วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

จาก‘โอท็อป’ถึง‘ไทยนิยมยั่งยืน’ / โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

On March 1, 2018

คอลัมน์ : โดนไป บ่นไป
ผู้เขียน : .อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

ผมมีโอกาสพาครอบครัวไปพักผ่อนที่ญี่ปุ่นอีกครั้ง คราวนี้ไปกันแบบคณะใหญ่ โดยมีคุณแม่ของผมเป็นผู้อาวุโสของคณะ ปีนี้คุณแม่อายุ 77 ปีบริบูรณ์ เพราะเพิ่งจะครบวันเกิดไปเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี่เอง ประกอบกับลูกสาวคนที่ 5 ก็อายุครบ 7 ขวบพอดีในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ก็เลยถือโอกาสพาทุกคนไปเที่ยวหาประสบการณ์ในประเทศที่ได้ชื่อว่ามีความปลอดภัยลำดับต้นๆของโลกและมีกุศโลบายด้านการท่องเที่ยวที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย

ผม ภรรยา ลูกๆ รวม 8 คน บวกกับคุณแม่และน้องคุณแม่ กลายเป็น 10 คนพอดี เท่ากับเกือบครึ่งของคณะทัวร์ที่มีสมาชิกร่วมเดินทางทั้งสิ้น 23 คน กำหนดการของเราออกจากประเทศไทยกลางดึกวันที่ 22 และกลับถึงเมืองไทยบ่ายแก่ๆวันที่ 27 ถือเป็นการเดินทางที่ไม่สั้นและยาวเกินไป นับรวมแล้วใช้เวลา 4 คืนกับ 5 วันด้วยกัน

การเดินทางท่องเที่ยวครั้งนี้เราเลือกจุดหมายการเดินทางอยู่ที่เกาะคิวชู ซึ่งเป็นภูมิภาคขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของญี่ปุ่น เกาะคิวชูประกอบไปด้วย 8 จังหวัด ซึ่งรวมถึงหมู่เกาะโอกินาวาและเมืองนางาซากิที่มีโศกนาฏกรรมเกิดขึ้นมากมายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

โดยเฉพาะ “นางาซากิ” ที่โดนถล่มด้วยระเบิดปรมาณูต่อจากเมืองฮิโรชิมานั้น มีเรื่องเล่าว่าตอนแรกฝ่ายสัมพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐอเมริกาต้องการไปถล่มโรงงานถลุงเหล็กที่อยู่ในจังหวัดลึกเข้าไปในแผ่นดินใหญ่ แต่วันนั้นบินมาได้แค่ “นางาซากิ” ซึ่งเป็นเมืองท่าอยู่ริมทะเลแล้วเจออากาศปิดพอดี บินต่อไปไม่ได้

ผู้บังคับอากาศยานเลยตัดสินใจหย่อนระเบิดลงที่นี่  เพราะเห็นว่ามีอู่ต่อเรืออยู่ด้วย นางาซากิจึงเป็นเมืองที่ 2 และเมืองสุดท้ายของโลกที่ประสบภัยจากระเบิดนิวเคลียร์ที่มีผู้เสียชีวิตขณะเกิดเหตุและต้องทนทุกข์ทรมานจากการสัมผัสกับกัมมันตภาพรังสีแล้วค่อยเสียชีวิตในภายหลังอีกเป็นจำนวนมาก

แต่อาจเป็นเพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศแพ้สงคราม จึงทำให้ชาวญี่ปุ่นต้องร่วมมือร่วมใจกันฟื้นฟูประเทศ อีกทั้งญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ต้องผจญกับภัยธรรมชาติต่างๆตลอดเวลา ดังนั้น คนญี่ปุ่นจึงเรียนรู้ที่จะช่วยเหลือพึ่งพากันและกันในยามวิกฤตอย่างมีระบบ ซึ่งความรักความสามัคคีในรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์เช่นนี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นพลิกฟื้นกลับมาเป็นประเทศที่มีความแข็งแกร่งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของโลกในระยะเวลาอันรวดเร็ว

เราเดินทางด้วยสายการบินแห่งชาติเหมือนเช่นเคยทั้งไปและกลับ ผมดีใจที่บินกับการบินไทย เพราะลองมาแล้วหลายสายการบินก็ไม่มีใครสู้การบริการของ TG ได้ ผมเคยเถียงกับเพื่อนๆหลายคนที่มีความเห็นไม่ตรงกันด้วยเหตุปัจจัยต่างๆนานา บ้างก็ว่าสายการบินโน้นดีกว่า สายการบินนี้ดีกว่า

แต่พอผมยกตัวอย่างสุดท้ายนี้ขึ้นมา  เพื่อนๆส่วนใหญ่ก็ยอมรับและเห็นด้วยว่าการบินไทยดีกว่าสายการบินอื่นจริงๆ นั่นก็คือ “การบินไทยเป็นสายการบินคนไทย” ดังนั้น เราจึงคุยขอต่อรองโน่นนี่นั่นได้อย่างตรงไปตรงมาทุกเรื่อง ซึ่งต่างกับสายการบินต่างชาติที่ไม่ใช่ของเรา และเกือบทุกสายการบินมักยืนยันที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบทุกข้อของตัวเองอย่างเคร่งครัด

เราแลนดิ้งที่สนามบินฟูกุโอกะซึ่งเป็นเมืองหลวงของเกาะคิวชูในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 23 กุมภาพันธ์ แม้จะเป็นภูมิภาคทางใต้ แต่อุณหภูมิในช่วงนี้ของปียังอยู่ที่เลขตัวเดียวและจะขยับเป็นสิบนิดๆในช่วงบ่าย ดังนั้น การแต่งกายของเราจึงต้องแน่นหนาพอสมควรเพื่อกันความหนาวเย็น โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ยังไม่ค่อยคุ้นเคยกับอากาศแบบนี้

การเดินทางมาเยือนคิวชูในทริปนี้  ผมมีโอกาสไปเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง ซึ่งแต่ละแห่งทำให้ผมคิดถึงสถานที่ต่างๆในประเทศไทยที่ผมเคยไปท่องเที่ยวอยู่ไม่น้อย ผมคงไม่เปรียบเทียบว่าของใครดีกว่ากัน เพราะเปรียบเทียบได้ยาก แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นจากการมาเยือนญี่ปุ่นทุกครั้งก็คือ คนญี่ปุ่นเป็นนักเล่าเรื่องและเป็นชนชาติที่ใส่ใจกับเนื้อหาและรายละเอียด

เมื่อครั้งที่ประเทศไทยยังมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลเคยมีนโยบายที่ชื่อว่า “หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์” หรือ “OTOP” ซึ่งผู้เขียนนโยบายได้รับแรงบันดาลใจและเนื้อหามาจากนโยบาย “หนึ่งชุมชนหนึ่งผลิตภัณฑ์” หรือ One Village One Product ที่เกิดขึ้น ณ จังหวัดโออิตะ บนเกาะคิวชูเป็นแห่งแรก

ทั้ง OTOP และ OVOP ต่างก็ประสบความสำเร็จและได้รับความนิยมจากคนในชาติและนักท่องเที่ยวของแต่ละประเทศเป็นอย่างดี เสียดายที่หลังจากการรัฐประหาร 19 กันยายนเป็นต้นมา สินค้าโอท็อปของไทยก็เสื่อมมนต์ขลังลงไปเรื่อยๆ ยิ่งมีการรัฐประหารในปี 2557 ซ้ำเติมเข้ามาอีก สินค้าโอท็อปที่เป็นเส้นเลือดฝอยของท้องถิ่นยิ่งล้มหายตายจากไปอีกเป็นจำนวนมาก เหลือไว้แต่ผู้ผลิตบางรายที่ปรับตัวได้ แต่ก็มีจำนวนเหลืออยู่ไม่มากเมื่อเทียบกับช่วงที่รุ่งเรือง

การเดินทางครั้งนี้ผมมีโอกาสไปชมการทำเครื่องเคลือบดินเผาที่ตำบลเล็กๆแห่งหนึ่งที่ชื่อว่า “อาริตะ” ซึ่งอยู่ในจังหวัดซากะ ที่มีเนื้อวัวระดับ A5 รสชาติอร่อยไม่หนีจากเนื้อวัวของเมืองโกเบสักเท่าไร ข้อดีอย่างหนึ่งในประเทศญี่ปุ่นก็คือ จะจัดให้มีการประกวดผลิตภัณฑ์ต่างๆอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ถ้าใครได้เป็นแชมป์แล้วหยุดอยู่กับที่ ไม่พัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองอย่างต่อเนื่องก็มีสิทธิที่จะเสียแชมป์เอาได้ง่ายๆ

เหมือนกับเนื้อวัวจากเมืองซากะที่ตอนแรกไม่มีคนรู้จัก ส่วนใหญ่จะคุ้นเคยแต่กับเนื้อโกเบหรือเนื้อมัตสึซากะ เผลอแป๊บเดียวพอมีการพัฒนาคุณภาพเนื้อวัวเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ และเนื้อวัวจากจังหวัดนี้ได้รางวัล  หลังจากนั้นเนื้อวัวจากซากะก็เริ่มเป็นที่รู้จักและกลายเป็นอาหารที่นักท่องเที่ยวและผู้มาเยือนทุกคนต้องถามหา

กลับมาที่เมือง “อาริตะ” สำหรับที่นี่มีประชากรแค่หลักหมื่นต้นๆ แต่ถือว่าเป็นต้นแบบของ OVOP ได้เป็นอย่างดี เพราะเขารักษาวิธีการผลิตเครื่องเคลือบดินเผาแบบดั้งเดิมเอาไว้ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบกระบวนการ

ตั้งแต่การนำวัตถุดิบซึ่งต้องนำดินจากภูเขาในท้องถิ่นมาปั้นขึ้นรูปและออกแบบให้มีรูปลักษณ์ทั้งสมัยเก่าและสมัยใหม่ การเผาก่อนเคลือบในอุณหภูมิ 900 องศาเซลเซียส การเขียนลายด้วยฟรีแฮนด์โดยไม่มีการลอกลาย การเคลือบภาชนะด้วยสารเคลือบสูตรโบราณ ไปจนถึงการเข้าเผาครั้งสุดท้ายด้วยเตาโบราณที่ต้องควบคุมอุณหภูมิให้ได้ 1,200-1,300 องศา โดยใช้เชื้อเพลิงจากไม้สน และดำรงกรรมวิธีการเผาแบบดั้งเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

สำหรับโรงงานที่ผมไปเยือน จะผลิตเครื่องเคลือบดินเผาออกมาแค่ปีละ 3 ครั้ง เพราะการเผาแบบดั้งเดิมต้องใช้เวลาในการเผาถึง 48 ชั่วโมง หรือ 2 วันเต็มๆ โดยใช้ผู้เชี่ยวชาญช่วยกันควบคุมการเผาเพียง 2 คนเท่านั้น ดังนั้น เวลาที่เหลือทั้งปีก็คือการเตรียมเครื่องเคลือบที่ยังไม่เผาให้พร้อมสำหรับการผลิตในแต่ละครั้ง

เรื่องราคาไม่ต้องพูดถึง แต่ละชิ้นราคาสูงลิบลิ่วและไม่เพียงพอต่อความต้องการ ใครจะไปเชื่อว่า “เครื่องเคลือบดินเผา” จะเป็นสินค้าหลักที่เลี้ยงดูคนได้ทั้งเมือง ผมเล่าเรื่องนี้ให้ฟังแค่อยากจะบอกว่าเรื่องแบบนี้คนไทยไม่เคยแพ้ชาติไหนๆในโลก ขอเพียงภาครัฐส่งเสริมนโยบายและงบประมาณให้ถูกจุดรับรองว่าไปโลดเหมือนกับนโยบาย “โอท็อป” ที่เคยประสบความสำเร็จสูงสุดมาแล้วในอดีต

พูดลอยๆเผื่อว่า “ไทยนิยมยั่งยืน” จะยั่งยืนและทำให้ “ลืมตาอ้าปาก” กันได้จริงๆ


You must be logged in to post a comment Login