วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

วัวพันหลัก / โดย สมศักดิ์ ไม้พรต

On February 12, 2018

คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง

ผู้เขียน : สมศักดิ์ ไม้พรต

ยังจำการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้หรือไม่

หลังการชุมนุมมีคดีความฟ้องร้องกันมากมายทั้งคดีแพ่งและอาญา

หลายคดีตัดสินกันไปแล้วโดยศาลยุติธรรม มีทั้งให้จำคุกรอลงอาญา ให้ชดใช้ค่าเสียหาย และหลายคดียังอยู่ระหว่างการต่อสู้ในชั้นศาล

แต่ที่ว่า “วัวพันหลัก” เพราะกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย องค์การพิทักษ์สยาม และกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. กำลังใช้ประเด็นต่อสู้ทางกฎหมายที่แหลมคม ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างมากทั้งในแง่ของกฎหมาย การเมือง และสังคม

ข้อต่อสู้ที่ทั้ง 3 กลุ่มยกมาใช้คือ การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีการชุมนุมเคลื่อนไหวของทั้ง 3 กลุ่มว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

เนื่องจากก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยว่า การกระทำของกลุ่มผู้ชุมนุมนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญและ ได้รับการคุ้มครอง

เมื่อชอบด้วยรัฐธรรมนูญและได้รับการคุ้มครอง ผลของคำวินิจฉัยต้องผูกพันกับทุกองค์กรตามรัฐธรรมนูญ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจและอัยการยังคงดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุม ล่าสุดอัยการเพิ่งสั่งฟ้องกลุ่ม กปปส. ในข้อหากบฏ

การยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ทำในนามกลุ่มยุติธรรมภิวัฒน์ นำโดยนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ และ พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ

นายประยงค์ ไชยศรี ประธานกลุ่มยุติธรรมภิวัฒน์ ระบุว่า “ในกรณี กปปส. ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏต่อรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทั้งที่ขณะนี้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์พ้นจากอำนาจหน้าที่ไปแล้ว ตำรวจและพนักงานอัยการที่เป็นผู้ฟ้องคดีควรพิจารณาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และดูเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ไม่ควรตั้งข้อหากับประชาชน ดังนั้น จึงได้มาร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ องค์การพิทักษ์สยาม และ กปปส. ว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่”

จุดมุ่งหมายของการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยซ้ำในครั้งนี้มีประเด็นเดียวคือ ต้องการคำยืนยันอีกครั้งว่าการชุมนุมของทั้ง 3 กลุ่มชอบด้วยรัฐธรรมนูญและได้รับการคุ้มครอง

ทั้งนี้ เพื่อเอาผลการตีความไปล้มล้างคดีต่างๆที่ถูกตั้งข้อหาและถูกยื่นฟ้องอยู่ในขณะนี้ หรือแม้แต่คดีความที่ตัดสินไปแล้ว ทั้งที่จบสิ้นกระบวนการทั้ง 3 ศาล หรือที่ยังอยู่ในชั้นอุทธรณ์ ฎีกา

เนื่องจากตามหลักการถือว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด กฎหมายอื่นที่มีศักดิ์ต่ำกว่าจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้

ถ้าเป็นไปตามนี้ ทุกคดีความ ทุกข้อกล่าวหา ต้องถูกยกเลิกทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยซ้ำอีกครั้งเป็นการยื่นให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญฉบับใด

การชุมนุมของทั้ง 3 กลุ่มคาบเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และฉบับปี 2550 ซึ่งทั้ง 2 ฉบับถูกฉีกทิ้งไปแล้วโดยอำนาจของคณะรัฐประหาร

คำถามคือ เมื่อรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับถูกฉีกทิ้งไปแล้วจะยังใช้วินิจฉัยได้หรือไม่ หรือจะวินิจฉัยตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่มีผลบังคับใช้แล้วก็มีคำถามว่าจะย้อนเอาไปวินิจฉัยการชุมนุมที่เกิดขึ้นในอดีตได้หรือไม่ เมื่อหลักกฎหมายมีว่าไม่มีผลบังคับใช้ย้อนหลัง

อำนาจหน้าที่ส่วนใหญ่ของศาลรัฐธรรมนูญคือการชี้ขาดความชอบของกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ ชี้ขาดความขัดแย้งในอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กร ไม่มีอำนาจชี้ขาดเรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยตรง

การวินิจฉัยการชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมาเป็นการพิจารณาตามเรื่องที่องค์กรอื่นเสนอมาให้ชี้ขาด เพราะรัฐธรรมนูญถูกใช้เป็นข้อต่อสู้ทางกฎหมาย

ประเด็นก็คือว่า เมื่อเคยมีคำวินิจฉัยไปแล้วจะวินิจฉัยซ้ำได้หรือไม่ ถ้ารับวินิจฉัยซ้ำจะวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญฉบับใด

คำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญที่ถูกฉีกทิ้งไปแล้วยังมีผลอยู่หรือไม่

กรณีนี้จึงเป็น “วัวพันหลัก” ที่วกหรือย้อนกลับไปหาต้นตอของเรื่องอย่างแท้จริง


You must be logged in to post a comment Login