วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2567

ความคิดดึกดำบรรพ์ VS จินตนาการของคนรุ่นใหม่….ทีมข่าวการเมือง

On March 15, 2018

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

(โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ 656 วันที่ 16-23 มีนาคม 2561)

รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ค (10 มีนาคม) เตือนความจำผ่าน “บันทึก 6 ตุลา” (Documentation of Oct 6) จากพาดหัวหนังสือพิมพ์ดาวสยาม ประจำวันที่ 10 ตุลาคม 2519 “สร้างชาติใหม่ สงัดขอ 4 ปี ปฏิรูปกองทัพ-ประชาชน-เศรษฐกิจ”

สะท้อนให้เห็นว่าการสร้างภาพลักษณ์การทำรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 กับรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ไม่ได้แตกต่างกันเลย แต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่อยู่ในอำนาจมาเกือบ 4 ปี ไม่ใช่แค่ประกาศจะปฏิรูปประเทศลอยๆเท่านั้น แต่ยังยัดเยียดให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องทำตามแผน “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ทั้งยังมีแนวโน้มจะ “สืบทอดอำนาจ” ผ่าน “นายกฯคนนอก” และ “ส.ว.ลากตั้ง” ที่เปรียบเสมือน “พรรค ส.ว.” ที่เลือกโดย คสช. 250 คน ให้มีอำนาจในรัฐสภาอีก 5 ปี

จึงไม่แปลกที่จนถึงวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ก็ไม่ปฏิเสธว่าจะไม่รับตำแหน่ง “นายกฯคนนอก” หรือเป็นนายกฯในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี

รวมพลังถอนราก คสช.

กลุ่ม “คนอยากเลือกตั้ง” จึงออกมาเคลื่อนไหวให้เลือกตั้งในปี 2561 และต่อต้านการ “สืบทอดอำนาจ”

ซึ่งมีการจัดกิจกรรมทุกสัปดาห์มาอย่างต่อเนื่อง เมื่อวันเสาร์ที่ 10 มีนาคม กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) ได้แถลง “รวมพลังถอนราก คสช.” โดยนายรังสิมันต์ โรม แกนนำ DRG เชิญชวนประชาชนให้ออกมาต่อสู้จนกว่าจะได้ประชาธิปไตยคืนมา และเรียกร้องให้รัฐบาล คสช. ลงจากอำนาจ ยกเลิกการใช้มาตรา 44 และหยุดลากการเลือกตั้งออกไป ไม่มี คสช. คงไว้แต่รัฐบาลรักษาการเพื่อทำหน้าที่เปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย และทหารออกจากการเมืองกลับสู่กรมกอง

นายอานนท์ นำภา ระบุว่า ความตั้งใจของ คสช. คือให้มีการเลือกตั้งแล้วตั้งรัฐบาลไม่ได้ เพื่อที่ คสช. จะอยู่ในอำนาจต่อไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 265 วรรค 1 (ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ดํารงตําแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ยังคงอยู่ในตําแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่) ซึ่งจะทำให้การเมืองหลังเลือกตั้งถึงทางตัน แม้จะมีกระบวนการเลือกนายกฯคนนอก และนายกฯที่มาจากการเลือกตั้งก็ทำได้ยาก เพราะการเลือกตั้งที่ถูกเปลี่ยนแปลง จึงขอให้ประชาชนกดดันให้ ส.ส. ทั้งสภาอยู่ตรงข้ามฝั่งเผด็จการ

ไม่รู้-ไม่เกี่ยว-ไม่ยุบ-ไม่ออก

แม้การเรียกร้องให้ คสช. ยุติบทบาทจะไม่ได้กดดัน คสช. แต่อย่างน้อยก็สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนต้องการให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วเพื่อกลับสู่ประชาธิปไตยที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง แม้รัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นจะหมกเม็ดอำนาจเผด็จการหรืออัปลักษณ์อย่างไรก็ตาม อย่างเช่นบทเฉพาะกาล มาตรา 265 ให้ คสช. อยู่จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ ซึ่งทั้ง พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยืนยันว่ายุบ คสช. ไม่ได้ ถ้ายุบก็ขัดรัฐธรรมนูญ

จึงเห็นได้ชัดเจนถึงการวางกลไกให้อำนาจ คสช. อยู่ให้นานที่สุด ซึ่งหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองหรือทางตันทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นผลการเลือกตั้ง หรือเลือกนายกรัฐมนตรีทั้งในบัญชีรายชื่อและนายกฯคนนอกไม่ได้ รัฐบาล คสช. ก็ยังทำหน้าที่ต่อไปได้ ไม่ใช่แค่ทำหน้าที่เลือก ส.ว. จำนวน 250 คน ซึ่งกำหนดให้หัวหน้า คสช. เป็นผู้นำขึ้นทูลเกล้าฯ

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (13 มีนาคม) กรณีหลายกลุ่มการเมืองที่จะตั้งพรรคการเมืองใหม่ประกาศสนับสนุนให้เป็นนายกฯคนนอกว่า ไม่ได้รู้สึกกดดัน เพราะไม่ได้คิดอะไรมาก บอกแล้วว่าทั้งหมดอยู่ที่ประชาชนจะตัดสินใจ มีความต้องการจะให้ประเทศชาติเป็นอย่างไร ต้องการปฏิรูปหรือไม่ เป็นเรื่องที่ประชาชนจะตัดสินใจในการเลือกตั้ง ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ก็ต้องเสนอนโยบายออกมา

พล.อ.ประยุทธ์ยังปฏิเสธว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐแม้ พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล อดีต ส.ส.สงขลา พรรคความหวังใหม่ และอดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เป็นเพื่อนร่วมรุ่น ตท.12 กับ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งวันนี้ก็ยังไม่เห็นมีใครเชิญตนไปเป็นประธานที่ปรึกษาพรรคเลย มีแต่พูดกันไป

พล.อ.ประยุทธ์ยังปฏิเสธที่จะลาออกจากตำแหน่งหากตัดสินใจเล่นการเมือง โดยกล่าวว่าให้ย้อนกลับไปดูในสมัยก่อน นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองและประกาศลงเลือกตั้งก็สามารถหาเสียงได้และยังเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ด้วย “วันนี้ผมยังไม่ได้เป็นอะไรสักอย่าง แล้วผมก็ไม่ได้หาเสียงด้วย ยังทำงานอยู่อย่างหนัก เพื่อจะทำให้ประเทศชาติเกิดการเปลี่ยนแปลง

กลุ่มเพื่อนธนาธร

แม้กระแสการเมืองส่วนหนึ่งจะจับตามองพรรคการเมืองที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ แต่การประกาศตั้งพรรคของนายปิยบุตร แสงกนกกุล และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ก็ยังเป็นกระแสที่มีการติดตามอย่างมากในโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่แค่กระแสกดถูกใจหรือการแชร์ในโซเชียลมีเดียตามปรกติ แต่ยังมีการตั้ง “กลุ่มเพื่อนธนาธร” โดยเว็บไซต์ประชาไทได้รวบรวมทรรศนะคนรุ่นใหม่ที่สนใจการเมืองกับการเปิดภาพความฝันประเทศไทยที่พวกเขาต้องการสร้างขึ้นมาว่าใหญ่และงดงามเพียงใด โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านี้เป็นกลุ่มที่ได้ร่วมหารือเรื่องอนาคตสังคมไทยกับนายธนาธร

“นลัทพร ไกรฤกษ์” อายุ 25 ปี ที่เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงตั้งแต่เด็กและต้องนั่งวีลแชร์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ข่าวคนพิการ Thisable.me อยากเห็นอนาคตของประเทศไทยที่คนพิการสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างอิสระ พึ่งตนเองได้ เธอสนใจเล่นการเมืองและจะแสดงให้สังคมเห็นว่าคนพิการไม่จำเป็นต้องทำแต่ประเด็นของตนเอง การจะลงเล่นการเมืองสำหรับเราเป็นอะไรที่ดูท้าทายและดูเจ๋งมาก ลองจินตนาการว่าเราจะไปหาเสียงยังไง แค่เดินออกไปนอกบ้านยังไม่ได้เลย ถ้าเราไปหาเสียงคงจะลำบากคนรอบข้างมากๆ แต่มันจะทำให้คนเห็นถึงปัญหาว่าประเทศไทยต้องการ universal design และเป็นข่าว เกิดเป็นกระแส คนจะเห็นว่าต้องมีการแก้ปัญหา และเป็นกระบอกเสียงให้คนที่เผชิญปัญหาเหมือนเรา

“เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์” วัย 23 ปี กรรมการและ Director องค์กร NEWGROUND อยากเห็นประเทศไทยที่ไม่มีอะไรซับซ้อน ตื่นขึ้นมาพบว่ามีความหวังที่ชีวิตจะดีขึ้นกว่าเมื่อวาน คนเราฝันสิ่งที่ง่ายที่สุด ง่ายกว่าการเข้าคูหาเลือกตั้ง คือการไปสวดมนต์ขอพรให้เรามีชีวิตที่ดีกว่า อย่างน้อยในชาติหน้าให้เกิดมารวย เกิดมาในประเทศที่สนับสนุนประชาชนมากกว่านี้ “แต่ผมฝันที่จะอยู่ในประเทศนี้แล้วเห็นชีวิตที่ดีในชาตินี้ ดังนั้น เราควรทำอะไรบางอย่างมากกว่าสวดมนต์ขอพร ถ้าคนตื่นมาแล้วมีความหวังว่าชีวิตต้องดีกว่าเมื่อวาน ไม่ใช่ขอไปดีอีกทีชาติหน้า ผมว่าสังคมแบบนี้ไม่น่าอยู่ อยู่แล้วหมดหวัง ไม่มีทางออก มองไม่เห็นอนาคต มันอาจเป็นโลกที่มีสวัสดิการที่ยืนยันว่าต่อให้ผมตกงาน เจ็บป่วย เป็นอื่น หรือพ่ายแพ้ ผมจะยังเป็นคนของโลกใบนี้อยู่ ไม่ได้ถูกทำให้เป็นสินค้าหรือถูกทำให้เป็นแรงงานที่ไม่มีใครสนใจความรู้สึก

“กฤตนัน ดิษฐบรรจง” อายุ 20 ปี กำลังศึกษาชั้นปริญญาตรี มหาวิทยาลัยรามคำแหง และเป็นแกนนำกลุ่มเยาวชนอาสาทำงานกับกลุ่มวัยรุ่นผู้ติดเชื้อเอชไอวี คนรุ่นเก่าชอบมองพวกเราคนรุ่นใหม่ว่าเป็นตัวปัญหา เช่น ปัญหาเด็กหนีเรียน เด็กมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร เด็กท้องไม่พร้อม ต่างๆนานา และจัดการปัญหานั้นจากความคิดแบบผู้ใหญ่มองเด็กที่มีแต่มองว่าเด็กเป็นตัวปัญหา และใช้วิธีการแบบสั่งสอน ผมว่ามันน่าจะมีวิธีการแก้ปัญหาที่ดีกว่านี้

“เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร” อายุ 29 ปี ทำธุรกิจส่วนตัวและเป็นมัคคุเทศก์ โดยนิยามอาชีพตัวเองอีกอาชีพว่านักปรุงเบียร์ ผมอยากเห็นอำนาจอยู่กับประชาชน ปัจเจกสามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเอง อย่างกรณีผม ผมไม่สามารถทำในสิ่งที่ผมอยากทำได้ ทุกคนมีฝัน รัฐไม่ควรมาห้ามปราม แต่ควรสนับสนุนความฝันของทุกๆคน ผมไม่สามารถออกแบบความฝันของตัวเอง ผมอยากทำคราฟต์เบียร์ ทำยังไงให้ทุกคนสามารถทำตามฝันของตัวเองได้ มันก็ต้องมีเรื่องการศึกษา คนต้องไม่ใช่เรียนเก่ง แต่ต้องเรียนรู้เก่ง โลกมันไม่ได้มีแค่นี้ ผมคิดว่าทุกอย่างจะดีขึ้น

“ภูวกร ศรีเนียน” อายุ 45 ปี นักจัดรายการทีวีและนักรณรงค์การเมือง มองว่าคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ที่รู้จักมีแนวคิดทางการเมืองแบบ ไม่รู้จักทักษิณ ไม่เห็นประชาธิปัตย์อยู่ในสายตา และรำคาญประยุทธ์ ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้พวกเขาอยากเห็นการเมืองแบบใหม่ที่คนเห็นต่างสามารถอยู่ร่วมกันได้ ตัวเขาเองรู้สึกว่าการเมืองรูปแบบนี้เริ่มมีความเป็นไปได้เมื่อเราไม่พูดถึงทักษิณ ผมรู้สึกเหมือนกับว่าพอเราถอดทักษิณออกไป ระบบความคิดของคนอีกฝั่งเริ่มเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น อย่างเช่นเรื่องนาฬิกาหรูหรือกรณีคุณเปรมชัยมันค่อนข้างจะชัดเจน หลายคนเริ่มไม่ได้คิดว่าทักษิณเป็นปัญหาของการเมืองไทยอีกต่อไป ผมไม่ได้บอกว่าทักษิณไม่ดี แต่ผมคิดว่าพอเราไม่พูดถึงเขาแล้วความคิดคนในสังคมมันเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น

565-1

คนรุ่นใหม่คิดว่าวันพรุ่งนี้ต้องดีกว่า

“ไกลก้อง ไวทยการ” อายุ 43 ปี สถาบันเทคโนโลยีเพื่อสังคม (Social Technology Institute) ผู้มีส่วนผลักดันให้เกิดฐานข้อมูลเปิดหรือ Open Data ในประเทศไทย คิดว่าคนรุ่นใหม่ควรมีบทบาททางการเมือง เพราะคนรุ่นเก่าทำไม่สำเร็จ คนรุ่นใหม่มีวิธีคิดที่เปลี่ยนแปลงไป มีการสื่อสารที่ไม่ได้มีลำดับขั้นจากบนลงล่าง ไม่ยึดติดกับกฎระเบียบ มีความฝัน คนรุ่นใหม่คิดว่าวันพรุ่งนี้ต้องดีกว่า “ผมว่าหลายๆประเทศในโลกได้พิสูจน์ให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่สามารถบริหารประเทศได้ เป็นผู้นำได้ เราอาจจะเห็นตัวอย่าง อย่างทรูโดของแคนาดา มาครงของฝรั่งเศส หรือโจชัว หว่อง ในฮ่องกง เขาก็สามารถเข้าสู่การเมืองได้ แม้จะถูกคุกคาม แต่เขาก็สามารถนำเสนออนาคตประเทศที่เขาอยากให้เป็นได้

“ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี” วัย 33 ปี อาจารย์วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า คนรุ่นใหม่ที่แบกรับความเสี่ยงมาหลายเจเนอเรชั่น แบกรับความสิ้นหวังมาจากคนรุ่นก่อน ทำให้เราคิดถึงได้แต่เพียงแค่เรื่องตัวเอง ถึงจุดแล้วที่เราต้องคิดว่าทำอย่างไรจึงจะเปลี่ยนเงื่อนไขความเป็นไปได้นี้ให้เกิดขึ้นในเจเนอเรชั่นของเรา ตนให้ความสำคัญกับรัฐสวัสดิการ ไม่ใช่แค่ตัวเอง “คิดว่าคนครึ่งโลกกำลังสู้เพื่อสิ่งนี้ ไม่ว่าเขาจะเรียกมันว่าอะไร สังคมที่เท่าเทียม ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ สู้เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น แต่หลักใหญ่ใจความที่รวมทั้งหมดเข้าด้วยกันคือแนวคิดรัฐสวัสดิการ ซึ่งจะทำให้เราเปลี่ยนจากมนุษย์ที่ถูกระบบทุนนิยมทำให้กลายเป็นเครื่องจักรให้กลับมาเป็นมนุษย์มากขึ้น มีศักดิ์ศรีมากขึ้น และมีเสรีภาพในการเลือกมากขึ้น

นอกจากนี้ ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ยังโพสต์ผ่านเฟซบุ๊ค Sustarum Thammaboosadee ว่า การมองแบบนี้คือการ demonize การเมืองให้เป็นเรื่องไกลตัว เลวร้าย เป็นไปไม่ได้ ทั้งๆที่จริงๆมันคือส่วนหนึ่งของชีวิตในโลกสมัยใหม่ การต่อสู้ต่อรองเพื่อประโยชน์ของชนชั้นตน ไม่ว่าเราอยู่ในอาชีพไหน ปัจเจกชนพึงมีสหภาพ สหพันธ์ และพรรคการเมือง ถ้าเราเชื่อประชาธิปไตยทุกระดับ

ชนชั้นนำมักจำกัดความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนแปลงผ่านคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ ปรัชญาของนักวิชาการที่อยู่ข้างกับความไม่เสมอภาค ไม่ใช่เพราะคุณธนาธร ไม่ใช่เพราะอาจารย์ปิยบุตรที่ทำให้ผมตกปากรับคำ แต่ด้วยสองแนวคิดหลัก “เราจะไม่ปล่อยให้ประเทศนี้ย่อยยับลงไปกับตาในยุคสมัยเรา” และ “หากไม่ทำพรรคให้ก้าวหน้าและตั้งคำถามอย่างถอนรากถอนโคนก็ไม่รู้จะทำทำไม”

คำว่าคนรุ่นใหม่มีมิติทางชนชั้นในตัวเอง เพราะเรากว่า 70% ถูกกดขี่และทำให้สิ้นหวังในระบบทุนนิยม ไต่ขึ้นบันไดทางชนชั้นไม่ได้ และรับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจจากความมั่งคั่งของชนชั้นนำ ความไร้อำนาจทางการเมืองจากรัฐเผด็จการ และความอกหักสิ้นหวังของชนชั้นล่างรุ่นก่อน เราไม่ได้พูดถึงแค่พวกเรา เรากำลังพูดถึงพ่อแม่ของพวกเรา พี่น้อง เพื่อน ลูก เพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงาน หัวหน้าในที่ทำงาน เราพูดถึงคนทุกรุ่นที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในสังคม

สิ่งที่ผมเชื่อ พรรคการเมืองนี้จะขยายแนวร่วมกับชนชั้นล่างรุ่นใหม่ผู้แบกความเสี่ยงมหาศาล ไม่ใช่พรรคเครือข่ายที่มีแต่หัว แต่คือพรรคมวลชนที่มีแนวร่วมฐานผลประโยชน์ทางชนชั้นที่ชัดเจน และจะสร้างมิติใหม่ที่กดดันให้พรรคการเมืองอื่นในระบบต้องแข่งที่นโยบายที่ก้าวหน้ามากขึ้น เป็นประชาธิปไตยทุกระดับ และเป็นพรรคที่ผูกติดกับบุคคลน้อยลงแต่ผูกพันกับอุดมการณ์ ไม่นานภาพเหล่านี้จะปรากฏชัดเจน

565-2

“ส.ศิวรักษ์” ยกย่องคนรุ่นใหม่

“ส.ศิวรักษ์” สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ปัญญาสยาม” โพสต์เป็นคลิปวิดีโอผ่านเฟซบุ๊คถึงการตั้งพรรคการเมืองแนวใหม่ของนายปิยบุตรและคณะ รวมถึงการถูกโจมตีว่าเป็น “กลุ่มล้มเจ้า” ว่า ยกย่องความกล้าในสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงภายใต้อำนาจรัฐประหาร รู้จักอาจารย์ปิยบุตรมานานพอสมควร รู้ว่าเป็นคนอุทิศตัวเพื่อประชาธิปไตยอย่างแท้จริง บางทีเขาพูดแม้เราเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยก็ต้องโต้เถียงกันอภิปรายกัน แล้วเคารพเสียง เคารพความเห็นที่แตกต่าง นั่นคือประชาธิปไตย

ไม่ใช่อะไรที่เขาพูดออกมาแล้วเราไม่เห็นด้วยก็กล่าวหาว่าเขาเป็นพวกล้มเจ้า อันนี้อันตรายมาก เจ้านั้นไม่มีใครไปล้มท่านได้ ถ้าจะล้ม ท่านก็จะล้มของท่านเอง สถาบันกษัตริย์ตราบใดที่ปกป้องทวยราษฎร์ เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของราษฎร สถาบันกษัตริย์ก็จะอยู่ได้ตลอดไป เพราะฉะนั้นใครที่ออกมาอวดอ้างว่าจะปกป้องสถาบันกษัตริย์นั้น พวกนี้แม้จะหวังดี แต่ก็ไม่ใช้อปายโกศลเท่าที่ควร ประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นได้ต้องมีความเห็นต่าง เคารพคนที่มีความเห็นขัดแย้งจากเรา มิฉะนั้นประชาธิปไตยก็เป็นไปไม่ได้

เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมพูดมานี้ก็หวังว่าจะมีการอภิปราย โต้เถียงกัน แต่ในทางสติปัญญาไม่ควรใช้อะไรเป็นการลำหักลำโค่น ทำร้ายซึ่งกันและกัน ประชาธิปไตยถูกตัดรอนเพราะพวกที่ไม่เห็นด้วยจากอีกฝ่ายหนึ่งแล้วไปเข้ากับฝ่ายทหาร ไปเข้ากับผู้ใช้อำนาจ มันจึงพังเป็นระลอกๆ ประชาธิปไตยตั้งแต่ 2475 มาก็เกิน 85 ปีแล้ว เราน่าจะใช้บทเรียนในอดีต เราน่าจะเติบโตเพียงพอที่จะมีขันติ มีสติที่จะมีปัญญา อย่าใช้กำลังหักล้างทำลายกัน อย่างที่ปรีดี พนมยงค์ โดนมาแล้ว ป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดนมาแล้ว นั่นเป็นบทเรียนที่เศร้าสลดมาก หวังว่าต่อไปนี้เราจะเดินตามสันติประชาธรรม ไม่ใช่ความคิดอ่านเพื่อใช้ลำหักลำโค่นทำลายล้างซึ่งกันและกัน ที่ผมกล่าวมานี้ใครไม่เห็นด้วยก็โต้เถียงได้ อภิปรายได้ จะด่าว่าผมก็ได้ ผมยินดีรับฟังด้วยความเต็มใจ

86 ปีรัฐประหาร 13 ครั้ง

รัฐประหารโดยกองทัพของประเทศไทยมากเป็นอันดับ 4 ของโลก หรือคิดเฉลี่ย 13 ครั้งนับแต่ปี 2475 เท่ากับเฉลี่ยเกิดรัฐประหารทุก 6 ปี รัฐประหารจึงถือเป็น “วงจรอุบาทว์” เพราะไม่ได้แก้ปัญหาประเทศได้อย่างแท้จริงเลย แม้แต่รัฐประหารของ คสช. ที่อยู่มานานเกือบ 4 ปี และมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรที่เป็นรูปธรรมได้เลย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจ หรือปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน

รัฐประหารทุกครั้งก็จะเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่  ซึ่งเกือบทุกฉบับเขียนขึ้นเพื่ออำนาจและผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง หมุนเวียนเป็น “วงจรอุบาทว์” ที่ถูกจารึกไว้จนชั่วลูกชั่วหลานดังนี้

1.รัฐประหาร 1 เมษายน 2476 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประกาศ พ.ร.ก.ปิดสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา

2.รัฐประหาร 20 มิถุนายน 2476 พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนายึดอำนาจรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา

3.รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

4.รัฐประหาร 6 เมษายน 2491 คณะนายทหารกลุ่มที่ทำการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 บังคับให้นายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมอบตำแหน่งต่อให้จอมพล ป.พิบูลสงคราม

5.รัฐประหาร 29 พฤศจิกายน 2494 จอมพล ป.พิบูลสงครามยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง

6.รัฐประหาร 16 กันยายน 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม

7.รัฐประหาร 20 ตุลาคม 2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร (ตามที่ตกลงกันไว้)

8.รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514 จอมพลถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง

9.รัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช

10.รัฐประหาร 20 ตุลาคม 2520 พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร

11.รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534  พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

12.รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

13.รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล (หลังนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง)

565-3

เผชิญหน้ากับซากเดนเผด็จการ

รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขียนบทความ “ซากเดนของเผด็จการ” ในเว็บไซต์ the101.world ว่า อำนาจของผู้นำแบบเผด็จการไม่ได้ดำรงอยู่เพียงห้วงระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งและยังคงถือปืนในมือเท่านั้น แม้ว่าตัวบุคคลของระบอบเผด็จการจะพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองไปแล้วก็มิได้หมายความว่าระบอบนั้นจะสิ้นสุดลงโดยทันที ซากเดนของระบอบเผด็จการยังคงสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้อีกยาวนาน รวมถึงอาจสร้างภาระ ความยุ่งยากและปัญหานานัปการทิ้งไว้ให้คนรุ่นต่อไปต้องแบกรับไว้ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม ซึ่งมีตัวอย่างปรากฏให้เห็นอยู่อย่างดารดาษทั้งจากต่างประเทศและภายในสังคมของเราเอง พร้อมสรุปถึงรัฐประหารนับจากเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมาว่า คสช. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ได้ออกคำสั่ง ประกาศ และประกาศใช้ พ.ร.บ. เป็นจำนวนมหาศาล เฉพาะในส่วนของ คสช. มีไม่น้อยกว่า 500 ฉบับ ซึ่งถือเป็นประวัติศาสตร์อีกหนึ่งหน้าในการใช้อำนาจของคณะรัฐประหารที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสำคัญ หากรวมเอา พ.ร.บ. ที่ สนช. ได้มีความเห็นชอบและประกาศใช้ก็จะพบว่ามีจำนวนมากขึ้นไปอีก และก็ยังไม่มีวี่แววว่าองค์กรทั้งสองจะหยุดหรือชะลอการดำเนินการแต่อย่างใด

คำสั่งและ พ.ร.บ. จำนวนมากได้ถูกตั้งคำถามอย่างกว้างขวางว่าเป็นประโยชน์แก่สังคมส่วนรวมมากน้อยเพียงใด หรือเป็นเพียงการใช้อำนาจเพื่อมุ่งรักษาอำนาจของคณะผู้ปกครองเป็นสำคัญ ดังจะเห็นได้จากการใช้คำสั่งหรือ พ.ร.บ. หลายฉบับเพื่อคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งอีกหลายฉบับที่ก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ในทรัพยากรที่มุ่งตอบสนองต่อธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่

สังคมไทยจะเผชิญกับปมประเด็นดังกล่าวนี้อย่างไร หากยึดเอาบรรทัดฐานที่เคยดำเนินมาเป็นต้นแบบในการแก้ไขด้วยการให้องค์กรนิติบัญญัติในยามปรกติมาทำหน้าที่แก้ไขก็จะพบว่ายากที่จะเป็นไปได้ในระยะเวลาอันใกล้ เนื่องจากสมาชิกวุฒิสภาชุดต่อไปก็จะมาจากความเห็นชอบของ คสช. หรือหากพิจารณาในระยะเวลาที่ยาวออกไป เมื่อมีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งและวุฒิสภาที่มาจากการสรรหากันเองแล้วก็ยังเป็นเรื่องยากอีกเช่นกัน เพราะว่าในกระบวนการแก้ไขกฎหมายในภาวะปรกติต้องผ่านขั้นตอนและกระบวนการที่ใช้ระยะเวลาอย่างยาวนาน

ลำพังการยกเลิก ปว.337 เพียงฉบับเดียวก็ยังต้องใช้เวลาถึง 20 ปี การใช้อำนาจของ คสช. และ สนช. มากกว่า 500 ฉบับ คงต้องใช้เวลาอีกนับพันปีในการจัดการอย่างแน่นอน

จะมีหนทางอื่นใดหรือไม่ในการเผชิญกับซากเดนของเผด็จการที่ทิ้งไว้ให้เป็นภาระแก่คนรุ่นต่อไป คงเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันออกแรงผลักดันอย่างมากในอนาคตอันอีกไม่ไกลนี้

นายพานทองแท้ ชินวัตร โพสต์เตือนนักการเมืองพรรคเพื่อไทย (14 มีนาคม) ว่า แทนที่จะเป็นหลักให้กับคนรักประชาธิปไตย กลับมาแก่งแย่งชิงดีกันเอง “คิดจะแจ้งเกิดแบบผิดๆอาจกลายเป็นแจ้งดับได้” “ในขณะที่น้องๆนักศึกษาและพี่น้องประชาชนเริ่มจะตื่นตัวและคอยเฝ้าจับตาพฤติกรรมการใช้อำนาจรัฐเพื่อประโยชน์ส่วนตนจนฝ่ายประชาธิปไตยทำท่าจะมีแต้มต่อเหนือเผด็จการอยู่รอมร่อ แต่มนุษย์การเมือง!! แทนที่จะผนึกกำลังกันเพื่อเป็นที่พึ่งที่หวังให้กับประชาชนและเป็นหลักให้กับคนรักประชาธิปไตย กลับใช้ช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้หาเรื่องมาทะเลาะเบาะแว้ง แก่งแย่งชิงดีกันได้อีก

พรรคคนรุ่นใหม่..อย่าได้เกิด?

บ้านเมืองภายใต้อำนาจรัฐประหารไม่มีอะไรแน่นอน แม้ คสช. จะยุติบทบาทไปตามสถานการณ์ แต่สิ่งที่ทิ้งไว้ทั้งผลงาน คำสั่ง และประกาศต่างๆที่ถือเป็นกฎหมายก็ยังคงมีอยู่มากมาย หากเกิดประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนก็ถือเป็นคุณ หากไม่ใช่ก็เป็นมรดกของซากเดนเผด็จการ

รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ถือว่าเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ประกาศใช้มาตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 แต่ อำนาจอธิปไตยก็ยังไม่ได้เป็นของปวงชนชาวไทย ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 3 เพราะ คสช. ยังประกาศว่าตัวเองมีอำนาจ “รัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งมีความเห็นแย้งจาก ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊คยืนยันว่า วันนี้ คสช. ไม่ใช่รัฏฐาธิปัตย์ แม้ในรัฐธรรมนูญจะให้มีอำนาจตามมาตรา 44 ก็ไม่ได้แปลว่า คสช. จะยังเป็นรัฏฐาธิปัตย์และจะทำอะไรก็ได้

แม้แต่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่ผ่านมติ สนช. แล้ว ก็อาจต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่? เรื่องนี้นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มองว่า หากมีการยื่นตีความก็ต้องทดเวลาเลือกตั้งเพิ่มอีก 2 เดือน เพื่อรอการวินิจฉัยของศาลประมาณเดือนครึ่งและนำกลับมาแก้อีก การเลือกตั้งก็จะเลื่อนจากกุมภาพันธ์เป็นเมษายน 2562 และหากส่งตีความแล้วศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าผิดหรือขัดในสาระสำคัญ และหากมีการยกร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ใหม่ทั้งฉบับ การเลือกตั้งก็จะยืดไปอีกอย่างน้อย 6  เดือน เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้เลือก ส.ว. ให้เสร็จก่อนการเลือกตั้ง ส.ส. 15 วัน หากไม่มี ส.ว. ก็ไม่มี ส.ส. หมากนี้ลึกซึ้งยิ่ง จึงขึ้นอยู่กับใครจะเป็นจำเลยให้สังคมระหว่าง 25 สนช. หรือนายกรัฐมนตรี ถ้าโรดแม็พต้องเลื่อนไปอีก 2-6 เดือน

การประกาศจัดตั้งพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ที่นำโดยนายปิยบุตรและนายธนาธร ซึ่งยื่นจดทะเบียนพรรคการเมืองที่ใช้ชื่อ พรรคอนาคตใหม่ จึงถือเป็นก้าวสำคัญของคนรุ่นใหม่ที่ต้องจับตามอง

แม้อนาคตของพรรคพลเมืองใหม่หรือพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่อีกกี่พรรคก็ตามจะเต็มไปด้วยอุปสรรค ทั้งกฎกติกาที่ไม่เป็นธรรมและกลุ่มอำนาจเก่าที่ยังครอบงำสังคมไทย แต่หากประชาชนมีความแข็งแกร่งและเจตนาที่มุ่งมั่นเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังก็ย่อมจะทำให้หน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยเปลี่ยนไปได้

การประลองกำลังทางความคิดระหว่างฝ่ายเผด็จการกับฝ่ายประชาธิปไตยเริ่มเด่นจนเห็นอย่างชัดเจนมากขึ้น.. การต่อสู้ทางความคิดระหว่างยุคดึกดำบรรพ์กับจินตนาการของคนรุ่นใหม่ได้เกิดขึ้นแล้วเช่นกัน

คนไทยกำลังว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นอีกครั้ง หรือจะวนกลับสู่ “วงจรอุบาทว์” อีกครา .. ดูเหมือนว่าไม่มีใครกล้าฟันธง!!??


You must be logged in to post a comment Login