วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567

สวัสดีปีจอ (อย่ากลัว..ไม่ดุ) / โดย ทีมข่าวการเมือง

On January 1, 2018

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

วันที่ 22 ธันวาคม 2560 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ระบุว่า ตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2560 ซึ่งพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นก่อนหน้านั้นต้องเริ่มดําเนินการต่างๆภายในระยะเวลาที่กฎหมายกําหนด แต่คําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ลงวันที่ 1 เมษายน 2558 ยังมีผลใช้บังคับ ทำให้การดําเนินกิจกรรมทางการเมืองยังไม่อาจกระทําได้

แม้พรรคการเมืองหรือกลุ่มต่างๆเรียกร้องให้ คสช. แก้ไขผลกระทบดังกล่าว แต่ คสช. เห็นว่าแม้สถานการณ์รอบด้านขณะนี้จะสงบเรียบร้อย ประชาชนทั่วไปสามารถดําเนินชีวิตและประกอบหน้าที่การงานได้เป็นปรกติสุข แต่ยังมีความจําเป็นต้องคงประกาศและคําสั่งดังกล่าวต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อไม่ให้มีผู้ฉวยโอกาสอ้างการดําเนินการตามกฎหมายไปกระทํากิจกรรมทางการเมืองอื่นอันกระทบกระเทือนต่อความสงบเรียบร้อยและความปรกติสุขในบ้านเมืองซึ่งกําลังดําเนินมาด้วยดี ตลอดจนกระทบต่อบรรยากาศความสามัคคีปรองดอง การอยู่ระหว่างการจัดทําแผนการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ

ประกอบกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยังพิจารณาร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไม่แล้วเสร็จ จึงขยายกําหนดเวลาตามบทเฉพาะกาลมาตรา 141 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 เป็นกรณีๆไป โดยได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนพรรคการเมือง แต่เพื่อให้ทุกพรรคการเมืองได้รับประโยชน์เสมอกันจึงควรได้รับการพิจารณาไปพร้อมกัน

ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ

ประเด็นที่น่าสนใจคือ การออกคำสั่ง คสช. ดังกล่าวถูกฝ่ายการเมืองตีความว่าไม่ใช่แค่การขยายเวลา แต่ยังเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ให้สามารถดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2561 ส่วนพรรคการเมืองเก่าจะเริ่มดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้วันที่ 1 เมษายน ซึ่งไม่ใช่การคลี่คลายปัญหาให้พรรคการเมือง แต่ยิ่งทำให้ปัญหาพันกันมากขึ้นเหมือนงูกินหาง และไม่เชื่อว่าการเลือกตั้งจะเป็นไปตามโรดแม็พเดือนพฤศจิกายน 2561

ที่สำคัญมีคำถามว่าคำสั่ง คสช. ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ แล้วยังมีประเด็นว่าเป็นการรีเซตพรรคการเมืองหรือไม่ เพราะกำหนดให้พรรคการเมืองต้องยืนยันสมาชิกพรรคใหม่ทั้งหมด ซึ่ง 2 พรรคใหญ่มีสมาชิกหลายล้านคน การจัดทำบัญชีใหม่จึงจะมีปัญหาไม่น้อย ทั้งเชื่อว่าเป็นการเปิดโอกาสให้อดีต ส.ส. ย้ายพรรคอย่างอิสระตามกระแสข่าวการจัดตั้งพรรคทหารหรือพรรคนอมินีเพื่อต่อท่ออำนาจให้ คสช.

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กับนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ พรรคเพื่อไทย ได้ประกาศว่าจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความว่าคำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 ขัดแย้งกับสิทธิของประชาชนที่รับรองร่างรัฐธรรมนูญตามกระบวนการประชามติที่เห็นชอบมากกว่า 16 ล้านคนหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 5 มาตรา 45 และมาตรา 77 เพราะ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ จึงยึดโยงอยู่กับรัฐธรรมนูญอย่างแนบแน่น

ถือเป็นการเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันของ 2 พรรคใหญ่ที่ท้าทายและรุกกระหน่ำรัฐบาลทหารและ คสช. อย่างต่อเนื่อง เพราะหากให้คำสั่ง คสช. อยู่เหนือรัฐธรรมนูญที่ประชาชนลงประชามติ หากมีการเลือกตั้งและมีการสร้างความขัดแย้งเพื่อหวังผลทางการเมือง คสช. ก็อาจใช้อำนาจมาตรา 44 ล้มการเลือกตั้งหรือสร้างเงื่อนไขทางการเมืองใหม่ได้ แม้หลายฝ่ายไม่คาดหวังอะไรกับการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่อย่างน้อยก็เป็นการแสดงจุดยืนคัดค้านคำสั่งของ คสช. และทำให้เห็นถึงบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญต่อสถานการณ์การเมืองในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือพรรคการเมือง

อัด คสช. ไม่มีความกล้าหาญ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการใช้มาตรา 44 ว่า เอาการทำงานของพรรคการเมืองไปผูกกับกฎหมายเลือกตั้งที่มีเวลาแค่ 150 วัน ซึ่งไม่มีเหตุผลอะไรเลย และที่อ้างว่าสถานการณ์ยังไม่เรียบร้อยก็แปลกใจว่าอะไรที่ทำให้เกิดความไม่เรียบร้อยนั้น ทำไมผู้ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จไม่มีความตระหนักหรือรอบคอบเพียงพอที่จะรู้ว่าแผนการที่วางเป็นขั้นตอนด้วยเหตุด้วยผลคืออะไร

ผมไม่อยากเชื่อว่าไม่รู้ แต่กลายเป็นว่าอาจจะมีความต้องการอะไรบางอย่าง และถ้ามีความต้องการในเรื่องการเลื่อนการเลือกตั้ง ทำไมไม่มีความกล้าหาญที่จะบอกอย่างตรงไปตรงมา ผมเห็นว่าเป็นชายชาติทหารอยากจะเลื่อนการเลือกตั้งเพราะมีเหตุผลที่ดีเพื่อส่วนรวมก็บอกมาตรงๆ ไม่ต้องเอามาตรา 44 มาแก้ พอถึงเวลาเกิดขลุกขลักทำอะไรไม่ทันก็เอามาตรา 44 ออกมาอีก โดยที่ไม่บอกให้สังคมและประชาชนรู้อย่างตรงไปตรงมาว่าผู้มีอำนาจกำลังมองปัญหาอย่างนี้ ยิ่งทำเช่นนี้และยิ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จเท่าไรยิ่งต้องใช้ให้น้อยที่สุด อย่าใช้พร่ำเพรื่อ อำนาจเบ็ดเสร็จแต่ไปปักอยู่บนขี้เลน มันไม่ได้แก้ปัญหา ไม่ได้ปฏิรูป ทั้งที่กฎหมายทั้งหมดก็มาจาก คสช. และแม่น้ำ 5 สายทั้งนั้น

นายอภิสิทธิ์ยังตั้งคำถามว่า ทำไมคนบางกลุ่มเคลื่อนไหวได้โดยไม่กลัวว่าจะวุ่นวาย หรือรู้อยู่แล้วว่าจะมีใครตั้งพรรคใหม่ แล้วทำไมกลุ่มอื่นเคลื่อนไหวแบบเดียวกันไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องสมาชิกพรรคเก่าที่ต้องยืนยันและชำระเงินความเป็นสมาชิกพรรค ซึ่งพรรคที่มีสมาชิกจำนวนมากอย่างพรรคประชาธิปัตย์มีเกือบ 3 ล้านคน แต่ถูกห้ามเคลื่อนไหวและทำกิจกรรม เมื่อให้สมาชิก 3 ล้านคนทำหนังสือยืนยันภายใน 30 วัน ในทางปฏิบัติทำได้หรือไม่ กลายเป็นกฎหมายมากลั่นแกล้งบีบคั้นให้การเป็นสมาชิกหลุดไป

นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊คว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. คือการโกงโรดแม็พที่สัญญากับชาวโลกและประชาชนไว้ ทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่น ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ ไม่เป็นธรรมกับพรรคการเมือง และทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น สิ่งที่หัวหน้า คสช. ควรทำคือยกเลิกคำสั่งฉบับนี้ แล้วอนุญาตพรรคการเมืองได้ทำกิจกรรมทันที ไม่เช่นนั้นคนไทยจะต้องทนอยู่กับรัฐบาลแหวนแม่ นาฬิกาเพื่อน ที่มีสติปัญญาและความสามารถเท่าหางอึ่ง แต่มีความด้านและความกร่างคับบ้านเมืองไปอีกอย่างน้อยถึงกลางปี 2562 หรืออาจจะนานกว่านั้น ถ้ารัฐบาลจะด้านยื้อการเลือกตั้งออกไปเรื่อยๆแบบที่กำลังทำ คำถามคือใครจะทน

นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา ยืนยันว่า คำสั่ง คสช. เรื่องสมาชิกพรรคเท่ากับเป็นการรีเซตสมาชิกพรรคแบบซ่อนรูปและสร้างความลำบากให้พรรคมากกว่า พ.ร.บ.พรรคการเมืองก่อนมีการแก้ไข เพราะฉบับเก่าให้เวลาแจ้งเปลี่ยนแปลงสมาชิกใน 90 วัน หากไม่ทันสามารถขยายได้อีก 3 ครั้งๆละ 90 วัน รวมเป็น 270 วัน แต่ของใหม่ให้ยืนยันสมาชิกภายใน 30 วัน หากทำไม่เสร็จมีสิทธิขอขยายเวลาได้อีก 1 เท่า หรือ 30 วัน รวมเป็น 60 วัน ถือเป็นความยากของพรรคที่จะทำให้เสร็จในเวลาที่กำหนด

คสช. โต้ไม่ใช่รีเซตพรรคการเมือง

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาปฏิเสธว่า คสช. ไม่มีเจตนาจะรีเซตหรือเซตซีโร่พรรคการเมือง ซึ่งเดิมก็ระบุไว้แล้วว่าพรรคการเมืองต้องยืนยันเรื่องสมาชิกพรรคใหม่ เพราะที่ผ่านมาหลายคนเป็นสมาชิกหลายพรรคหรือไม่รู้ว่าเป็นสมาชิก บางทีมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านไปล่าลายเซ็นโดยไม่เสียค่าสมาชิก บางคนเป็นสมาชิกจริงแต่นานจนคิดว่าพรรคคัดชื่อออกไปแล้ว จึงต้องการให้ตรวจสอบและยืนยันการเป็นสมาชิกพรรค ถ้าไม่อยากยืนยันก็ให้อยู่เฉยๆ พอพ้นเวลา 1 เดือนก็จะพ้นจากสมาชิกพรรคไปเอง

นายวิษณุยังยืนยันว่า คำสั่ง คสช. ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้พรรคใหม่ เพราะต้องทำเรื่องสมาชิกเหมือนกัน แต่ง่ายกว่าคือเริ่มนับจากศูนย์ เพราะไม่มีสมาชิกค้างสต็อกไว้ ที่กังวลคือการยืนยันสมาชิกทำไม่ทัน 30 วัน แต่ยังสมัครสมาชิกใหม่ได้ จะขยายเป็นชาติก็ได้ ถ้าพรรคใดกลัวว่าสมาชิกจะเหลือน้อยก็ให้รีบติดต่อทำตั้งแต่เดี๋ยวนี้จนถึงเดือนมีนาคม 2561 ให้สอบถามทางโทรศัพท์หรือออนไลน์ วันที่ 1 เมษายนจะได้ยื่นสมัครพร้อมกับเสียค่าสมาชิกทันที ส่วนการที่พรรคประชาธิปัตย์จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้น ทำได้ไม่มีปัญหา และไม่ส่งผลให้คำสั่ง คสช. ต้องสะดุด กระบวนการยังเดินต่อไปได้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการออกคำสั่งแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองว่า เป็นการผ่อนคลายให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินการด้านธุรการของพรรคได้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกพรรคการเมืองทั้งเก่าและใหม่ โดยเฉพาะสมาชิกพรรคล็อตแรกต้องมี 250 คนตามที่กฎหมายกำหนด

ยังไม่จำเป็นต้องทำทันทีให้ถึง 1 ล้านคน ดังนั้น พรรคการเมืองไม่ต้องกังวล หากสมาชิกพรรคยังมีอุดมการณ์เดียวกันก็จะยังคงความนิยมเหมือนเดิม สิ่งสำคัญที่สุดคือการประกาศใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ซึ่งแม้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับยังไม่เสร็จแต่ยืนยันว่าจะเป็นไปตามโรดแม็พ ขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันลดแรงกดดัน

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยืนยันว่า คำสั่ง คสช. ไม่ได้เซตซีโร่พรรคการเมือง พรรคการเมืองก็อยู่อย่างเดิม แต่คำสั่งดังกล่าวทำให้พรรคใหม่และพรรคเก่าเริ่มต้นพร้อมๆกัน ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้พรรคใหม่เลย เพราะพรรคใหม่ก็เริ่มต้นได้เดือนเดียว

บ้านเมืองมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ร่วมกับเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน ได้จัดเสวนาโต๊ะกลมสาธารณะ “บ้านเมืองมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร” ตอน “รัฐธรรมนูญ-การเลือกตั้งครั้งแรกสู่ประชาธิปไตย” โดยนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า พรรคที่มีสมาชิกมากก็จะมีภาระมาก หากสมาชิกพรรคตอบมาแค่ไม่กี่คนก็จะถูกครหาว่าสมาชิกที่เหลือเป็นสมาชิกเก๊และกลายเป็นปัญหาทางการเมืองได้ ซึ่งพรรคใหญ่ต้องไปคุยกัน อาจทำแค่จำนวนตามที่กฎหมายกำหนดก่อนเพื่อให้ทันการเลือกตั้ง หรือแก้ด้วยการตั้งพรรคใหม่ เพราะการปฏิบัติตามเรื่องนี้เป็นไปได้ยาก ต้องถามกลับไปยัง คสช. ว่าในทางปฏิบัติจริงๆแล้วทำได้จริงหรือไม่

ที่น่าสนใจคือ การเซตซีโร่ ส.ส.เก่าให้สามารถเปลี่ยนพรรคได้ตามอัธยาศัย เพียงแค่ไม่ส่งหนังสือยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคก็ย้ายไปอยู่พรรคใหม่ได้แล้ว ถือเป็นการล้างไพ่ หากเกิดเรื่องแบบนี้ คสช. จะถูกมองว่าหวังผลทางการเมือง และเป็นเรื่องอันตรายมากในช่วงที่การเมืองกำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตย

แม้ในด้านหนึ่งจะมองได้ว่า คสช. กำลังเตรียมการให้มีการเลือกตั้ง แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องดูว่าหากมีการเซตซีโร่ ส.ส. แล้วจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งจะเกิดการแบ่งข้าง ส.ส. ขึ้นว่า จะเชียร์ คสช. ต้องอยู่พรรคนี้ ไม่เชียร์ คสช. ต้องอยู่พรรคนั้น เพราะหาก ส.ส. เก็งว่า คสช. มีแนวโน้มจะได้เป็นรัฐบาลต่อ ส.ส. ก็อาจจะไปอยู่กับพรรคใหม่ที่สนับสนุน คสช. หรือไม่ เพราะ ส.ส.ส่วนใหญ่จะต้องเลือกพรรคที่สามารถเป็นรัฐบาลได้อยู่แล้ว

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การเลือกตั้งยังอึมครึม แม้รัฐธรรมนูญบังคับใช้แล้วและกฎหมายประกอบอื่นๆเสร็จไปหลายฉบับแล้วก็ตาม คนส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าไม่มีความแน่นอน หากมีการเลือกตั้งจริงก็จะอยู่ภายใต้บริบทประชาธิปไตยครึ่งใบภายใต้กำกับของ คสช. การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการแข่งขันทางการเมืองระหว่างพรรคเดิมและพรรคการเมืองที่จะเกิดใหม่ เพราะมีสัญญาณให้เห็นจากคำสั่ง คสช. ซึ่งเสมือนการฆ่าตัดตอนสมาชิกพรรคการเมืองในปัจจุบัน

การที่นายกฯบอกไม่ตั้งพรรคให้เหนื่อยนั้น ผมคิดว่านายกฯพูดจากความรู้สึกจริงๆ เพราะการเป็นนายกฯคนนอกไม่จำเป็นต้องตั้งพรรคเองก็ได้ และขณะนี้ก็มีคนประกาศตั้งพรรคและพร้อมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ให้เห็นแล้ว กลไกตามรัฐธรรมนูญเองก็เอื้อให้มีนายกฯคนนอก นอกจากนั้นยังมีพรรคใหญ่ที่เกิดขึ้นโดย คสช. คือพรรค ส.ว. จำนวน 250 คน หาอีกเพียง 126 เสียงก็สามารถเป็นรัฐบาลได้แล้ว

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า คำสั่ง คสช. เป็นการลิดรอนสิทธิการเป็นสมาชิกพรรค และเป็นการรีเซตสมาชิกพรรคโดยอ้อม หรือรีเซตแบบซ่อนรูป ซึ่งไม่เป็นธรรม เป็นการดูถูกประชาชน ไม่ได้มองในสิ่งที่ประชาชนเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคการเมืองโดยบริสุทธิ์ใจ ที่น่าวิพากษ์วิจารณ์ที่สุดคือ การลงพื้นที่ประชุม ครม.สัญจรที่ถามนำประชาชนว่าจะให้อยู่ต่อหรือไม่ ทำให้เห็นว่าอนาคตการเมืองยังอึมครึม ทั้งที่รัฐบาลควรสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนโดยจัดการเลือกตั้งด้วยความเป็นกลางเพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตยในที่สุด

ขณะที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงคำสั่ง คสช. ว่า พรรคการเมืองไม่ควรติดยึดกับจำนวน ส.ส. คิดว่าพรรคที่จะอยู่รอดได้ในกติกาที่ไร้สาระ กติกาที่เป็นภาระนี้ คือพรรคที่มีสมาชิก 10,000 คน โดยอาจจะมีสมาชิกจังหวัดละ 100 คน ซึ่งสามารถส่งสมาชิกลงเลือกตั้งได้ทุกเขตอยู่แล้ว ด่านแรกในการเลือกตั้งพรรคการเมืองควรยอมเสียหน้าการเป็นพรรคใหญ่ เพื่อเป็นพรรคเล็กที่คล่องตัว และไปสู้เรื่องนโยบายในการเลือกตั้งดีกว่า ที่สำคัญพรรคการเมืองมีเวลาแค่ 1 เดือน จึงไม่ควรเอาเวลาไปเสียกับเรื่องเหล่านี้

นายสมชัยยังพูดเปรียบเปรยสถานการณ์ขณะนี้ว่า ท่ามกลางเสียงเอะอะโวยวายแสดงความไม่พอใจต่อการรีเซตสมาชิกพรรคที่แยบยลของคำสั่ง คสช. 53/2560 ในมุมลึกที่สุดของพรรคการเมืองใหญ่อาจมีสุมาอี้ทางการเมืองหัวเราะเสียงดังว่าทุกอย่างช่างสอดคล้องกับสิ่งที่มุ่งหวัง ซ้ำยังไม่เปลืองเรี่ยวแรงตนในการจัดการใดๆ ขอบคุณขงเบ้งแห่ง คสช. จริงๆ

แหวนแม่ให้มา นาฬิกายืมเพื่อน

คำสั่ง คสช. 53/2560 จะมีเจตนารีเซตพรรคการเมืองหรือช้อนสมาชิกพรรคการเมืองไปร่วมพรรคทหารหรือไม่ก็ตาม ประเด็นสำคัญคือพรรคการเมืองที่ยืนยันต่อสู้ตามระบอบประชาธิปไตยต้องไม่หวั่นไหวต่ออำนาจของ คสช. เพราะสถานการณ์วันนี้เปลี่ยนไป แม้ คสช. ยังมีอำนาจมาตรา 44 และกองทัพยังให้การสนับสนุนอย่างมั่นคง แต่การ “สืบทอดอำนาจ” โดยหวังส่ง พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯคนนอกก็ต้องคิดหนักว่าจะอยู่อย่างไร เพราะเกือบ 4 ปีที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดยังแก้ปัญหาอะไรแทบไม่ได้ ไม่ใช่แค่ปัญหาเศรษฐกิจที่ล้มเหลวสิ้นเชิง แม้แต่การสร้างความปรองดองหรือการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันก็ถูกตั้งคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ

โดยเฉพาะกรณี แหวนแม่ให้มา นาฬิกายืมเพื่อนเกือบ 1 โหล นั้น ต้องมีความโปร่งใส กล้าให้ตรวจสอบ ใครจะมีนาฬิกาหรูกี่เรือน แหวนเพชรกี่วง ไม่มีใครไปอิจฉา แต่ที่สื่อและประชาชนสนใจและตั้งคำถามคือ เงินกว่า 30 ล้านบาทงอกมาจากไหน ทั้งที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินตอนพ้นตำแหน่งเมื่อปี 2554 กับครั้งที่มีตำแหน่งในรัฐบาล คสช. ปี 2557 มีรายได้เพียงเป็น “ข้าราชการบำนาญ” เหตุใดช่วงแค่ 2-3 ปี จึงร่ำรวยและมีนาฬิกาหรูมูลค่าหลายสิบล้านบาท ยืมจากเพื่อนคนไหน?

ขณะที่ “ทั่นผู้นำ” ก็ขอให้สื่อ ลดราวาศอก และกรรมการ ป.ป.ช. บางคนก็ออกมาพูดในทำนอง “ทำโดยไม่ตั้งใจก็ไม่ผิด หรือ เป็นผู้ใหญ่แล้วรู้ว่าอะไรควรไม่ควร ก็ยิ่งทำให้สังคมย้อนถึงข้อครหาหลายเรื่องในการจัดซื้อจัดจ้างในกองทัพ รวมถึงพฤติกรรมของคนใกล้ชิดและเครือญาติของ “ผู้มีอำนาจ” ซึ่งสุดท้ายก็จะไม่มีอะไรผิดอย่างเหลือเชื่อ หรือถูกแช่แข็งและเงียบหายไปตามกาลเวลา ขณะที่การอ้าง กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย กลับใช้ไล่ล่าฝ่ายตรงข้ามอย่างไม่ลดละ แม้ใช้กฎหมายปรกติไม่ได้ก็พยายามคิดค้นหา อภินิหารทางกฎหมาย มาจัดการ

สวัสดี ปีจอ

ที่ผ่านมาการที่คนออกมาลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง (แต่ฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง) เสมือนยอม กำขี้ดีกว่ากำตด เพราะอยากให้มีการเลือกตั้งเร็วๆ ไม่ว่ากติกาจะเป็นแบบไหนก็ตาม อาจคือสัญญาณแรกที่เตือน คสช. ทางอ้อมว่า ไปได้แล้ว คสช. ก็ได้

วันนี้ได้เกิด “ความปรองดอง” อย่างไม่น่าเชื่อในเรื่องเดียวกันจากพรรคการเมืองที่เห็นต่าง ต่างพรรค ต่างอุดมการณ์ รวมถึงสื่อมวลชนอิสระที่เลือกข้างและคนละข้าง ยังยอมสวมวิญญาณ “น้องเกี่ยวก้อย” แสดงท่าทีที่ชัดเจนว่า… ประชาชนพอแล้ว.. คสช. ล่ะพอแล้วหรือยัง? หลังจากที่ คสช. ยึดอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หัวหน้า คสช. เป็นนายกฯเอง ตั้งคณะรัฐมนตรีเอง เป็นรัฐบาลเอง บริหารบ้านเมืองมาเกือบ 4 ปี และจะเกิน 4 ปีแน่นอน เนื่องจากกว่าจะหมดปีจอ 2561 ก็ยังไม่มีรัฐบาลจากการเลือกตั้งมาแทนแน่ๆ เพราะจนถึงวันนี้คนไทยก็ยังไม่รู้ว่าจะมีเลือกตั้งเมื่อใด ความปรองดองที่ต้องการให้มีการเลือกตั้งเฉกเช่นประเทศที่มีอารยะได้รัฐบาลที่เขาเลือกได้ ไล่ได้ วิพากษ์วิจารณ์ได้ จึงเกิดขึ้นอย่างพร้อมเพรียง

ท่ามกลางความเครียดของประชาชนที่ยากจนทางเศรษฐกิจและขาดแคลนเสรีภาพ แต่ “ทั่นผู้นำ” ยังดูมีความสุขอารมณ์ดีระหว่างประชุม ครม.สัญจร “ทั่นผู้นำ” มีอารมณ์พูดหยอกล้อกับ “ไก่ชน” ว่า “ไม่ต้องกลัว คสช. นะ คสช. ไม่ดุ” ทั้งยังแสดงความใจดีซื้อลูกสุนัขพันธุ์บางแก้วเพศผู้ 3 ตัวจากชาวบ้าน ในราคาตัวละ 6,000 บาท เพื่อเอาไปเลี้ยงเองที่บ้าน 1 ตัว อีก 2 ตัวให้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

การคุยกับไก่ หรือซื้อหมาแจก จะเป็นการส่งสัญญาณบอกลา ปีไก่ (อู)ต้อนรับปีใหม่ “(ปาก) ปีจอ หรือไม่ก็แล้วแต่คนจะตีความ

แต่ที่แน่ๆหากการเลือกตั้งจะไม่เป็นตามที่ไปสัญญากับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ เอาไว้ว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561 จนเป็นข่าวไปทั่วโลกนั้น เชื่อได้ว่าจะได้เห็น “ปีหมู (ไม่กลัวน้ำร้อน)” มาเร็วกว่าที่คิด

ทั่นผู้นำที่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ รู้จักสมดุลแห่งอำนาจ ย่อมรู้ว่าบัดนี้สมควรแก่เวลาลงจากหลังเสือแล้วหรือไม่?

อยู่บนหลังเสืออย่าเผลอลืมตัว..นึกว่าตนเป็นเสือเสียเอง

แฮ่..แฮ่… สวัสดี ปีจอ”!!??


You must be logged in to post a comment Login