วันพฤหัสที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567

สองเงื่อนไข

On April 4, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

หลังร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ถูกส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้งน่าจะเป็นเงื่อนไขสุดท้ายที่จะใช้เทคนิคทางกฎหมายยื้อเลือกตั้งออกไปได้ ส่วน 2 เงื่อนไขสุดท้ายที่เหลืออยู่ในมือ หากจำเป็นต้องใช้ต้องรอให้มีการเลือกตั้งแล้วคือ การตีความระยะเวลาจัดเลือกตั้งให้แล้วเสร็จใน 150 วัน ที่ยังเถียงกันอยู่ว่าแค่จัดหย่อนบัตรนับคะแนนหรือรวมประกาศรับรองผลการเลือกตั้งด้วย อีกกรณีคือใช้อำนาจมาตรา 44 ล้มการเลือกตั้ง แต่ต้องมีเหตุผลรองรับ เช่น การเลือกตั้งปั่นป่วนวุ่นวาย หรือที่ประชุมสภาไม่สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้

ชัดเจนขึ้นมาอีกนิดกับการส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ล่าสุดมีคำยืนยันแล้วว่าคำร้องขอให้ตีความถูกส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญแล้วเมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา

สำหรับประเด็นที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 27 คน เข้าชื่อกันเพื่อขอให้ตีความประกอบด้วย 1.การตัดสิทธิผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งห้ามดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองและท้องถิ่น และ 2.การใช้สิทธิลงคะแนนเสียงของผู้พิการที่สามารถช่วยผู้พิการกาบัตรเลือกตั้งได้

เป็นประเด็นที่ก่อนหน้านี้ สนช. หลายคนยืนยันมาตลอดว่าไม่มีอะไรขัดต่อรัฐธรรมนูญ และไม่ถือว่าเป็นประเด็นสำคัญที่จะทำให้การเลือกตั้งเกิดปัญหาขึ้นในอนาคต

แม้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ย้ำหนักแน่นว่าจะไม่ให้การยื่นตีความครั้งนี้กระทบต่อโรดแม็พเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า

แต่เมื่อเรื่องถูกส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญแล้วในหลักการไม่สามารถไปแทรกแซงอะไรได้ จะใช้เวลาพิจารณามากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญว่าจะมองเห็นเรื่องนี้มีความสำคัญระดับไหน อย่างไร

ส่วนเงื่อนเวลาที่จะหักมาชดเชยกับระยะเวลาที่เสียไประหว่างการยื่นตีความสามารถทำได้ 2 ขั้นตอนคือ

1.หลังทราบผลการตีความแล้ว หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า 2 ประเด็นที่ยื่นตีความไม่ขัดรัฐธรรมนูญ นายกฯสามารถเร่งนำร่าง พ.ร.ป. ที่ผ่านการตีความขึ้นทูลเกล้าฯได้ทันที แต่หากผลตีความออกมาว่าขัดรัฐธรรมนูญก็ต้องเสียเวลาในการปรับแก้ร่างกฎหมายและส่งให้ที่ประชุม สนช. พิจารณาใหม่ ซึ่งการปรับแก้เพียง 2 ประเด็นสามารถทำได้ภายในไม่กี่วัน

2.ย่นระยะเวลาจัดเลือกตั้งที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 150 วันหลังร่าง พ.ร.ป. สำคัญ 4 ฉบับประกาศใช้อย่างเป็นทางการครบทุกฉบับ คือเริ่มนับตั้งแต่ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ประกาศใช้ ซึ่งขณะนี้มีการพูดกันมากว่าจะย่นเวลาจัดเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน

บวกลบแล้วคือย่นระยะเวลาจัดเลือกตั้งให้แล้วเสร็จเร็วขึ้น 60 วัน เท่ากับมีการประเมินกันว่ากระบวนการตีความและรวมถึงการปรับแก้ (หากมี) จะแล้วเสร็จภายใน 60 วันนับจากวันที่ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ถูกส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญ

สอดคล้องกับกรณีที่ผู้มีอำนาจประกาศออกมาอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรกว่าการปลดล็อกพรรคการเมืองให้ดำเนินกิจกรรมต่างๆได้เต็มที่จะเกิดขึ้นได้ในช่วงเดือนมิถุนายน

ส่วนเรื่องคำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 ที่ถูกมองว่าเป็นปัญหาอยู่ในตอนนี้ จะทำเพียงการปรับแก้บางเรื่อง ไม่ยกเลิกตามข้อเรียกร้องของฝ่ายการเมือง

เป็นการปรับแก้เพื่อคลายล็อกบางอย่างให้พรรคการเมืองขยับเขยื้อนได้คล่องตัวมากขึ้น

เหมือนแค่ผ่อนเชือก คลายโซ่ แต่ยังไม่แก้มัดให้อิสระอย่างเต็มที่

มองเผินๆเหมือนทุกอย่างเป็นไปในทิศทางที่ดี และทำให้มองเห็นธงเลือกตั้งที่ปักไว้เดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าได้ชัดเจนขึ้น

หากทุกอย่างยังเดินไปตามทิศทางนี้ก็ไม่น่าจะมีอะไรมาล้มเลือกตั้งตามโรดแม็พได้ เพราะปัญหาเรื่องร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้งน่าจะเป็นเงื่อนไขท้ายๆที่จะใช้เทคนิคทางกฎหมายยื้อเลือกตั้งออกไปได้

หากผลตีความผ่านฉลุย หรือต่อให้ชี้ว่าขัด การปรับแก้ก็ทำได้ไม่ยากและใช้เวลาไม่มาก

เงื่อนไขเดียวที่เหลือคือระยะเวลาจัดเลือกตั้งให้แล้วเสร็จใน 150 วัน ที่ยังเถียงกันอยู่ว่าแค่จัดหย่อนบัตรนับคะแนนหรือรวมประกาศรับรองผลการเลือกตั้งด้วย ซึ่งยังไม่มีใครให้ความกระจ่างได้

พ้นจากเงื่อนไขนี้ผู้มีอำนาจเหลือเครื่องมือหนักในมืออันเดียวคือ ใช้อำนาจมาตรา 44 ล้มการเลือกตั้ง แต่ต้องมีเหตุผลรองรับ เช่น การเลือกตั้งปั่นป่วนวุ่นวาย หรือที่ประชุมสภาไม่สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้

เป็น 2 เครื่องมือสุดท้ายที่เหลืออยู่ในมือผู้มีอำนาจในตอนนี้


You must be logged in to post a comment Login