วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2567

ความลับไม่มีในโลกโซเชียล / โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

On December 7, 2017

คอลัมน์ : โดนไป บ่นไป
ผู้เขียน : ..อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

โลกโซเชียลเป็นโลกใบใหม่ที่มีผู้คนเข้ามาอาศัยมากขึ้นเรื่อยๆ โลก “เสมือน” ใบนี้แตกต่างกับโลกแห่งความเป็นจริง เพราะมีความอ่อนตัวสูงและเป็นพลวัต สามารถเปลี่ยนเรื่องราวโกหกมดเท็จให้เป็นเรื่องที่น่าเชื่อถือ หรือเปลี่ยนเรื่องจริงให้กลายเป็นเรื่องโกหกพกลมได้อย่างง่ายดาย

เรื่องราวประเภทนี้ปรากฏขึ้นมามากมายนับไม่ถ้วน เพราะในโลกโซเชียลไม่ได้มีแต่การนำเสนอความจริงหรือเรื่องในเชิงบวกเท่านั้น แต่การนำเสนอเรื่องในเชิงลบและเรื่องโกหกก็ได้เห็นอยู่ตลอดเวลา สามารถทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดในข้อเท็จจริง เปลี่ยน “ดำเป็นขาว” หรือ “ขาวเป็นดำ” ได้อย่างไม่น่าเชื่อ ดังนั้น การสื่อสารในโลกโซเชียลจึงเป็นช่องทางสำคัญที่สุดที่บุคคลหรือองค์กรรุ่นใหม่ต้องให้ความสำคัญ

การนำเสนอเรื่องราวต่างๆในโลกโซเชียลขึ้นอยู่กับผู้นำเสนอมีความประสงค์อย่างไร เพราะสามารถนำเสนอได้ตั้งแต่เรื่องของตัวเอง ครอบครัว คนใกล้ชิด ไปจนถึงบุคคลที่ 3 ที่ตนเองรู้จักหรืออาจไม่เคยรู้จักมาก่อน

ส่วนเนื้อหาในการนำเสนอก็หลากหลาย มีทั้งความรัก ความเห็นใจ ความเอื้ออาทร ความชื่นชม ความรู้สึกไม่ดีทั้งหลาย ซึ่งอาจประกอบด้วยความหมั่นไส้ ความอิจฉาริษยา ไปจนถึงความเกลียดชังในรูปแบบต่างๆ

สำหรับรูปแบบการนำเสนอหรือ “คอนเทนต์” นั้น ผู้นำเสนอสามารถสื่อสารในรูปแบบคอนเทนต์ต่างๆได้หลากหลายรูปแบบ คอนเทนต์โดยทั่วไปมักสื่อสารด้วยการพิมพ์ข้อความต่างๆลงในโซเชียล จะเป็นการพิมพ์ข้อความล้วนๆ หรือประกอบภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหวเข้าไปก็ได้ ขึ้นอยู่กับผู้นำเสนอต้องการให้เรื่องราวของตนน่าสนใจมากน้อยแค่ไหน

ถ้ามีเวลามากหน่อยก็อาจทำคอนเทนต์ด้วยการบันทึกภาพเคลื่อนไหว ใส่เสียงพากย์หรือเสียงจริง มีการตัดต่อแบบมือสมัครเล่นไปจนถึงพวกฝีมือขั้นเทพที่ทำเรื่องราวออกมาได้น่าสนใจ เราอาจจะเห็นการสร้างคอนเทนต์ของมืออาชีพที่ต้องการนำเสนอเรื่องราวต่างๆในรูปแบบ “Infographic” ที่สามารถสร้างความรู้ความเข้าใจกับผู้รับสารหรือผู้บริโภคคอนเทนต์ เพื่อให้เข้าใจเรื่องราวที่ต้องการสื่อสารได้ง่ายดายมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าสมาชิกในโลกโซเชียลจะเป็นท่านไหน กลุ่มใดก็ตาม คงมีน้อยคนมากที่ “ไม่อยาก” ได้ยอด “like” และยอด “share” ซึ่งแปลความว่าท่านใดสื่อสารคอนเทนต์อะไรลงไปในโซเชียลย่อมคาดหวังว่าจะมีคนที่ชอบและติดตามเรื่องราวนั้นๆมากที่สุด ซึ่งท่านใดจะประสบความสำเร็จต้อง “เข้าใจ” กลุ่มเป้าหมายของตัวเองว่าคนกลุ่มนั้นๆต้องการที่จะ “ฟัง” เรื่องอะไร

มีคนจำนวนมากพยายามสร้างคอนเทนต์ที่ดีมีคุณภาพเพื่อสื่อสารในโลกโซเชียล แต่ปรากฏว่า “แป้ก” เพราะไม่สามารถดึงดูดให้คนส่วนใหญ่เข้ามาสนใจได้ ต่างกับบางครั้งคอนเทนต์พื้นๆดิบๆ ไม่ได้ถูกปรุงแต่งอะไรเลย กลับฮิตติดลมบน มีคนเข้ามา like มา share เป็นหลักหลายหมื่นหลายแสน บางครั้งคอนเทนต์ที่ถ่ายเป็นวิดีโอแบบไม่ได้ตั้งใจ พอโพสต์ไปใน youtube ก็มียอดวิวเป็นหลักล้านได้ไม่ยากเช่นกัน

ดังนั้น จึงมีความพยายามศึกษาถึงความล้มเหลวและความสำเร็จในการผลิตคอนเทนต์ต่างๆว่าทำอย่างไรจึงจะสร้างเพื่อน แฟน หรือผู้ติดตามที่มีคุณภาพได้มากขึ้น สมัยก่อนวัตถุประสงค์ในการทำคอนเทนต์อาจต้องการยอดผู้ติดตามในเชิงปริมาณเพียงอย่างเดียว ทำให้ผู้ผลิตคอนเทนต์ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการทำคอนเทนต์เชิงคุณภาพ มุ่งเน้นที่จะทำคอนเทนต์แบบไหนก็ได้ที่สร้างความพึงพอใจ ความสะใจกับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างยอด like ยอด share เพียงเท่านั้น

บวกเข้ากับผู้ใช้โซเชียลของประเทศไทยที่มีจำนวนสูงเป็นอันดับต้นๆของโลก เมื่อการสร้างคอนเทนต์เพื่อตอบสนองอารมณ์ความต้องการของผู้บริโภค โซเชียลจึงกลายเป็นเรื่องสำคัญ องค์ประกอบทั้งหมดนี้กลายเป็นสาเหตุสำคัญในการสร้าง “วัฒนธรรมใหม่” ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

เพจไหนที่สามารถตอบสนองอารมณ์ของผู้บริโภคโซเชียลได้ก็จะกลายเป็นพื้นที่ของ “new community” หรือ “สังคมใหม่” ที่รองรับการติดตามของผู้คนจำนวนมากๆ เป็นกลุ่มที่รวบรวมคนที่มีความต้องการและความเชื่อเหมือนๆกันไว้ด้วยกัน ปัจจุบันเมื่อผู้บริโภคคอนเทนต์เริ่มมีความเท่าทันกับผู้ผลิตคอนเทนต์ การทำคอนเทนต์แบบเดิมที่ตอบสนองด้านอารมณ์อย่างเดียวจึงเริ่มล้าสมัยลงไปเรื่อยๆ

ในปัจจุบันผู้ผลิตคอนเทนต์ต้องมีความเข้าใจที่จะตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้หลากหลายมิติมากขึ้น เรื่องที่นำเสนอแบบยกเมฆหรือโกหกพกลมเริ่มไม่มีคนให้ราคาและไม่ได้รับความสนใจ การนำเสนอเรื่องราวต่างๆต้องใช้เหตุผลและไม่ผิดข้อเท็จจริง ใครก็ตามที่พยายามสร้างคอนเทนต์บิดเบือน บอกความจริงไม่หมด หรือหลอกลวงผู้บริโภค ก็จะกลายเป็นผู้หมดเครดิตต่อสังคมในเวลาอันรวดเร็ว

ผมนำเรื่องนี้มาบ่นให้ฟังเพราะผมเคยเล่าเรื่ององค์กรบางกลุ่มที่มีอำนาจมากมายในบ้านเมือง องค์กรนี้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันจะใช้ “การโฆษณาชวนเชื่อ” เป็นอาวุธสำคัญในการทำร้ายและกำจัดฝ่ายตรงข้าม ซึ่งสมัยก่อนถือว่าเป็นอาวุธที่ร้ายแรงและใช้ได้ผลมาตลอด เพราะช่องทางการรับรู้ข่าวสารถูกจำกัดอยู่เพียงไม่กี่ช่องทาง และองค์กรดังกล่าวเป็นผู้ควบคุม “คลื่นความมั่นคง” ตามกฎหมาย จึงมีอิทธิพลครอบงำสื่อต่างๆได้อย่างเบ็ดเสร็จ

แต่วันนี้การทำโฆษณาชวนเชื่อดูเหมือนจะไม่ง่ายดายเหมือนกับสมัยก่อน เพราะช่องทางการรับรู้ของประชาชนมีมากขึ้นและสามารถเข้าถึงความจริงได้ไม่ยาก ดังนั้น การทำสงครามข้อมูลข่าวสารหรือ IO (information operation) จึงต้องรีบปรับตัวและสรรหาเครื่องมือ รวมทั้งใช้ช่องทางต่างๆให้สอดคล้องกับความสามารถในการเข้าถึงข่าวสารของประชาชนให้ตรงกับเป้าหมายมากที่สุด

แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าความพยายามในการเข้ามาควบคุมโลกโซเชียลเป็นเรื่องที่กระทำได้ยาก แม้จะมีข่าวลือมาตลอดว่ามีความพยายามที่จะสร้าง “single gateway” เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมข่าวสารความจริง แต่ดูเหมือนความพยายามที่จะเข้ามาควบคุมด้วยการสร้างระบบขึ้นมารองรับ ตลอดจนการออกกฎหมายเพื่อจำกัดเสรีภาพในการสื่อสารและการแสดงออก กลับเป็นหอกที่ย้อนกลับไปทำร้ายผู้ที่สร้างมันขึ้นมาเสียเองบนข้อเท็จจริงที่ว่า “ความลับไม่มีในโลก” อีกต่อไปแล้ว

ถ้าให้ผมมีโอกาสแนะนำท่านผู้มีอำนาจทั้งหลายในบ้านเมืองนี้ ผมคงจะกระซิบเบาๆข้างหูท่านว่า วันนี้คนไทยส่วนใหญ่มีสมาร์ตโฟนและเล่น Facebook เกือบ 50 ล้าน user การโกหกด้วยการ IO แบบเก่านั้นใช้ไม่ได้อีกต่อไป สิ่งที่ดีที่สุดในโลกโซเชียลวันนี้ก็คือ “การพูดความจริง” แล้วท่านจะได้รับการยอมรับมากขึ้น

ยกเว้นอย่างเดียวคือ ท่านไม่มี “ความจริง” มาสื่อสารกับประชาชนเหมือนกับห้วงเวลาในอดีตที่ผ่านมาเท่านั้น


You must be logged in to post a comment Login