วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2567

ฤดูป้ายสี!!?? …ทีมข่าวการเมือง

On March 7, 2018

คอลัมน์ : เรื่องจากปก

ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

แค่ไม่กี่วันนับตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม ที่เปิดให้แสดงเจตจำนงจดแจ้งและจัดตั้งพรรคการเมือง ปรากฏว่ามีเกือบ 50 กลุ่มที่มายื่นขอจัดตั้งพรรคการเมือง ซึ่งสะท้อนถึงความคึกคักของ “คนอยากเลือกตั้ง” หรือความอึดอัดในสังคมภายใต้อำนาจรัฐประหารเกือบ 4 ปี แม้จะมีเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2562 แต่กว่าจะได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมาบริหารประเทศอย่างเร็วสุดก็อาจใช้เวลานับเดือนหรือหลายเดือน

ยิ่งไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมาก และสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ก็จะเข้าล็อกต้องเลือก “นายกฯคนนอก” โดยบทเฉพาะกาลมาตรา 272 กำหนดช่วง 5 ปีแรกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไม่จำเป็นต้องเลือกรายชื่อจาก 3 รายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่สามารถเข้าชื่อกันครึ่งหนึ่งหรือ 250 คน เพื่อประชุมร่วม ส.ส. และ ส.ว. เพื่อขอเสียง 2 ใน 3 หรือ 500 คนจาก 750 คน เพื่อให้เลือก “นายกฯคนนอก” ได้ ซึ่งนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยืนยันว่านี่คือกลไกแก้วิกฤตและทางตันของประเทศ โดยนายมีชัยอาจไม่ได้คิดว่าหากถึงที่สุดแล้วไม่สามารถเลือก “นายกฯคนนอก” ได้ โอกาสที่จะเกิดสุญญากาศทางการเมืองก็เกิดขึ้นได้ และไม่รู้ว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรเช่นกัน เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้

ทั้งนี้ มีหลายกลุ่มการเมืองที่ประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นนายกรัฐมนตรีต่อหลังการเลือกตั้ง ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่ปฏิเสธจะไม่เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ โดยพรรคที่ถูกจับตามองมากที่สุดคือพรรคมวลมหาประชาชนฯของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ที่นายธานี เทือกสุบรรณ น้องชายนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะจัดตั้ง ซึ่งจะต้องแย่งเสียงจากพรรคประชาธิปัตย์โดยตรง

ประเด็นสำคัญคือ พรรคการเมืองที่ประกาศหนุน พล.อ.ประยุทธ์หรือสนับสนุนการรัฐประหารจะสามารถได้ ส.ส. ถึง 100 คนหรือไม่ เพื่อเป็นฐานเสียงให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ เพราะแม้แต่แกนนำ กปปส. ก็กลับเข้าพรรคประชาธิปัตย์ เหมือนพรรคเพื่อไทยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน จะมีอดีต ส.ส. กล้าประกาศแยกวงไปร่วมกับพรรคการเมืองใหม่เพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่

“ลุงตู่” รอคนมาสู่ขอ

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงกลุ่มที่สนับสนุนตนเป็นนายกรัฐมนตรี (6 มีนาคม) ว่า ไม่ว่าจะกลุ่มใดก็ขอบคุณเท่านั้นเอง ทำอย่างอื่นไม่ได้ เรื่องนี้ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่จะรักใครชอบใครก็แล้วแต่ ส่วนจะได้หรือไม่ยังไม่รู้ เพราะผมเองยังไม่ได้พิจารณาในเรื่องนี้เลยว่าจะเป็นอย่างไร ไปอย่างไร ใครจะมาขอ ยังไม่เห็นมีใครมาติดต่อผมเลย เห็นแต่พูดกันผ่านสื่อเท่านั้น แล้วถ้าขอมาผมจะรับหรือเปล่าก็ไม่รู้ อย่าโจมตีผมมากนักเลย ให้เวลาผมทำงานเถอะ ปัญหามีมากมาย พรรคการเมืองจะเสนอผมได้เพียงพรรคเดียวเท่านั้น วันนี้ยังไม่รู้เลย เพราะไปยังไม่ถึงตรงนั้น ยังปลดล็อกไม่ได้เลย

ส่วนหลักการพิจารณาเลือกพรรคการเมืองที่สนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า อย่าตั้งคำถามด้วยการใช้คำว่าถ้า เพราะวันนี้ยังไม่รู้ ต้องดูนโยบายของแต่ละคน แต่ละพรรคการเมือง ต้องคิดแบบประชาชน และประชาชนเองก็ต้องคิดแบบนี้ ต้องดูทั้งนโยบายพรรค คนที่อยู่ในพรรคว่าเป็นอย่างไร มีความน่าเชื่อถือแค่ไหน มีความบริสุทธิ์ ยุติธรรม รอบรู้แค่ไหน การเป็นรัฐบาลไม่ใช่จะเป็นเพียงแค่ ส.ส. ที่ไปรับฟังเสียงจากชาวบ้านแล้วยื่นขออนุมัติโครงการจากรัฐบาล ทุกคนจะต้องรู้ระบบงบประมาณของประเทศว่ามาจากไหน รายรับรายจ่ายของประเทศมาจากไหน ไม่ใช่คิดแต่รายจ่ายอย่างเดียว ต้องหาเงินด้วยวิธีการที่ถูกต้อง ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ไม่ใช่ปล่อยปละละเลย ปล่อยให้คนทำผิดกฎหมาย และได้เงินจากการทำผิดกฎหมาย

ก่อนหน้านี้ (5 มีนาคม) พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการเลือกตั้งว่า ต้องเลือกคนให้ดี คนที่ตั้งใจเข้ามาทํางาน อย่ามองแต่เรื่องความใกล้ชิด ที่ผ่านมาเราได้เห็นแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ขอเตือนไว้ตรงนี้ ทุกวันนี้มีคนอยู่ 2 พวกคือ คนที่อยากได้คนเก่ากับคนที่อยากได้คนใหม่ แต่ที่น่าห่วงคือคนที่อยู่ตรงกลางไม่สนใจอะไร เอาใครก็ได้ จึงต้องมียุทธศาสตร์ชาติเข้ามาให้ทำต่อจากรัฐบาลชุดนี้ ทุกคนไม่ต้องไปกลัวใคร กลัวแค่กฎหมายก็พอ อย่าไปรบกับกฎหมาย ถ้ารบกับกฎหมายไม่มีวันชนะ เจ้าหน้าที่ก็ต้องปรับตัวเองและทำตามกฎหมาย

พรรคปัญญาชนคนรุ่นใหม่

พล.อ.ประยุทธ์ไม่ให้ความเห็นเกี่ยวกับพรรคการเมืองใหม่ที่ถือเป็นกลุ่มปัญญาชนและคนรุ่นใหม่ ซึ่งสังคมกำลังจับจ้องว่าจะสามารถสู้กับพรรคการเมืองเก่าหรือพรรคเฉพาะกิจที่ประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ได้หรือไม่ โดยพรรคสามัญชน ที่มีนายกิตติชัย งามชัยพิสิฐ เป็นแกนนำผู้ก่อการจัดตั้ง ประกาศชัดเจนว่าจะผลักดันแก้รัฐธรรมนูญให้ประชาชนมีส่วนร่วมลงประชามติใหม่ และให้ขบวนการภาคประชาชนเข้าไปอยู่ในสภา ยันไม่ได้ที่นั่งเลยก็จะทำงานต่อ

พรรคเกรียนโดยนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด บอกว่าอยากทำพรรคการเมืองที่สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนไปด้วยการใช้เทคโนโลยีเอื้อต่อการฟังเสียงประชาชนมากขึ้น ซึ่งคำว่า “เกรียน” ไม่ใช่คำที่มีความหมายไม่ดี แต่หมายถึงทำให้เรียบร้อย

นายสมบัติยังกล่าวว่า จะไม่หาเสียง แต่หาเรื่อง โดยยึดหลักประชาชนต้องการอะไร ไม่สนใจว่าพรรคการเมืองเก่าทำอะไรอย่างไรมาบ้าง เพราะจะไม่ใช้วิธีไปเดินไหว้ พบปะ หรือหาเสียง แต่จะฟังทุกเสียงเล็กๆ ทำเป็น Think tank รวบรวมความต้องการของประชาชนผ่านทางอินเทอร์เน็ต ก่อนจัดกลุ่มความคิด เวิร์คช็อป สร้างกระบวนการนำเสนอ ประมวลผลและออกมาเป็นนโยบาย ซึ่งจะไม่ใช่แค่ของพรรคเกรียนเอง แต่จะเป็นคลังความคิดแบบ Open Data ให้พรรคการเมืองอื่นๆนำไปใช้ประโยชน์สร้างนโยบายได้ด้วย

โดยเฉพาะพรรคที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์ และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้บริหารไทยซัมมิท กรุ๊ป เจ้าของฉายา “ไพร่หมื่นล้าน” จะจัดตั้ง ปรากฏว่าได้รับความสนใจอย่างมาก เห็นได้ชัดเจนจากการที่นายธนาธรให้สัมภาษณ์ผ่านเฟซบุ๊คไลฟ์ The101.world เกือบ 2 ชั่วโมงเต็ม มีคนเข้ามาดูมากกว่า 100,000 คน กดแชร์มากกว่า 3,000 ครั้ง และมีผู้ร่วมแสดงความเห็นและร่วมตั้งคำถามจำนวนมาก ขณะที่ในทวิตเตอร์มีผู้ตั้งแฮชแท็กว่า #ช่วยธนาธรตั้งชื่อพรรค พุ่งขึ้นเป็นแฮชแท็กยอดนิยมอันดับ 1 ในทวิตเตอร์ที่มีผู้ติดตามมากมายและร่วมเสนอชื่อทั้งจริงจัง เอาฮา และล้อเลียน

ชู 8 นโยบายพรรคคนรุ่นใหม่

นายปิยบุตรโพสต์ถึงแนวคิดการสร้างพรรคการเมืองแบบใหม่ผ่านเฟซบุ๊ค Piyabutr Saengkanokkul (3 มีนาคม) 8 นโยบายคือ

1.พรรคการเมืองที่ไม่มีเจ้าของ งบประมาณของพรรคมาจากการระดมทุนผ่านการบริจาค Crowd-funding การกู้ยืมเงินโดยปราศจากดอกเบี้ยจากคนที่สนับสนุนแนวคิดของพรรคการเมือง เงินสมทบของสมาชิกพรรค เงินอุดหนุนจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง

2.พรรคการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยในทุกระดับ เน้นการกระจายอำนาจ สนับสนุนให้คนรุ่นใหม่มีบทบาท ผู้สมัคร ตำแหน่งในพรรค ข้อบังคับ แนวทางการบริหารและยุทธศาสตร์มาจากการปรึกษาหารือ อภิปรายแลกเปลี่ยน และลงมติโดยสมาชิกพรรค การจัดการพรรคเน้นกระจายอำนาจ ไม่รวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลาง กระจายงานภารกิจไปให้กลุ่มต่างๆ พื้นที่ต่างๆ จังหวัดต่างๆ สนับสนุนบทบาทของเยาวชนคนรุ่นใหม่ งานที่คนรุ่นใหม่มีความถนัด เมื่อทำออกมาแล้วก็เป็นเครดิตของพวกเขา คนรุ่นใหม่คิดและทำกันเองได้โดยไม่ต้องตั้งคนที่อาวุโสกว่ามานั่งเป็นประธานตามแบบที่เคยทำๆกันมา

คนรุ่นใหม่ไม่ใช่ “วัวงาน” หรือ “คนรับใช้” คนรุ่นอาวุโส คนรุ่นใหม่ในพรรคมีบทบาทในการคิด เสนอ ลงมือทำ พวกเขาไม่ใช่ “แรงงาน” ที่ใช้แจกใบปลิว ติดป้าย แบบที่เคยทำๆกันมา

3.พรรคการเมืองที่มุ่งหมายทำงานระยะยาว พรรคการเมืองคือที่รวมตัวกันของบุคคลที่มีความคิด อุดมการณ์ ในทิศทางเดียวกัน และต้องการเข้าสู่อำนาจรัฐเพื่อผลักดันความคิดและนโยบายให้เกิดผล ผลการเลือกตั้งไม่อาจทำให้พรรคการเมืองยุติบทบาทหรือการพัฒนาพรรค ในยามชนะสมาชิกพรรคไปรับหน้าที่ต่างๆในสภาหรือรัฐบาล แต่ก็ต้องมีบุคลากรที่บริหารจัดการพรรคการเมืองอย่างต่อเนื่อง พัฒนาพรรคอยู่เสมอ ในยามแพ้ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องยุบเลิก แต่ยังต้องทำงานหนักอย่างต่อเนื่องเพื่อชนะในวันหน้า

พรรคการเมืองไม่ใช่ของชั่วคราวที่สมาชิกเข้ามาเพื่อหวังจะลงเลือกตั้งและไต่เต้าไปรับตำแหน่งทางการเมือง แต่พรรคการเมืองคือกลไกในการต่อสู้ทางการเมืองระยะยาว ดังนั้น แม้เริ่มต้นจะไม่สำเร็จ แต่ก็ต้องอดทน ทำงานอย่างหนักหน่วงต่อเนื่อง

4.พรรคการเมืองที่สนใจความรู้ วิชาการ การค้นคว้าวิจัย นโยบายที่ดี สมาชิกที่มีคุณภาพ ย่อมเกิดจากความรู้ การศึกษาค้นคว้า ดังนั้น ต้องสร้าง Think tank ของพรรคในด้านต่างๆ ประกอบด้วย นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และประชาชนที่สนใจและเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น นอกจากนี้ต้องสร้าง “มหาวิทยาลัยตลาดวิชา” ของพรรค บรรยายหัวข้อต่างๆ เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าฟังและถ่ายทอดผ่านทางเว็บไซต์

ช่วงปิดภาคการศึกษามี “มหาวิทยาลัย” สำหรับสมาชิกที่เป็นเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ได้เข้าร่วม 3-4 วัน เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้มาพบปะพูดคุยกัน วารสารของพรรคไม่ใช่การโฆษณาประชาสัมพันธ์เท่านั้น แต่เป็นวารสารที่นำเสนอความคิดของพรรคในประเด็นต่างๆ มีบทความวิชาการ กึ่งวิชาการ

5.พรรคการเมืองที่สื่อสารกับประชาชนและเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา พรรคการเมืองสื่อสารกับประชาชนผ่านสื่อต่างๆของพรรค ได้แก่ เว็บไซต์ เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ ยูทูบ วารสารรายปักษ์-รายเดือนของพรรค การ์ตูนแอนิเมชัน งานศิลปวัฒนธรรม

เว็บไซต์ในรูปแบบทันสมัย ไม่โบราณเหมือนเว็บไซต์ราชการ ไม่ใช่เว็บไซต์ประชาสัมพันธ์ผู้บริหาร พรรค ในเว็บไซต์มีหลายคอลัมน์ เช่น นโยบาย – นำเสนอตัวแบบเบื้องต้นของนโยบายด้านต่างๆ เปิดโอกาสให้ทุกคนร่วมแสดงความคิดเห็น ร่างกฎหมาย – ทุกคนสามารถเสนอร่างกฎหมายได้ ติดตามสมาชิกของพรรคที่เป็น ส.ส. – ทุกคนสามารถติดตามงานที่สมาชิกที่เป็น ส.ส. แต่ละคนไปทำ เช่น การอภิปรายในสภา การตั้งกระทู้ การให้สัมภาษณ์สื่อ การอภิปรายในเวทีเสวนา ข้อเขียน มหาวิทยาลัยตลาดวิชา – ถ่ายทอดการบรรยาย เหตุการณ์ประจำวัน – ความคิดเห็นของพรรคต่อประเด็นที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นๆ

6.พรรคการเมืองที่มีที่ทำการที่ทันสมัย ที่ทำการพรรคคือหน้าตาของพรรคการเมือง และแสดงออกถึงอัตลักษณ์ตัวตนของพรรค จะไม่ใช้ที่ทำการพรรคแบบตึกสูงๆเข้าถึงยาก ไม่ใช้ที่ทำการพรรคแบบเก่าแก่ และดูอึมครึม ขลัง ไม่เป็นมิตร แบบที่พรรคการเมืองอื่นๆเคยใช้ แต่จะมีที่ทำการพรรคแบบทันสมัย มีสีสัน คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย มีพื้นที่เปิดให้คนได้ใช้สอยร่วมกัน มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับคนพิการ มีพื้นที่ให้จัดกิจกรรมทางการเมืองและทางศิลปวัฒนธรรม เช่น จัดเสวนา จัดฉายภาพยนตร์ จัดงานแสดงศิลปะ จัดเวิร์คช็อป

7.พรรคการเมืองที่ติดต่อสัมพันธ์กับองค์กรอื่นๆทั้งในประเทศและต่างประเทศ

8.พรรคการเมืองที่รวมคนหลากหลาย สมาชิกพรรคมีความคิดและอุดมการณ์พื้นฐานร่วมกัน มาจากหลากหลายกลุ่ม ทุกเพศ ทุกรสนิยมทางเพศ ทุกวัย ทุกสาขาอาชีพ อัตลักษณ์ของพรรคคือความหลากหลาย ไม่ใช่สมาชิกทุกคนเหมือนๆกันหมด แต่งกายเหมือนกันหมด ลีลาการพูดถอดแบบกันมาหมด

พรรคการเมืองแบบใหม่เช่นนี้จะช่วยทำให้สังคมไทยที่มอง “การเมือง” และ “นักการเมือง” ในแง่ลบ ได้เปลี่ยนความคิดเสียใหม่ ตราบใดที่ผู้คนยังมอง “การเมือง” และ “นักการเมือง” ในแง่ลบ ย่อมมีโอกาสที่เขาจะหันไปสนับสนุนอำนาจเผด็จการนอกระบบได้เสมอ

“การเมือง” และ “นักการเมือง” ไม่ใช่เรื่องสกปรก แต่เป็นเรื่องของความคิด การผลักดันความคิด การลงมือ การสร้างสรรค์ การทำให้ความคิดของผู้คนที่มีต่อการเมืองและนักการเมืองเปลี่ยนไปในทางที่ดีย่อมเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ทางความคิด แย่งชิงการสถาปนาอำนาจนำ และอาจช่วยให้คนไม่หันหลังให้กับประชาธิปไตย และเลิกสนับสนุนรัฐทหาร รัฐราชการ

ไม่เปลี่ยนแปลง…ไม่ทำ

นายปิยบุตรให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยถึงการลาออกจากงานสอนกฎหมายที่ซ้ำซากจำเจมาตั้งพรรคการเมืองเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้กับประชาชนร่วมกับนายธนาธรว่า แม้จะเสี่ยงแต่ก็คิดว่า มันคุ้ม…มันเป็นห้วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ ถ้าไม่ทำตอนนี้ โอกาสนี้อาจจะหลุดมือไป

นายธนาธรได้ให้สัมภาษณ์สื่อต่างๆยอมรับว่า การทำงานทางการเมืองหนักแน่ แต่ไม่ใช่พรรคการเมืองเฉพาะกิจแน่นอน อะไรที่น้อยกว่าการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยจะไม่ทำ ส่วน “คนรุ่นใหม่” ไม่ใช่เรื่องตัวเลขอายุ แต่หมายถึง “คนที่ไม่ยอมจำนนต่อสถานการณ์ปัจจุบัน คนที่ไม่ยอมจำนนกับสิ่งที่เกิดขึ้นอีกต่อไป คนที่ยังเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้ คนที่ยังเชื่อว่าพลังของตัวเองสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีได้”

“ถ้าไม่มีพรรคการเมืองใหม่มาเป็นทางเลือก เราจะพังทั้งประเทศ ถ้าไม่อยากให้สังคมไปถึงจุดนั้น เรามาร่วมมือกัน มาเปิดประตูบานใหม่ด้วยกัน ผมยังไม่รู้ว่าหลังประตูที่เปิดออกไปจะเป็นอย่างไร แต่เรามาเปิดด้วยกัน และเดินไปด้วยกัน”

นายธนาธรยอมรับว่ามีคนสบประมาทว่ากลุ่มตนคงไม่ต่างอะไรกับอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร แต่จะให้เวลาพิสูจน์ เพราะไม่มีอะไรพิสูจน์ได้ว่าตนจะเป็นอย่างไรโดยไม่เปิดโอกาสให้ลงมือทำ ถ้าไม่นำเสนอในสิ่งที่ก้าวหน้าก็ไม่รู้จะทำไปทำไม “ต่อให้ผมหรือคุณปิยบุตรทำพรรคได้จริง แต่คงต้องใช้เวลา เพราะคงทำอะไรไม่ได้ในเร็ววัน เนื่องจากกระบวนการนี้ต้องเรียนรู้ไปพร้อมกับสังคม คนที่ผ่านการเมืองรอบ 10 ปี ได้เรียนรู้จากความขัดแย้ง ซึ่งเป็นพื้นฐานของการสร้างประชาธิปไตยที่แข็งแกร่ง

ผมจะพิสูจน์ให้เห็นว่าความเชื่อที่ว่านักการเมืองต้องมุ่งโกงกินเป็นเรื่องที่ผิด ผมจะทำให้เห็นว่านักการเมืองทำวาระของประชาชนอย่างจริงจังได้ นายธนาธรยังกล่าวถึงนายปิยบุตรว่า รู้จักมาหลายปี จึงมั่นใจว่าพรรคคนรุ่นใหม่แบบก้าวหน้าเกิดได้แน่ แต่จะชัดเจนปลายเดือนมีนาคมนี้

อนาคตใหม่อยู่ที่คนหนุ่มสาว

แนวคิดของนายปิยบุตรและนายธนาธรสอดคล้องกับ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี แกนนำพรรคเพื่อไทย ที่เคยโพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ค (13 มกราคม) ว่า ทำไมการเมืองไทยต้องการหนุ่มสาวอายุ 30-40 ปี โดยมั่นใจว่าคนอายุ 30-40 ปีจำนวนไม่น้อยมีเวลาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ในด้านต่างๆของสังคมไทยอย่างน่าตื่นใจ แต่กลับไม่เห็นสิ่งใหม่ๆแบบนี้เกิดขึ้นเลยในวงการการเมือง และเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ก็โพสต์ว่า จะเห็นคนหนุ่มสาวลุกขึ้นมาตั้งพรรคการเมืองของพวกเขาเอง ขับเคลื่อนโดยวิธีคิดแบบคนหนุ่มสาว เพื่ออนาคตของสังคมไทยที่พวกเขาจะใช้ชีวิตไปอีก 50-60 ปี

เหมือนผู้นำโลกที่เป็นคนหนุ่มสาวขณะนี้ที่หลายคนผงาดขึ้นมา อย่าง Bernie Sanders ของสหรัฐอเมริกา, Jeremy Corbyn ของอังกฤษ, Justin Trudeau ของแคนาดา, Emmanuel Macron ของฝรั่งเศส และ Pablo Iglesias ของสเปน ซึ่งอธิบายความคับข้องของคนหนุ่มสาวยุคนี้ได้พอสมควร อนาคตของประเทศไทยจึงไม่ได้ฝากไว้ที่คนรุ่นตนซึ่งวัยเลย 60 ปีอีกต่อไปแล้ว

นายพิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊คสนับสนุนให้มีพรรคการเมืองที่ก้าวหน้า มีเจตจำนงอันแน่วแน่ของประชาชนที่จะสร้างพรรคนั้นขึ้นมา แม้จะต้องเผชิญกับอุปสรรคเฉพาะหน้าสักเพียงใด

การเมืองฝ่ายประชาธิปไตยต้องให้มวลชนควบคุมพรรค ไม่ใช่ให้พรรคเอาความกลัวความเกลียดเป็นเครื่องมือต้อนมวลชนเข้าคอก เอามวลชนเป็นตัวประกัน นายพิชิตยังชี้ว่า มันยากนักที่จะมีพรรคแบบนี้ในบริบทของการเมืองไทย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องยอมแพ้ งอมืองอเท้า

ฤดูป้ายสี.. มาเร็วกว่ากำหนด!

ทันทีที่การประกาศจะตั้งพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ของนายปิยบุตรและนายธนาธร โดยเฉพาะแนวคิดการสร้างพรรคการเมืองแบบใหม่จากการบริจาคแบบ Crowd-funding หรือการกู้ยืมเงินโดยปราศจากดอกเบี้ยจากคนที่สนับสนุนให้เป็น “ท่อน้ำเลี้ยง” อย่างชัดเจน กระแสต่อต้านจากกลุ่มขุนศึกศักดินาและทุนผูกขาดรักชาติได้ข้างเดียวก็เกิดขึ้นทันที

เพราะนายปิยบุตรเป็นหนึ่งในนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ที่ต่อต้านรัฐประหารและเรียกร้องให้ “ลบล้างผลพวงรัฐประหาร” ที่มาจากคำสั่งและประกาศทั้งหมด ทั้งยังต่อต้านการใช้อำนาจ “ตุลาการภิวัฒน์” และเสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพื่อไม่ให้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อจัดการกับฝ่ายตรงข้าม นายปิยบุตรจึงถูกป้ายสีว่าเป็น “กลุ่มล้มเจ้า” ในทันที ซึ่งนายปิยบุตรก็ยอมรับว่ามันลบไม่ได้ เพราะมันก็คือตัวเรา เป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่ตนพูดไปด้วยความสุจริต เพื่อต้องการรัฐธรรมนูญที่สอดคล้องกับประชาธิปไตยและอยู่ได้อย่างเป็นเกียรติ

.จ.จุลเจิม ยุคล โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ค Chulcherm Yugala (5 มีนาคม) พร้อมภาพนายปิยบุตรที่มีคำบรรยายถึงการให้ยกเลิกมาตรา 112 และคลั่งการปฏิวัติฝรั่งเศส รวมถึงนายธนาธรที่ถูกระบุว่าเป็นนายทุนสื่อล้มเจ้า “ฟ้าเดียวกัน” ว่า.. “แผ่นดินนี้ พระราชอาณาจักรนี้ จะต้องมีสถาบันพระมหากษัตริย์ และพระมหากษัตริย์จะต้องคงอยู่ตลอดไป ใครจะคิดลบล้างมิได้ ถ้าคิดเราจะได้เห็นดีกันครับ คุณตั้งพรรคได้ ผมก็ตั้งพรรคได้เช่นกัน พรรคค้ำชูชาติและสถาบันเพื่อต่อต้านพวกทำลายชาติที่จะเปลี่ยนพระราชอาณาจักรนี้ให้เป็นสาธารณรัฐ และลบสถาบันออกจากแผ่นดินนี้”

นอกจากพรรคที่จะมาเป็นความหวังใหม่ของฝ่ายประชาธิปไตยที่ถูกป้ายสีให้ “แดงแปร๊ด” ตั้งแต่ไก่โห่แล้ว กลุ่มนักศึกษาและประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารและเรียกร้องให้เลือกตั้งตามโรดแม็พก็ถูกป้ายสีเรื่องมี “ท่อน้ำเลี้ยง” จากฝ่ายการเมืองเช่นกัน เมื่อหาหลักฐานอะไรไม่ได้ การปลุก “ผีทักษิณ” ให้เกิดขึ้นมาหลอกหลอนก็ตามมาทุกครั้ง

ขณะที่เหตุการณ์พรานมหาเศรษฐีท่องไพรไล่ยิง “เสือดำ” ที่กำลังจะสูญพันธุ์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แม้มีหลักฐานชัดเจนทั้งซากสัตว์และอาวุธ แต่กลับมีคำถามมากมายถึงการทำสำนวนคดีที่เหมือนจะลากยาวและได้รับอภิสิทธิ์สารพัดจากเสือดำที่สงบอยู่ในป่า เสือดำ “ผู้ถูกล่า” จึงพลิกบทมาเป็น “ผู้ไล่ล่า” ท่ามกลางดราม่าโศกนาฏกรรมแสนสนุกจึงถูกปลุกให้คนรักสัตว์ต้องอย่าลืม “เสือดำ” แต่ก็ไปลบความทรงจำของคนเกลียดโกงเรื่อง “นาฬิกาเพื่อน” อย่างเนียนๆ

หากเปรียบการลุกขึ้นของเสือดำดั่งพรรคการเมืองใหม่ในอดีตที่โดนไล่ล่าจากขุนศึกศักดินามาช้านาน บัดนี้จึงเกิดพรรคการเมืองใหม่จากคนรุ่นใหม่ที่มิอาจยอมเป็นเพียงผู้ถูกไล่ล่าฝ่ายเดียวอีกต่อไป.. “เสือดำ” จึงจำต้องออกจากป่ามาสู่เมือง เมืองที่เต็มไปด้วยเรื่องดราม่า

แต่ทว่า “ฤดูป้ายสี” มันมาเร็วกว่ากำหนด.. “เสือดำ” จึงถูกป้ายเป็น “เสือแดง” โดยพลัน!!??


You must be logged in to post a comment Login