วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

คำถาม 6 ข้อถึง‘ทั่นผู้นำ’ / โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

On December 14, 2017

คอลัมน์ : โดนไป บ่นไป
ผู้เขียน : ..อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

ผมเขียนคอลัมน์สัปดาห์นี้หลังวันรัฐธรรมนูญเพียงไม่กี่วัน จำได้ว่าตอนเด็กๆผมไม่เข้าใจและไม่ได้ให้ความสำคัญรัฐธรรมนูญเลยนอกจากความชอบใจที่รัฐบาลกำหนดให้วันที่ 10 ธันวาคมเป็นวันหยุดราชการ และผมกับเพื่อนๆไม่ต้องไปโรงเรียน…มีแค่นั้นจริงๆ

แต่เมื่ออายุเริ่มมากขึ้น ผมเชื่อว่าคนจำนวนไม่น้อยเห็นว่ารัฐธรรมนูญมีความสำคัญกับชีวิต เพราะเป็นกฎหมายสูงสุดที่ทุกคนต้องปฏิบัติตามและเป็นกติกาสำคัญที่ใช้ในการจัดระเบียบการปกครองประเทศ ดังนั้น เมืองไทยจะรุ่งเรืองหรือตกต่ำย่อมขึ้นอยู่กับเนื้อหาของรัฐธรรมนูญและผู้ที่นำกฎหมายฉบับนี้ไปบังคับใช้

แม้ว่าประชาชนยังอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารที่เข้มงวด แต่วันรัฐธรรมนูญปีนี้ก็ไม่เงียบเหงาเสียทีเดียว เพราะมีประชาชนผู้รักประชาธิปไตยเดินทางไปร่วมกิจกรรมกันตามสมควร แม้ก่อนหน้านี้รัฐบาลจะสั่งการให้หน่วยงานความมั่นคงปฏิบัติต่อการชุมนุมอื่นๆอย่างเข้มข้น และบรรยากาศทั่วไปยังดูไม่ค่อยน่าไว้วางใจ แต่พี่น้องประชาชนจำนวนไม่น้อยยังกล้าเดินทางไปแสดงความรักและคิดถึงประชาธิปไตยเป็นจำนวนไม่น้อย น่านับถือจริงๆ

ผมคนหนึ่งที่ “ไม่มี” โอกาสไปร่วมงานด้วยเหตุผลความจำเป็นส่วนตัวและด้วยความเป็นนักการเมือง สาเหตุจากความจำเป็นส่วนตัวก็คือผมต้องพาลูกชายคนโตไปทำกิจกรรมตามที่ได้สัญญาเอาไว้ก่อนหน้านี้นานแล้ว ส่วนเหตุผลของการเป็นนักการเมืองก็คือการไปร่วมกิจกรรมที่บริสุทธิ์ สงบ สันติ อหิงสา ในลักษณะนี้ หากมีภาพของนักการเมืองไปทาบทับเมื่อไรก็จะถูกฝ่ายขวาจัดนิยมเผด็จการกล่าวหาและทำลายความน่าเชื่อถือของการชุมนุมที่ชอบธรรมครั้งนี้ในทันที ดังนั้น การสงบเสงี่ยมเจียมตัวของเราอาจเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมก็ได้

ผมอยากเรียนว่าการอยู่เฉยในหลายๆเรื่องไม่ได้หมายความว่าเราไม่ได้ให้ความสำคัญ แต่สิ่งที่ผมศึกษามาจากโรงเรียนเสนาธิการเรื่อง “รู้เขารู้เรา” ยังเป็นหลักการสำคัญในการกำหนดแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดอยู่เสมอ

เมื่อ “เรารู้เขา” ว่า 1.“ความขัดแย้ง” คือ “วีซ่าของฝ่ายเผด็จการ” และ 2.“ความวุ่นวาย” ในสังคมที่ถูกกล่าวหาว่าเกิดจาก “นักการเมือง” คือ “ยาอายุวัฒนะของ คสช.”

ดังนั้น นักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยก็ควรจะ “รู้เรา” และไม่ปฏิบัติกิจกรรมใดๆที่เป็นการสุ่มเสี่ยงและป้อนลูกเข้าเท้าฝ่ายเผด็จการให้ซัด “เต็มข้อ” อย่างที่ผ่านมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วนอีกต่อไป

ผมเชื่อว่าอาจมีท่านผู้อ่านหลายคนไม่เห็นด้วยและคิดว่าการไม่ยอมลุกขึ้นมาสู้กับฝ่ายเผด็จการซึ่งๆหน้าเป็นเรื่องของคน “ขี้ขลาด” แต่ผ่านมา 10 กว่าปีเราคงเห็นแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในประเทศของเรา และฝ่ายที่ตกเป็น “เหยื่อ” ก็หนีไม่พ้นประชาชนตาดำๆวันนี้ที่จะ “อดตาย” กันทั้งประเทศอยู่แล้ว

ในฐานะนักการเมืองผมยังเชื่อมั่นในระบบรัฐสภาและพร้อมที่จะ “ต่อสู้” ในสนามเลือกตั้ง เพราะที่ผ่านมาประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศลงประชามติ “ยอมรับ” ร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดและปัจจุบันก็มีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการแล้ว ดังนั้น การที่นักการเมืองจะทำอะไรที่ขัดกับหลักการประชาธิปไตยเสียเองคงไม่เหมาะอย่างแน่นอน และที่สำคัญจะกลายเป็นข้ออ้างอันชอบธรรมของฝ่ายเผด็จการที่จะเลื่อนการเลือกตั้งออกไปเรื่อยๆเหมือนที่ผ่านมา

ผมก็ยังตอบไม่ได้ว่าการเลือกตั้งภายใต้กฎเกณฑ์และกติกาที่ฝ่ายเผด็จการสร้างขึ้นจะแก้ปัญหาต่างๆที่หมักหมมยาวนานมาตั้งแต่ภายหลังการรัฐประหาร 2 ครั้งล่าสุดได้หรือไม่! แต่ถ้าเราไม่เดินหน้าและเปิดโอกาสให้ฝ่ายเผด็จการบริหารประเทศแบบ “รัฐราชการ” ต่อไป เชื่อว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศก็จะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆอย่างไม่ต้องสงสัย

ดังนั้น เมื่อประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับใน “กติกาใหม่” เป็นที่เรียบร้อยโรงเรียน คสช. แล้ว พวกเราทุกคนก็ต้องช่วยกันให้ คสช. กรุณาดำเนินการขั้นตอนที่เหลือให้เป็นไปตามกฎหมายด้วย

ไม่ใช่มีแต่เสียงเพลง “เราจะทำตามสัญญา” ฉบับแผ่นเสียงตกร่องที่คนไทยฟังจนเบื่อสุดๆแล้ว แต่ยังไม่มีสัญญาข้อไหนที่ คสช. ทำให้เป็นจริงได้เลยสักข้อเดียว

ผมนำเรื่องนี้มาเล่าให้ฟังเพราะเชื่อว่าท่านผู้อ่านจะเข้าใจนักการเมืองมากขึ้น และในขณะเดียวกันผมในฐานะนักการเมืองก็ต้องขอแสดงความชื่นชมด้วยความจริงใจที่พี่น้องผู้รักและคิดถึงประชาธิปไตยไปร่วมกันทำกิจกรรมในวันที่ 10 ธันวาคมเป็นจำนวนมาก แม้จะรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยก็ตาม

ผมรู้สึกประทับใจกับ “คำถาม 6 ข้อ” ของตัวแทนประชาชนที่ไปร่วมกิจกรรมในวันนั้นมากจนอดไม่ได้ที่จะนำมาถ่ายทอดต่อแม้ว่าตัวเองจะไม่ได้ยืนอยู่ตรงนั้น โดยช่วงบ่ายแก่ๆภายหลังจากกิจกรรมวันรัฐธรรมนูญที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เสร็จสิ้นก็มีการรวมตัวกันของกลุ่มประชาชนจำนวนหนึ่งที่ลานโพธิ์ในเวลาประมาณเกือบๆ 5 โมงเย็น

การรวมตัวดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเดินเท้าไปจุดเทียนรำลึกแสดงความคิดถึงรัฐธรรมนูญและสิทธิมนุษยชนที่หายไปหลังจากการรัฐประหารของ คสช. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยมีประชาชนร่วมเป็นจำนวนมาก และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมความเรียบร้อย ดูแลความสงบอย่างใกล้ชิด

ต่อมาเวลา 17.45 น. บริเวณอนุสาวรีย์ฯ นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ตัวแทนประชาชนที่มาร่วมกิจกรรมได้ตั้ง “คำถาม 6 ข้อ” ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ท่านผู้นำสูงสุดและหัวหน้า คสช. ดังนี้

1.ท่านคิดว่า “น้องเกี่ยวก้อย” สามารถสร้างความปรองดองได้จริงหรือไม่? ถ้าอยากให้เกิดความปรองดองควรมีแนวทางเช่นไร?

2.สิ่งที่รัฐบาลนี้และ คสช. ได้ดำเนินการในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประชาชนมองเห็นอนาคตที่ดีของประเทศชาติบ้างหรือไม่?

3.รัฐบาลที่มาจากรัฐประหารทำลายประชาธิปไตยได้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพ มีธรรมาภิบาล และมีการพัฒนาประเทศที่มีความต่อเนื่องชัดเจนเพียงพอหรือไม่?

4.ท่านคิดเห็นอย่างไรกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ว่าจะนำประเทศเราไปสู่ประชาธิปไตยที่ประชาชนมีสิทธิมีเสียงแท้จริงหรือไม่?

5.ประชาชนสามารถตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันของรัฐบาลใดได้มากกว่ากันระหว่างรัฐบาลพลเรือนกับรัฐบาลทหาร เพราะเหตุใด?

6.ตลอดเวลา 3 ปีกว่าที่ผ่านมาเราถูกปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการทหาร มาวันนี้ท่านคิดถึงประชาธิปไตยหรือไม่? เพราะเหตุใด?

ผมไม่ได้คาดหวังว่าจะได้รับคำตอบทุกข้อจากท่านผู้นำสูงสุดหรือบริวารคนหนึ่งคนใด เพราะท่านคงไม่ตอบคำถามเหล่านี้อย่างแน่นอน แต่ผมหวังว่าท่านผู้อ่านคอลัมน์นี้จะมีคำตอบที่ชัดเจนในทุกคำถามอยู่ในใจกันหมดแล้วอย่างแน่นอน


You must be logged in to post a comment Login