วันพฤหัสที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567

จมูกไม่ได้กลิ่น / โดย ผศ.นพ.ประยุทธ ตันสุริยวงษ์

On April 6, 2018

คอลัมน์ : พบหมอศิริราช

ผู้เขียน : ผศ.นพ.ประยุทธ ตันสุริยวงษ์

(โลกวันนี้วันสุข วันที่ 6-13 เมษายน 2561)

การรับกลิ่นนับเป็นประสาทสัมผัสพิเศษที่สำคัญอย่างหนึ่งของมนุษย์ แม้แต่ในสิ่งมีชีวิตชั้นต่ำ การรับกลิ่นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการหาอาหาร การป้องกันอันตราย หรือแม้แต่การสืบเผ่าพันธุ์ ความสำคัญของการรับกลิ่นดูจะน้อยลงในสิ่งมีชีวิตที่มีวิวัฒนาการสูงขึ้นและมีประสาทสัมผัสพิเศษอื่นๆพัฒนามากขึ้น เช่น การได้ยินและการมองเห็น แต่การรับกลิ่นก็ยังมีความสำคัญสำหรับมนุษย์ อีกทั้งยังมีพฤติกรรมของมนุษย์หลายอย่างที่คาดว่าอาจมีผลมาจากการรับกลิ่น

การรับกลิ่นและการรับรสเป็นประสาทสัมผัสพิเศษที่มีความสัมพันธ์กันอย่างมาก เนื่องจากมนุษย์จะนำการรับกลิ่นไปร่วมแปลเป็นความรู้สึกของการรับรสด้วย เช่น เมื่อเราเป็นหวัดจมูกไม่ค่อยได้กลิ่น เราจะรู้สึกว่ารสชาติอาหารไม่อร่อย ทั้งที่การรับรสของเรายังปรกติดี ผู้ป่วยที่มีปัญหาการรับกลิ่นได้น้อยลง นอกจากจะทำให้ความพึงพอใจในรสชาติของอาหารและกลิ่นหอมของสิ่งต่างๆรอบตัวน้อยลงแล้ว ยังอาจทำให้ขาดสัญญาณเตือนภัยในการดำรงชีวิต เช่น อันตรายจากการเกิดแก๊สรั่ว หรือการกินอาหารบูดเน่า

ปัญหาการรับกลิ่นได้น้อยลงมีสาเหตุใหญ่ๆ 3 ประการคือ 1.อุบัติเหตุทางศีรษะ 2.การติดเชื้อไวรัสจากการเป็นหวัด และ 3.โรคทางช่องโพรงจมูกและไซนัส สาเหตุจาก 2 ประการแรกจะทำให้เกิดการสูญเสียการรับกลิ่นแบบปลายประสาทเสื่อม สาเหตุที่ 3 จะเป็นแบบช่องจมูกอุดตัน นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆที่พบได้บ้าง เช่น การสูดรับสารพิษอย่างรุนแรง โรคทางระบบประสาทและโรคพันธุกรรมบางอย่าง โรคทางเมตาบอลิสซึม เช่น เบาหวาน ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปรกติ รวมทั้งอาจเป็นการเสื่อมสภาพของประสาทรับกลิ่นไปตามอายุอีกด้วย

การสูญเสียการรับกลิ่นจากอุบัติเหตุทางศีรษะมักเกิดจากการกระแทกที่รุนแรงทางด้านหน้าหรือท้ายทอย ทำให้เกิดการกระชากอย่างรุนแรงของประสาทรับกลิ่นที่ผ่านลงมาในช่องจมูก นอกจากนี้หากมีการแตกหักของกระดูกบริเวณรอบๆประสาทรับกลิ่นก็อาจทำให้ปลายประสาทขาดได้ ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องสลบก็อาจรู้สึกได้ทันทีว่ามีการสูญเสียการดมกลิ่นอย่างฉับพลัน หรือทราบภายหลังอุบัติเหตุไม่นานนักเมื่อเริ่มรู้สึกว่าไม่ได้กลิ่น

ส่วนการสูญเสียการรับกลิ่นจากการติดเชื้อไวรัสหวัดจะเป็นพร้อมๆการเป็นหวัด อาจเป็นการเป็นหวัดที่รุนแรงหรือเป็นนาน ระหว่างที่เป็นหวัดนั้นผู้ป่วยไม่ได้กลิ่น และเมื่ออาการหวัดหายไปแล้วผู้ป่วยก็ยังคงไม่ได้กลิ่น การสูญเสียการรับกลิ่นจากทั้ง 2 กรณีจะมีโอกาสกลับมาเป็นปรกติได้เอง โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรก ยังไม่พบว่ามีการรักษาใดช่วยในการกลับมาของการรับกลิ่น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าปลายประสาทมีการถูกทำลายไปมากน้อยเพียงใด

สำหรับการสูญเสียการรับกลิ่นจากการอุดตันของช่องจมูกบริเวณรับกลิ่นในโพรงจมูกจะทำให้กลิ่นไม่สามารถขึ้นไปกระตุ้นปลายประสาทรับกลิ่นได้ อาจเป็นการอักเสบของโพรงจมูกจากภูมิแพ้หรือไซนัสอักเสบ ซึ่งทำให้เยื่อบุช่องโพรงจมูกบวมหรือริดสีดวงจมูก และเนื้องอกของช่องจมูกและโพรงไซนัสที่อุดตันบริเวณรับกลิ่น ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีอาการทางจมูกอื่นๆร่วมด้วย เช่น อาการคัดจมูก น้ำมูกไหล หรืออาการอื่นๆของโรคนั้นๆ อาการไม่ได้กลิ่นจะเป็นในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป อาจมีบางครั้งได้กลิ่นดีและแย่ลงสลับกันไปมาขึ้นอยู่กับอาการคัดจมูก การสูญเสียการรับกลิ่นจากสาเหตุนี้สามารถทำการรักษาได้โดยทำการรักษาโรคที่เป็นต้นเหตุให้ช่องโพรงจมูกบวมและอุดตันทั้งโดยการใช้ยาและวิธีผ่าตัด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคที่เป็นสาเหตุนั้นๆ

ผู้ป่วยที่จมูกไม่ได้กลิ่นควรมาพบแพทย์เพื่อซักประวัติ ตรวจช่องโพรงจมูกและไซนัส และประเมินสมรรถภาพการรับกลิ่น เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุและทำการรักษาให้ถูกต้อง ปัจจุบันการตรวจประเมินสมรรถภาพการรับกลิ่นยังทำได้ไม่ดีเท่าการมองเห็นหรือการได้ยิน แต่ก็ได้มีการพัฒนาวิธีต่างๆมากมายในการประเมินดังกล่าวเพื่อประเมินว่าผู้ป่วยมีความผิดปรกติจริง ตรวจหาผู้ป่วยที่อาจแกล้งทำเพื่อประโยชน์บางอย่าง สามารถช่วยในการวินิจฉัยแยกโรคทางระบบประสาทบางอย่าง ติดตามผลการรักษาในโรคที่มีความผิดปรกติดังกล่าว ให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยให้เข้าใจถึงความผิดปรกติและปรับตัวได้หากไม่สามารถรักษาได้ รวมทั้งการคิดค่าตอบแทนในกรณีผู้ป่วยมีความผิดปรกติที่มีสาเหตุมาจากการทำงานหรืออุบัติเหตุ


You must be logged in to post a comment Login