วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

โรคติดเชื้อหลังการปลูกถ่ายอวัยวะ / โดย รศ.พญ.สิริอร วัชรานานันท์

On March 30, 2018

คอลัมน์ : โลกสุขภาพ

ผู้เขียน : รศ.พญ.สิริอร วัชรานานันท์

(โลกวันนี้วันสุข วันที่ 30 มีนาคม-6 เมษายน 2561)

การปลูกถ่ายอวัยวะเป็นศาสตร์ทางการแพทย์ที่มีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันสามารถทำการปลูกถ่ายอวัยวะได้หลายส่วนของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นหัวใจ ปอด ตับ ไต เป็นต้น ซึ่งศาสตร์ของการปลูกถ่ายอวัยวะถือว่าเป็นความสำเร็จสำคัญทางการแพทย์ที่ทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ได้ยาวขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญที่พบภายหลังการปลูกถ่ายอวัยวะคือภาวะติดเชื้อ ซึ่งถือได้ว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะทุพพลภาพหรือเสียชีวิตได้

สำหรับในประเทศไทย ไต (kidney) เป็นอวัยวะที่มีการปลูกถ่ายมากที่สุด เป็นอวัยวะหนึ่งในระบบปัสสาวะ และเป็นอวัยวะสำคัญไม่แพ้สมองและหัวใจ เปรียบเสมือนเครื่องกรองสุดพิเศษ ทำหน้าที่กรองน้ำ เกลือแร่ รักษาระดับน้ำและสารเกลือแร่ในร่างกาย รวมถึงคัดสารเคมีส่วนเกิน สารคัดหลั่ง ของเสียต่างๆออกจากร่างกาย โดยขับออกมาในรูปของน้ำปัสสาวะ ปรกติแล้วคนเราจะมีไตอยู่ 2 ข้างซ้ายขวา ทว่าไตเพียงข้างเดียวก็เพียงพอในการทำหน้าที่ได้เช่นกัน หากไตทำหน้าที่ผิดปรกติไปจนเกิดภาวะไตวายเรื้อรัง ทางออกหนึ่งนอกจากการฟอกเลือดก็คือ การเปลี่ยนไต

จากรายงานของสมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทยพบว่า ปัญหาการติดเชื้อถือเป็นภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญที่สุดอันหนึ่งภายหลังจากการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ซึ่งไม่แตกต่างจากรายงานทางการแพทย์ของประเทศอื่น ศาสตร์ทางด้านการติดเชื้อภายหลังการปลูกถ่ายอวัยวะถือได้ว่าเป็นเรื่องใหม่ทางการแพทย์ที่มีรายละเอียดในการดูแลแตกต่างจากภาวะติดเชื้อในคนไข้ทั่วๆไป พบว่าการติดเชื้อในผู้ป่วยคนไทยแตกต่างจากผู้ป่วยทางตะวันตก เพราะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ อุบัติการณ์ของโรคติดเชื้อในพื้นที่ ความเชื่อ และการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน

โดยก่อนการปลูกถ่ายอวัยวะ ไม่ว่าจะเป็นไตหรืออวัยวะอื่นๆ ควรมีการวางแผนในทีมเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยควรจะมีการประเมินผู้ป่วยเป็นรายๆไปตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนอวัยวะ เมื่อคนไข้เข้ามาพบแพทย์สิ่งแรกต้องมีการสกรีนและทำความเข้าใจกับคนไข้ทั้งในเรื่องการผ่าตัดและการรักษาภายหลังการปลูกถ่ายอวัยวะ โดยแพทย์โรคติดเชื้อสามารถมีบทบาทในการช่วยประเมินความเสี่ยงและวางแผนในการป้องกันและรักษาโรคร่วมไปกับแพทย์ในทีม เบื้องต้นต้องมีการซักประวัติหรือตรวจสอบประวัติ การตรวจร่างกาย และการตรวจเลือดของผู้บริจาค (ขึ้นกับว่าผู้บริจาคมีชีวิตหรือเสียชีวิต) และรับบริจาค กรณีมีความผิดปรกติจากการตรวจเบื้องต้นที่ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ แพทย์โรคติดเชื้อควรมีบทบาทในการช่วยวางแนวทางรักษาหรือตัดสินใจในการปลูกถ่ายอวัยวะด้วย

การทำงานคัดกรองผู้ป่วยและอวัยวะว่ามีความพร้อมต่อการปลูกถ่ายหรือไม่นั้น พยาบาลผู้ประสานงานโครงการปลูกถ่ายอวัยวะต้องทำงานหนักตลอด 24 ชั่วโมง โดยการทำงานเป็นทีมร่วมกับทางทีมแพทย์ และได้รับความร่วมมือจากศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย และโรงพยาบาลผู้ให้บริจาค ในการประสานงานและให้ข้อมูลของผู้ป่วยที่เป็นประโยชน์ในการเตรียมความพร้อมในทีมอย่างตลอดเวลา

โดยทั่วไปการติดเชื้อในช่วง 6-12 เดือนแรกภายหลังการปลูกถ่ายอวัยวะนั้นอาจต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะถือว่าเป็นช่วงที่ร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำกว่าช่วงอื่นๆจากขนาดของยากดภูมิต้านทานที่สูงกว่าช่วงอื่นๆเพื่อป้องกันการต่อต้านอวัยวะใหม่ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ง่าย และอาจมีความรุนแรงของการติดเชื้อที่สูงขึ้น เนื่องจากภูมิคุ้มกันในร่างกายที่ต่ำลงจะทำให้เชื้อโรคแบ่งตัวได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น โดยที่อาการนำในช่วงแรกของผู้ป่วยอาจจะน้อยมาก แต่ในทางตรงกันข้าม การดำเนินโรคอาจจะรวดเร็วจนถึงชีวิตได้

ทั้งนี้ สาเหตุโรคติดเชื้อที่พบได้อาจจะไม่ใช่เพียงแค่เชื้อแบคทีเรียเหมือนที่พบได้บ่อยในคนปรกติ แต่กลับมีความเสี่ยงต่อเชื้ออื่นๆ ได้แก่ เชื้อไวรัส เชื้อรา เชื้อไมโคแบคทีเรียม เชื้อหนอนพยาธิ เชื้อโปรโตซัว หรืออาจจะเป็นเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยาปฏิชีวนะหลายชนิด เป็นต้น ซึ่งระดับความรุนแรงของเชื้อแต่ละชนิดก็มีความแตกต่างกันออกไป การป้องกันการติดเชื้อจึงมีความสำคัญ ไม่ว่าจะด้วยการให้ยาป้องกัน การเจาะเลือดตรวจติดตามปริมาณเชื้อไวรัส การวินิจฉัยโรคติดเชื้อเหล่านี้จึงจำเป็นต้องอาศัยผู้ชำนาญและห้องปฏิบัติการที่มีศักยภาพในการตรวจวิเคราะห์เชื้อได้อย่างรวดเร็วและตรงจุด

นอกจากนี้การให้ความรู้และแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันการติดเชื้อในผู้ป่วยแต่ละรายก็เป็นสิ่งสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยหลายรายที่บ้านทำสวนหรือมีอาชีพทางการเกษตรก็ต้องแนะนำการปฏิบัติตัวว่าจะทำอย่างไรเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น สวมถุงมือยาง และใช้ผ้าปิดปาก จมูก เพื่อป้องกันการติดเชื้อราจากดิน ปุ๋ย หรือมูลสัตว์ปีก หรือคำแนะนำเรื่องการรับประทานอาหารที่ถูกสุขอนามัย และอาหารที่ปรุงสุกสะอาด ไม่ควรรับประทานผักดิบ ไข่ดิบ เพราะอาจมีเชื้อที่ติดมาและทำความสะอาดไม่หมด

การรับประทานยาอย่างเหมาะสมภายหลังจากการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ ผู้ป่วยอาจต้องรับประทานยาหลายชนิด โดยเฉพาะยาที่มีฤทธิ์ในการกดภูมิต้านทานของร่างกาย เพื่อป้องกันมิให้ร่างกายมีปฏิกิริยาต่อต้านไตใหม่ที่ได้รับ ดังนั้น แพทย์จึงจำเป็นต้องพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับชนิดของยา วิธีรับประทานยาที่ถูกต้อง รวมถึงผลข้างเคียงของยา ผู้ป่วยไม่ควรขาดยา โดยเฉพาะยากดภูมิคุ้มกัน และที่สำคัญเวลาไม่สบายไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง หรือปรับขนาดของยารับประทานโดยที่แพทย์ไม่ได้สั่ง รวมถึงควรงดการกินอาหารเสริมบางอย่างที่ไม่ได้ปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะอาจจะมีผลเปลี่ยนแปลงระดับของยากดภูมิคุ้มกัน


You must be logged in to post a comment Login