วันพฤหัสที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567

ไม่มี‘ภาษีที่ดิน’เท่ากับขายชาติ! / โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย

On February 1, 2018

คอลัมน์ : โลกอสังหาฯ
ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

ที่ผ่านมาต่างชาติมาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก โดยในปี 2555 สำรวจพบว่ามีต่างชาติซื้ออสังหาริมทรัพย์ไปทั้งหมดทั่วประเทศประมาณ 67,031 ล้านบาท คิดเป็น 11.6% ของมูลค่าที่อยู่อาศัยที่ขายอยู่ทั้งหมด 578,588 ล้านบาท (http://goo.gl/iTFnya)

ผลที่เคยประมาณการไว้สำหรับมูลค่าที่อยู่อาศัยที่ต่างชาติเข้าซื้อ 15 อันดับแรก ซึ่งเป็นถือเป็นพื้นที่เป้าหมายของต่างชาติ ได้แก่

650-92

หากอนุมานเบื้องต้นว่าอสังหาริมทรัพย์ที่ถือครองโดยต่างชาติเป็น 20 เท่าของมูลค่าในปี 2555 ก็จะเป็นเงินประมาณ 1.34 ล้านล้านบาท หากมีการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประมาณ 2% ของมูลค่าทรัพย์สิน จะเป็นเงินประมาณปีละ 26,805 ล้านบาท แต่ประเทศไทยไม่มีการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เท่ากับเราให้ต่างชาติมาครอบครองอสังหาริมทรัพย์โดยไม่ต้องเสียภาษีใดๆเช่นที่ต่างชาติถือครองในประเทศของตนเองเลย แต่หากคนไทยไปซื้อบ้านในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีราคาหลังละ 10 ล้านบาท ก็ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเฉลี่ยปีละ 2% ของราคาประเมินซึ่งใกล้เคียงกับราคาตลาด หรือเป็นเงิน 200,000 บาท

การไม่มีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศไทยอย่างใหญ่หลวง เพียงเพราะชนชั้นนำและผู้มีอำนาจในสังคมไทยไม่ต้องการเสียภาษีดังกล่าวนั่นเอง

ชนชั้นนำอาจไม่เข้าใจว่าการเสียภาษีนี้จะยิ่งทำให้มูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้น เพราะนำเงินมาพัฒนาท้องถิ่นโดยตรงโดยไม่ต้องส่งเข้าส่วนกลางเช่นกรณีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม โอกาสการรั่วไหลจึงน้อยว่า หากมีการรั่วไหลก็คงเป็นในระยะแรก แต่หากประชาชนต่างมุ่งตรวจสอบเงินภาษีที่ตนเสียไปเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ความโปร่งใสก็จะเกิดขึ้น โอกาสรั่วไหลก็จะค่อยๆลดลง

สำหรับภาษีมรดก ถ้าเราไปซื้อทรัพย์ในต่างประเทศต้องเสียหนักมาก แต่ไทยหละหลวมมาก ตัวอย่างเช่น

1.ญี่ปุ่น กำหนดให้ผู้มีมรดกไม่เกิน 10 ล้านเยน (3 ล้านบาท) ต้องเสียภาษีมรดก โดยเสียภาษี 10% ไปจนถึงอัตราสูงสุดคือ 50% (https://goo.gl/QjyNfR)

2.อังกฤษ ผู้ที่มีมรดกตั้งแต่ 350,000 ปอนด์ (18.15 ล้านบาท) ต้องเสียภาษีมรดก โดยเสียสูงถึง 40% ของมูลค่า (https://goo.gl/4q43Fx)

3.สหรัฐอเมริกา ราคาขั้นต่ำของทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีมรดกเป็นเงิน 5.34 ล้านดอลลาร์ หรือ 172.319 ล้านบาทในปี 2557 ส่วนในระดับมลรัฐ ผศ.กานดา นาคน้อย ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ภาษีมรดกเก็บกับทรัพย์สินที่มีค่าตั้งแต่ 2 ล้านดอลลาร์ (64.5 ล้านบาท) ขึ้นไป โดยเก็บในอัตราสูงสุด 20% (http://bit.ly/1JC2f4n)

จะเห็นได้ว่าทุกประเทศกำหนดขีดขั้นที่ต้องเสียภาษีไว้ต่ำกว่าไทยเสียอีก แต่ของไทยมีข้อยกเว้นที่หละหลวมกว่า ยิ่งเมื่อพิจารณาถึงค่าของเงินแล้ว อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น กำหนดให้ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีมีมูลค่าต่ำกว่าของไทยที่กำหนดไว้เป็นเงิน 100 ล้านบาทขึ้นไปจากราคาประเมินของทางราชการ ยิ่งกว่านั้นราคาที่ต้องเสียภาษีคิดตามราคาประเมินของทางราชการ ซึ่งมักต่ำกว่าราคาตลาดเป็นอันมาก แต่ในประเทศตะวันตกราคาประเมินของทางราชการกับราคาตลาดใกล้เคียงกันมาก

แสดงให้เห็นอย่างหนึ่งว่าประเทศตะวันตกพยายามทำให้เกิดความเท่าเทียมกันมากกว่าไทย แต่เดิมเราเชื่อกันว่าภาษีมรดกคงไม่เกิดขึ้นในยุครัฐบาลจากการเลือกตั้ง แต่ในความเป็นจริงแม้รัฐบาลจากรัฐประหารก็ไม่อาจเข็นกฎหมายภาษีมรดกได้เช่นกัน เพราะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องล้วนแต่มีฐานะดีทั้งสิ้น เข้าทำนองภาษิตกฎหมายที่ว่า “ชนชั้นใดเขียนกฎหมายก็เพื่อชนชั้นนั้น” นั่นเอง

แย่จัง!


You must be logged in to post a comment Login