วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2567

รพ.จิตเวชโคราช พัฒนาระบบดูแล“ผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มเสี่ยงก่อความรุนแรง” ทันสมัย! ลดป่วยซ้ำอยู่หมัด!!

On March 8, 2018

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมโรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์  จ.นครราชสีมา  ว่าโรงพยาบาลแห่งนี้นอกจากจะรักษาผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการยุ่งยากซับซ้อนในเขตสุขภาพที่ 9 ซึ่งมี 4 จังหวัดได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์แล้ว  ยังมีนโยบายให้เป็นศูนย์เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตชุมชน (Excellence center of mental health care in community) ระดับประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มเสี่ยงก่อความรุนแรง เช่น ผู้ที่เคยพยายามฆ่าตัวตาย ทำร้ายคนในครอบครัวและชุมชนรอบข้าง  หรือมีประวัติก่อคดีรุนแรง เป็นต้น  ซึ่งมีประมาณร้อยละ15-20 ของผู้ป่วยจิตเวชทั้งหมดหรือประมาณ 100,000 คนทั่วประเทศ  ที่รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ พบปีละ 800 -1,200 คน ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้มักถูกชุมชนและครอบครัวปฏิเสธ ถูกทอดทิ้ง เกิดความรู้สึกไร้ค่า ไม่ใส่ใจดูแลตนเอง  ทำให้อาการกำเริบรุนแรง ก่ออันตรายตามมา

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อไปว่า  รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯได้จัดทำโครงการพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวในชุมชนอย่างต่อเนื่องในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 9 เป็นระบบเดียวกันทั้งเขต เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 โดยใช้      กลยุทธ์การมีส่วนร่วมของชุมชน ครอบครัวผู้ป่วย บุคลากรสาธารณสุขและเครือข่ายชุมชนในพื้นที่ มีการติดตามเยี่ยมบ้านประเมินความก้าวหน้าผู้ป่วยทุกเดือนโดยทีมหมอครอบครัวร่วมกับชุมชน  และในปี 2560 ได้พัฒนาเว็บแอพพลิเคชั่น เพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ สามารถติดตามข้อมูลผู้ป่วยเริ่มตั้งแต่การคัดกรองค้นหาผู้ป่วยในชุมชนและนำเข้าสู่กระบวนการดูแลรักษาฟื้นฟูในโรงพยาบาลทุกระดับและดูแลอย่างต่อเนื่องลงไปถึงชุมชน  สามารถติดตามดูแลผู้ป่วยจิตเวชได้ทุกคน ในกรณีที่ผู้ป่วยย้ายภูมิลำเนาก็สามารถส่งต่อการดูแลเข้าพื้นที่ปลายทางได้อย่างต่อเนื่อง จากการประเมินผลโครงการในปี 2560 พบว่าได้ผลดี ผู้ป่วยอาการดีอยู่ในชุมชนได้ ลดอัตราการป่วยและนอนโรงพยาบาลซ้ำจากเดิมเฉลี่ย 1.34 ครั้งต่อคนเหลือเฉลี่ยเพียง 0.45 ครั้งต่อคน โดยกรมสุขภาพจิตจะขยายระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มดังกล่าวทั่วประเทศในปีงบประมาณ 2561 นี้  มั่นใจว่าระบบดังกล่าวจะสร้างความปลอดภัยชุมชนและสังคมและทำให้คนในชุมชนเข้าใจและยอมรับผู้ป่วยจิตเวชมากขึ้

ทางด้านแพทย์หญิงสุวรรณี เรืองเดช ผู้อำนวยการรพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์กล่าวว่า การออกแบบเว็บแอพพลิเคชั่นติดตามผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มเสี่ยงก่อความรุนแรงนี้ เริ่ม 4 กลุ่มก่อน ได้แก่ 1.มีประวัติพยายามฆ่าตัวตาย  2. มีประวัติทำร้ายผู้อื่น ก่อเหตุการณ์รุนแรงในชุมชน 3.ผู้ป่วยที่มีอาการหลงผิด 4.เคยมีประวัติก่อคดีอาญารุนแรง เช่น ฆ่า/ พยายามฆ่า ข่มขืน วางเพลิง  โดยจะเร่งขยายผลเพิ่มให้ครอบคลุมผู้ป่วยจิตเวชทุกกลุ่ม

สำหรับระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มเสี่ยงก่อความรุนแรงในชุมชน จะเน้นที่การเยี่ยมบ้าน โดยแบ่งประเภทผู้ป่วยออกเป็น สีเขียว สีเหลือง และสีแดง โดยผู้ป่วยที่อยู่ในประเภทสีแดง เป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงในการทำร้ายตัวเองและก่อเหตุรุนแรงในชุมชน เน้นให้กินยาต่อเนื่อง มีญาติดูแลใกล้ชิด ไม่ให้เสพสุราและสารเสพติด รายใดที่อาการไม่ดีขึ้นภายใน 6 เดือน จะพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นผู้พิการทางจิตและได้รับสวัสดิการที่เหมาะสม ขณะเดียวกันได้จัด  ระบบบริการจิตเวชฉุกเฉิน โดยให้ความรู้ญาติและชุมชนให้รู้จักสัญญาณอาการเตือนกำเริบ 5 อาการได้แก่ ไม่หลับไม่นอน เดินไปมา พูดจาคนเดียว หงุดหงิดฉุนเฉียว หวาดระแวง  หากผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวให้แจ้งอสม.และโรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อหาสาเหตุและจัดการปัญหาขั้นต้นหากอาการยังไม่สงบ ให้โทรแจ้งสายด่วนการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 ตามพ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 หรือปรึกษาเบื้องต้นสายด่วนสุขภาพจิต 1323  โดยรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ จะประชุมขยายผลระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มเสี่ยงก่อความรุนแรงและการใช้เว็บแอพพลิเคชั่นนี้ให้เขตสุขภาพทั่วประเทศต่อไป


You must be logged in to post a comment Login