วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567

การเจ็บไข้ได้ป่วยจากการทำงานในห้อง / โดย ศ.นพ.สารเนตร์ ไวคกุล

On April 12, 2018

คอลัมน์ : พบหมอศิริราช

ผู้เขียน : ศ.นพ.สารเนตร์ ไวคกุล

(โลกวันนี้วันสุข วันที่ 13-20 เมษายน 2561)

เมื่อต้องนั่งทำงานในห้องที่ทำงานเป็นเวลานานๆอาจเกิดโรคที่พบบ่อยได้ในหลายระบบ

ระบบแรกคือ ระบบกระดูก เอ็น ข้อ และกล้ามเนื้อ ผู้ที่ต้องนั่งทำงานเป็นเวลานานๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ทำงานกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งมักจะทำงานติดต่อกันนานๆ ร่างกายอาจจะอยู่ในท่าทางที่ไม่ถูกต้อง ทำให้เนื้อเยื่อบางส่วนในระบบนี้ต้องทำงานมากกว่าปรกติและมีการอักเสบ หากเป็นมานานอาจเกิดการอักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยจะมีการเจ็บปวดเรื้อรัง ตามมาด้วยภาวะเนื้อเยื่อต่างๆเสื่อมเร็วกว่าที่ควร

กล้ามเนื้อเป็นเนื้อเยื่อส่วนแรกที่มักจะพบความผิดปรกติ กล้ามเนื้อบริเวณคอ ไหล่ ต้นแขน และหลัง มักมีการเกร็งหรือตึงตัวอย่างผิดปรกติในขณะที่ผู้ป่วยนั่งทำงานเป็นเวลานานๆ กล้ามเนื้อเหล่านี้เป็นกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ให้เกิดการทรงตัวให้ถูกต้อง เมื่อกล้ามเนื้อหดเกร็งเป็นเวลานานๆจะเกิดการคั่งของสารที่เรียกว่า Lactic acid ในกล้ามเนื้อ ซึ่งเกิดจากการที่เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อไม่เพียงพอ ทำให้เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อ

ผู้ป่วยมักมีอาการปวดเมื่อทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน เมื่อพักหรือผ่อนคลายหรือรับประทานยาแก้ปวดธรรมดาก็มักจะหาย แต่เมื่อกลับไปทำงานอีกก็จะมีอาการปวดขึ้นอีก หากทำงานในท่าที่ไม่ถูกต้องเช่นนี้นานๆ อาการปวดนั้นอาจจะไม่หายไปอย่างสมบูรณ์ จะมีบางช่วงที่มีอาการปวดมาก และส่วนใหญ่จะมีอาการปวดอยู่ตลอดเวลา ทำให้การรักษายุ่งยากขึ้น อาจมีความจำเป็นต้องรักษาด้วยยา โดยใช้ยาต้านการอักเสบ หรือการรักษาทางกายภาพบำบัด และการฉีดยาเฉพาะที่

ข้อแนะนำคือ เมื่อทำงานไประยะหนึ่ง ทุก 30-45 นาทีควรเปลี่ยนอิริยาบถ มีการบริหารร่างกาย ยืดกล้ามเนื้อ แล้วก็มีการเคลื่อนไหวของข้อที่ทำงานนั้นในทุกๆด้าน การยืดกล้ามเนื้อช่วยทำให้กล้ามเนื้อได้ผ่อนคลาย การรักษาโดยทางยานั้นจะใช้ต่อเมื่อมีความจำเป็น เพราะการใช้ยาต้านการอักเสบผู้ป่วยอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากยา ที่พบบ่อยคือเกิดการอักเสบของกระเพาะอาหารและมีแผลในกระเพาะอาหาร การรักษาทางกายภาพบำบัดนิยมให้การรักษาโดยให้ความร้อน เมื่อทุเลาลงแล้วจึงเป็นการบริหารกล้ามเนื้อให้มีความแข็งแรง เพื่อให้ทำงานได้ดีขึ้น ในรายที่เป็นเรื้อรังมานานอาจจะเกิดการผิดรูป เช่น หลังคดหรือไหล่เอียง

ในผู้ป่วยบางรายที่ต้องใช้ข้อมือ ข้อไหล่ หรือข้อศอกเกร็งทำงาน อาจจะมีการอักเสบที่บริเวณที่กล้ามเนื้อหรือเอ็นเกาะกับกระดูก ที่พบบ่อยคือ บริเวณข้อศอกและข้อมือ ที่ไหล่พบบริเวณด้านหน้าของข้อไหล่ การอักเสบของเอ็นในระยะแรกๆเมื่อพักก็หายเช่นเดียวกับกล้ามเนื้อ แต่เมื่อเป็นเรื้อรังนานๆผู้ป่วยมักมีการอักเสบ เจ็บบริเวณนั้นอยู่ตลอดเวลา และมีอาการมากขึ้น

ข้อแนะนำในการป้องกันทำเช่นเดียวกับการป้องกันการอักเสบของกล้ามเนื้อ คือผู้ที่ทำงานอยู่ควรหยุดการทำงานเป็นระยะ แล้วบริหารให้ข้อมีการเคลื่อนไหวทุก 30-45 นาที โดยการยืดและเกร็งสลับกันไป จะทำให้เอ็นมีการผ่อนคลาย เลือดไหลเวียนดีขึ้น หากไม่ทุเลาจำเป็นต้องให้การรักษาทางยา ซึ่งอาจจะให้ยาแก้ปวดธรรมดา เช่น พาราเซตามอล หรือยาต้านการอักเสบ ในผู้ป่วยที่เป็นมากอาจให้การรักษาโดยวิธีทางกายภาพบำบัดหรือทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู ซึ่งวิธีการนั้นจะจำเพาะเจาะจงไปในแต่ละส่วนของร่างกาย

ภาวะข้ออักเสบพบได้บริเวณคอ เนื่องจากต้องนั่งเกร็งมองดูจอคอมพิวเตอร์หรือเครื่องพิมพ์ดีด หรือนั่งอ่านหนังสือในท่าที่ไม่ถูกต้องเป็นเวลานานๆ ข้อที่กระดูกคอต้องทำงานมากกว่าปรกติ ผู้ที่ทำงานเหล่านี้มักพบอาการข้อกระดูกคอเสื่อมเร็วกว่าปรกติ ข้อกระดูกคอเสื่อมในระยะแรกๆจะมีอาการเจ็บบริเวณคอ แต่ถ้าหากข้อเสื่อมมากขึ้น มีแคลเซียมไปเกาะที่บริเวณเยื่อหุ้มข้อของกระดูกคอ หรือมีกระดูกงอกรบกวนเส้นประสาท ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บที่ต้นคอแล้วร้าวมาที่แขน มีอาการชาหรืออ่อนแรงที่มือและแขน

การป้องกันคือ ผู้ที่ต้องทำงานในท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานานควรเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ มีการบริหารกล้ามเนื้อบริเวณคอให้แข็งแรง ถ้าไม่ทุเลาอาจให้การรักษาทางยาและทางกายภาพบำบัดหรือเวชศาสตร์ฟื้นฟู ในรายที่มีอาการปวดมากและมีการรบกวนเส้นประสาทอาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

อาการเส้นประสาทไขสันหลังถูกกดทับ มักจะพบในผู้ป่วยที่ทำงาน นั่งทำงานในห้องทำงานติดต่อกันเป็นเวลานานๆ โดยเส้นประสาทที่ผ่านมาบริเวณข้อมืออาจจะถูกกดเนื่องจากผู้ป่วยทำงานซ้ำและติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยข้อมืออาจจะอยู่ในท่ากระดกขึ้นหรือกระดกลงมากเกินไป เกิดการกดเส้นประสาทที่ข้อมือ ผู้ป่วยมักจะมีอาการชา อ่อนแรงที่มือ ในบางรายมีอาการปวดชามากในตอนกลางคืน ทำให้ไม่สามารถหลับได้ อาการชาและไม่สบายที่มืออาจจะทุเลาเมื่อเปลี่ยนตำแหน่งของข้อมือ

เส้นประสาทที่บริเวณศอกก็อาจจะถูกกดในรายที่นั่งเท้าโต๊ะหรือต้องงอข้อศอกมากกว่าปรกติ บริเวณไหล่ตอนที่เส้นประสาทผ่านจากคอมาสู่ไหล่ก็เป็นอีกตำแหน่งหนึ่งที่เส้นประสาทอาจถูกกด ผู้ที่ใช้ไหล่อย่างไม่ถูกต้อง นั่งตัวเอียง ตัวบิด หรือก้มตัวมากเกินไป จะเกิดการกดเส้นประสาทในบริเวณส่วนต่อระหว่างคอกับไหล่นี้ได้ เส้นประสาทที่บริเวณคออาจจะถูกกดจากการที่มีภาวะข้อกระดูกคอเสื่อม หรือผู้ป่วยที่ต้องทำงานในท่าก้มหน้าหรือเงยหน้าติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ในทางคลินิกพบบ่อยว่าผู้ป่วยมักจะมีการกดของเส้นประสาทมากกว่า 1 ตำแหน่ง

ในการรักษาภาวะเส้นประสาทถูกกด แนะนำให้ผู้ป่วยแก้ไขท่าทางขณะทำงานให้ถูกต้อง ผู้ป่วยต้องนั่งตัวให้ตรง คอตรง ต้องจัดโต๊ะเก้าอี้ให้ระดับเหมาะสม โต๊ะเก้าอี้ที่ไม่เหมาะสมจะทำให้ผู้ป่วยต้องก้มตัวหรือเงยศีรษะมากเกินไป อาจทำให้เกิดการทำงานผิดปรกติของกล้ามเนื้อ เอ็น และข้อ รวมทั้งเกิดการกดเส้นประสาทได้ ในรายที่เป็นมากและมีอาการชาหรืออ่อนแรงอาจให้การรักษาโดยการฉีดยาเฉพาะที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสเตียรอยด์ หรือให้ยาต้านการอักเสบเพื่อลดการอักเสบของเส้นประสาท แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการมากอาจให้การรักษาโดยการผ่าตัด

ระบบที่สองคือ ระบบทางเดินหายใจ พบในผู้ป่วยที่ต้องนั่งทำงานในห้องทำงานที่มีระบบปรับอุณหภูมิแบบปิด และเป็นสถานที่ซึ่งมีคนทำงานหลายคนอยู่ด้วยกัน มีสิ่งของมากมายอยู่ในห้อง ผู้ป่วยมักจะเกิดโรคภูมิแพ้ เนื่องจากผงฝุ่นเชื้อรา หรือผงฝุ่นละออง ผงฝุ่นจากสารเคมีที่ทำเคลือบหนังสือ หรือกลิ่นจากหมึกพิมพ์ก็มีส่วนทำให้เกิดการอักเสบภายในทางเดินหายใจ ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้

ในกรณีที่ต้องอยู่ในห้องปรับอากาศเป็นเวลานานๆ และนั่งร่วมทำงานอยู่หลายคน หากผู้ร่วมงานเป็นไข้หวัด มีการไอหรือจาม ก็จะทำให้เชื้อโรคหวัดแพร่ติดต่อไปยังคนอื่นได้ง่าย นอกจากนี้ระบบปรับอากาศที่ไม่เหมาะสม ไม่มีการกรองและการทำความสะอาดแผ่นกรองที่ดีเพียงพอ เชื้อราอาจเจริญเติบโตบริเวณแผ่นกรอง ทำให้มีการปล่อยผงฝุ่นละอองของราและสปอร์ของรา ทำให้ผู้ป่วยมีอาการโรคภูมิแพ้ มีการอักเสบของทางเดินหายใจเรื้อรัง

การป้องกันคือ ควรทำความสะอาดแผ่นกรองเครื่องปรับอากาศ เปิดหน้าต่างให้มีอากาศถ่ายเทไหลเวียน ควรทำความสะอาดพื้นและหลังตู้เอกสาร เก็บสิ่งของที่ไม่จำเป็นเข้าตู้ การกำจัดผงฝุ่นและเชื้อรามีส่วนช่วยลดอุบัติการณ์ของโรคลงได้

ระบบที่สามคือ ระบบการมองเห็น ในผู้ป่วยที่ต้องใช้สายตาจ้องมองคอมพิวเตอร์หรืออ่านหนังสือเป็นเวลานานๆจำเป็นต้องมีการปรับแสงให้เหมาะสม แสงสว่างจากจอคอมพิวเตอร์ที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไปทำให้เกิดอาการตาแห้งและกล้ามเนื้อตาต้องทำงานมากขึ้น เกิดภาวะตึงเครียดของกล้ามเนื้อบริเวณตา ทำให้เกิดอาการเมื่อยตา ซึ่งหากเป็นนานๆจะมีผลกับการมองเห็น

นอกจากนี้รังสีที่ส่องออกมาจากจอคอมพิวเตอร์จะทำให้เกิดการระคายเคืองของเยื่อบุตาหรือกระจกแก้วตา ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง และอาจตามมาด้วยการเกิดเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงขึ้นมาปิดคลุมบริเวณแก้วตา ทำให้เลนส์ตาเสื่อมเร็วกว่าปรกติ

ระบบสุดท้ายที่พบพยาธิสภาพบ่อยคือ การเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ ผู้ที่ทำงานมักมีความเครียดสูงโดยไม่รู้ตัว ความเครียดนำไปสู่อาการเจ็บป่วยเรื้อรังในระบบกระดูก เอ็น กล้ามเนื้อและข้อ และระบบทางเดินอาหารได้ง่าย ผู้ป่วยมักมีอาการไม่สบายเรื้อรัง ป้องกันได้โดยจำกัดเวลาการทำงานในแต่ละช่วงลง มีการพักเพื่อผ่อนคลายเป็นระยะ รวมทั้งการออกกำลังกายทั่วๆไป


You must be logged in to post a comment Login