วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2567

ซ่อมหรือฆาตกรรม? / โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

On November 30, 2017

คอลัมน์ : โดนไป บ่นไป
ผู้เขียน : ..อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

ผมหายไป 1 สัปดาห์เพราะต้องเดินทางไปต่างประเทศ กลับมาเมืองไทยก็พบว่ามีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายทีเดียว เรื่องที่เป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างแพร่หลายและมีการแสดงความเห็นออกมาจากหลายฝ่ายก็คือ การเสียชีวิตของน้องนักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 ที่ชื่อว่า “ภคพงศ์ ตัญกาญจน์” หรือ “น้องเมย”

ผมในฐานะนักเรียนเตรียมทหารรุ่นพี่และยังเป็นพ่อของลูกอีก 6 คน ต้องขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับครอบครัวตัญกาญจน์กับการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของ “น้องเมย” ในครั้งนี้ และขอให้ดวงวิญญาณของน้องจงไปสู่สุคติในสัมปรายภพเบื้องหน้าด้วยเทอญ

“น้องเมย” เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 60 ส่วนผมเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 23 สำหรับรุ่นนักเรียนเตรียมทหารนั้นจะจำได้ง่าย เข้าเรียนปีไหนก็จะตรงกับรุ่นนั้นๆ อย่างเช่นท่านผู้นำสูงสุดเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 12 ก็คือเข้าเรียนปีที่ 1 ในปี 2512 นั่นเอง

เมื่อปี 2523 ตอนผมเป็นนักเรียนชั้นปีที่ 1 โรงเรียนเตรียมทหารของเราตั้งอยู่ตรงข้ามกับสวนลุมพินี สมัยนั้นยังเป็นการเรียนแบบไป-กลับ นักเรียนปี 1 ทุกคนจะต้องมาถึงโรงเรียนก่อนตี 5 ครึ่งทุกวัน เมื่อมาถึงประตูจะยังไม่เปิด ใครมาก่อนก็มายืนตามระเบียบพักรออยู่ริมรั้ว ซึ่งจะมีนักเรียนบังคับบัญชาจากชั้นปีที่ 2 มาคอยต้อนรับอยู่ทุกเช้า

ยืนตามระเบียบพักอยู่ริมรั้ว พระอาทิตย์ก็ยังไม่ขึ้น แม้อากาศจะยังไม่ร้อน แต่ยุงที่โรงเรียนเตรียมทหารดุเหลือเกิน พี่ปี 2 ที่เป็น “นักเรียนบังคับบัญชา” หรือเรียกสั้นๆว่า “คอมแมน” ก็รู้แกว เพราะปรกติการยืนตามระเบียบพักเขาไม่อนุญาตให้ยุกยิก แต่พอยุงกัดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆก็อดไม่ได้ที่จะต้องตบสั่งสอน (ยุง) สักฉาด แต่พอตบปุ๊บก็จะได้ยินเสียงคอมแมนดังขึ้นทันที “ใครตบยุงเอาป้ายชื่อมา”

การยึดป้ายชื่อคือการเก็บหลักฐานการทำความผิดของพวกเรา ผู้ที่ถูกยึดป้ายชื่อทุกคนจะต้องถูก “เช็กบิล” ในเวลาต่อมา ยิ่งถูกยึดมากเท่าไรก็ต้องเตรียมใจเหนื่อยมากเท่านั้น การเช็กบิลมีหลายรูปแบบ เราเรียกรวมๆกันว่าการ “ถูกซ่อม” ซึ่งจะมากจะน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ

แต่ที่แน่ๆการซ่อมไม่มีความจำเป็นต้องมีเหตุผลหรือใช้เหตุผล เพราะนักเรียนปี 1 ไม่มีสิทธิใดๆทั้งสิ้นอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อถูกสั่งทำโทษก็ต้องก้มหน้าก้มตาทำไปจนกว่าการซ่อมจะจบลง

วัฒนธรรม “การซ่อม” เป็นแบบนี้มาช้านาน มีตั้งแต่ท่า “การออกกำลังกาย” ที่พลเรือนก็คุ้นเคยกันตามปรกติ เช่น ท่ายึดพื้น ลุกนั่งซิตอัพ ฯลฯ ไปจนถึงท่าทาง “พิสดาร” ต่างๆ ตามแต่พวก “คอมแมน” จะมีความคิดสร้างสรรค์ได้มากน้อยขนาดไหน โดยมีวัตถุประสงค์ให้นักเรียนมีความทรหดอดทนและมีร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์นั่นเอง

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนปี 2 คอมแมน หรือนายทหารระดับผู้หมวด ผู้กอง ไปจนถึงระดับผู้พัน ผู้การ เป็นผู้สั่งซ่อม และการซ่อมดังกล่าวจะใช้ท่าพิสดารมากน้อยขนาดไหนก็ตาม

การสั่งลงโทษนักเรียนเตรียมทหารจะไม่มีการ “ทำร้าย” หรือห้าม “โดนตัว” กันอย่างเด็ดขาด ถือเป็นระเบียบปฏิบัติที่ผู้มีอำนาจสั่งซ่อมต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และจะไม่กระทำการฝ่าฝืนระเบียบเหล่านี้เป็นอันขาด เพราะทราบดีว่าการทำเช่นนั้นหากถูกร้องเรียนหรือความจริงเปิดเผย ผู้ที่ใช้อำนาจดังกล่าวก็ถือว่าเป็นผู้กระทำความผิดและต้องถูกลงโทษตามระเบียบเช่นเดียวกัน

ยกเว้นอยู่กรณีเดียวที่เราเรียกกันว่า “ตีแมว” การตีแมวนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อนักเรียนคนนั้นมีความประพฤติหรือพฤติกรรมไม่เหมาะสม จนเป็นเหตุให้นักเรียนทั้งรุ่นโดนซ่อมอยู่ตลอดเวลา อาจมีสาเหตุจากการไม่ให้ความร่วมมือ กินแรงเพื่อน เอารัดเอาเปรียบเห็นแก่ตัว ไปจนถึงพฤติกรรมอื่นๆที่อาจจับไม่มั่นคั้นไม่ตาย แต่เพื่อนๆแน่ใจว่าเป็นไอ้นี่แน่นอน ยกตัวอย่างการขโมยของเพื่อนเป็นต้น ซึ่งการตีแมวจะเป็นการดำเนินการของรุ่นเองไม่เกี่ยวกับคนอื่น

เมื่อตัดสินใจว่าจะมีการตีแมวเกิดขึ้น เรื่องนี้จะแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบหรือไม่ก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะไม่แจ้ง วิธีการตีแมวจะเริ่มขึ้นในช่วงดึกสงัด โดยนักเรียนที่ทำหน้าที่เข้ายามจะมาปลุกคณะตีแมวทุกคนให้ลุกขึ้นมาจากเตียงพร้อมๆกัน

ก่อนที่จะเล่าต่อ ผมต้องให้ท่านผู้อ่านจินตนาการถึงโรงนอนของทหารเสียก่อนว่ามีลักษณะเหมือนห้องโถงใหญ่ที่มีเตียงวางเรียงกันอย่างเป็นระเบียบ และเมื่อถึงเวลาที่ได้ยินเสียงแตรเดี่ยวเป่าบอกเวลานอน นักเรียนจะต้องขึ้นมากางมุ้งเพื่อกันยุง เพราะหน้าต่างโรงนอนไม่มีมุ้งลวด และต้องเข้านอนตามเวลาทุกคน

เมื่อปิดไฟแล้วในโรงนอนจะค่อนข้างมืด คณะตีแมวที่ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยเพื่อนไม่น้อยกว่า 7-8 คน จะเดินไปยังมุ้งเป้าหมายที่จะโดนตีแมว และเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าการตีแมวจะราบรื่น ก่อนเริ่มพิธีกรรมเพื่อนๆจะเอาเข็มกลัดมากลัดมุ้งกับที่นอนไว้โดยรอบ 360 องศา เพื่อไม่ให้เป้าหมายหลุดออกมานอกมุ้งได้

เมื่อพร้อมแล้วการตีแมวก็เริ่มขึ้น โดยเพื่อน 2 คนจะปลดสายมุ้งทั้ง 2 ลงมา จากนั้นจะเริ่มตีแมว โดยส่วนใหญ่เพื่อนทุกคนจะใช้รองเท้าคอมแบทกระหน่ำฟาดไปที่ร่างที่อยู่ในมุ้ง เวลาในการตีทั้งหมดไม่น่าจะเกิน 10 วินาที จากนั้นคณะตีแมวจะหายวับกลับเข้าไปในมุ้งตัวเอง ไม่รู้ใครเป็นใคร มีแต่เพื่อนรอบๆเตียงของผู้ถูกตีแมวต้องช่วยกันปลดเข็มกลัดที่กลัดกับที่นอนออกเพื่อเอาร่างที่สะบักสะบอมออกมาช่วยเหลือกันต่อไป

ใครถูกตีแมวจะอับอายมาก เพราะเหมือนถูกแอนตี้จากรุ่นหรือเป็น “แกะดำ” ดังนั้น หลังจากถูกตีแมวคนเหล่านั้นส่วนใหญ่ก็จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและกลับมาเข้าสู่สังคมของเพื่อนๆได้ตามปรกติ ยกเว้นเพียงส่วนน้อยที่ทนไม่ไหวและต้องลาออกจากโรงเรียนต่อไปในที่สุด

ผมเล่าให้ฟังมาถึงตรงนี้เพียงเพื่อจะยืนยันว่า ในชีวิตการเป็นนักเรียนทหาร 7 ปี (เตรียมทหาร 2 ปี และนายเรืออากาศ 5 ปี) ของผม “เคยถูกซ่อม” และ “เคยซ่อม” มาอย่างโชกโชนเหมือนกับพี่น้องนักเรียนเตรียมทหารคนอื่นๆ แต่การซ่อมที่ผมรู้จักมาตลอด 7 ปีและมั่นใจมาตลอดจนถึงวันนี้ก็คือ ไม่ว่าจะซ่อมกันหนักแค่ไหน ผมไม่เคย “ซ้อม” หรือ “ถูกซ้อม” มาก่อนเลย พูดกันแบบตรงไปตรงมาก็คือ เราจะไม่แตะเนื้อต้องตัวและลงไม้ลงมือกันแบบป่าเถื่อนอย่างแน่นอน

ดังนั้น กรณีของ “น้องเมย” นั้น ถ้าคุณหมอที่ชันสูตรศพยืนยันว่าเสียชีวิตจากสภาวะหัวใจล้มเหลวฉับพลัน ผมก็เชื่อว่ามีความเป็นไปได้จากการถูก “ซ่อม” แต่ถ้าเสียชีวิตด้วยเหตุผลอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตรวจพบว่ามีอาการบาดเจ็บทางร่างกาย เช่น ซี่โครงหัก หรือมีเลือดคั่งที่อวัยวะภายใน ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงก็แปลว่าอาการที่ตรวจพบไม่ได้มาจากการ “ถูกซ่อม” เสียแล้ว

แต่อาจเกิดจากการ “ถูกซ้อม” ใช่หรือไม่!!! ซึ่งเขาไม่ทำกันในโรงเรียนเตรียมทหาร และผมคิดว่าเป็นสิทธิอันชอบธรรมของผู้ปกครอง “น้องเมย” ที่จะต้องสืบค้นความจริงต่อไปว่าการเสียชีวิตครั้งนี้เกิดจาก “การซ่อม” หรือ “ฆาตกรรม” กันแน่!


You must be logged in to post a comment Login