วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2567

รอมิถุนายน

On March 20, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

เส้นทางเดินของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับสุดท้ายที่จะนำไปสู่การคืนอำนาจให้ประชาชนจัดเลือกตั้งทั่วประเทศ แม้จะเป็นไปตามขั้นตอนที่ทำได้ แต่มีความพิลึกอยู่พอสมควร เพราะดูเหมือนมีการทำงานสอดประสานกันเป็นอย่างดี เริ่มจากยกร่าง ปรับแก้ ลงมติเห็นชอบ ปรับแก้ ลงมติเห็นชอบ ส่งตีความ แม้ท่านผู้นำประกาศว่าช่วงเดือนมิถุนายนจะเรียกทุกพรรคการเมืองมาพูดคุย แต่เป็นการสอบถามว่าแต่ละพรรคมีแนวทางพัฒนาประเทศอย่างไร และเห็นว่าต่อไปฝ่ายค้านและรัฐบาลต้องเดินไปด้วยกันเชื่อมต่อกันสลายขั้ว ไม่มีวาระคุยเรื่องเลือกตั้ง ถ้าเป็นคนคิดลึกหน่อยอาจเห็นรัฐบาลแห่งชาติลอยมาแต่ไกล และน่าสังเกตว่าเป็นการเรียกคุยช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับที่จะรู้ผลตีความร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.

รวดเร็วปานสายฟ้าแลบหลังนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ส่งเรื่องถึงประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ยื่นตีความร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)

สนช. ใช้เวลาหารายชื่อสนับสนุน 3 วัน ก็สามารถยื่นตีความต่อศาลรัฐธรรมนูญได้แล้ว โดยยื่นตีความเพียงแค่ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ส่วนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. หากต้องการให้ตีความ สนช. มีข้อแม้ให้พรรคการเมืองร่วมลงสัตยาบันยอมให้เลื่อนเลือกตั้งออกไปจากเดิม

นัยว่า สนช. ไม่อยากตกเป็นจำเลยสังคมว่าเป็นต้นเหตุให้เลื่อนเลือกตั้ง เพราะหากยื่นตีความโรดแม็พต้องถูกขยับออกไปจากเดิม 3-6 เดือนเป็นอย่างน้อย

จากนี้ต้องรอดูว่าผลการตีความร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. จะออกมาอย่างไร ประเมินคร่าวๆเร็วสุดน่าจะรู้ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ช้าสุดไม่น่าเกินเดือนมิถุนายน

จะว่าไปแล้วเส้นทางของร่าง พ.ร.ป. 2 ฉบับสุดท้ายที่จะนำไปสู่การคืนอำนาจให้ประชาชนมีเรื่องพิลึกอยู่พอสมควร

ร่าง พ.ร.ป. เริ่มต้นจากการยกร่างของ กรธ. ที่ตามกฎหมายบอกให้เปิดรับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน ซึ่งระหว่างที่ยกร่างก็มีข้อเสนอแนะ ข้อท้วงติงออกมามากมาย

แต่ กรธ. ก็เดินหน้ายกร่างกฎหมายตามแนวคิดของตัวเอง โดยยืนยันว่ารับฟังความเห็นอย่างรอบด้านแล้ว

จากนั้นส่งเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม สนช. วาระ 1 ขั้นรับหลักการ ซึ่งที่ประชุมลงมติรับหลักการ และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาแปรญัตติ ซึ่งก็คือขั้นตอนการปรับแก้ร่างกฎหมายเพื่อให้เกิดความรัดกุม

เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนการแปรญัตติแล้วก็ต้องร่างกฎหมายกลับเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม สนช. เพื่อลงมติวาระ 2 ให้ที่ประชุมชี้ขาดว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คณะกรรมาธิการปรับแก้มา จากนั้นลงมติวาระ 3 คือเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบให้ร่างกฎหมายผ่านสภาออกมามีผลบังคับใช้

ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ได้ผ่านขั้นตอนนี้มาแล้วคือ สนช. เสียงข้างมากเห็นชอบให้ร่างกฎหมายผ่านการพิจารณาออกมาบังคับใช้

หลังจากนั้นมีข่าวว่ามี สนช. ล็อบบี้ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำหนังสือแย้งเพื่อให้ตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ประกอบด้วย สนช. กรธ. และ กกต. พิจารณาร่าง พ.ร.ป. ทั้ง 2 ฉบับอีกครั้ง

แม้ผู้เกี่ยวข้องจะปฏิเสธว่าไม่มีการล็อบบี้ให้ตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย แต่สุดท้ายก็ลงเอยด้วยการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายพิจารณาร่าง พ.ร.ป. ทั้ง 2 ฉบับอีกครั้ง โดยให้เหตุผลว่าเพื่อความรอบคอบ

ในชั้นกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายมีการปรับแก้เนื้อหาบางเรื่อง เช่น ตัดกรณีให้จัดมหรสพหาเสียง ซึ่ง สนช. แปรญัตติแก้ไขเข้ามาใหม่

เมื่อคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายพิจารณาเสร็จก็นำร่าง พ.ร.ป. ทั้ง 2 ฉบับเข้าสู่ที่ประชุม สนช. อีกครั้ง ท่ามกลางกระแสข่าวจะลงมติคว่ำเพื่อยกร่างใหม่ แต่ในที่สุดร่าง พ.ร.ป. ทั้ง 2 ฉบับก็ผ่านความเห็นชอบด้วยเสียงเอกฉันท์

หลังจากลงมตินายมีชัยก็ทำหนังสือถึงประธาน สนช. ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.ป. ทั้ง 2 ฉบับว่ามีเนื้อหาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่ง สนช. ก็ส่งตีความ แต่เป็นการตีความเฉพาะร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ฉบับเดียว

ยกร่าง ปรับแก้ ลงมติเห็นชอบ ปรับแก้ ลงมติเห็นชอบ ส่งตีความ

คือเส้นทางของร่าง พ.ร.ป. 2 ฉบับสุดท้ายที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง

เป็นการทำงานสอดประสานแบบชงเองกินเองระหว่าง กรธ. กับ สนช. โดยที่ไม่มีคนอื่นมาเกี่ยวข้อง

ไม่ต่างจากคณะตลกที่แบ่งหน้าที่กันทำ มีตัวปูตัวตบเพื่อเรียกเสียงฮาจากคนดู

แม้ท่านผู้นำ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะประกาศว่าช่วงเดือนมิถุนายนจะเรียกทุกพรรคการเมืองมาพูดคุย

แต่ประเด็นพูดคุยเป็นเรื่องสอบถามทุกพรรคว่าจะมีแนวทางในการพัฒนาประเทศอย่างไร และเห็นว่าการเมืองไทยต่อไปฝ่ายค้านและรัฐบาลต้องเดินไปด้วยกันเชื่อมต่อกันสลายขั้ว เพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชนเท่าเทียมทั่วถึง

ไม่มีวาระคุยเรื่องเลือกตั้ง

พร้อมขีดเส้นใต้ตัวโตๆประโยคที่ว่า “ฝ่ายค้านและรัฐบาลต้องเดินไปด้วยกันเชื่อมต่อกันสลายขั้ว”

ถ้าเป็นคนคิดลึกคิดมากหน่อยอาจเห็นรัฐบาลแห่งชาติลอยมาแต่ไกล

และน่าสังเกตว่าเป็นการเรียกคุยช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับที่จะรู้ผลตีความร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.


You must be logged in to post a comment Login