วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567

ยี่ห้อ‘พลาม พรมจำปา’ขายได้ไหม?

On May 10, 2018

คอลัมน์โลกอสังหาฯ “ยี่ห้อ‘พลาม พรมจำปา’ขายได้ไหม?”

โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย

(โลกวันนี้วันสุข วันที่11-18 พฤษภาคม 2561)

ตอน “ตูน” วิ่งมีข่าวใหญ่โต แต่ตอน “ครูพลาม พรมจำปา” วิ่งกลับไม่เป็นข่าว ทำไมเป็นอย่างนี้ มาดูกรณีศึกษาการสร้างข่าว การสร้างภาพ และการสร้างยี่ห้อหรือแบรนด์กันในระหว่าง “ครูพลาม” กับ “ตูน”

ขณะนี้ “ครูพลาม” (https://bit.ly/2wj0bjy) ได้วิ่งตามโครงการ “วิ่ง 3,500,000 ก้าว นักรบเพื่อนักรบ” (https://bit.ly/2wo20LS) ที่ผ่านมามีข่าวเล็กๆระบุว่า “ด.ต.พลาม หรือครูพลาม พรมจำปา อดีตครูฝึกหน่วยรบพิเศษตำรวจพลร่มค่ายนเรศวร สังกัดกองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ ตำรวจตระเวนชายแดน จะวิ่งตามโครงการวิ่งเพื่อสันติภาพ 3,500,000 ก้าว วิ่งแม่สาย-เบตง” (http://bit.do/promjumpa) และภาพข่าวในไทยรัฐ (https://bit.ly/2rmxgpN)

1

“การวิ่งในครั้งนี้ครูพลามมุ่งหวังที่จะรวบรวมเงินบริจาคเพื่อเป็นการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ที่ปฏิบัติหน้าที่ชายแดนได้ รวมทั้งแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ที่จะก่อให้เกิดความสงบสุขในพื้นที่ชายแดนใต้ ช่วยเหลือโครงการอาหารกลางวันของนักเรียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และกิจกรรมสาธารณกุศลอื่นๆ โดยครั้งนี้จะมีการสวมใส่รองเท้าคอมแบทในการวิ่ง และคล้องโซ่ตรวนน้ำหนักรวมกว่า 7 กิโลกรัม เพื่อเป็นการแสดงออกถึงสัญลักษณ์ที่จะเป็นปลดโซ่ตรวนของความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ เพราะที่ผ่านมาเหตุการณ์ดังกล่าวเหมือนเป็นโซ่ตรวนที่ผูกมัดมาตลอด โดยจะเริ่มวิ่งในวันที่ 13 เมษายนนี้ ที่อำเภอแม่สาย-เบตง”

2

สำหรับ “ครูพลาม” มีประวัติการวิ่งคือ

ครั้งที่ 1 วิ่งเพื่อสันติภาพชายแดนใต้-เหนือ แม่สาย-เบตง 13 เมษายน 2548 ใช้เวลา 42 วัน

ครั้งที่ 2 วิ่งเฉลิมพระเกียรติตะวันตกจดตะวันออก ด่านเจดีย์สามองค์-อุทยานแห่งชาติผาแต้ม 15 พฤศจิกายน 2550

ครั้งที่ 3 วิ่งเฉลิมพระเกียรติ 3 แผ่นดิน จีน-ลาว-ไทย สิบสองปันนา-สนามหลวง 5 พฤศจิกายน 2552

ครั้งที่ 4 วิ่งเฉลิมพระเกียรติเบตง-ศิริราช หนองคาย-แม่สาย 1 พฤศจิกายน 2558 ใช้เวลา 52 วัน

ครั้งที่ 5 แม่สาย-เบตง เพื่อชายแดนใต้ ซึ่งเป็นการวิ่งในครั้งนี้

อันที่จริง “ตูน” เป็นคนที่ 3 แต่กลับไปรับรางวัลเป็นนักวิ่งคนแรก ทั้งที่ขัดกับความเป็นจริง มีคนอื่นที่วิ่งก่อนแต่ไม่ดังเท่า “ตูน” ที่ผ่านมามีผู้วิ่งก่อนหน้า “ตูน” 2 ท่านคือ ในปี 2528 ครูไชยวัฒน์ วรเชฐวราวัตร (http://bit.ly/2EnkVWu) วิ่งระดมทุนช่วยเหลืออาหารกลางวันเด็กนักเรียน 24 โรงเรียน ใช้เวลาวิ่ง 60 วัน และได้เงินสนับสนุนมาราว 2 ล้านบาท ส่วนอีกท่านคือ “ครูพลาม” วิ่งในวันที่ 13 เมษายน 2548 จากแม่สายไปเบตง ใช้เวลาวิ่ง 42 วัน เพื่อความสงบสุขในชายแดนใต้ นอกจากนั้นในปี 2558 จากเบตงไปแม่สายผ่านหนองคาย (http://bit.ly/2CI8Z0V)

ในกรณีนี้คงเข้าใจได้ไม่ยากว่าที่ทั้งสองท่านไม่ดังเท่า “ตูน” เพราะไม่ได้เป็นดารา ไม่ได้มีกองเชียร์ที่สนับสนุนการแข่งขันเช่น “ตูน” แม้ต่อไปถ้ามีดาราดังและหล่อกว่า “ตูน” มา “เลียนแบบ” วิ่งบ้าง ก็ใช่ว่าจะได้รับการสนับสนุนเท่านี้อีก

ถ้าเทียบ “ตูน” กับครูทั้งสองท่านในแง่ความอดทนบากบั่น ครูทั้งสองน่ายกย่องกว่ามาก ทั้งสองวิ่งโดยที่ไม่ได้มีการอำนวยความสะดวกหรือการสนับสนุนแต่ประการใด แถมยังใช้เงินส่วนตัวในการวิ่งและนอนตามศาลาพักริมทางบ้างหรือที่อื่นๆตามมีตามเกิด (http://bit.ly/2CI8Z0V) ต่างจากกรณีของ “ตูน” ที่มีกองคาราวานนับร้อยคน รถบ้านหรูคอยตามติด และมีการประคบประหงมดูแลอย่างดีตลอดเส้นทาง โดยใช้งบประมาณหลายสิบล้านบาท

ต้นทุนในการวิ่งของตูนค่อนข้างสูงตามข่าว “รู้จักทีม ‘ก้าวคนละก้าว’ ตั้งแต่ตูนยันเบื้องหลัง ผ่านเอ็มวี ‘แด่เธอ’ พาไปรู้จักทีมงานก้าวคนละก้าวกว่า 100 ชีวิต” (http://bit.ly/2EnG5Ua) ถ้าตีเป็นเงินคนละ 2,000 บาท (บางส่วนอาจไม่รับ ทำด้วยใจ) ค่าใช้จ่ายต่อคนก็ 200,000 บาทเข้าไปแล้ว และถ้ารวมค่าขบวนรถ ค่าใช้จ่ายต่างๆ วันหนึ่งคงเป็นเงินประมาณ 500,000 บาท วิ่ง 55 วัน ถ้ารวมเวลาดำเนินการก่อนและหลังด้วยก็อาจเป็น 60 วัน รวมเป็นเงินประมาณ 30 ล้านบาทเข้าไปแล้ว หรืออาจถึง 100 ล้านบาท นี่ยังไม่รวมต้นทุนที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานต่างๆจัดงานสนับสนุนมากมายเพื่อระดมทุนมามอบนับสิบๆล้านบาทระหว่างที่ “ตูน” วิ่งผ่านแต่ละจังหวัด

ในแง่ความคุ้มค่าของการวิ่ง มีข่าวว่า “วงบอดี้สแลมสละรายได้กว่า 30 ล้าน สนับสนุน ‘ตูน’ วิ่งโครงการก้าวคนละก้าว” (http://bit.ly/2iYgZCr) แต่ความจริงอาจเป็นช่วงพักของ “ตูน” และคงไม่สูญมากถึงขนาดนั้น เพราะปรกติรับงานเดือนละ 20 ครั้งๆละ 450,000-500,000 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 9-10 ล้านบาท ถ้าหักค่าใช้จ่าย รายได้สุทธิของ “ตูน” คงประมาณ 1 ล้านบาทต่อเดือน วิ่ง 2 เดือนก็เป็นเงิน 2 ล้านบาทเท่านั้น แต่เมื่อยิ่งดัง ในอนาคตก็ยิ่งมีคนมาดูดนตรี อาจทำให้การรับงานเพิ่มเป็น 30 งาน (1 วันมากกว่า 1 งาน) ค่าจ้างอาจขึ้นเป็นงานละ 700,000 บาท รวมเป็นเงิน 21 ล้านบาท มากกว่าเดิมเป็นเท่าตัว นอกจากนี้ยังทำให้เกิดลาภสรรเสริญอีกมากมาย ซึ่งนับว่าคุ้มมากสำหรับ “ตูน” ที่ได้วิ่งในครั้งนี้

การที่มีข่าวการวิจารณ์ “ครูพลาม” ซึ่งออกมาวิจารณ์ตูนทางโซเชียลมีเดียต่างๆนั้น ถือเป็นเรื่องธรรมดาของสังคมที่มักมีการต่อว่ากันตามกระแส ไม่ใช่เรื่องผิดปรกติอะไร ไม่พึงหวั่นไหว อันที่จริงสังคมควรเรียนรู้ว่าคนเราสามารถวิจารณ์กันได้ แต่ไม่ใช่เป็นการบิดเบือนความจริง เพราะ “ครูพลาม” ไม่ได้ไปกล่าวคำผรุสวาท ไม่ได้พูดผิดความจริง และ “ตูน” ไม่ใช่พระเอกคนแรกจริงๆ แต่ด้วยการอาศัยสื่อ กลับกลายเป็นการทำลายชื่อเสียงของ “ครูพลาม” ไปอีก

ตอนนี้ “ครูพลาม” วิ่งก็ถูกกลั่นแกล้งต่างๆนานา นอกจากจะต้องสู้กับตนเองโดยวิ่งให้เร็วและมีโซ่ 7 กิโลกรัมแล้ว ยังต้องสู้กับการป้ายสีต่างๆ ดังนั้น แบรนด์ของ “ครูพลาม” จึงไม่อาจสู้กับ “ตูน” ได้เลย เพราะต้นทุนต่างกันนั่นเอง 

กรณีนี้ชี้ให้เห็นว่าการสร้างภาพให้ดี การใช้สื่ออย่างมีประสิทธิภาพเป็นสิ่งสำคัญ บางครั้งความเท็จก็ยังทำให้คล้ายความจริงไปได้ อย่างเช่นกรณี 6 ตุลาคม 2519 นักศึกษาประท้วง “สามทรราช” กลับถูกป้ายสีว่า “หมิ่นองค์รัชทายาท” ไปได้ด้วยการโหมโฆษณาชวนเชื่อของสื่อ (https://bit.ly/2rs2E5z)

ยี่ห้อ “ครูพลาม” จึงขายได้ยากในสังคมที่ถูก “ปั่นหัว” แต่ถ้าปรากฏตัวให้สังคมได้เห็นการทำดีก็คงสามารถทำให้สังคมเห็นภาพจริงที่มุ่งทำเพื่อส่วนรวมได้ สู้ๆครับ “ครูพลาม”


You must be logged in to post a comment Login