วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2567

เกมโกง / โดย ศิลป์ อิศเรศ

On January 29, 2018

คอลัมน์ : ร้ายสาระ

ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ

การแข่งขันบาสเกตบอลรอบชิงเหรียญทองในกีฬาโอลิมปิกปี 1972 อเมริกาชนะรัสเซีย 1 คะแนน แต่หลังจากผู้ตัดสินเป่าหมดเวลาแล้ว กรรมการบางท่านกลับมีข้อโต้แย้งและสั่งให้เล่นช่วง 3 วินาทีสุดท้ายอีกครั้ง อีกครั้ง และอีกครั้ง จนกระทั่งรัสเซียชนะไปในที่สุด

อเมริกาครอบครองเหรียญทองตลอดมานับตั้งแต่บาสเกตบอลถูกบรรจุให้เป็นกีฬาเพื่อการแข่งขันโอลิมปิกเมื่อปี 1936 จนกระทั่งมาถึงการแข่งขันฤดูร้อนครั้งที่ 20 ในปี 1972 ที่จัดขึ้นที่เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี ทีมอเมริกาต้องพ่ายแพ้ในรอบชิงเหรียญทองเป็นครั้งแรกทั้งๆที่ควรจะเป็นผู้ชนะหากไม่เป็นเพราะกรรมการสั่งให้เล่นช่วง 3 วินาทีสุดท้ายใหม่ถึง 3 ครั้ง

ผู้เล่นทีมรัสเซียเป็นนักบาสเกตบอลมืออาชีพที่ส่วนใหญ่เคยเล่นในทีมเดียวกันมาก่อน ขณะที่ทางฝ่ายทีมอเมริกาเป็นนักกีฬามหาวิทยาลัยจากหลากหลายที่มา เพิ่งจะมารวมทีมเพื่อการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเพียงไม่นาน อีกทั้งยังเป็นทีมบาสเกตบอลที่มีอายุน้อยที่สุดเท่าที่อเมริกาเคยส่งเข้าแข่งขันกีฬาโอลิมปิก

เสือพบสิงห์

ทั้งอเมริกาและรัสเซียได้ชื่อว่ามีทีมบาสเกตบอลที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก แต่การแข่งขันครั้งนี้ทีมรัสเซียฟอร์มดีกว่า สามารถทำแต้มนำอเมริกา 10 คะแนน จนถึงช่วงนาทีสุดท้ายของครึ่งหลังทีมอเมริกาตีตื้นมาเป็น 49-48 คะแนน เหลือเวลาอีกเพียง 38 วินาที รัสเซียยังเป็นฝ่ายครอบครองบอล

รัสเซียส่งบอลไปมาระหว่างผู้เล่นในทีมเพื่อถ่วงให้หมดเวลาและชนะอย่างเฉียดฉิวไปในที่สุด แต่แล้วในช่วง 10 วินาทีสุดท้าย เควิน จอยซ์ ผู้เล่นตำแหน่งการ์ดของทีมอเมริกา ก็สามารถแย่งบอลจากฝ่ายรัสเซียมาได้

เควินส่งบอลให้ดอจ คอลลินส์ เลี้ยงบอลฝ่าแนวป้องกันเข้าไปที่หน้าแป้นของรัสเซีย เหลือเวลาอีกเพียง 3 วินาที ซูแรบ ซาแคนดีลิดซี ผู้เล่นทีมรัสเซีย ตัดสินใจขัดขาดอจจนล้มคว่ำ กรรมการเป่านกหวีดตัดสินให้ทีมอเมริกาได้ชู้ตลูกโทษ

หากดอจชู้ตลูกโทษลง 1 ลูก แต้มก็จะเสมอกัน 49-49 แต่ถ้าเขาชู้ตลงทั้ง 2 ลูก อเมริกาก็จะชนะไปด้วยคะแนน 50-49 และดอจก็ทำสำเร็จ เขาชู้ตลูกโทษเข้าห่วงได้ทั้ง 2 ลูก ทำให้อเมริกากลับมาเป็นฝ่ายชนะ ขณะที่ตอนนี้เหลือเวลาอีกเพียง 1 วินาที ไม่มีทางที่รัสเซียจะทำแต้มได้อีก แค่เพียงเปิดส่งบอลก็หมดเวลาแล้ว

ขออีกครั้ง

กรรมการในสนามคนหนึ่งเป่านกหวีด แต่เดี๋ยวก่อน มันไม่ใช่สัญญาณหมดเวลา แต่เป็นสัญญาณขอเวลานอกจากทีมรัสเซีย รีนาโต ริจเฮตโต หัวหน้าผู้ตัดสิน สั่งพักเกมและหยุดนาฬิกา หลังจากหมดเวลาพัก รีนาโตสั่งให้เริ่มเกม กรรมการรักษาเวลาตั้งเวลาการแข่งขันเหลือ 1 วินาทีเท่ากับตอนที่กรรมการในสนามเป่านกหวีดขอเวลานอก

วิลเลี่ยม โจนส์ เลขาธิการสมาคมบาสเกตบอลนานาชาติ (International Basketball Federation : FIBA) ลุกขึ้นเดินมาหากรรมการรักษาเวลาแล้วสั่งให้ตั้งเวลากลับไปที่ 3 วินาทีเท่ากับเวลาตอนที่รัสเซียทำฟาวล์ครั้งสุดท้าย ทั้งๆที่เขาไม่มีสิทธิเข้ามาแทรกแซงการแข่งขันครั้งนี้

ผู้เล่นรัสเซียเปิดเกม ส่งบอลระยะไกลให้กับเพื่อนร่วมทีมเพื่อนำไปยัดลงห่วงฝ่ายอเมริกา แต่ผู้รับรับบอลพลาด กรรมการเป่านกหวีดหมดเวลา ผู้เล่นทีมอเมริกากระโดดโลดเต้นด้วยความยินดีที่พวกเขาสามารถรักษาแชมป์เหรียญทองกีฬาบาสเกตบอลโอลิมปิกไว้ได้อีกครั้ง

แต่ช้าก่อน ดูเหมือนว่าผู้รักษาเวลายังไม่ได้ตั้งเวลากลับไปที่ 3 วินาทีตามคำสั่งของวิลเลี่ยม กรรมการสั่งให้ทั้ง 2 ทีมกลับมาเล่นช่วง 3 วินาทีสุดท้ายอีกครั้ง อีวาน อีเดชโก ขว้างลูกระยะไกลให้กับอเลกซานเดอร์ บีลอฟ ผู้เล่นที่รับลูกพลาดคราวก่อนอีกครั้ง อเลกซานเดอร์รับบอลแล้วยัดใส่ห่วง เป็นวินาทีเดียวกับที่กรรมการเป่านกหวีดหมดเวลา ทีมรัสเซียชนะด้วยคะแนน 51-50

สงครามเย็น

รีนาโตปฏิเสธที่จะลงชื่อรับรองผลการแข่งขันจนกว่าจะมีการแสตมป์ตรายาง “ประท้วง” ลงบนใบบันทึกการแข่งขัน ขณะเดียวกันทีมอเมริกายื่นหนังสือประท้วงผลการแข่งขันอย่างเป็นทางการโดยทันที

วันรุ่งขึ้นสมาคมบาสเกตบอลนานาชาติแต่งตั้งกรรมการ 5 ชาติทำการสอบสวน ประกอบด้วยกรรมการจากประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ 3 คนจากประเทศคิวบา โปแลนด์ และฮังการี ส่วนกรรมการอีก 2 คน มาจากปวยร์โตรีโกและอิตาลี

รีนาโตเบิกความให้การว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 3 วินาทีสุดท้ายนั้นผิดกฎกติกาของเกมกีฬาบาสเกตบอล อย่างไรก็ตาม อเมริกาพ่ายแพ้ผลการโหวตด้วยคะแนน 2-3 รัสเซียครอบครองเหรียญทองบาสเกตบอลโอลิมปิก 1972 ส่วนอเมริกาได้เหรียญเงิน

นักกีฬาทีมอเมริกาปฏิเสธที่จะขึ้นแท่นเพื่อรับเหรียญเงิน เนื่องจากพวกเขาเชื่อว่าไม่ได้เล่นแพ้ แต่เป็นการเล่นตุกติกของทีมรัสเซียโดยความช่วยเหลือจากกรรมการบางคน ปัจจุบันเหรียญเงินนี้ยังถูกเก็บไว้ในตู้นิรภัยเมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ขณะที่อเลกซานเดอร์ ฮีโร่ที่ทำแต้มสุดท้ายให้กับทีมชาติรัสเซีย เสียชีวิตเมื่อปี 1978 ด้วยโรคมะเร็งซาร์โคมา ร่างของเขาถูกฝังโดยมีเหรียญทองโอลิมปิกห้อยที่คอ

กีฬากับการเมือง

การแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งที่ 20 เมื่อปี 1972 ที่นครมิวนิก ประเทศเยอรมนี ไม่ได้ถูกใช้เป็นเวทีทำสงครามเย็นระหว่างประเทศมหาอำนาจอเมริกาและรัสเซียเท่านั้น แต่ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือทำสงครามระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ด้วย

วันที่ 5 กันยายน 1972 ผู้ก่อการร้ายชาวปาเลสไตน์ 5 คนที่เรียกตัวเองว่ากลุ่ม Black September (กันยายนทมิฬ) บุกเข้าไปในหมู่บ้านนักกีฬาโอลิมปิก จับตัวนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ชาวอิสราเอล 11 คนเป็นตัวประกัน ประกอบด้วยนักกีฬา 5 คน โค้ช 4 คน กรรมการ 1 คน และผู้ตัดสิน 1 คน เพื่อแลกเปลี่ยนกับนักโทษชาวปาเลสไตน์ในอิสราเอลและเยอรมนี อีกทั้งขอเฮลิคอปเตอร์ 2 ลำเพื่อใช้หลบหนี

ตำรวจเยอรมนีซ้อนแผน ทำการบุกโจมตีขณะที่ผู้ก่อการร้ายและตัวประกันอยู่ในเฮลิคอปเตอร์ ส่งผลให้ตัวประกันและผู้ก่อการร้ายทั้งหมดเสียชีวิต ส่วนตำรวจเยอรมนีเสียชีวิต 1 คน แอนกี สปิตเซอร์ ภรรยาม่ายของโค้ชอังเดร สปิตเซอร์ เรียกร้องต่อคณะกรรมาธิการโอลิมปิกนานาชาติให้จัดพิธียืนไว้อาลัยแด่ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้นรวมอยู่ในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก

แอนกียื่นหนังสือเรียกร้องเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี 1976 และถูกปฏิเสธทุกครั้ง โอลิมปิกฤดูร้อนปี 2012 เป็นการครบรอบ 40 ปีของเหตุการณ์ ประชาชน 150,000 คนจาก 100 ประเทศ ลงชื่อขอให้จัดพิธียืนไว้อาลัยแด่ผู้เสียชีวิตรวมอยู่ในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก แต่ได้รับการปฏิเสธเหมือนเช่นเคย

การแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งที่ 20 ปี 1972 ที่นครมิวนิก ประเทศเยอรมนี ไม่เพียงถูกใช้เป็นสนามรบสงครามเย็นระหว่างมหาอำนาจอเมริกาและรัสเซีย แต่ยังถูกใช้เป็นสนามรบจริงระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์อีกด้วย


You must be logged in to post a comment Login