วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

กรมสุขภาพจิตเตือนผู้ป่วยจิตเวช“ดื่มน้ำเกิน 3 ลิตร”ต่อวันอันตราย!!อาจเกิดอาการน็อคน้ำชักหมดสติได้

On May 14, 2018

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์  อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ว่า มีความเป็นห่วงผู้ป่วยจิตเวชที่ได้รับการรักษาและแพทย์ให้กินยารักษาควบคุมอาการป่วย   ซึ่งขณะนี้มีผู้ป่วยจิตเวชทั่วประเทศที่อยู่ในระบบการรักษาในปี 2560 แล้ว  2 ล้าน 6 แสนกว่าคน  ประมาณร้อยละ 60 เป็นผู้ป่วยโรคจิตเภท ( Schizophrenia) ชนิดเรื้อรัง  ซึ่งยาที่ใช้รักษาควบคุมอาการส่วนใหญ่อาจมีผลข้างเคียงทำให้คอแห้ง  ปากแห้ง กระหายน้ำได้  ทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงดื่มน้ำมากเกินปกติ คือเกินวันละ 3,000 ซี.ซี.  ซึ่งตามปกติร่างกายคนเราต้องการน้ำวันละ 1,500-3,000 ซีซี.หรือลิตรครึ่ง- 3 ลิตร  ขึ้นอยู่สภาพอากาศของแต่ละท้องที่   หากผู้ป่วยดื่มในปริมาณมากกว่าวันละ 3000 ซีซี.ติดต่อกัน อาจจะทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่าภาวะน้ำเป็นพิษได้ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าน็อคน้ำ    ทำให้ระดับเกลือแร่ในร่างกายคือเกลือโซเดียมในเลือดลดต่ำกว่าปกติ   โดยภาวะน้ำเป็นพิษนี้สามารถพบได้ในคนทั่วไปที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคจิตเภทแต่ดื่มน้ำมากเกินความต้องการร่างกายได้เช่นกัน

ผู้ป่วยจิตเวชที่มีภาวะน้ำเป็นพิษ  มักจะปรากฏอาการตอนบ่ายหรือช่วงเย็นๆ  เช่นกระวนกระวาย กระสับกระส่าย หงุดหงิด ก้าวร้าวมากขึ้น  บางรายปวดศีรษะมาก มีนงง สับสน  อาเจียนเป็นน้ำ  กลั้นปัสสาวะไม่ได้ทำให้ปัสสาวะราด    หากเป็นมากอาจเดินเซ เนื่องจากกล้ามเนื้ออ่อนแรง อาจเกิดอาการชักเกร็ง กระตุก ถึงขั้นเสียชีวิตได้  จึงขอให้ญาติระมัดระวังดูแลเรื่องการดื่มน้ำของผู้ป่วยจิตเวชด้วย ในกรณีที่พบผู้ป่วยจิตเวชมีอาเจียนเป็นน้ำ มีนงง สับสน หรือชัก ให้รีบนำสั่งโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที และแจ้งประวัติผู้ป่วยให้แพทย์ทราบทุกครั้ง  เพื่อการรักษาที่รวดเร็วและถูกต้อง

ทางด้านนายแพทย์นพดล  วาณิชฤดี รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กทม.กล่าวว่า ปริมาณน้ำดื่มที่ควรดื่มในแต่ละวันนั้น  สามารถคำนวณได้จากสูตรดังนี้คือ น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมแล้วคูณด้วย 33  เช่นคนน้ำหนักตัว 60 กิโลกรัม ปริมาณที่ควรดื่มต่อวันคือ 1,980 ซีซี. หรือประมาณ 2 ลิตร   โดยพฤติกรรมของผู้ป่วยจิตเวชที่เสี่ยงเกิดปัญหาดื่มน้ำมากผิดปกติที่พบได้บ่อยๆ มี 3 ลักษณะเด่นดังนี้ 1. มักจะถือแก้วน้ำหรือขวดน้ำติดตัวบ่อยๆเกือบตลอดเวลา 2. เข้าห้องน้ำนานและเสื้อเปียกบ่อยๆ 3. ไม่ยอมกินอาหาร หรือกินอาหารน้อยลงแต่จะขอดื่มน้ำชนิดต่างๆแทน   ที่ผ่านมาที่สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา พบผู้ป่วยจิตเวชเกิดปัญหาน้ำเป็นพิษเฉลี่ยเดือนละ 3-4 คน

นายแพทย์นพดล  กล่าวต่อว่า หากพบว่าผู้ป่วยจิตเวชมีพฤติกรรมดื่มน้ำมากเกินปกติ  ขอแนะนำให้ญาติควรพูดคุยด้วยความนุ่มนวลหลีกเลี่ยงการตำหนิ หรือการว่ากล่าวผู้ป่วยอย่างรุนแรง เนื่องจากอาจสร้างความเครียดให้ผู้ป่วย ทำให้อาการกำเริบได้  ขอแนะนำให้ดำเนินการต่อไปนี้ 1. ควรทำข้อตกลงและให้ผู้ป่วยค่อยๆปรับลดปริมาณน้ำดื่ม โดยให้จดบันทึกปริมาณน้ำดื่ม   หากทำได้ อาจมีรางวัลให้ผู้ป่วย  2.อาจให้ผู้ป่วยจิบน้ำทีละน้อย หรือให้อมน้ำแข็งก้อนเล็กๆหรือเคี้ยวหมากฝรั่งชนิดที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำตาลแทนก็ได้  จะทำให้ชุ่มคอ ช่วยลดอาการกระหายน้ำได้   3.ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้ผู้ป่วยอยู่ใกล้แหล่งน้ำ   ไม่สำรองน้ำอัดลมหรือน้ำขวดทุกชนิดไว้ในบ้าน   4.หากิจกรรมเบี่ยงเบนความสนใจ ไม่ให้ผู้ป่วยหมกมุ่นกับการดื่มน้ำอย่างเดียว เช่น ชวนเล่นเกมง่ายๆที่ผู้ป่วยเล่นได้ หรือสนุกสนาน และ 5. หลีกเลี่ยงการปรุงอาหารรสจัด เช่น เค็ม เผ็ด หวาน เนื่องจากจะกระตุ้นให้ดื่มน้ำมากขึ้น  ทั้งนี้หากไม่สามารถควบคุมการดื่มน้ำของผู้ป่วย ให้ปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323   ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง


You must be logged in to post a comment Login