วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

แค่เสียงเชียร์?

On April 6, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

แม้ช่วงนี้จะมีคนรัก “บิ๊กตู่” หลายกลุ่มออกมาแสดงความปรารถนาดีร่วมกันทำภารกิจดันก้นให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้ง แต่ก็มีเสียงเตือนจากหลายฝ่ายที่ไม่ควรเอาหูทวนลมทำเป็นไม่ได้ยิน เพราะการกลับมาเป็นนายกฯไม่ว่าจะมาจากการถูกเสนอชื่อไว้ในบัญชีพรรคการเมือง หรือมานอกบัญชีถึงได้เก้าอี้มาก็ไม่มีความสุข ไม่ต่างอะไรจากการนั่งทับไฟ การสนับสนุนทั้งในและนอกสภาจะไม่เหมือนเดิม แถมดาบวิเศษมาตรา 44 ก็สิ้นฤทธิ์ ในสภาไม่มีใครกลัวใคร การตรวจสอบจะเข้มข้นทั้งกระทู้และญัตติ ไม่มีใครยืนนิ่งให้ตะคอกใส่อยู่ฝ่ายเดียว เมื่อยักษ์ไม่มีกระบองใครจะไปกลัว

เรื่องการตั้งพรรคการเมืองใหม่เพื่อทำภารกิจดันก้น “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้ง แม้การให้สัมภาษณ์ล่าสุดของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะยังออกอาการแบ่งรับแบ่งสู้เรื่องการตั้งพรรค แต่ไม่กั๊กว่าให้การสนับสนุน “บิ๊กตู่” กลับมาเป็นนายกฯอีกครั้ง

ส่วนเรื่องพรรคใหม่โยนเผือกร้อนให้ไปหาคำตอบจากนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่มีข่าวว่ากำลังรวบรวมไพล่พลเพื่อเปิดตัวพรรคใหม่ช่วงเดือนมิถุนายน

ถึงจะยังแบ่งรับแบ่งสู้แต่ดูทรงแล้วพรรคใหม่คงได้แจ้งเกิดแน่และน่าจะเริ่มมีเค้าโครงให้เห็นได้ชัดเจนขึ้นหลังเทศกาลสงกรานต์

การเปิดหน้าเปิดตัวประกาศหนุน “บิ๊กตู่” กลับมาเป็นนายกฯหลังเลือกตั้งถือเป็นความหวังดีของคนกลุ่มหนึ่ง

ขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งก็แสดงความหวังดีเช่นกันด้วยการออกมาเตือน “บิ๊กตู่” ว่าอย่าได้คิดเข้ามาเป็นนายกฯคนนอกไม่ผ่านการเลือกตั้ง

นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตนักศึกษาที่เคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535

พูดบนเวทีเสวนาหัวข้อ “นายกรัฐมนตรีคนนอก ตามรัฐธรรมนูญ 2560 และแนวโน้มการเมืองไทย” ตอนหนึ่ง ประตูที่จะนำ “บิ๊กตู่” กลับเข้าทำเนียบรัฐบาลได้มีอยู่ 2 บาน หนึ่งคือเป็นผู้มีรายชื่อในบัญชีผู้เหมาะสมของพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง สองคือรอให้ที่ประชุมสภาไม่สามารถเลือกคนจากบัญชีพรรคการเมืองได้แล้วถูกเสนอชื่อในฐานะคนนอกที่เหมาะสมโดยช่องทางนี้จะใช้จำนวน ส.ส.เพียง 126 เสียง และ 250 เสียงที่คสช.จะตั้งไว้ก่อนเลือกตั้ง ซึ่งช่องทางนี้ไม่น่าจะยาก

“การกลับมาเป็นนายกฯอาจไม่ยาก แต่ปัญหาคือเป็นแล้วอาจอยู่ไม่ได้ เพราะมีเสียงสนับสนุนจากส.ส.ไม่เกินกึ่งหนึ่ง อาจถูกปลดจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจหรืองบประมาณไม่ผ่านที่ประชุมสภา ขอเตือนว่า หากเลือกมาเป็นนายกฯ นอกบัญชี จะมีปัญหาตามมาแน่นอน ซึ่งมีกรณีของอดีตนายกฯ อาทิ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ให้เห็นแล้ว”

เป็นนายกฯได้แต่อยู่ไม่ได้คือคำเตือนด้วยความปรารถนาดีจากอดีตนักศึกษาที่เคลื่อนไหวทางการเมืองต่อสู้กับเผด็จการปี 2535

ความเห็นนี้ไม่ต่างจากนายศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่กล่าวไว้ตอนหนึ่งบนเวทีเดียวกันโดยเตือนว่า แม้รัฐธรรมนูญจะเอื้อให้คสช.สืบทอดอำนาจ แต่เชื่อว่าหากนายกมาจากคนนอกจะอยู่ได้ยากมากเพราะประชาชนคาดหวังว่าประชาธิปไตยจะเดินไปข้างหน้า และเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

ส่วนประเด็นที่ว่าถ้าไม่เอา “บิ๊กตู่” แล้วจะเอาใครเป็นนายกฯ นายศุภสวัสดิ์ บอกว่ายังมองไม่เห็นว่าใครเหมาะสมกับสถานการณ์ หายากมาก ถือเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง หากเป็นคนจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขึ้นมา ความขัดแย้งก็จะยังคงอยู่

ขณะที่นายนันทวัฒน์ บรมานันท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ถ้ามีนายกรัฐมนตรีคนนอกบัญชี โอกาสถูกคัดค้านจากสังคมมีมาก ดังนั้น ต้องเข้ามาอยู่ในบัญชี ซึ่งต้องจับตาดูว่า พรรคการเมืองใดจะกล้าเสนอชื่อ และ “บิ๊กตู่” จะกล้าเซ็นยินยอม ประกาศตัวเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ เพราะเชื่อว่าน่าจะส่งผลกระทบต่อคะแนนเสียง

สรุปความได้ว่าความหวังดีที่มีต่อ “บิ๊กตู่” แยกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งต้องการสนับสนุนให้กลับมาเป็นนายกฯหลังเลือกตั้ง ส่วนหนึ่งร้องเตือนให้วางมือเพราะถึงได้เก้าอี้มาก็เหมือนนั่งทับไฟไม่มีความสุข

อย่างไรก็ตามทั้งหมดคงต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ “บิ๊กตู่” ว่าอยากลงจากหลังเสือ หรืออยากพบความท้าทายใหม่ในชีวิตด้วยการสมัครใจเข้ามานั่งทับไฟบนเก้าอี้นายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้ง

ต้องไม่ลืมว่าหลังเลือกตั้งดาบวิเศษมาตรา 44 จะหมดฤทธิ์ สมาชิกสภาจะไม่เป็นฝักถั่วยกมือให้เสนออะไรก็ผ่าน การตรวจสอบจะเข้มข้นขึ้นทั้งกระทู้และญัตติไม่มีใครยืนนิ่งให้ตะคอกใส่อีกต่อไป ยักษ์ไร้กระบองใครจะไปกลัว


You must be logged in to post a comment Login