงเลือกตั้งอีกแล้ว และไม่รับตำแหน่งใดๆในรัฐบาลไหนอีกแล้ว ตรงนี้ชัด แต่มีคนไปตีความหมายกันว่าจะไม่เล่นการเมือง ตรงนี้ไม่ใช่ การเมืองเป็นเรื่องของประชาชน”

27 กุมภาพันธ์ 2561 หน้าศาลอาญา “ผมยืนยันว่าผมจะไม่กลับไปเป็นนักการเมือง ผมจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่ต้องการมีตำแหน่งใดๆทางการเมืองทั้งสิ้น”

5 มีนาคม 2561 หน้าศาลอาญา “เป็นสัจจะวาจาของผมว่าจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผมจะไม่รับตำแหน่งหน้าที่ทางการเมืองใดๆ และผมจะไม่เข้าไปเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองใดๆทั้งสิ้น”

ตระบัดสัตย์เพื่อชาติ

แต่วันที่ 2 มิถุนายน 2561 นายสุเทพกลับตระบัดสัตย์คำสัญญาที่พูดมาตลอด โดยอ้างว่าเพื่อมาเป็น “ขี้ข้าประชาชน” เพราะพี่น้องผู้ร่วมอุดมการณ์มาบอกว่าจะต้องตั้งพรรคการเมืองของประชาชน “ผมรู้เลยว่าผมต้องเข้าร่วมกับพรรค”

น้ำตาของ “ลุงกำนัน” มีทั้งคนยกย่องสรรเสริญและคนประณาม เพราะทำให้หลายคนย้อนนึกถึงคำพูด “เสียสัตย์เพื่อชาติ” ของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ที่ประกาศหลังคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ยึดอำนาจว่าจะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใดๆ แต่หลังจากมีการเลือกตั้งกลับรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนเกิดเหตุการณ์พฤษภาคม 2535

การ “ตระบัดสัตย์เพื่อชาติ” ของนายสุเทพเพื่อร่วมตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทยและกลับมาเล่นการเมือง แม้จะไม่เป็นผู้บริหารพรรค ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่รับตำแหน่งใดๆ ไม่เป็นรัฐมนตรี และไม่สนใจว่าใครจะด่าว่าตระบัดสัตย์ จะยังใส่รองเท้าคู่เดิมเดินไปหาประชาชนในทุกจังหวัด

คำถามที่ตามมาคือนายสุเทพ “ตระบัดสัตย์เพื่อชาติ” จริงหรือไม่ เพื่ออะไร และเพื่อใคร แม้ที่ผ่านมานายสุเทพจะประกาศมาตลอดว่าสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อหลังการเลือกตั้งก็ตาม เพราะน้ำตาของนายสุเทพไม่ใช่เกิดขึ้นครั้งนี้ครั้งแรก แต่เกิดหลายครั้งแล้วตั้งแต่เป็นแกนนำ กปปส. จึงทำให้หลายคนมองว่าน้ำตาของนายสุเทพเหมือนเล่นละครตามสคริปต์เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้พรรครวมพลังประชาชาติไทย ซึ่งถูกมองว่าเป็นแค่พรรคเฉพาะกิจ โดยอ้างประชาชน ประเทศ และสถาบัน เหมือน “แผ่นเสียงตกร่อง” ที่มีแค่วาทกรรมและคำสัญญาที่สุดท้าย “กลืนน้ำลายตัวเอง” ไม่ทำตามคำพูดที่สัญญา

แม้แต่การชูธง “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ภายใต้รัฐบาลทหารที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดก็ไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม นายสุเทพไม่แสดงปฏิกิริยาหรือกระตุ้นใดๆ แต่กลับพยายามปกป้องรัฐบาลทหารและสนับสนุน “ระบอบ คสช.” ให้ “สืบทอดอำนาจ” ต่อ และรอความหวังว่าตัวเองและพวกพ้องจะไม่มีชะตากรรมเหมือนแกนนำเสื้อเหลืองและเสื้อแดงหลายคนที่อยู่ในคุกขณะนี้

“โกงกินเพื่อชาติ” ตรรกะเดียวกัน

การ “ตระบัดสัตย์” ตั้งพรรคการเมืองและเล่นการเมือง หลายคนหลายฝ่ายไม่เชื่อว่าทำเพื่อชาติและเพื่อประชาชน แม้แต่มวลชนที่ร่วมปิดกรุงเทพฯอย่างนายยุทธนา มุกดาสนิท ผู้กำกับฯชื่อดัง ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง ได้โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัวว่า

“ลุงกำนันนี่เจ้าน้ำตานะ…เปลี่ยนใจเปลี่ยนคำพูดก็ชี้แจงความจำเป็นและนโยบายชัดๆดีกว่า…น้ำตาไม่แก้ปัญหาโกหกหรอก!!!” และโพสต์เพิ่มเติมว่า “ตระบัดสัตย์เพื่อชาติ” ได้ ต่อไปก็ “โกงกินเพื่อชาติ” ได้ ตรรกะเดียวกัน! ผมน่ะ FC ลุงกำนัน แต่จะไม่ยอมตระบัดสัตย์เชียร์ต่อไป!! อายตัวเอง 555”

“ตระบัดสัตย์” เพราะภาวะจนตรอก

การรีดน้ำตาและกลืนน้ำลายของนายสุเทพเข้าภาวะ “จนตรอก” เพราะหากไม่เคลื่อนไหว ไม่เสี่ยง ก็มีโอกาสสูงที่จะมีชะตากรรมเหมือนแกนนำพันธมิตรเสื้อเหลืองที่คดีบานเบอะ จึงจำเป็นต้องถูกตราหน้าว่า “ตระบัดสัตย์” ก้มหน้ายอมรับเสียงด่าเสียงประณามดีกว่าก้มหน้ารับกรรมในคุก ซึ่งนายสุเทพและแกนนำ กปปส. มีคดีอาญาและคดีแพ่งมากมาย ไม่ได้ยิ่งใหญ่เหมือนตอนปิดบ้านปิดเมือง

4 ปีภายใต้รัฐบาลทหาร อาจมีแกนนำ กปปส. บางคนได้ดิบได้ดีเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งใน “แม่น้ำ 5 สาย” แต่ก็เป็นแค่ “ลิ่วล้อเผด็จการ” แม้แต่นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ หนึ่งในแกนนำสำคัญพรรครวมพลังประชาชาติไทย

โดยเฉพาะนายสุเทพตกเป็นผู้ต้องหาและขึ้นศาลด้วยสารพัดคดีความ ตั้งแต่ “กระชับพื้นที่คนเสื้อแดง” ปี 2553 และผู้นำม็อบนกหวีดปี 2556-2557 ซึ่งมีโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต โดยแกนนำ กปปส. ที่ถูกกล่าวโทษทางอาญามี 58 คน ในข้อหากบฏและข้อหาอื่นรวม 9 ข้อหา และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ฟ้องคดีแพ่ง ให้แกนนำ กปปส. จำนวน 38 คน ชดใช้ค่าเสียหายกรณีขัดขวางการเลือกตั้ง 3,100 ล้านบาท

น้ำตาการเมือง

ขณะที่ชาวเน็ตขุดโพสต์เก่าของนายสุเทพที่เคยแขวะอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ร้องไห้โดยเย้ยว่า เล่นละครตบตาเป็น “น้ำตาการเมือง” น้ำตาของนายสุเทพจึงเหมือนการ “ด่าตัวเอง” ที่ “ตระบัดสัตย์” ทั้งที่เคยประกาศต่อหน้ามวลชนนับหมื่นนับแสนครั้งห่มผ้าเหลือง

โดยเฉพาะโพสต์ของ “ลูกขิง” นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ที่บอกว่าโพสต์ทิ้งไว้จารึกประวัติศาสตร์การเมืองหัวข้อ “น้ำตาการเมือง” โดยระบุว่า “เป็นการแสดงชัดเจน ขอเรียนว่าคุณยิ่งลักษณ์เลิกร้องไห้ เล่นละครตบตาประชาชนได้แล้ว เลิกใช้ทักษะเดิมๆ ทำซํ้าแล้วซํ้าอีก เพื่อประโยชน์ทางการเมืองได้แล้ว วันนี้ประชาชนมาไกลแล้วครับ จับทางการโกหกหลอกลวงด้วยซีนร้องไห้ของคุณยิ่งลักษณ์ได้นานแล้ว”

คำเหน็บแนมจิกกัดวันนี้ย้อนกลับมาเล่นงาน “น้ำตาลุงกำนัน” เป็นแค่การแสดงละครตบตาเพื่อประโยชน์ทางการเมืองที่สุดยอดกว่าอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์มากมาย แม้นายสุเทพเป็น “นักการเมืองชั้นเซียน” แต่ประชาชนก็ไม่ได้โง่ ยิ่งนายสุเทพบีบน้ำตา นกหวีดก็ยิ่งติดคอ

นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ขณะที่รณรงค์ “I’m No.5” ก็เคยแซวน้ำตานายสุเทพครั้งเป็นแกนนำ กปปส. ว่า “อย่าร้องไห้สะอึกสะอื้นไปเลยคุณสุเทพ กลับไปสุราษฎร์ฯดีกว่า อย่าเที่ยวเดินเชื้อเชิญแขกอีกต่อไปเลย หากคุณสุเทพยังทำแบบนี้อยู่ก็จะต้องร้องไห้อีก และอาจจะต้อง “ร้องไห้ทั้งคืน” อย่างที่คุณอภิสิทธิ์เคยร้องที่ราชประสงค์เมื่อหลายปีก่อนนั่นแหละ”

ดราม่าการเมือง!

“น้ำตาลุงกำนัน” สะท้อนการเมืองยุค “คนดี” ได้อย่างดี “คนดีที่ทำอะไรก็ไม่ผิด” แม้แต่ลากรถถังมายึดอำนาจ “ฉีกรัฐธรรมนูญ” ยังประณามนักการเมืองว่าเลวสารพัด บางคนยังเปรียบเหมือน “ตัวเงินตัวทอง” หรือ “เหี้ย”

ทั้งที่ความจริงเหี้ยเป็นแค่สัตว์เลื้อยคลาน เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่เนื้อและหนังล้วนมีประโยชน์ เหี้ยตัวเป็นๆไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้มนุษย์เลย ไม่เหมือนคนที่ถูกประณามว่าเป็น “คนเหี้ย” คนไม่ดี คนสับปลับ คนตระบัดสัตย์ ซึ่งมีอยู่ทุกสังคม ไม่ว่าจะมีตำแหน่ง มีอำนาจ มีฐานะอะไร นักการเมืองบางคนและผู้มีอำนาจหลายคนก็เลวกว่า “ตัวเหี้ย”

จึงไม่แปลกที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยอมให้ใช้คำว่า “ไอ้เหี้ย กู มึง” ทางสื่อวิทยุและโทรทัศน์ หลังจากมีการร้องเรียนว่าตัวละครในโทรทัศน์ช่องหนึ่งใช้คำพูดไม่สุภาพ เพราะเป็นคำที่ใช้แสดงอารมณ์แค่บางครั้ง ไม่ได้ใช้บ่อยตามความเหมาะสมของเนื้อหา โดยถือเป็นระดับ “ท” (รายการที่เหมาะสำหรับผู้ชมทุกวัย) แต่ให้ขึ้นข้อความเตือนเมื่อตัวละครวัยรุ่นใช้คำดังกล่าว

บ้านเมืองยุค “คนดี” ที่น่ากลัวเป็นพวกที่เสแสร้งเป็นคนดี เพราะเสพติดในอำนาจ หลงในอำนาจ พร้อมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้อำนาจและผลประโยชน์ การแสดงอารมณ์ต่างๆต่อสาธารณชนจึงล้วนเป็นการเสแสร้งที่บางคนอาจเก่งกว่าดารานักแสดงเสียอีก

น้ำตาของ “ลุงกำนัน” ที่ประกาศจะเป็น “ขี้ข้าประชาชน” และไม่สนใจจะถูกประณามว่า “ตระบัดสัตย์” ทำให้บางคนเปรียบเปรยว่าเหมือน “น้ำตาจระเข้” ซึ่งจระเข้เวลาจะกินเหยื่อจะมีน้ำตาออกมา แต่ไม่ใช่เพราะสงสารเหยื่อ

น้ำตาของ “ลุงกำนัน” จะมาจากก้นบึ้งของหัวใจจริงหรือไม่ เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์

แต่ถ้าเป็นแค่ “น้ำตาการเมือง” ก็ต้องยกให้ “ลุงกำนัน” เป็นสุดยอดนักแสดงในยุค “ดราม่าการเมือง (น้ำเน่า)” ที่อนุญาตให้ออกอากาศได้!!??


You must be logged in to post a comment Login