วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

ความยิ่งใหญ่ของอาลีบาบา

On March 22, 2018

คอลัมน์ :โดนไปบ่นไป “ความยิ่งใหญ่ของอาลีบาบา” โดย อนุดิษฐ์ นาครทรรพ (โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ 657 วันที่ 23-30 มีนาคม 2561)

ท่านผู้อ่านที่เคารพบางท่านคงเห็นนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนใช้ “มือถือ” จับจ่ายใช้สอยสินค้าและบริการต่างๆในประเทศไทยกันจนชินตา ว่ากันว่าในปัจจุบันนักท่องเที่ยวจีนไปเที่ยวที่ไหนในโลกแค่ถือโทรศัพท์ไปเครื่องเดียวก็เที่ยวได้จนจบทริป

เทคโนโลยีสมัยใหม่เหล่านี้เป็นเรื่องน่าสนใจ  แต่ที่แน่ๆถ้าคนจีนไปเที่ยวต่างประเทศยังสะดวกสบายขนาดนี้ แล้วถ้าอยู่ในประเทศตัวเองจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่ามากมายขนาดไหน จริงเท็จอย่างไรเรื่องนี้ต้องตามมาดูครับ

alibaba

ผมมีโอกาสเดินทางไปประเทศจีนอีกครั้งหลังจากว่างเว้นมาหลายปี มีท่านผู้รู้เคยกล่าวว่าถ้าท่านไม่ได้มาเมืองจีนนานๆ พอกลับมาเยือนอีกครั้งท่านอาจจะจำอะไรไม่ได้เลย คำกล่าวนี้อาจดู “เหลือเชื่อ” ไปบ้างแต่ก็ไม่เกินจริง

เพราะที่นี่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ค่าเฉลี่ยก็คือ “1 เล็ก 3 ใหญ่” ซึ่งหมายความว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงแบบเล็กน้อยทุกๆ 1 ปี และมีการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ทุกๆ 3 ปี

เครื่องบินแบบแอร์บัส เอ-330 บริษัทการบินไทย ลงสัมผัสพื้นอย่างนิ่มนวลในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 14 มีนาคม ณ สนามบินนานาชาติเซี่ยงไฮ้ผู่ตง ทริปนี้ผมมาดูงานที่มหานครเซี่ยงไฮ้และเมืองหางโจว มาถึงแค่สนามบินก็ต้องบอกว่าอลังการงานสร้างแล้ว เพราะมันใหญ่กว่าที่ผมจำได้จริงๆ

ในปี 2549 ปีที่สนามบินสุวรรณภูมิเปิดให้บริการ สนามบินนี้รองรับผู้โดยสารแค่ 17 ล้านคนต่อปี แต่เมื่อปีที่แล้ว (2560) สนามบินนานาชาติที่ผู่ตงมีผู้โดยสารมาใช้บริการตลอดทั้งปีผ่านหลัก 70 ล้านคนไปเป็นที่เรียบร้อย คิดดูแล้วกันว่าขยายตัวใหญ่ขึ้นกว่าเดิมกี่เท่า!

ผ่านตรวจคนเข้าเมืองรับกระเป๋าเรียบร้อยก็ออกเดินทางไปหางโจวกันเลย เราเดินทางด้วยรถบัส 2 คันตามขนาดของคณะเดินทางจำนวนเกือบ 80 ชีวิต ทางด่วนที่นี่เชื่อมต่อระหว่างกันทุกเมือง ทำให้การเดินทางสะดวกรวดเร็ว แม้ว่าถนนจะกว้างใหญ่ไพศาล แต่รถทุกคันก็รักษาความเร็วตามที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด

นอกจากนั้นผมยังเห็นการขนส่งมวลชนแบบอื่นๆ ทั้งรถรับจ้าง รถแท็กซี่ รถบัสโดยสาร รถไฟธรรมดา รถไฟความเร็วสูง และรถไฟแม่เหล็ก (Maglev) โดยเฉพาะรถไฟแม่เหล็กที่เซี่ยงไฮ้ถือเป็นสายแรกของโลกที่ให้บริการแก่ผู้โดยสาร สามารถทำความเร็วได้ถึง 500 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้เวลาจากสนามบินถึงตัวเมืองเซี่ยงไฮ้เพียงแค่ 7 นาทีนิดๆเท่านั้นเอง

ผมเชื่อว่าเบื้องหลังความสำเร็จของจีนข้อหนึ่งก็คือ “ความง่าย” ในการเดินทาง การสร้างความเชื่อมโยงทั้งทางบก เรือ อากาศ เพื่อให้สามารถเคลื่อนย้าย “คน สัตว์ สิ่งของ” ได้อย่างง่ายดาย ปราศจากข้อจำกัด ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนให้รุดหน้ายิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ

เราใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงก็ถึงเมืองหางโจว อาหารเที่ยงมื้อแรกของเราทานกันที่ภัตตาคารอาหารจีนริมทะเลสาบ “ซีหู” มรดกโลกแห่งใหม่ของจีน ปัจจุบันจีนมีมรดกโลกทั้งสิ้นถึง 52 แหล่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ สำหรับทะเลสาบซีหูแห่งนี้เป็นสถานที่ซึ่งงดงามมากจนได้รับการขนานนามว่าเป็นไข่มุกแห่งเมืองหางโจว และเป็นสถานที่ในตำนานแห่งความรักที่ซาบซึ้งของ WนางพญางูขาวW กับชายหนุ่ม “สวี่เซียน” นั่นเอง

ทานข้าวเสร็จเราก็เดินทางไปเยี่ยมชมกิจการของกลุ่มบริษัท “อาลีบาบา” ซึ่งมีบอสใหญ่ชื่อ “แจ๊ค หม่า” อดีตคุณครูสอนภาษาอังกฤษซึ่งผันอาชีพของตัวเองมาสู่การเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ ที่ต่อมาก้าวเข้าสู่ตลาดหุ้นในสหรัฐอเมริกา โดยมีมูลค่าหุ้น IPO (Initial Public Offering) สูงสุดทำลายสถิติในตลาดหุ้นนิวยอร์กด้วยมูลค่ามากกว่า 25,000 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 800,000 ล้านบาท

คณะของเราได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากผู้บริหารระดับสูงของบริษัท การมาเยี่ยมชมกิจการในครั้งนี้ได้รับรู้ประสบการณ์และข้อมูลต่างๆที่เป็นประโยชน์มากมาย หลายๆท่านอาจจะเห็นว่า “อาลีบาบา” เป็นแค่บริษัทที่ทำธุรกิจด้านอี-คอมเมิร์ซ แต่ที่จริงแล้วอี-คอมเมิร์ซเป็นเพียงแค่องค์ประกอบหนึ่งของธุรกิจเท่านั้นเอง

เพราะ “อาลีบาบา” ยังมีธุรกิจด้านต่างๆที่เชื่อมโยงการซื้อขายออนไลน์แบบครบวงจร ซึ่งทำให้ปัจจุบัน “อาลีบาบา” สามารถให้บริการรองรับธุรกรรมที่เกิดขึ้นมากกว่าวันละ 80 ล้านครั้ง ถือว่าเป็นบริษัทค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในโลก

โดยมีเจ้าของธุรกิจมากกว่า 10 ล้านราย ตั้งแต่ “มือใหม่หัดขับ” ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ไปจนถึง “แบรนด์” ดังระดับโลก สามารถดำเนินธุรกิจเชื่อมต่อตรงไปยังลูกค้ามากกว่า 400 ล้านคน และมีปริมาณการซื้อขายรวมถึงปีละ 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากการบรรยายของผู้บริหารระดับสูงได้กล่าวถึง “ภารกิจ” ของกลุ่มบริษัท “อาลีบาบา” ไว้ง่ายๆแต่ได้ใจความก็คือ “สามารถทำให้เกิดการดำเนินธุรกิจได้อย่างง่ายดายในทุกๆสถานที่” (To make it easy to do business anywhere) สั้นๆเท่านี้จริงๆ

โดยได้อธิบายเพิ่มเติมว่าแจ๊ค หม่า และผู้เริ่มก่อตั้งบริษัททั้งหมด 18 ท่าน เริ่มประกอบธุรกิจบนความเชื่อว่า “อินเทอร์เน็ต” จะเป็นปัจจัยสำคัญในการยกระดับธุรกิจขนาดเล็กให้มีความสามารถในการแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในประเทศและทั่วโลก

ดังนั้น “อาลีบาบา” จึงเป็นผู้จัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีและการตลาด เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการทุกระดับตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงยักษ์ใหญ่สามารถยกระดับ “พลังของอินเทอร์เน็ต” เพื่อเชื่อมต่อกับผู้ใช้งานและผู้บริโภคได้ทุกที่ทุกเวลา

ฟัง Mission ที่ดูง่ายๆไปเรียบร้อยแล้ว คราวนี้มาฟัง Vision หรือวิสัยทัศน์ของเขาดูบ้างว่าน่าสนใจมากน้อยขนาดไหน ซึ่งผู้บริหารของ “อาลีบาบา” กล่าวถึงวิสัยทัศน์ของบริษัทว่า

“เราตั้งเป้าหมายในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการค้าแห่งอนาคต โดยเราวาดภาพว่าลูกค้าของเราจะพบ ทำงาน และใช้ชีวิตร่วมกันที่อาลีบาบา ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นเราจะเป็นบริษัทที่ดำรงอยู่ได้ไม่น้อยกว่า 102 ปี” (We aim to build the infrastructure of commerce for the future. We envision that our customers will meet, work and live at Alibaba, and that we will be a company that lasts at least 102 years.)

ผมแยกสาระสำคัญเรื่องวิสัยทัศน์ของกลุ่มบริษัท “อาลีบาบา” ออกมา 4 ประเด็น เพื่อขยายต่อให้ทุกท่านเห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้น ประเด็นแรกก็คือ “พบกันที่อาลีบาบา” หรือ “ Meet @ Alibaba” ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ “อาลีบาบา” เป็นผู้สนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการค้าและการปฏิสัมพันธ์กันทางสังคมระหว่างผู้ใช้งานบนระบบเป็นจำนวนหลายร้อยล้านครั้งต่อวัน ดังนั้น จึงทำให้เกิดการเจอะเจอกันระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบการ หรือบริษัทต่างๆที่ติดต่อธุรกิจระหว่างกันทุกวัน

“Work @ Alibaba” คือการที่ “อาลีบาบา” มอบอำนาจหรืออนุญาตให้ผู้ใช้งานบนระบบทุกคนสามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านการค้าและเทคโนโลยีด้านข้อมูล ซึ่งส่งผลให้ผู้ใช้งานสามารถประกอบธุรกิจหรือสร้างมูลค่าที่เป็นประโยชน์ต่อทุกๆคนได้อย่างปราศจากข้อจำกัด

“Live @ Alibaba” คือการที่ “อาลีบาบา” มีความมุ่งมั่นอย่างหนักในการขยายสินค้าและบริการต่างๆ เพื่อให้ “อาลีบาบา” กลายเป็นศูนย์กลางในการใช้ชีวิตประจำวันของลูกค้า

และประเด็นสุดท้ายคือ การดำรงอยู่ของบริษัทอย่างน้อย 102 ปี ข้อนี้ถือว่าเป็นวิสัยทัศน์ที่น่าสนใจไม่น้อย ทั้งนี้เพราะ “อาลีบาบา” ตั้งขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1999 ดังนั้น การที่มีอายุไม่น้อยกว่า 102 ปี จะทำให้ “อาลีบาบา” สามารถประกอบธุรกิจครอบคลุมห้วงเวลาทั้ง 3 ศตวรรษ นั่นก็คือ 20 (ค.ศ. 1999) 21 (ค.ศ. 2000-ค.ศ. 2100) และ 22 (ค.ศ. 2101)

นอกจากนั้นยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จที่ “อาลีบาบา” สามารถผ่านพ้นการทดสอบของเวลาด้วยการสร้างวัฒนธรรมองค์กร รูปแบบธุรกิจต่างๆ และระบบต่างๆสำหรับอนาคตข้างหน้าอย่างยั่งยืนอีกด้วย

นี่เป็นแค่ออเดิร์ฟนะครับ ตอนหน้าเรามาลงลึกในรายละเอียดกันว่า “อาลีบาบา” ทำธุรกิจอะไรบ้าง และเราจะร่วมมือกับยักษ์ใหญ่เพื่อให้เกิดสถานการณ์แบบ win win ได้อย่างไร แล้วพบกันครับ

 


You must be logged in to post a comment Login