วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567

ส่อเลื่อนวันเลือกตั้งครั้งที่ 4 จะมีใครเป็น “โมฆะบุรุษ”

On January 25, 2018
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาImage copyrightGETTY IMAGES

สำนักข่าวบีบีซีไทย รายงานการเลือกตั้งปลายปี 2561 จะเป็น “โรคเลือน” ครั้งที่ 4 ที่ไม่เป็นตามสัญญา ดังนี้……..

จาก “เราจะทำตามสัญญา” มีคำเตือนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ระวังกลายเป็น “โมฆะบุรุษ” บีบีซีไทยสำรวจโรดแมปเลือกตั้งยุครัฐบาล คสช. ที่ถูกประกาศต่างกรรมต่างวาระรวม 4 ครั้ง พบว่ามีอายุยืนสุดเพียง 1 ปี 1 เดือนก่อนถูกยกเลิก แต่ที่อายุสั้นที่สุดเพียง 3 เดือน คือคำประกาศเลือกตั้งในเดือน พ.ย. 2561

กลยุทธ์ทางกฎหมายถูก “มือกฎหมาย” ในเครือข่ายของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) งัดมาใช้อย่างต่อเนื่อง เพื่อยื้อโรดแมป-ยืดอำนาจให้ผู้นำ คสช. โดยมักอ้างเหตุผล “มีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้”

ล่าสุดเป็นคิวแก้ไขมาตรา 2 ของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. …. โดยกำหนดให้ พ.ร.ป. นี้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา นั่นหมายความว่าวันเลือกตั้งอาจขยับออกไปอีก 90 วัน จากเดิมกำหนดไว้เดือน พ.ย. 2561 เป็น ก.พ. 2562

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ยืนยันว่า “ไม่มีใบสั่ง” แต่งดชี้แจงประเด็นร้อนว่าด้วยวันเลือกตั้งที่ถูกเลื่อน

ส่วนนายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน โฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ปฏิเสธเรื่อง “ใบสั่ง” เช่นกัน แต่ยอมรับว่าได้พูดคุยกันถึงผลที่อาจกระทบต่อโรดแมปเลือกตั้งของ คสช. แต่เป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือหน้าที่ของ กมธ. จึงไม่ได้พิจารณาต่อ

หีบเลือกตั้งImage copyrightAFP/GETTY IMAGES

ถึงนาทีนี้ทั้งนักการเมือง-นักวิเคราะห์การเมืองต่างฟันธงตรงกันว่า สนช. ไม่อาจคิดเอง-ทำเอง หากรายการนี้ไม่มี “ใบสั่ง” เพียงแต่ไร้ “ใบเสร็จ” เป็นหลักฐานยืนยันตัวคนสั่งการเท่านั้น

สำหรับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ฉบับแก้ไขโดย กมธ.วิสามัญฯ จะกลับเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระ 2 และ 3 วันที่ 25 ม.ค. นี้ ทั้งนี้ กมธ. อ้างว่าเหตุที่ต้องยืดเวลาการบังคับใช้กฎหมายออกไป เพื่อแก้ปัญหาการทำธุรการของพรรคการเมืองและการทำไพร์มมารีโหวตตามกฎหมายใหม่ เนื่องจากพรรคการเมืองยังไม่สามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้ ทำให้กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) บางคนออกมาชี้ว่านี่เป็น “ตรรกะที่แปลกมาก” ไม่ต่างจากแกนนำ 2 พรรคใหญ่ที่ตั้งคำถามว่าแล้วทำไม คสช. ถึงไม่เลือกวิธี “ปลดล็อกการเมือง” ให้นักการเมือง ซึ่งง่ายกว่าการไปเล่นเล่ห์กลทางกฎหมาย

ประชาชนบางส่วนออกมาชุมนุมในวันที่ 6 หลังรัฐประหารปี 2557Image copyrightGETTY IMAGES
คำบรรยายภาพประชาชนบางส่วนออกมาชุมนุมในวันที่ 6 หลังรัฐประหารปี 2557 เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และต่อต้านการใช้อำนาจนอกระบบ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยสำคัญที่เป็น “ตัวช่วย” ให้รัฐบาล คสช. ครองอำนาจยาวนานถึง 3 ปี 8 เดือน (จนถึงปัจจุบัน) คือการอาศัย “แทคติคทางกฎหมาย” ที่ตัวเองสร้างขึ้นเพื่อยืดเวลาในการคืนอำนาจให้ประชาชนแบบแนบเนียน

หลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 พล.อ.ประยุทธ์ยอมรับว่ายากจะอธิบายแก่คนไทยและคนทั้งโลกว่าการรัฐประหารถูกหรือผิด เขาลดแรงกดดันทั้งภายใน-ภายนอกด้วยการประกาศโรดแมป 3 ขั้นตอนในการ “คืนประชาธิปไตย” ให้ประเทศ

โรดแมปแรก เลือกตั้งสิ้นปี 58-ต้นปี 59 : มีอายุ 13 เดือน (พ.ค. 57-มิ.ย. 58)

ปฏิทินเลือกตั้งฉบับแรกที่ พล.อ.ประยุทธ์เขียนขึ้นมาแล้วถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในช่วงสิ้นปี 2558 ถึงต้นปี 2559 ทว่ามีอายุเพียง 1 ปี 1 เดือนก็ถูก “ฉีกทิ้ง” โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เจ้าของฉายา “เนติบริกร” จากสื่อทำเนียบรัฐบาล หลังพลิกปฏิทินจัดทำกฎหมายควบคู่แล้วพบว่า “เป็นไปไม่ได้”

โรดแมป 2 เลือกตั้ง ส.ค. 59 : มีอายุ 3 เดือน (มิ.ย.-.. 58)

นายวิษณุคาดการณ์ว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ผ่านประชามติ การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือน ส.ค. 2559 อย่างไรก็ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวไปไม่ถึงขั้นประชามติ เมื่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ชิงลงมติ “คว่ำกลางสภา” เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2558 ท่ามกลางเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่ามี “ใบสั่ง” จาก “ผู้ใหญ่ในรัฐบาล คสช.”

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณImage copyrightAFP
คำบรรยายภาพนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ แถลงภายหลัง สปช. ลงมติไม่รับร่าง รธน. ว่าขอกลับไปเป็น “คนไทยธรรมดา” และหลังจากนี้จะไม่กลับมาร่าง รธน. อีก

แม้แต่นายบวรศักดิ์ก็ยังยอมรับว่า “ท่านก็ต้องฟังผู้ใหญ่ของท่านเป็นธรรมดาและธรรมชาติ เราเข้าใจกัน เพราะขนาด กมธ.ยกร่างฯ 1 คน ซึ่งเป็น พล.อ. หมาด ๆ ยังงดออกเสียงเลย เพราะท่านต้องอยู่ในราชการต่อไป ก็ต้องเป็นอย่างนั้น ซึ่งเข้าใจและเห็นใจ” (6 ก.ย. 2558) ต่อมานายบวรศักดิ์ได้สรุปบทเรียนเกี่ยวกับ “กฎหมายสูงสุดที่เป็นได้แค่ร่าง” ว่าเป็นเพราะ “เขาอยากอยู่ยาว” (19 ก.พ. 2559) ตอกย้ำสมมติฐานของคอการเมืองที่ว่าการ “ล้มรัฐธรรมนูญ” เป็นไปเพื่อยืดเวลาในการเลือกตั้ง

โรดแมป 3 เลือกตั้ง ก.ค. 60: มีอายุ 11 เดือน (ก.ย. 58-ส.ค. 59)

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) ชุดนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เข้ามาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญถาวรฉบับที่ 2 ภายใต้การควบคุมของ คสช. โรดแมปเลือกตั้งถูกประกาศอีกครั้งภายใต้สูตร 6+4+6+4 คาดการณ์ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นภายใน 20 เดือน หรือประมาณเดือน มิ.ย.-ก.ค. 2560 ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้นำกรอบเวลานี้ไปแจ้งต่อนายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ (ขณะนั้น) และสื่อสารต่อสังคมอยู่บ่อยครั้ง

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ และกรธ.Image copyrightWASAWAT LUKHARANG/BBC THAI
คำบรรยายภาพนายมีชัย ฤชุพันธุ์ นำ กรธ. ถ่ายภาพหมู่บริเวณหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 7 หน้าอาคารรัฐสภา ก่อนเดินทางเข้าร่วมพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม

ทว่าเมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยผ่านประชามติ วันที่ 7 ส.ค. 2559 โรดแมปเลือกตั้งของ “ประยุทธ์คนเดิม” กลับเพิ่มเติมจำนวนเดือนเข้าไป จาก “กลางปี” ยืดไปเป็น “ปลายปี” 2560 ด้วยเงื่อนไขทางกฎหมายในการจัดทำกฎหมายลูกอีกเช่นเคย

ก่อนที่โรดแมปต้องเลื่อนออกไปอีกครั้ง… แบบไร้กำหนด เมื่อเกิด “สถานการณ์พิเศษ” ขึ้น

“บัดนี้เกิดกรณีที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคต ทุกอย่างเลื่อนไป และจนถึงวันนี้ยังไม่มีพระราชทานรัฐธรรมนูญลงมา เราจึงนับไม่ถูก ตอบไม่ถูก…” นายวิษณุกล่าว

หนึ่งใน “ปัจจัย” ที่มีผลต่อโรดแมปการเมืองคือเงื่อนไขทางกฎหมาย นั่นคือการการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 หลังรัฐบาลนำร่างฯ ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ซึ่งถือเป็นพระราชอำนาจในการลงพระปรมาภิไธย

โรดแมป 4 เลือกตั้ง พ.ย. 61: มีอายุ 3 เดือน (ต.ค. 60-ม.ค. 61)

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ลงวันที่ 1 เม.ย. 2560 และมีพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2560

ในหลวงรัชกาลที่ 10 พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560Image copyrightEPA
คำบรรยายภาพในหลวงรัชกาลที่ 10 พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ในประวัติศาสตร์ 85 ปีของประชาธิปไตยไทย

โรดแมปเลือกตั้งรอบใหม่ในอีก 19 เดือนข้างหน้า ถูกเปิดเผยโดยนายมีชัย และได้ตอกย้ำ-ยืนยันหลายครั้ง “ถ้านับดูจะเป็นปลายปี 2561 หากไม่เกิดสงครามโลกเสียก่อนนะ” ประธาน กรธ. ตอบคำถามสื่อที่ว่าจะเลือกตั้งช้าสุดเมื่อใด

แต่สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์งดเปิดปากพูดถึงวัน ว. เวลา น. ที่แน่ชัดหลังโรดแมปเลือกตั้งของเขาเจอ “โรคเลื่อน” มาแล้วหลายครั้ง

กระทั่งมีโอกาสไปสัมผัสมือประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ที่ทำเนียบขาว เมื่อ ต.ค. 2560 หัวหน้า คสช. ได้กลับมาประกาศที่เมืองไทยว่า “ประมาณเดือน พ.ย. 2561 จะมีการเลือกตั้ง”

แต่คราวนี้แย่กว่าทุกครั้ง เพราะคำพูดที่หลุดจากปากผู้นำสูงสุดของรัฐบาล คสช. มีอายุเพียง 3 เดือน ก่อนปิดฉากลงพร้อม ๆ กับการปิดปากอีกครั้ง เมื่อ สนช. เคลื่อนไหวยืดอายุการประกาศใช้ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยเลือกตั้ง ส.ส. ไปอีก 90 วัน

จาก “เราจะทำตามสัญญา” ถึงคำเตือนระวังเป็น “โมฆะบุรุษ”
วันประกาศ คำพูดแกนนำรัฐบาล คสช.
31 พ.ค. 2557 พล.อ.ประยุทธ์ : “ใช้เวลาประมาณ 1 ปี มากหรือน้อยกว่านั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์… ก็จะเริ่มดำเนินการก้าวเข้าสู่ระยะที่ 3 (เลือกตั้ง)” – แถลงผ่านทีวีพูลหลังครบ 1 สัปดาห์ของการรัฐประหาร
10 ก.พ. 2558 พล.อ.ประยุทธ์ : “เรากำลังวางแผนที่จะจัดการเลือกตั้งในช่วงสิ้นปีนี้ (2558) หรือต้นปีหน้า (2559)” – ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอ็นเอชเคหลังหารือทวิภาคีกับนายกฯ ญี่ปุ่น
14 มิ.ย. 2558 วิษณุ เครืองาม : “การเลือกตั้งน่าจะมีขึ้นในช่วงเดือน ส.ค. 2559” หากร่าง รธน. ฉบับบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ผ่านประชามติ – ให้สัมภาษณ์สื่อ แต่ต่อมา สปช. ได้โหวตคว่ำร่าง รธน.ฉบับบวรศักดิ์
15 ก.ย. 2558 พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด : “นายกฯ ได้ให้นโยบายว่า 6+4+6+4 (เลือกตั้งภายใน 20 เดือน หรือ มิ.ย.-ก.ค. 2560) คือเป็นการกำหนดเพดานไว้สูงสุดที่จะมีความเป็นไปได้ แต่หากสามารถดำเนินการได้เร็วกว่าที่กำหนดก็เป็นสิ่งที่ดี” – แถลงผลประชุมร่วม ครม. กับ คสช.
28 ก.ย. 2558 พล.อ.ประยุทธ์ : “คาดว่าจะสามารถประกาศการเลือกตั้งทั่วไปได้ภายในกลางปี 2560” – กล่าวระหว่างหารือทวิภาคีกับเลขาธิการยูเอ็น
26 ม.ค. 2559 พล.อ.ประยุทธ์ : “ผมยืนยันว่า ก.ค. 2560 ต้องมีเลือกตั้ง ถ้าไม่มีเลือกตั้ง ก็ไปสู้กันเอาเอง” – ให้สัมภาษณ์สื่อหลังถูกถามว่าหากร่าง รธน. ไม่ผ่านประชามติจะทำอย่างไร
10 ส.ค. 2559 พล.อ.ประยุทธ์ : “กกต. จะจัดการเลือกตั้งทั่วไปให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน หรือ 5 เดือน ซึ่งก็คือช่วงปลายปี 2560 อันยังคงเป็นไปตามโรดแมปที่วางไว้” – แถลงผ่านทีวีพูลหลังร่าง รธน. ผ่านประชามติ
6 ม.ค. 2560 วิษณุ เครืองาม : “บัดนี้เกิดกรณีที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคต ทุกอย่างเลื่อนไป และจนถึงวันนี้ยังไม่มีพระราชทานรัฐธรรมนูญลงมา เราจึงนับไม่ถูก ตอบไม่ถูก…” – ให้สัมภาษณ์สื่อ
4 เม.ย. 2560 มีชัย ฤชุพันธุ์ : “หากใช้เวลาตามกรอบที่กำหนดประมาณ 19 เดือน (ส.ค.-พ.ย. 2561) จึงมีการเลือกตั้งซึ่งอาจจะเร็วกว่านี้ได้”- ให้สัมภาษณ์สื่อถึงขั้นตอนจัดทำ พ.ร.ป. 10 ฉบับหลังโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้ รธน.ฉบับที่ 20 วันที่ 6 เม.ย. 2560
21 เม.ย. 2560 มีชัย ฤชุพันธุ์ : “ถ้านับดูจะเป็นปลายปี 2561 หากไม่เกิดสงครามโลกเสียก่อนนะ” – ตอบคำถามสื่อที่ว่าจะเลือกตั้งช้าสุดเมื่อใด
10 ต.ค. 2560 พล.อ.ประยุทธ์ : “ประมาณเดือน มิ.ย. 2561 ก็จะมีการประกาศวันเลือกตั้ง และประมาณเดือน พ.ย. 2561 จะมีการเลือกตั้ง” – ให้สัมภาษณ์หลังประชุม ครม. กับ คสช.
14 ม.ค. 2561 มีชัย ฤชุพันธุ์ : “ตราบใดที่กฎหมายยังไม่ออกมา จะเริ่มนับวันเลือกตั้งวันไหน ก็ยังตอบไม่ได้ โดยประมาณน่าจะอยู่ในปลายปี 2561 หรืออย่างช้าเลื่อนไป 2 เดือน น่าจะราวไตรมาสแรกของปี 2562” – ให้สัมภาษณ์มติชนสุดสัปดาห์

ที่มา : บีบีซีไทยรวบรวม

อาการเลื่อนอีกรอบทำให้ 2 พรรคใหญ่ไม้เบื่อไม้เมา ประสานเสียงเรียงร้อยถ้อยคำ “ยำ” นายกฯ

“ขอเตือน พล.อ.ประยุทธ์ ระวังจะเป็น ‘โมฆะบุรุษ’ เป็นบุคคลเชื่อถือไม่ได้ หากผิดสัญญาการเลื่อนโรดแมปเลือกตั้งซ้ำซาก” นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าว และย้ำว่า ไม่เชื่อว่า สนช. ที่ คสช. แต่งตั้งมากับมือ จะไม่รู้เห็นเป็นใจหรือรับใบสั่งมา

ขณะที่บทความใน นสพ. แนวหน้า เมื่อวันที่ 22 ม.ค. โดยนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ติงว่าการจะต่ออายุรัฐบาลนี้อีกแค่ 3 เดือน ไม่คุ้มกันเลยกับศรัทธาของประชาชนและความเชื่อมั่นจากต่างประเทศ พร้อมตั้งคำถามชวนคิด “เสียสัตย์เพื่อชาติ หรือ เสียสัญญาเพื่อตัวเอง”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 


You must be logged in to post a comment Login