วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

มข.ทุ่มงบ2หมื่นล้านบาทตั้งรพ.ขนาดใหญ่สุดในไทยและอาเซียน

On March 14, 2018

นายกิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมข. กล่าวว่า มข.เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกที่ตั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่สำคัญ เนื่องจากมีขนาดและจำนวนประชากรมากที่สุด อีกทั้งตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ในการจัดตั้งมข. เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อขยายโอกาสให้แก่คนในภูมิภาคนี้ มข.ได้ยึดมั่งโดยกำหนดเป็นปณิธาน อุดมการณ์ของมหาวิทยาลัยเพื่อการอุทิศเพื่อสังคม ทำให้การดำเนินการของมหาวิทยาลัยนึกถึงปัญหา และร่วมแก้ปัญหาของคนอีสาน เพื่อความอยู่ดีเป็นสุขของคนอีสาน โดยมข.ได้เปิด6คณะ ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ เภสัชศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์  เทคนิคการแพทย์ และบัณฑิตวิทยาลัย รวมถึงมีการก่อตั้งรพ.ศรีนครินทร์  มข.เมื่อปี 2548 ซึ่งมี 40 เตียงให้บริการประชาชน  การศึกษา วิจัย และพัฒนานวัตกรรมต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาสุขภาพ และสาธารณสุขแก่ประชาชนในพื้นที่ ต่อมาได้ยกระดับเป็นรพ.ลักษณะตติยภูมิ ที่มีความเชี่ยวชาญในการรักษาโรคต่างๆ อาทิ โรคพยาธิใบไม้ตับ และท่อน้ำดี แต่ละปีมีผู้เสียชีวิต 14,000-20,000 คน เนื่องจากผู้ป่วยบริโภคอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ รพ.สามารถคัดกรองผู้ป่วย 8 แสนคน จากนวัตกรรมต่างๆ ทำให้สามารถรักษาผู้ป่วยผ่าตัด 16,000 คน สามารถกลับไปประกอบอาชีพได้

“แต่ละปี รพ.ศรีนครินทร์ มข.มีผู้ป่วยจำนวนมาก แบ่งเป็น ผู้ป่วยภายนอก ประมาณ 1 ล้านคน และผู้ป่วยภายใน 50,000 คนต่อปี จากประชาชนในเขตภาคอีสาน 20 จังหวัด22-23 ล้านคน จึงได้ขยายเตียงเป็น1,100 เตียง แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ทำให้รพ.ต้องปฎิเสธผู้ป่วย ดังนั้น เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาสุขภาพ และเป็นที่พึ่งของประชาชน ทางมข.ได้ขยายรพ.รองรับการบริการมากขึ้นเป็น 5,000 เตียง เป็นรพ.ใหญ่และมีจำนวนเตียงมากที่สุดในประเทศไทยและอาซียน โดยใช้งบประมาณ 24,500 ล้านบาท พัฒนาให้เป็นรพ.ที่ทันสมัย มีอุปกรณ์ เครื่องมือทางการแพทย์  และมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีทักษะความรู้ ความสามารถ เชี่ยวชาญในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ และโรคเฉพาะทาง เป็นรพ.ที่รักษาทางกายทางใจแก่ผู้ป่วย ซึ่งจะสามารถรองรับสังคมผู้สูงอายุ ตามนโยบายของรัฐ” นายกิตติชัย กล่าว

นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการฯ  กล่าวว่าพระราชดำริของในหลวงร.9จัดตั้งมข.ในอีสาน เพราะต้องการให้มข.เป็นมันสมองของคนอีสาน มีการวางกฎ วิธีคิดและความคิดสร้างสรรค์เพื่อคนอีสาน ซึ่งประชากรในภาคอีสาน เป็น1ใน3ของประเทศ และการพัฒนาภาคอีสานต้องดำเนินการ 3ด้าน ได้แก่

1.การแพทย์และสาธารณสุข 2.การศึกษา และ3.การเกษตร ซึ่งในด้านการแพทย์และสาธารณสุข รพ.ในประเทศจะมีปัญหาเรื่องเตียงไม่พอ โดยสัดส่วนจำนวนเตียงในการให้บริการผู้ป่วยของรพ.ต่อประชากรสูงถึง636คนต่อ 1 เตียงในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้ว อย่าง ญี่ปุ่น อยู่ที่ 126 คนต่อ1เตียง และเกาหลีอยู่ที่ 156 คนต่อ 1เตียง ดังนั้น รพ.ศรีนครินทร เป็นการจัดตั้งศูนย์การแพทย์ชั้นเลิศ ที่จะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนเตียง โดยมีจุดยืนในการดูแลผู้ป่วยทุกระดับ ไม่แสวงหากำไร เน้นรักษาผู้ป่วยคนไทย และคนอีสาน โดยการหางบในการดำเนินการ เป็นการระดมทุน เปิดรับบริจาคจากประชาชน ซึ่งผู้บริจาคจะถือเป็นสมาชิกพิเศษที่เรียกว่า กองทุนอายุวัฒนะ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ วงเงิน 4 ล้านบาท จำนวน 500 ท่าน และวงเงิน 5 ล้านบาท จำนวน 2,000 ท่าน ซึ่งผู้บริจาค จะได้รับตอบแทน การรักษาฟรีตลอดชีวิตจากคณะแพทย์ มข.ได้รับสิทธิ์ตามกฎหมายในการลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า  และการบริจาคสามารถแบ่งเป็น 3 งวดเพื่อหักภาษี แต่สิทธิ์พิเศษจะได้รับตั้งแต่ปีแรกที่บริจาค

นายชาญชัย พานทองวิริยะกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการก่อสร้าง แบ่งออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรก จำนวน  3,500 เตียง ใช้งบประมาณ14,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะใช้เวลา 2 ปีครึ่ง ถึง 3 ปี เมื่อดำเนินการระยะแรกเสร็จก็จะดำเนินการระยะที่2ทันที ให้ครบ5,000เตียง ใช้งบประมาณ  10,500ล้านบาท ซึ่งจะเป็นโรงพยาบาลที่มีอาคารสูงประมาณ 20-39 ชั้น เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มาใช้บริการ มีที่จอดรถ 1,600 คัน มีห้องผ่าตัดเพิ่ม 2-3 เท่าจากเดิม มีเตียงสำหรับผู้ป่วยวิกฤตในห้องไอซียูเพิ่มอีก 30% มีเรือนพักญาติ อาคารสนับสนุนบริการ โดยจะให้บริการแบบการบริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One stop service) แก่ผู้ป่วยทุกกลุ่ม เพราะรพ.ดังกล่าวเป็นรพ.ของรัฐ มีจุดมุ่งหมายที่จะดูแลพี่น้องประชาชนทุกระดับ ให้บริการมาตรฐานการแพทย์อย่างเท่าเทียมกัน

ทั้งนี้ผู้ต้องการบริจาคสามาถติดต่อได้ที่ โทร.062-229-1555 ,062-229-4555 ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เพราะหากต้องรองบจากรัฐบาล หรืองบอื่นๆ คงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 20 ปี ถึงจะเห็นรพ.ขนาดใหญ่ดังกล่าวได้ แต่การ แก้ปัญหาสังคม และการดูแลคน ต้องดำเนินการทันที

a02


You must be logged in to post a comment Login