วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567

เราจะทำตามสัญญา / โดย ทีมข่าวการเมือง

On March 5, 2018

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

“ตอนนี้ผมตอบชัดเจนแล้วนะ การเลือกตั้งไม่เกินเดือนกุมภาฯปี 62 จะเอาอะไรกันอีก แต่จะวันเวลาไหนก็อยู่ในห้วงเวลาดังกล่าวนั่นแหละ ประมาณ 150 วัน แต่ใน 150 วันนี้ก็ต้องพิจารณาดูว่าสถานการณ์บ้านเมืองเป็นอย่างไร ผมไม่ได้ขู่นะ แต่ถ้าทุกคนยังออกมา เดี๋ยวคอยดูแล้วกัน พอเวลาปลดล็อกทางการเมืองมันจะเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง ผมก็หวังให้มันเกิดสิ่งดีๆขึ้นมา หาเสียงกันโดยสงบ ไม่ใส่ร้ายป้ายสีกัน ไม่ยุยงปลุกปั่นอะไรทำนองนี้ มันจะได้เลือกตั้งได้ ผมก็อยากให้เลือกตั้งได้ ไม่ได้หมายความว่าจะให้เลือกตั้งไม่ได้แล้วผมจะได้อยู่ต่อ ถ้าคิดแบบนี้ก็ไม่อยากจะคุยด้วย พอแล้วนะเรื่องนี้ เรื่องล้มกฎหมายผมบอกแล้วไม่มีนโยบาย มันทำไม่ได้ มันไม่ควรจะล้ม ต้องไปหาทางกันให้ได้เพื่อให้เลือกตั้งได้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยืนยันหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (27 กุมภาพันธ์) ว่าเลือกตั้งไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ 2562 แน่นอน แต่ยังแทงกั๊กว่าสถานการณ์บ้านเมืองต้องไม่วุ่นวาย โดยก่อนประชุม ครม. ผู้สื่อข่าวถามว่าได้เห็นภาพการ์ตูนล้อเลียน พิน็อกคิโอ ของกลุ่ม คนอยากเลือกตั้งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้วหรือยัง พล.อ.ประยุทธ์เดินผ่านไปโดยไม่ตอบคำถามด้วยสีหน้าเรียบเฉย

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันที่ 1 มีนาคมซึ่งเป็นวันเริ่มต้นให้กลุ่มการเมืองจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ ถือว่าพรรคการเมืองใหม่ยังไม่มีความพร้อมอะไรเลย จึงต้องให้ความเป็นธรรมบ้าง สามารถให้จัดประชุมได้ในกิจกรรมที่จำเป็นแต่ต้องขออนุญาต คสช. ก่อน ส่วนพรรคการเมืองเก่าวันที่ 1 เมษายนนี้ให้เริ่มสำรวจสมาชิก เพราะมีรายชื่ออยู่แล้ว แต่ยังประชุมพรรคไม่ได้ หลังจาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และที่มา ส.ว. เสร็จประมาณเดือนมีนาคม ก็จะทูลเกล้าฯถวายเพื่อทรงพิจารณาลงพระปรมาธิไธยและประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาประมาณเดือนมิถุนายน

เมื่อถึงเวลานั้นจะมีการประชุมหารือ โดยจะเชิญทุกคนที่เกี่ยวข้องมาหารือร่วมกัน กำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจน ซึ่งอยู่ในกรอบเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ก็ไปวางแผนกันแล้วกัน ไม่มีสุญญากาศเรื่องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คิดว่าการสรรหา กกต. ต้องทำให้ทัน ถ้าไม่ทันชุดเก่าก็จะเป็นคนจัดการเลือกตั้ง จบไหม พอได้แล้ว พาดหัวข่าวกันทุกวันเรื่อยเปื่อย ไม่ต้องมาถามซ้ำอีกนะ

ยื้ออีก 90 วัน ก็เลือกตั้งปี 2561 ได้

การออกมายืนยันของ พล.อ.ประยุทธ์ แม้จะไม่เป็นไปตามที่กลุ่ม “คนอยากเลือกตั้ง” ต้องการให้เลือกตั้งปี 2561 ก็ตาม แต่การเคลื่อนไหวของกลุ่มนิสิตนักศึกษาและภาคประชาชนไม่ได้มีแค่การเลือกตั้งปีนี้เท่านั้น แต่ยังรณรงค์ต่อต้านการ “สืบทอดอำนาจ” อีกด้วย ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมต่อเนื่องจนถึงวันที่ 22 พฤษภาคมที่ครบรอบ 4 ปีการรัฐประหารของ คสช.

ก่อนหน้านี้เว็บไซต์ iLaw ได้รายงานว่า กรณีที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ประกอบด้วย สนช. คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และ กกต. เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ซึ่งเดิมเมื่อเกิดขั้นตอนนี้การเลือกตั้งตามโรดแม็พของรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นอย่างช้าสุดเดือนพฤศจิกายน 2561 ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยประกาศไว้ อาจถูกเลื่อนออกไปอีก 90 วัน เพราะเมื่อวันที่ 25 มกราคม สนช. เห็นชอบร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งมีการแก้ไขมาตรา 2 ให้บังคับใช้เป็นกฎหมายภายหลัง 90 วันนับจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ด้วยเหตุนี้ทำให้การเลือกตั้งอาจถูกเลื่อนไปเป็นเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม 2562

แต่ว่ากันตามโรดแม็พแล้ว ถ้าอยากให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงๆ คสช. ก็สามารถย่นระยะเวลาเข้ามาให้เร็วกว่าเดือนพฤศจิกายน 2561 ได้ เพราะเมื่อคำนวณระยะเวลาตั้งต้นจากวันที่ สนช. มีมติตั้งคณะกรรมาธิการ 3 ฝ่ายวันที่ 15 กุมภาพันธ์ หาก คสช. บริหารเวลาให้ดี การเลือกตั้งสามารถเกิดขึ้นได้อย่างเร็วสุดกลางเดือนกันยายน 2561

สนช. ล้มกระดาน 7 กกต.

ขณะที่กฎหมายลูก 2 ฉบับถูกดึงออกไป ก็เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดอีกเรื่องขึ้นมาเมื่อ สนช. ลงมติคว่ำว่าที่ กกต. 7 คน โดยไม่รับรองทั้งหมด ทั้งจากการสรรหาจำนวน 5 คน และอีก 2 คนจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ทำให้ต้องกลับไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกประมาณ 90 วัน แต่ก็มีคำถามว่าทำไมต้องล้มโต๊ะคว่ำ กกต. ซึ่งไม่น่าจะมีผลต่อการยื้อการเลือกตั้งออกไป เพราะตามขั้นตอนหากไม่สามารถสรรหา กกต. ชุดใหม่ได้ก็ไม่กระทบโรดแม็พการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2562

ทำให้คนส่วนใหญ่เชื่อว่าต้องมี “ใบสั่ง” เพราะผู้มีอำนาจไม่เห็นด้วยกับว่าที่ 7 กกต. โดยเฉพาะ 2 ว่าที่ กกต. ที่มาจากการประชุมลับของศาลฎีกา ซึ่งถูกแย้งว่าอาจขัดกับรัฐธรรมนูญที่ให้สรรหาโดยเปิดเผย แต่ก็ไม่ใช่ไม่รับรองทั้งหมด

ที่สำคัญ พล.อ.ประยุทธ์ยังสามารถใช้อำนาจตามมาตรา 44 ผ่าทางตันได้หากต้องการ กกต. ชุดใหม่ให้ทำตามหน้าที่ และยังสามารถเลือกตัวบุคคลที่ต้องการให้มาเป็น กกต. ได้อีกด้วย ดีกว่าปล่อยให้ กกต.ชุดเดิมทำหน้าที่ ซึ่งมีความคิดเห็นขัดแย้งกันตั้งแต่ “เซตซีโร่” กกต.ชุดเดิมที่ต้องทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งทั้งการเลือกตั้งระดับชาติและท้องถิ่น

จัดแถวองค์กรอิสระใหม่

การสรรหา กกต.ชุดใหม่มีความสำคัญเช่นเดียวกับการต่ออายุผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) การไม่เซตซีโร่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และไฟเขียวต่ออายุกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทั้งที่บางคนมีคุณสมบัติขัดรัฐธรรมนูญชัดเจน

การล้มกระดาน กกต. ครั้งนี้ เชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งของการจัดแถวองค์กรอิสระใหม่ทั้งหมด เพราะ คสช. ต้องมั่นใจว่าจะไม่มี “หอกข้างแคร่” มาเล่นงานภายหลังเมื่อ “ลงจากหลังเสือ” หรือจะอยู่ในอำนาจต่อก็มั่นใจว่าจะสามารถเดินตามกรอบที่วางไว้ รวมถึงการปฏิรูปประเทศและแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่ง คสช. รู้ดีว่ากระแสไม่ตอบรับอย่างที่คิดไว้ทั้งที่ประชาสัมพันธ์กรอกหูทั้งเช้าเย็นมาเกือบ 4 ปี

เห็นประชาชนกินหญ้าหรือ?

นายบรรยง พงษ์พานิช อดีตคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ดรัฐวิสาหกิจ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ค (23 กุมภาพันธ์) ถึงกรณีนาฬิกาหรูและกรณีที่ สนช. โหวตคว่ำว่าที่ 7 กกต. ว่า

“บ้านนี้เมืองนี้ นระดับนั้นเขาบอกประชาชนหน้าตาเฉยว่านาฬิกาที่ใส่อยู่ทุกวันนั้นยืมเพื่อนมา

สภาทั้งสภาตีตกคนทั้ง 7 คนที่ล้วนแต่มีประวัติการทำงานที่ผ่านเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญที่สภานี้เองจัดทำ ผ่านกระบวนการสรรหาที่พวกตนกำหนด แต่สุดท้ายตบหน้าฉาดใหญ่โดยไม่ให้ผ่านสักคน แล้วบอกประชาชนหน้าตาเฉยว่าพิจารณาอย่างอิสระ ไม่มีใบสั่งใดๆทั้งสิ้น

นี่พวกท่านเห็นพวกเราประชาชนเป็นอะไรกันครับ คิดว่าเรากินหญ้าหรืออย่างไร

“สุเทพ” ยันสนับสนุน “ลุงตู่”

ขณะที่การเปิดให้กลุ่มต่างๆจดทะเบียนพรรคการเมืองใหม่ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ทำให้เห็นชัดเจนว่าพรรคใดที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนให้ “ลุงตู่” นั่งเก้าอี้ในฐานะ “นายกรัฐมนตรีคนนอก” หลังเลือกตั้ง โดยเฉพาะชื่อที่ใกล้เคียงหรือสอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลทหาร คสช. เช่น ประชารัฐและไทยนิยม ซึ่งก่อนหน้านี้นายวัชระ เพชรทอง พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาเปิดเผยว่า “ลุงกำนันคนดัง” อยู่เบื้องหลังจะตั้งพรรคการเมืองใหม่โดยสมคบคิดกับอดีตข้าราชการประจำ เจ้าสัว และนักการเมืองบางกลุ่ม และจะนำนโยบายประชารัฐมาใช้เป็นชื่อพรรค ให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นหัวหน้าพรรค และนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ เป็นเลขาธิการพรรค

แม้จะมีการปฏิเสธจากบุคคลที่ถูกกล่าวถึง แต่วันนี้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ก็ยืนยันว่าจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะเชื่อมั่นว่าเป็นผู้นำที่ดีและเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดีที่จะแก้ไขปัญหาประเทศได้ ซึ่งตนก็ฝากความหวังไว้กับ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ต้องการให้มีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ไม่ต้องการให้วงจรชั่วร้ายทางการเมืองกลับมาทำให้ประเทศเกิดความเสียหายอีก

นายสุเทพยังยืนยันว่าจะไม่กลับไปเป็นนักการเมือง ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. และไม่ต้องการมีตำแหน่งทางการเมืองใดๆทั้งสิ้น ส่วนกลุ่ม กปปส. จะจดทะเบียนพรรคนั้นก็ไม่เกี่ยวข้องกับตน ยังไม่มีการทาบทามใดๆ และยังไม่ได้มีการติดต่อกับใคร ไม่ว่าจะเป็นนายไพบูลย์ นิติตะวัน ผู้เตรียมก่อตั้งพรรคประชาชนปฏิรูป หรือคนอื่นๆ แต่ก็เอาใจช่วยคนที่ต้องการมาปฏิรูปการเมือง เพราะจุดยืนของตัวเองเป็นผู้รับใช้ประชาชน ประชาชนจะให้ทำอะไรในทางที่ถูกต้องเพื่อให้บ้านเมืองปลอดภัยก็ยินดี

“ลุงกำนัน” อย่าทิ้ง “ลุงตู่” กลางทาง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กลุ่ม กปปส. จะตั้งพรรคการเมืองเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ก็มีสิทธิที่จะทำได้อยู่แล้ว และไม่กังวลที่อาจถูกแย่งคะแนนเสียง เพราะการมีพรรคการเมืองที่หลากหลายเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชน และเป็นเรื่องธรรมดาในการแข่งขัน ซึ่งเดือนมีนาคมจะมีความชัดเจนเรื่องการตั้งพรรคการเมืองต่างๆ

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวถึงการตั้งพรรคการเมืองของนายสุเทพเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ว่า เป็นที่รับรู้กันภายในมาระยะหนึ่งแล้ว เพราะเจ้าตัวพูดยืนยันกับคนในแวดวงการเมืองมาก่อนหน้านี้ ส่วนจะเป็นการผิดคำพูดที่เคยประกาศจะยุติบทบาททางการเมืองหรือไม่นั้น ตนไม่ได้สนใจ เพราะไม่เคยเชื่อที่นายสุเทพพูด ส่วนคนที่เคยเชื่อจะยังคงเชื่อและเดินตามลุงกำนันต่อไปหรือไม่ก็แล้วแต่วิจารณญาณ เพราะมาถึงจุดนี้เท่ากับยืนยันแนวทาง กปปส. ว่าสนับสนุนการรัฐประหารและการสืบทอดอำนาจ คงไม่ส่งผลสะเทือนต่อสถานการณ์ทางการเมือง เพราะนายสุเทพประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯมานานแล้ว แต่จะส่งผลต่อสภาพภายในพรรคประชาธิปัตย์มากกว่า จะมีอดีต ส.ส. ออกไปอยู่พรรคใหม่หรือไม่ อย่างนายเชนและนายธานี เทือกสุบรรณ หรือนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ จะตัดสินใจอย่างไร

“ถ้านายสุเทพลงสมัครรับเลือกตั้งไปเลยจะดูนักเลงกว่า เพราะการตั้งพรรคแต่ตัวเองไปแอบอยู่ข้างหลังดูเหมือนให้เกียรติกลุ่มผู้สนับสนุนน้อยเกินไป อยากให้ลุงกำนันกอดลุงตู่ให้แน่นๆ อย่าทิ้งกันกลางทาง ประชาชนเห็นชัดจะได้ตัดสินใจง่าย แต่คงต้องเผื่อใจไว้บ้างกับการออกมาจากพรรคประชาธิปัตย์ของนายสุเทพวันนี้”

พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์จะยืนยันว่าเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ว่า อยากให้โรดแม็พของ คสช. เดินไปข้างหน้าและเป็นจริงตามนั้น ถ้าเดินไปได้ประชาชนก็พอใจ ซึ่งตนคิดว่า คสช. รู้ว่าประชาชนต้องการอะไร ทั้งกล่าวฝาก คสช. ว่าประวัติศาสตร์สอนให้เห็นอะไรหลายๆอย่าง จึงอยากให้รัฐบาลและ คสช. นึกถึงโรดแม็พและทำตามโรดแม็พ

ส่วนประชาชนออกมากดดันจะนำไปสู่วงจรการรัฐประหารหรือไม่ พล.อ.สนธิกล่าวว่า การรัฐประหารเป็นธรรมชาติของวงจรที่เกิดขึ้นได้ทุกชาติ ซึ่งประเทศเราก็หมุนอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา จึงอยากขอให้ คสช. ฟังประชาชน การจะตั้งพรรคทหารก็ต้องมีผู้นำที่ดีและเป็นที่ศรัทธาของประชาชน การตั้งพรรคการเมืองต้องดูทั้งตัวผู้นำพรรคและนโยบายของพรรค ซึ่งตนมองแล้วก็ยังไม่เห็นเท่าไร ส่วนตัวคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์คงไม่ลงมาเล่นการเมือง แต่หากจะใช้นอมินีเล่นแทนก็ให้ดูตัวอย่างในอดีต

สงครามแห่งยุคสมัย

สถานการณ์บ้านเมืองก่อนจะถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ยังไม่มีอะไรแน่นอน แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะยืนยันว่าเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2562 แน่นอน เช่นเดียวกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ประกาศให้ชัดเจนว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งหรือไม่ กระแสการเมืองก็จะยิ่งเพิ่มความร้อนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะการเปิดตัวพรรคการเมืองต่างๆที่ประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ โดยเฉพาะนายสุเทพ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ก็ขอบคุณทุกคนที่สนับสนุน และไม่ปฏิเสธหากทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย

ดังนั้น สถานการณ์การเมืองและบ้านเมืองในอนาคตจึงทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่าความขัดแย้งจะยังฝังลึกต่อไป แต่ไม่ใช่เรื่องของสีเสื้อหรือฝ่ายอย่างที่ผ่านมา จะเป็นการต่อสู้ระหว่าง ยุคใหม่กับยุคเก่า อย่างที่ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปราศรัยตอนหนึ่งในกิจกรรม “ปากปราศรัย น้ำใจเชือดเผด็จการ” เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า กาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่าความขัดแย้งตลอดทศวรรษที่ขัดขวางอนาคตของคนไทยไม่ใช่สงครามเสื้อเหลืองกับเสื้อแดง แต่มันคือการปะทะของยุคสมัยระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่

ทุกวันคืน ทุกชั่วโมง ทุกนาที ตนเฝ้าคิดว่าเมื่อไรเราจะพ้นจากเวรจากกรรมนี้ได้สักที ตนคิดอยู่ตลอดว่าเราจะทำอย่างไรถึงจะสร้างอนาคตใหม่ได้ในประเทศนี้ และตนคิดมาตลอดเวลาว่าประสบการณ์แย่ๆที่เราเผชิญอยู่ทุกวันนี้มันคืออะไรกันแน่ และได้ข้อสรุปว่า หลายคนอาจบอกว่าทศวรรษที่ผ่านมาคือความขัดแย้งของขั้วอำนาจพรรคการเมือง บางคนบอกอย่างนั้นแต่ตนไม่เชื่อ ถึงเวลานี้มันพิสูจน์แล้วว่านี่ไม่ใช่สงครามระหว่างเหลือง-แดง แต่เป็น สงครามของยุคสมัยเป็นสงครามระหว่างยุคใหม่กับยุคเก่า นี่คือการปะทะระหว่างคนยุคเก่าที่นั่งอยู่ในทำเนียบรัฐบาล เป็นคนหัวเก่า ใช้ความคิดแบบเก่า โตมาจากโลกเก่า และโลกของพวกเขากำลังจะล่มสลาย ผู้ท้าชิงที่จะมาล้มพวกเขาก็คือพวกเรา คนยุคใหม่ ความคิดใหม่ เติบโตมากับโลกแบบใหม่ และโลกของเรากำลังก่อเกิดขึ้นมา

การจุดประเด็น “สงครามแห่งยุคสมัย” ของ “เพนกวิน” จึงน่าคิดอย่างมาก เพราะสะท้อนถึงการกรอกหูมาตลอดของ “ลุงตู่” ให้เลือกนักการเมืองที่ดี ไม่ใช่นักการเมืองหน้าเดิมๆที่ถูกตราหน้าว่าเป็นคนไม่ดี แต่ก็มีคำถามว่านักการเมืองอย่าง “ลุงตู่” ถือเป็นคนรุ่นใหม่หรือรุ่นเก่า เป็นนักการเมืองประเภทใด ซึ่ง “โบว์-ณัฏฐา มหัทธนา” ได้โพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ค Bow Nuttaa Mahattana กล่าวถึงการออกมาเคลื่อนไหวว่า

“เวลาพวกแผ่นเสียงตกร่องถามคุณว่า “ถ้าเลือกตั้งแล้วได้นักการเมืองไม่ดีมาจะทำอย่างไร ไม่เลือกดีกว่ามั้ย” ก็ให้ถามกลับไปว่าการมีสภาที่มีฝ่ายค้าน มีสื่อและภาคประชาชนที่ส่งเสียงได้โดยไม่มีปืนจ่อหัว มันแย่กว่าอยู่ใต้รัฐบาลเผด็จการยังไง?

ส่วนตัวโบว์เชื่อว่าพลเมืองทุกแห่งคู่ควรกับรัฐบาลของตัวเองค่ะ คนในสภาคือภาพสะท้อนคุณภาพคนนอกสภา มีปัญญาแค่ไหนก็ได้แค่นั้นแหละ แต่ไม่มีมนุษย์ผู้มีศักดิ์ศรีคนไหนสมควรอยู่ใต้อำนาจเผด็จการ”

เราจะทำตามสัญญา

นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ความเห็น (28 กุมภาพันธ์) หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ยืนยัน (อีกครั้ง) ว่าเลือกตั้งแน่เดือนกุมภาพันธ์ 2562 โดยให้หัวข้อว่า “โรดแม็พจนตรอก” ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ได้พูดในรายการวันศุกร์ (23 กุมภาพันธ์) ว่า การเลือกตั้งขึ้นอยู่กับความพร้อมของทุกฝ่าย ทั้งพรรคการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และ กกต. โดยจะเชิญ กกต. กรธ. รวมถึงทุกพรรคการเมืองมาพูดคุยหารือว่าการเลือกตั้งควรเกิดขึ้นในวันเวลาที่ทุกฝ่ายพร้อม ทุกฝ่ายต้องช่วยกันรักษาบรรยากาศ ต้องไม่ขัดแย้งและไม่แบ่งฝ่ายกันอีก และจะต้องสัญญาว่าหลังเลือกตั้งจะต้องมีรัฐบาลและฝ่ายค้านที่ร่วมมือกันทำในสิ่งที่ประชาชนต้องการ รวมถึงการปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติต่อไป

คำพูดดังกล่าวสะท้อนตัวตนของ พล.อ.ประยุทธ์ว่าไม่เคยสำนึกว่าการเลือกตั้งเป็นสิทธิทางการเมืองของประชาชน อันถือเป็นสิทธิมนุษยชน จึงไม่อาจตั้งเงื่อนไขกับประชาชน อีกทั้งการขัดแย้งทางความคิดถือเป็นเรื่องปรกติของระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากประเทศไม่ใช่ค่ายทหาร และประชาชนไม่ใช่พลทหารที่จะมาสั่งหันซ้ายหรือหันขวาได้ตามใจชอบ สิทธิทางการเมืองเป็นสิทธิของประชาชน จึงย่อมมีสิทธิที่จะเลือกใครก็ได้ ส่วนการจัดการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของ กกต. ไม่ใช่หน้าที่ของ คสช. หรือรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จะมาเกี่ยวข้อง ยิ่งมีข่าวจะมีคนตั้งพรรคมาสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯต่อโดยเจ้าตัวไม่เคยปฏิเสธ ยิ่งทำให้ พล.อ.ประยุทธ์มีส่วนได้เสียกับการเลือกตั้ง

นายวัฒนายังบอกว่า ประชาชนฝากบอก พล.อ.ประยุทธ์ว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งมีความพร้อมมานานแล้ว มีเพียงฝ่ายเดียวที่ไม่เคยพร้อมและไม่คิดจะพร้อมคือ พล.อ.ประยุทธ์ที่เลื่อนการเลือกตั้งมาโดยตลอด ส่วนที่บอกว่าจะมีการเลือกตั้งไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ 2562 นั้น เคยพูดแบบนี้มา 4-5 ครั้งแล้ว จนกลายเป็นโรดแม็พรายปี และจะพูดแบบนี้ทุกครั้งเมื่อเริ่มจนตรอก ดังนั้น หากจะมีใครเชื่อถืออีกก็ถือเป็นเสรีภาพ แต่สำหรับตนเลิกเชื่อมานานแล้ว

ความเห็นของนายวัฒนาคงไม่ต่างกับอีกฝ่ายที่ต้องการให้มีการเลือกตั้งเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด เพราะขนาด พล.อ.ประยุทธ์พูดกับผู้นำโลกก็ยังไม่ทำตามสัญญา ทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่รวมใจ “คนอยากเลือกตั้งทั้งประเทศ” จัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีการเลือกตั้งปี 2561 และต่อต้านอำนาจเผด็จการไม่ให้ “สืบทอดอำนาจ” เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ไม่เคยปฏิเสธที่จะเป็นนายกฯต่อหลังเลือกตั้ง ซึ่งมีหลายกลุ่มที่ประกาศจะตั้งพรรคการเมืองเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม กปปส. จะตั้งพรรคมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศ นายไพบูลย์ นิติตะวัน จะตั้งพรรคประชาชนปฏิรูป พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ หนึ่งในคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปประเทศของ คสช. จะตั้งพรรคพลังชาติไทย นายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ จะตั้งพรรคพลังพลเมือง หรือนางอัมพาพันธ์ ธเนศเดชสุนทร ภริยา “บิ๊กจ๊อด” จะตั้งพรรคเพื่อชาติไทย

การเมืองในอนาคตจึงเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายที่สนับสนุนผู้นำรัฐประหารชัดเจน ก่อนจะถึงการเลือกตั้งก็จะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นที่รัฐบาล คสช. เปิดไฟเขียวแล้วว่าประมาณเดือนสิงหาคม 2561 ซึ่งจะเป็นตัวชี้สำคัญถึงการเลือกตั้ง ส.ส. ด้วย เพราะหากประชาชนส่วนใหญ่เลือกพรรคการเมืองเดิม การเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ก็อาจไม่เกิดขึ้น เพราะอุบัติเหตุแบบไทยๆเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

แต่อย่าลืมว่าวันนี้การเมืองเป็นของคนรุ่นใหม่ เพราะสิ่งที่เขามีคือเวลาในชีวิตที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศ ไม่เหมือนคนที่วางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และตีกรอบให้คนทั้งประเทศต้องทำตาม แต่ตัวเองยังไม่รู้ว่าจะอยู่ถึง 20 ปีหรือไม่

การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยวันนี้ หรือการเลือกตั้งที่ “ทั่นผู้นำ” ให้คำมั่นสัญญาซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าจะเกิดขึ้น จึงหมดเวลาแล้วที่จะพูดอย่างเรื่อยเปื่อย เพราะ “คำพูดคือนาย”

เลิก…อุ๊บอิ๊บๆเสียที!!??


You must be logged in to post a comment Login