วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567

ปีหน้า.. คนจน(กัน)หมดประเทศ? / โดย ทีมข่าวการเมือง

On November 27, 2017

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

“ในปี 2561 รัฐบาลจะใช้โอกาสที่มีอยู่เร่งแก้ปัญหาความยากจนของประเทศ โดยตั้งเป้าหมายคนไทยทุกคนที่ยังมีความยากจนอยู่จะต้องหายจนให้ได้ในปีหน้า”

ถือเป็นวลีที่สร้างความฮือฮาและฮากลิ้งของ “เฮียกวง” สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ที่กล่าวในงานสัมมนา “Thailand 2018 จุดเปลี่ยนและความท้าทาย” เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แสดงถึงความมั่นใจของนายสมคิดที่กล้าประกาศว่า ภายในปี 2561 คนไทยจะหายจน จนหลายสื่อนำไปสรุปพาดหัวข่าวออกมาทำนองเดียวกันว่า “คนจนจะหมดประเทศ”

แม้ประโยคถัดมาที่นายสมคิดอธิบายวิธีทำให้คนไทยหายจนได้อย่างไรว่า “…วิธีการแก้ปัญหานั้น ตอนนี้กำลังคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน ทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ รวมไปถึงธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อหาทางออกมาตรการพิเศษออกมาดูแล โดยเฉพาะการกระจายเม็ดเงินลงไปยังชุมชนมากขึ้น”

แต่ดูเหมือนว่านายสมคิดก็ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์และโจมตีอย่างหนักเหมือนที่ผ่านมา ทั้งจากนักวิชาการ นักธุรกิจ และภาคประชาชน โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย

แม้แต่การปรับคณะรัฐมนตรี “ประยุทธ์ 5” ก็ยังมีกระแสเรียกร้องให้เปลี่ยนทีมเศรษฐกิจยกชุด การที่นายสมคิดกล้าประกาศออกมาเช่นนี้คงเพราะเห็นว่ากว่า 2 ปีที่ทำหน้าที่ “หัวหน้าทีมเศรฐกิจ” ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมเริ่มมีอัตราการเติบโตที่ดีขึ้นนั่นเอง แต่ความจริงแล้วคำว่าดีนั้นอาจแค่เฉพาะกลุ่มทุนขนาดใหญ่ไม่กี่กลุ่มเท่านั้นที่ได้รับอานิสงส์ ขณะที่ธุรกิจขนาดกลางและเล็กจำนวนมากหากไม่ล้มละลายก็ต้องลดขนาดหรือปลดพนักงานเพื่อความอยู่รอด ไม่ต้องพูดถึงคนชั้นกลางและคนยากจน โดยเฉพาะเกษตรกร ชาวไร่ชาวนา ต่าง “จน” กันทั่วหน้า

ถึงกระนั้นนายสมคิดก็ยังมั่นใจ เพราะเชื่อว่ามาตรการมากมายที่รัฐบาลทหารได้ประกาศออกมาในลักษณะทั้งลดและแจกสิทธิประโยชน์ต่างๆให้กับนักลงทุน แม้แต่การให้เช่าที่ดินยาวนานถึง 99 ปี ทั้งหมดก็เพื่อให้นักลงทุนไทยและต่างชาติกล้าลงทุนมากขึ้น หรือไม่ย้ายฐานการลงทุนไปประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังโตวันโตคืน ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม ฟิลิปปินส์ หรืออินโดนีเซีย

แม้มาตรการหลายอย่างที่ออกมาจะถูกมองว่าเป็นการเลียนแบบแนวความคิดรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เพราะนายสมคิดเคยร่วมรัฐบาลทักษิณ โดยเฉพาะการกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าตาม “นโยบายประชารัฐ” ก็เป็นแนวความคิดเดียวกับ “นโยบายประชานิยม” เพียงแต่เรียกชื่อใหม่ เช่น โครงการบ้านเอื้ออาทรเปลี่ยนเป็นโครงการบ้านประชารัฐ กองทุนหมู่บ้านเปลี่ยนเป็นกองทุนเศรษฐกิจฐานราก ร้านธงฟ้าเป็นร้านประชารัฐ ฯลฯ แต่ผลลัพธ์กลับออกมาไม่เหมือนเดิม เพราะการทำงานแบบบูรณาการของคณะรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งในยุคทักษิณนั้นแตกต่างราวฟ้ากับเหวกับรัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้ง ทั้งโลกสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้ “การลอกเลียน” และแค่การ “เปลี่ยนชื่อ” ไม่สามารถใช้งานได้ผลอีกต่อไป

กลุ่มทุนใหญ่ครอบคลุมรัฐ

ที่น่าสนใจคือการดึงกลุ่มทุนใหญ่เข้ามาร่วมผลักดัน “บริษัทประชารัฐรักสามัคคี” ให้มีการจัดตั้งร้านประชารัฐในทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยรัฐบาลทหารจัดสรรงบประมาณผ่านโครงการต่างๆ เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ให้ผู้มีรายได้น้อยที่มาลงทะเบียน 14 ล้านคน นำเงินมาใช้จ่ายผ่านร้านประชารัฐหรือตลาดประชารัฐที่จำหน่ายสินค้าราคาถูกให้ประชาชนที่ลงทะเบียนและประชาชนทั่วไป แต่ก็มีคำถามว่าสุดท้ายเงินอยู่ไหนกันแน่? คนจนหรือร้านค้า กลุ่มใดคือผู้ได้ประโยชน์สูงสุด?

ผศ.ดร.สามชาย ศรีสันต์ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในงานเสวนา “ประชารัฐคืออะไร เพื่อคนไทยหรือเพื่อนายทุน? ว่า การนำภาคธุรกิจเอกชนมาเป็นส่วนขับเคลื่อนที่แทบจะควบคุมรัฐเป็นการสร้างโครงสร้างทางสังคมที่อันตราย ประชารัฐจะทำให้ความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมเพิ่มสูงขึ้น โดยทุนขนาดใหญ่เอกชนจะครอบคลุมรัฐ (อ่านเพิ่มเติมหน้า 10)

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวในบทความ “จนไม่จด คนจดกลับไม่จน ช่องโหว่นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ว่า ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลแจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อาทิ “คนจนไม่ได้ คนได้ไม่จน” เพราะงบประมาณในการสำรวจแทนที่รัฐบาลจะนำไปจ้างอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่รู้ว่าใครเป็นใครในชุมชนของตนเอง รู้ว่าแต่ละคนในชุมชนมีความเป็นอยู่อย่างไร ให้ไปเก็บข้อมูล กลับจ้างนักศึกษาไปทำแทน ผลคือนักศึกษาที่เป็น “คนนอก” ไม่รู้จักชุมชนนั้นๆดี ข้อมูลที่ได้กลับมาจึงคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง “ให้ไปก็ไม่ทั่วถึง” เช่น การกำหนดให้ใช้บัตรได้ที่ร้านธงฟ้าเท่านั้น ปัญหาคือคนจนในพื้นที่ชนบทห่างไกลอยู่บนเขาบนดอยจะใช้บัตรได้อย่างไร?

จนแล้วจนอีก รวยก็รวยเอาๆ

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊คว่า ตามที่รองนายกรัฐมนตรีประกาศจะทำให้คนจนหมดไปจากประเทศไทยในปีหน้า แต่ข้อมูลล่าสุดของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติชี้ว่าคนจนในประเทศไทยกลับเพิ่มขึ้น ไม่ใช่ลดลง จากการสำรวจความยากจนโดยเทียบกับเส้นความยากจนที่ 2,920 บาทต่อคนต่อเดือนพบว่า ในระหว่างปี 2558-2559 ประเทศไทยมีคนจนเพิ่มขึ้น 963,000 คน หรือเกือบ 1 ล้านคน จากเดิมมีคนจน 4.847 ล้านคนในปี 2558 ก็เพิ่มเป็น 5.810 ล้านคนในปี 2559 (หรือเพิ่มขึ้น 20% จากจำนวนคนจนในปี 2558)

ในจำนวนคนจนที่เพิ่มขึ้นเกือบ 1 ล้านคน แยกเป็นคนจนในเมืองเพิ่มขึ้น 436,000 คน (หรือเพิ่มขึ้นถึง 24% ของจำนวนคนจนในเมืองในปี 2558) และคนจนในชนบทเพิ่มขึ้น 527,000 คน (หรือเพิ่มขึ้น 17% ของจำนวนคนจนในชนบทในปี 2558) ถ้ามองในแง่สัดส่วนความยากจนพบว่า สัดส่วนของคนจนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 7.21% (หรือมีคนจน 7 คนในประชากร 100 คน) เป็น 8.61%

ดร.เดชรัตยังระบุว่า ตลอดช่วงเวลา 30 ปีภาวการณ์ที่ความยากจนเพิ่มขึ้นเกิดขึ้น 3 ครั้ง ครั้งแรกปี 2541-2543 ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง จำนวนคนจนเพิ่มขึ้น 5.5 ล้านคน ครั้งที่สองปี 2551 ช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ จำนวนคนจนเพิ่มขึ้น 398,000 คน และครั้งที่สามคือครั้งนี้ ซึ่งมีจำนวนคนยากจนเพิ่มขึ้นมากกว่าครั้งวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เสียอีก

การเพิ่มขึ้นของคนจนในครั้งนี้แตกต่างจาก 2 ครั้งแรกตรงที่ 2 ครั้งแรกเกิดในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำ (อัตราการเติบโตของ GDP ติดลบ) แต่ครั้งนี้กลับไม่ใช่ เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงเป็นบวกอยู่ แต่รายได้ของพี่น้องคนจนกลับลดลง

ดังนั้น การเพิ่มขึ้นของคนจนในครั้งนี้อาจไม่ใช่วิกฤตตามสถานการณ์ในวัฏจักรเศรษฐกิจ แต่น่าจะเป็นวิกฤตในเชิงโครงสร้างที่เหลื่อมล้ำกันในสังคมมากกว่า เช่น ในช่วงตั้งแต่ปี 2557-2560 ค่าจ้างที่แท้จริง (หักอัตราเงินเฟ้อออกแล้ว) ของพี่น้องแรงงานแทบไม่เพิ่มขึ้นเลย และรายได้ที่แท้จริงของพี่น้องเกษตรกรยังคงต่ำกว่าปี 2556 แม้จะเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่ประสบภัยแล้งเล็กน้อย ในขณะที่การส่งออกและการท่องเที่ยวกำลังเติบโตได้ดี

เมื่อเป็นวิกฤตในเชิงโครงสร้าง การเติมเงินให้คนจนโดยไม่ได้ช่วยให้โอกาสของพี่น้องคนจนมีมากขึ้น และไม่ได้ปรับโครงสร้างที่เหลื่อมล้ำกันให้ลดน้อยลง เช่น ความเหลื่อมล้ำทางทรัพย์สิน ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ก็คงยากที่จะทำให้คนจนลดจำนวนลงอย่างที่ประกาศไว้

ไม่เชื่อคนจนจะหมดประเทศไปได้

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร กล่าวว่า ความยากจนตามคำนิยามของธนาคารโลกระบุถึงผู้ที่มีรายได้น้อยไม่กี่ดอลลาร์และอดอยากไม่มีอาหารกินเช่นเดียวกับคนแอฟริกัน สำหรับประเทศไทยคงไม่มีแล้วหรืออาจจะมีแต่ไม่มากนัก เพราะปัญหาความยากจนของคนไทยคือช่องว่างความเหลื่อมล้ำของรายได้ การเข้าถึงการศึกษา หรือการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐมากกว่าปัญหาอื่น

ที่นายสมคิดประกาศว่าจะไม่มีคนจนในประเทศจึงน่าจะเป็นเรื่องการขับเคลื่อนนโยบายที่เป็นรัฐสวัสดิการให้กับกลุ่มคนจนให้ตรงเป้าหมายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น มากกว่าจะหมายถึงการทำให้คนจนหมดประเทศไทยในความหมายอื่น

“ผมคิดว่าท่านรองสมคิดคงไม่ได้หมายถึงทำให้คนจนหมดไปทั้งประเทศ เพราะรู้อยู่แล้วว่ามีคนจนมาขึ้นทะเบียน 12 ล้านคน แต่คงหมายถึงการจัดสวัสดิการให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เพราะการทำให้คนจนหมดไปคงทำไม่ได้หรืออาจไม่มีคนทำได้”

แล้วแต่การกำหนด “เส้นความยากจน”

นายภุชพงค์ โนดไธสง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า หากคำนวณจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นเดือนละ 26,973 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งสำรวจรายได้ของครัวเรือนของคนไทยใน 6 เดือนแรกปี 2560 ทำให้ค่าเฉลี่ยรายได้ทั้งปี 200,000 บาทต่อครัวเรือน เกินกว่าเส้นความยากจนจากการขึ้นทะเบียนคนจนของกระทรวงการคลังที่กำหนดเอาไว้ที่ 100,000 บาท หากรัฐบาลไม่ขยับเส้นความยากจนเพิ่มตามรายได้ที่เพิ่มก็ถือว่าประเทศไทยมีประชาชนที่อยู่เหนือเส้นความยากจนมากขึ้น แต่หากขยับตามไปที่ 200,000 บาทต่อครัวเรือนก็จะยังมีคนจนอยู่เช่นเดิม

นายภุชพงค์กล่าวว่า ความยากจนขึ้นอยู่กับนิยามไว้อย่างไร หากหมายถึงเรื่องรายได้ในแต่ละปี รายได้เฉลี่ยของคนไทยเพิ่มขึ้น แต่ยังห่างไกลจากรายได้ที่เป็นเส้นความยากจนของประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำของรายได้ระหว่างคนมีรายได้มากกับรายได้น้อยของไทยยังมีช่องว่างสูงมาก

คนจนลดลง คนเกือบจนมากขึ้น

.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวในงานเสวนา “คนจนในบริบทที่เปลี่ยนไปในสังคมปัจจุบัน” ว่า เมื่อสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไป รูปแบบของความยากจนก็เปลี่ยนตาม จาก “สังคมชาวนา” ไปสู่ความเป็น “สังคมผู้ประกอบการ” เมื่อเกิดปัญหาขึ้น คนในสังคมผู้ประกอบการจะต้อง “แบกรับ” ความเสี่ยงที่ “หนักหน่วง” ยิ่งกว่า เพราะไม่สามารถดึงเอากำลังของญาติสนิทมิตรสหายมาช่วยเหลืออย่างสมัยที่เป็นสังคมชาวนาได้ โดยจากสถิติ 27 พื้นที่ในชนบทที่เข้าไปศึกษา แม้พบว่าจำนวนคนจนลดลง แต่ “คนเกือบจน” กลับมีจำนวนมากขึ้น

“หากไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคม เราก็จะไม่เข้าใจความยากจนต่อคนจน จะเห็นได้ว่าสังคมไทยลดทอนปัญหาสังคมให้กลายเป็นปัญหาของประชาชน ฉะนั้นเราต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบทและสังคมเมืองว่ามีความเปลี่ยนแปลงอะไร เพื่อที่เราจะได้วางคนจนให้ถูกในความเป็นไทย” ศ.ดร.อรรถจักร์กล่าว

รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำแนกว่าใครเป็นคนจนหรือไม่ว่า สามารถมองได้หลายมิติ อาทิ ความจนตามเกณฑ์ แต่ขณะเดียวกันก็มี “ความจนเชิงโครงสร้าง” ที่หมายถึงคนจนในโครงสร้างของระบบการผลิตที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ เช่น เกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ กรรมกร เป็นต้น คนเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงปัจจัยการผลิต ราคาพืชผล ที่ดินทำกิน และค่าจ้างแรงงานได้อย่างที่ควรจะเป็น

รศ.ดร.ประภาสระบุว่า “คนจนไม่สามารถต่อรองได้ เพราะการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ การถูกแย่งชิงฐานทรัพยากรของคนจนขาดการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจนโยบายสาธารณะ และคนจนในลักษณะกลุ่มคนที่ตกเป็นเบี้ยล่างเป็นกลุ่มคนในสังคมที่ถูกกดทับ ด้อยค่า ถูกเพิกเฉย มองไม่เห็น ถูกทำให้เป็นคนอื่น ซึ่งปัจจุบันนี้คนจนลดลงและคนเกือบจนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก”

ระวัง! ชนวนเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน

อีกเรื่องที่อาจเป็นประเด็นร้อนของผู้ที่ประกาศตนว่า “รักชาติรักแผ่นดิน” เหนือใครก็คือ การพยายามเซ็งลี้ประเทศเพื่อให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนด้วยการประเคนสิทธิพิเศษสารพัด แม้แต่การให้เช่าที่ดินยาวนานถึง 99 ปี ก็ถูกวิจารณ์ว่าอาจไม่ต่างอะไรกับการขายแผ่นดินหรือไม่? อย่างที่ รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวไว้ในหนังสือ “แผ่นดินจึงดาล” ว่า

“ในอีก 10 ปีข้างหน้านี้ เรื่องการพรากสิทธิจากที่ดินจะเป็นเรื่องใหญ่ ที่จริงก็ไม่ใช่เฉพาะในไทย ที่ผ่านมาไปทำวิจัยในลาวก็พบว่าสถานการณ์หนักมาก เขตเศรษฐกิจพิเศษไทยกำลังเดินตามรอยของลาว ที่พูดว่าขบวนการเซ้งประเทศมันคือการเซ้งที่ดินจำนวนมหาศาลให้กับทุน ซึ่งเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าถ้าเขาเอาที่ดินไปแล้วจะเอาไปทำอะไร…

เขตเศรษฐกิจพิเศษที่ถูกประกาศกันทั่วประเทศเกือบทั้งหมดอยู่ในเขตชายแดนในจังหวัดสำคัญๆ กินพื้นที่มหาศาลและมีกรอบเวลายาวเป็นชั่วอายุคน ในสนามการแข่งขันของทุนนิยมในประเทศด้อยพัฒนาในภูมิภาคนี้ เขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นสินค้าที่ถูกนำมาขายอย่างดุเดือด…ทั้งที่ไม่มีอะไรการันตีได้ว่ารัฐไทยจะมีความสามารถแข่งกับลาวหรือประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆในการดึงกลุ่มทุนมาลงทุนในพื้นที่ได้ แต่สิ่งที่รัฐทำคือประกาศเขตไปก่อน ยึดที่ดินมาก่อน อันนี้น่าจะเป็นประเด็นหรือเป็นชนวนสำคัญก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวใหญ่ในอนาคตอย่างแน่นอน”

อย่าให้คนหงุดหงิดทั้งประเทศ

“ใบตองแห้ง” คอลัมนิสต์ชื่อดัง โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ค Atukkit Sawangsuk ด้วยอาการฮากลิ้งถึงคำประกาศของ “เฮียกวง” ว่า จะทำให้ปีหน้าคนจนหมดประเทศหรือคนจนทั้งประเทศ ไม่แน่รัฐบาลอาจสั่งให้เรียกผู้มีรายได้น้อย ห้ามเรียกคนจน เหมือนน้ำท่วมให้เรียกน้ำรอระบาย เพราะเพิ่งขึ้นทะเบียนคนจน 14 ล้านคน แจกเงิน 200-300 บาท แล้วคนจนจะหมดได้ไง

นายสมคิดขี้โม้แบบนี้แหละ อย่างที่อาจารย์เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า นายสมคิดจบเอกการตลาดเหมือนนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ นักการตลาดรู้ว่าถ้าสามารถสร้างความรู้สึกจำแลงที่ดีให้กับผู้บริโภคก็ขายได้ กระตุ้นได้ เพียงแต่ครั้งนี้เว่อร์ไป

“ว่าที่จริงผมไม่โทษรัฐบาลนี้ทำเศรษฐกิจแย่ มันมีหลายภาวะผสมกัน เศรษฐกิจไทยต้องปรับโครงสร้าง ขายข้าว ขายยาง ขายแรงอยู่ไม่ได้แล้ว มันต้องไป AI เทคโนโลยี 4.0 รัฐบาลพูดไม่ผิด แต่ทิศทางนี้คือมันจะเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานน้อย แม้ตัวเลข GDP ดี ส่งออกดี แต่ความมั่งคั่งไม่กระจาย คนจำนวนมากจะปรับตัวไม่ได้ สังคมเข้าสู่สูงวัย เกษตรกร ลูกจ้าง SME หรือแม้แต่เด็กจบปริญญาตรีก็ลำบาก ฉะนั้นมันเป็นภาวะที่รัฐบาลต้องทำหน้าที่ส่งเสริมเศรษฐกิจภาคที่มีอนาคต สนับสนุนบางภาคให้ปรับตัว และพยุงหรือประคับประคองภาคที่ย่ำแย่อย่างภาคเกษตร

การที่รัฐบาลเข้าไปหนุน ไปอุ้มใครหรือไม่อุ้มใคร ทำให้คนคับข้องใจ เช่น ภาคประชาชนตั้งคำถามทำไมต้องเว้นภาษี 2 แสนล้านให้อุตสาหกรรมที่จะจ้างคนเพียง 55,000 คน หรือชาวสวนยางโวยยางราคาตกทำไมรัฐช่วยไม่ได้ พูดมากไปก็โดนปรับทัศนคติในค่ายทหาร

ภาวะอย่างนี้ถ้าเป็นรัฐบาลเลือกตั้งก็คงมีม็อบปั่นป่วน แต่รัฐบาลทหารตัดสินใจเบ็ดเสร็จ ใครค้านไม่ได้ แม้ดูเหมือนสงบ แต่เต็มไปด้วยความอึดอัดคับข้องใจ ไม่ได้ระบาย จุดที่ประชาชนจะไม่พอใจสุดๆมี 2 อย่างคือ หนึ่ง กรูลำบาก แต่คนรวยแม่-รวยได้รวยเอา แจกบัตรคนจน อ๊ะ ทำไมคนจบโทยังได้ แต่คนงานรายได้เดือนละ 9 พัน โดนตัดสิทธิอดใช้รถเมล์ รถไฟฟรี สอง ความไม่พอใจต่อระบบราชการ ทั้งมีอภิสิทธิ์ ใหญ่คับ วางอำนาจ ไม่เห็นหัวชาวบ้าน แต่ทำงานห่วย ฉ้อฉลอีกต่างหาก คนจนจะหมดประเทศหรือจนทั้งประเทศก็ไม่แน่ใจ แต่ระวังอย่าให้คนหงุดหงิดทั้งประเทศ”

ปีหน้า..คนจน(กัน)หมด(ทั้ง)ประเทศ?

คำประกาศของนายสมคิดว่า “คนไทยทุกคนที่ยังมีความยากจนอยู่จะต้องหายจนให้ได้ในปีหน้า” จนมีเสียงฮาอื้ออึง ยิ่งทำให้หลายฝ่ายจับตามองว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะปรับคณะรัฐมนตรีอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีที่มาจากทหารและทีมเศรษฐกิจของนายสมคิด ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการแก้ปัญหาและภาพลักษณ์ของรัฐบาลโดยรวมที่จะไม่ถูกมองว่าเป็นแค่ “รัฐบาลเพื่อนพ้องน้องพี่”

แม้คำประกาศของนายสมคิดจะกลายเป็นกระแส “ฮากลิ้ง” พร้อมคำถามว่าไม่รู้ว่าใครบ้าหรือใครเมาก็ตาม แต่เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น หรือจีดีพีจะโตเกิน 4% ก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่าการลงทุนโดยรวมจะดีขึ้น การส่งออกที่ดีขึ้นก็ได้กับกลุ่มทุนไม่กี่กลุ่ม ไม่ได้เกิดจากการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจให้ทันสมัย หรือแรงงานที่มีประสิทธิภาพ ขณะที่ปัญหาหนี้สาธารณะก็พุ่งไม่หยุด งบประมาณขาดดุลกว่า 1.33 ล้านล้านบาท และไม่มีแนวโน้มที่จะลดลงเลย

เหมือนคนจนที่นักวิชาการตอกกลับว่าไม่ได้ลดลง แต่คนจนเพิ่มขึ้น แม้แต่กระทรวงแรงงานยังระบุว่าคนว่างงานมากขึ้น เสียงเรียกร้องให้รัฐบาลทหารแก้ปัญหาปากท้องจึงดังไปทั่ว แม้รัฐบาลทหารจะมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ก็ไม่สามารถใช้ปืนปิดปากได้ตลอดไป ตลอดจนการปรามม็อบสวนยางด้วยการจับแกนนำชาวสวนยางพาราเข้าค่ายปรับทัศนคติก็ไม่อาจหยุดความไม่พอใจชาวสวนยางได้อีกต่อไป

สถานะความเชื่อมั่นและศรัทธาของรัฐบาลทหารและ คสช. วันนี้มีแต่ลงกับลง แม้แต่เครือข่ายภาคประชาสังคมในนามเครือข่ายนักพัฒนาองค์กรเอกชน 72 รายชื่อที่เคยออกมาร่วมเป่านกหวีดและสนับสนุนรัฐประหารยังออกแถลงการณ์ประกาศจุดยืนไม่ร่วมกลไกกับรัฐบาลทหาร

ความกลัวที่รัฐบาลทหารและ คสช. สร้างขึ้นมากว่า 3 ปีเพื่อจัดการกับฝ่ายตรงข้าม กำลังเปลี่ยนเป็นความไม่พอใจทหารมากขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังหลุดปากบ่นออกมาบ่อยครั้งว่า “เกลียดทหารกันนักหรือ?

ประเด็นสำคัญที่น่ากลัวกว่าความกลัวและความเกลียดก็คือ ความเดือดร้อนของประชาชนที่เกิดขึ้นทั่วทั้งแผ่นดิน ยิ่งทั้งหมดมาสะสมพอกพูนมากขึ้นก็อาจจะกลายเป็นมวลชนที่พร้อมจะลุกขึ้นมาต่อต้านผู้มีอำนาจในที่สุด โดยเฉพาะคนจนที่จนจริง ไม่ใช่จนแต่ทำให้ไม่จนเพราะวาทกรรมหรือการมโนว่าคนจนหมดประเทศเพราะอยู่เหนือเส้นความยากจน หรือใช้วิธีปิดปากด้วย “นโยบายประชารัฐ” ที่ทั้งลด แลก แจก แถม แต่กลับเป็นว่าทั่วถึงผู้แจกแทนที่จะทั่วถึงคนจน

ไม่ว่าวลีฮากลิ้ง “ปีหน้าคนจนหมดประเทศ” จะถูกนำมาล้อเลียนว่าหมายถึง “คนจน(กัน)หมด(ทั้ง)ประเทศ” หรือเปล่า? แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่า บัดนี้ไม่ใช่เวลาจะมาสรรหาคำเท่ๆ หรือแค่ลมปาก วาทกรรมเท่านั้น เพราะเวลาเกือบ 4 ปีได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนแล้วว่า การบริหารประเทศไม่ใช่แค่การมี “ทั่นผู้นำเป็นคนตลก” หรือมี “คณะรัฐมนตรีที่เป็นคนสนุกเท่านั้น แต่คนไทยนั้นคาดหวังกับทุกรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศว่าจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่เขาดีขึ้นด้วย

ปรกติทุก 4 ปีทางออกของประชาชนก็คือ การกลับไปสู่การเลือกตั้งที่เขาจะเลือกคนที่จะมาบริหารประเทศของเขาเอง ถ้าชอบเขาก็ให้อยู่ต่อ โดยการเลือกกลับมาให้เป็นใหม่ แต่ถ้าเขาไม่ชอบ เขาก็เปลี่ยนไปเลือกคนอื่น..

ต่างกันแค่ครั้งนี้ 4 ปีกว่ากว่าจะมีการเลือกตั้งที่ทั้งคิดค้นกติกาเอง และที่อยู่บริหารกันมารอบนี้ เขาก็ไม่ได้เลือก “ทั่นทั้งหลาย” มา แต่ทั่นเข้ามายึดอำนาจและเข้ามากันเอง ดังนั้น การให้ออกไปจึงไม่มีทางอื่นได้นอกจากท่านจะถูกโห่ไล่ออกไป หรือท่านรู้ตัวแล้วรีบลงจากหลังเสือออกไป

ไม่ว่า “ทั่นผู้นำ” จะแต่งเพลงใหม่ๆมาให้ ครม. เล่นเก้าอี้ดนตรีกันอีกกี่รอบ ความจริงก็คือปีหน้า.. คนจนก็ยังจนกันต่อไป..

ไป๊.. หมดเวลาเล่นตลกแล้ว.. “เฮียกวง” ชวน “ทั่นผู้นำ” ไปเล่นที่อื่นจะดีกว่ามั้ย!!??

 


You must be logged in to post a comment Login