วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

เค้ายังดีไม่พอหรา? / โดย ทีมข่าวการเมือง

On November 20, 2017

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

ป้ายข้อความ “ไทยแลนด์แดนกะลา” และ “ชาตะ 1.0 มรณะ 4.0” ในขบวนพาเหรดงานฟุตบอลประเพณีจตุรมิตรสามัคคี (สวนกุหลาบ-เทพศิรินทร์-อัสสัมชัญ-กรุงเทพคริสเตียน) กลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองและโซเชียลมีเดีย เพราะเชื่อว่ามีผู้อยู่เบื้องหลังป้ายเสียดสีการเมืองที่พุ่งตรงที่รัฐบาลทหารและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งโพสต์ภาพโดยเพจเฟซบุ๊ค นักเกรียนสวนกุหลาบ

ในการแข่งขันฟุตบอลประเพณีจตุรมิตรสามัคคี ครั้งที่ 28 ระหว่างวันที่ 11-18 พฤศจิกายน ที่สนามศุภชลาศัย มีการถือป้ายผ้าดังกล่าวของนักเรียนสวนกุหลาบ ทำให้พวกศิษย์เกรียนรุมสวดกันยกใหญ่ว่าไม่รักชาติ เนรคุณแผ่นดิน ดูหมิ่นสถาบัน หาเรื่องให้แตกแยก ขาดคุณธรรม จริยธรรม ลืมรากเหง้า ฯลฯ

ไม่ว่าป้ายข้อความนี้จะมีเจตนาหรือเบื้องหลังอย่างไรก็ตาม ด้านหนึ่งก็มีการชี้แจงว่า ขบวนพาเหรดเป็นการแสดงถึงบ้านเมืองในแต่ละยุค โดยเปรียบเทียบตั้งแต่ยุค 1.0, 2.0, 3.0 และ 4.0 ซึ่งโรงเรียนสวนกุหลาบได้หัวข้อยุค 1.0 เป็นยุคเกษตรกรรมเก่าที่ถือเป็นยุคของชาวนา แต่ในยุค 4.0 กำลังเป็นอาชีพที่หมดไปคือมรณะ

ส่วนใครจะตีความหมายในทางการเมืองเพื่อเปรียบเทียบหรือแดกดันรัฐบาลทหารและ คสช. หรือจะถือว่าเป็นคำตอบ 6 คำถามของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ก็เป็นสิทธิของแต่ละคน

6 คำถามเพื่อไม่ให้เสียของ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นการเมืองที่ร้อนที่สุดขณะนี้คงหนีไม่พ้น 6 คำถามของ พล.อ.ประยุทธ์ หลังจากที่พรรคการเมืองออกมาเรียกร้องให้ปลดล็อกพรรคการเมืองตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 แต่ พล.อ.ประยุทธ์บอกว่ายังไม่ถึงเวลา และยังตั้งคำถาม 6 ข้อ โดยเฉพาะข้อที่ 6 ที่ถามว่า “ข้อสังเกตเพื่อพิจารณา เหตุใดพรรคการเมือง นักการเมือง จึงออกมาเคลื่อนไหว คอยด่า คสช. รัฐบาล นายกรัฐมนตรี บิดเบือนข้อเท็จจริงในการทำงานในช่วงนี้อย่างมากผิดปรกติ?

คำถามข้อที่ 6 และย้อนไปถึงการตั้งคำถาม 4 ข้อเดิม ยิ่งทำให้ฝ่ายการเมืองมองว่า พล.อ.ประยุทธ์บิดเบือนความจริงและกลบเกลื่อนการแก้ปัญหาประเทศที่ล้มเหลวเกือบทุกด้าน จึงเปลี่ยนกลยุทธ์โดยโยนระเบิดไปที่นักการเมืองและพรรคการเมือง พร้อมๆกับหยั่งเสียงหรือ “โยนหินถามทาง” ว่าประชาชนมีความเห็นอย่างไรกับนักการเมือง รัฐบาลทหาร และ คสช.

แต่อีกด้านหนึ่งก็สะท้อนชัดเจนถึงบทบาทของรัฐบาลทหารและ คสช. ที่กลายเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับฝ่ายการเมือง รวมถึงกระแสข่าวการตั้งพรรคทหารหรือพรรคนอมินีเพื่อ “สืบทอดอำนาจ” ตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ในรัฐธรรมนูญและแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อไม่ให้ถูกประณามว่ารัฐประหารครั้งนี้ “เสียของ-เสียเปล่า” เช่นเดียวกับรัฐประหารปี 2549

6 คำถามเพราะความกลัว

นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เหมือนการโยนหินถามทาง อยากรู้ว่าหากมีพรรคใหม่ตั้งขึ้นคนจะว่าอย่างไร และหาก คสช. จะเชียร์พรรคนั้นด้วยจะว่าอย่างไร ถ้าประชาชนสนับสนุน พรรคที่ คสช. เชียร์จะเกิดได้เลย ซึ่งต้องดูถึงการตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งด้วย เพราะ คสช. คุม ส.ว. ที่แต่งตั้งเอง และยังมียุทธศาสตร์ชาติที่บังคับให้รัฐบาลใหม่ต้องปฏิบัติตาม เท่ากับ คสช. ยังคุมรัฐบาลหลังเลือกตั้งอยู่

นายปริญญากล่าวว่า คสช. ต้องการเอาประชาชนมาสร้างความชอบธรรม ดังนั้น ฝ่ายการเมืองจะเรียกร้องให้ปลดล็อกอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องคิดด้วยว่าทำไมการเมืองที่มาจากการปฏิวัติจึงได้รับการสนับสนุนจากประชาชนให้อยู่ในอำนาจได้ถึง 3-4 ปีเท่ากับวาระของรัฐบาลจากการเลือกตั้ง การเมืองที่มาจากการเลือกตั้งจึงต้องปฏิวัติตัวเองเพื่อแย่งศรัทธาประชาชนคืนให้ได้ ถ้าประชาชนเห็นว่าการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งดีกว่า เชื่อว่า คสช. ต้องกลับกรมกองของตัวเอง

นายสุขุม นวลสกุล นักวิชาการรัฐศาสตร์ กล่าวว่า เป็นคำถามที่ไม่น่าเอามาถามเช่นเดียวกับ 4 คำถามก่อนหน้านี้ แสดงให้เห็นถึงการขาดความเชื่อมั่นสิ่งที่ทำมา ไม่เชื่อว่ารัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาเองจะทำให้ไม่มีนักการเมืองอย่างที่ไม่ต้องการ ทั้งที่ คสช. บอกว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดฉบับหนึ่ง

นายสุขุมมองว่าการตั้ง 6 คำถามครั้งนี้เป็น “ความกลัว” จึงต้อง “มัดตราสัง” พรรคการเมืองที่เป็นปรปักษ์เพื่อให้มั่นใจว่ารัฐประหารจะไม่ “เสียของ” และเป็นหลักประกันการ “สืบทอดอำนาจ” เพราะไม่มั่นใจพรรคการเมืองที่เป็น “หุ่นเชิด” หรือ “นอมินี”

6 คำถามเพื่อเปลี่ยนเกม

นายสติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวกับบีบีซีไทยว่า เป็นการถามตรงๆว่าถ้าตั้งพรรคการเมืองลงสู่สนามเลือกตั้งประชาชนจะสนับสนุนหรือไม่ อย่างคำถามข้อที่ 1 และ 2 เป็นลักษณะดึงให้ประชาชนคล้อยตาม แล้วไปตบที่ข้อ 3 ด้วยการโชว์ผลงานของรัฐบาล

ส่วน พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งหรือไม่นั้น รัฐธรรมนูญกำหนดอยู่แล้วว่าลงสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้ แต่อนาคตทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์มีนัยที่ซ่อนอยู่ในคำถามระหว่างเป็น “นายกฯในบัญชีพรรคการเมือง” หรือรอรับเทียบเชิญเป็น “นายกฯคนนอก”

“ถ้าจะเป็นนายกฯในบัญชีพรรคตั้งแต่ก๊อกแรก เจ้าตัวต้องยินยอมให้ใส่ชื่อตั้งแต่ช่วงหาเสียง เอาตัวเองไปเป็นส่วนหนึ่งของพรรคนั้น เรียกว่าเปิดหน้าสู้ในสนามเลือกตั้งเลย ถ้าได้เข้ามาจริงก็จะสง่างาม แต่ความเสี่ยงคือหากพรรค คสช. ไม่ชนะเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 แล้วไปรวมพรรคอื่นๆตั้งรัฐบาลเสนอชื่อนายกฯแข่ง มันจะประหลาด แต่ถ้าเลือกมาในก๊อก 2 จะเป็นอารมณ์ว่าสมาชิกรัฐสภา 750 คน หาคนดีกว่านี้ไม่ได้แล้ว ต้องเสนอชื่อคนนอกบัญชี ก็จะมาแบบ “นายกฯ คนดี” “อัศวินขี่ม้าขาว” แต่ก็อาจเกิดกระแสต่อต้านการสืบทอดอำนาจ ซ้ำรอยเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ได้

นายสติธรชี้ว่า เหตุที่ พล.อ.ประยุทธ์เลือกปล่อย 6 คำถามในช่วงนี้น่าจะเป็นเพราะเข้าสู่โค้งสุดท้ายก่อน คสช. ยอมปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ จึงต้องการข้อมูลประกอบการตัดสินใจ โดยมีประสบการณ์การเมืองของนายพลรุ่นพี่อย่างคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่แอบสนับสนุนพรรคเพื่อแผ่นดินในการเลือกตั้งปี 2550 เป็นบทเรียน “การแอบอยู่ข้างหลังอาจทำให้กระแสไม่พุ่ง นี่เป็นสิ่งที่ คสช. นำมาทบทวนแล้วเลือกเปิดตัวแบบโจ่งแจ้ง”

“ทิศทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งนี้คือการเมืองแบบ 3 ก๊ก ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคอื่นๆ ภายใต้สมมุติฐานไม่มีพรรคใดได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งในสภา ดังนั้น พรรคทหารก็ต้องเกิดขึ้นมาเพื่อสร้างให้ตัวเองมีอำนาจต่อรองสูงสุดในการเมือง 3 ฝ่าย ในการโหวตเลือกนายกฯ” นายสติธรกล่าว

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เห็นว่าคำถามทั้ง 6 ข้อล้วนมีนัยซ่อนอยู่ ถือเป็น “การสื่อสารทางการเมือง” ที่มีเป้าหมายอย่างน้อย 5 ประการคือ 1.จุดประกายทางความคิดของประชาชนให้คิดตามกรอบคำถามที่ตั้งขึ้น 2.กระตุ้นให้ฝ่ายสนับสนุน คสช. ร่วมเดินหน้าขับเคลื่อนสิ่งที่รัฐบาลทำมา 3.แสดงผลงานของรัฐบาลที่ฝ่ายการเมืองทำไม่ได้ 4.เคลื่อนไหวตอบโต้ทางการเมืองฝ่ายการเมืองที่กำลังรุกหนัก และ 5.นำข้อมูลไปประกอบการตัดสินใจทบทวนเปลี่ยนแปลงการทำงานในบางประการ

คำถาม 6 ข้อของหัวหน้า คสช. เป็นส่วนหนึ่งของ “ยุทธศาสตร์ทางลงจากอำนาจ” หรือ exit strategy “ความจริงคนที่จะเข้าสู่อำนาจต้องคิด exit strategy ตั้งแต่แรก โดยเฉพาะทหารเป็นนักยุทธศาสตร์ ต้องคิดตั้งแต่มาวันแรกๆเลยว่าจะจบอย่างไรให้สวย ซึ่งในการลงอาจลงจากตรงนี้ แล้วไปต่อที่ตรงอื่น

อย่างไรก็ตาม นายนพดลไม่คิดว่าคำถามของ พล.อ.ประยุทธ์คือการปูทางไปสู่การจัดตั้งพรรคทหาร แต่เป็นแผน “เปลี่ยนเกม” กลบกระแสด้านลบที่เกิดขึ้นกับรัฐบาล คสช. เท่านั้น ในทางทหารเรียก “วอร์เกม” หรือ “เกมสงคราม” เมื่อเล่นเกมเดิมไม่ได้ก็ต้องขึ้นเกมใหม่ นี่คือการเบี่ยงประเด็น คือการชิงพื้นที่สื่อเพื่อบริหารจัดการอารมณ์สาธารณชน

6 คำถามทำให้ คสช. ด้อยค่า

นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊คว่า คำถาม 6 ข้อที่ “ด้อยค่า” เป็นความพยายามชี้นำสังคมอย่างไม่เป็นเหตุเป็นผล ขัดแย้งในตัวเอง และแสดงเจตนาที่จะทำผิดกฎหมายอย่างชัดแจ้ง การที่ คสช. จะสนับสนุนพรรคใดพรรคหนึ่งด้วยการแสดงความคิดเห็นหรือใช้อำนาจหน้าที่สนับสนุนนั้นย่อมผิดกฎหมาย เพราะข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ ต้องวางตัวเป็นกลาง แม้ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งก็ไม่สามารถใช้อำนาจหน้าที่สนับสนุนพรรคใดได้

คำถาม 6 ข้อมีจุดมุ่งหมายที่เปิดเผย ไม่อ้อมค้อมอำพรางใดๆ คือเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องที่มีแต่จะทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อประเทศและประชาชน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ต้องการสืบทอดอำนาจต่อไปโดยไม่ฟังเสียงประชาชนแม้จะมีเลือกตั้งแล้วก็ตาม แสดงให้เห็นว่าไม่ต้องการให้พรรคและนักการเมืองที่เคยเป็นรัฐบาลกลับมาเป็นรัฐบาลอีก คสช. จึงจะสนับสนุนบางพรรคทั้งที่ตั้งขึ้นใหม่และที่มีอยู่แล้ว เพื่อตั้งรัฐบาลภายใต้กำกับของ คสช. มาบริหารประเทศตามยุทธศาสตร์และแผนปฏิรูป โดยอ้างว่าหากมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะเกิดความขัดแย้ง ความรุนแรงและแตกแยกเหมือนก่อนรัฐประหาร และไม่สามารถบริหารประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ มีธรรมาภิบาล และมีความต่อเนื่องได้

พล.อ.ประยุทธ์กับพวกได้วางแผนเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายตั้งแต่ยึดอำนาจ ร่างรัฐธรรมนูญ การตั้งคำถามเพิ่มเติมในขั้นลงประชามติ ออกกฎหมายลูก ตั้งคำถาม 4 ข้อก่อนหน้านี้ การจัดการกับบางพรรค จำกัดสิทธิเสรีภาพของพรรค และพูดถึงการตั้งพรรคใหม่ เหตุใด พล.อ.ประยุทธ์จึงตั้งคำถาม 6 ข้ออย่างไม่ละอาย

การตั้งคำถามครั้งนี้คือการชี้นำสังคม หวังจะได้รับแรงสนับสนุนจากประชาชนมากพอที่จะใช้เป็นข้ออ้างทำตามแผนของตนต่อไป และที่ต้องตั้งคำถามเพราะที่ทำมาทั้งหมดยังไม่เป็นไปตามแผน พรรคใหญ่ยังไม่ถูกทำลายจนราบคาบ คะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาล คสช. ลดลง ปัญหาของประชาชนมากขึ้นจนไม่มีทีท่าว่าจะแก้ไขได้ หากมีการเลือกตั้งขึ้นในสภาพนี้ก็ไม่มีหลักประกันว่า พล.อ.ประยุทธ์และพวกจะเป็นรัฐบาลได้ต่อไปอีก

จะลงก็ไม่ได้และไม่ได้อยากลงอยู่แล้ว สิ่งที่ทำไม่เป็นตามแผน จบไม่ได้อย่างที่ต้องการ สิ่งที่ทำมาเสียของ และคำถามที่ว่าทำไมนักการเมืองออกมาโจมตีรัฐบาล คสช. กันมากในช่วงนี้ ต้องบอกว่าไม่ใช่เฉพาะนักการเมือง แต่ใครๆก็วิจารณ์ เพราะเห็นว่ายิ่งอยู่นานก็ยิ่งทำความเสียหายแก่ประเทศ คนที่ทำให้รัฐบาล คสช. ด้อยค่าก็คือ คสช. และคำถามทั้ง 6 ข้อ ยิ่งทำให้ คสช. ด้อยค่าลงไปอีกนายจาตุรนต์ระบุ

6 คำถามได้ศูนย์คะแนน

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มองว่า การตั้งคำถามเพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริง เพราะรัฐบาลกำลังประสบปัญหาหลายเรื่อง โดยเฉพาะการไม่รักษาคำพูด การไม่ปลดล็อกพรรคการเมืองทั้งที่กฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว การใช้มาตรา 44 จนเกิดแรงกระเพื่อมที่กระทรวงแรงงาน และการจัดซื้อจัดจ้างที่มีปัญหาหลายเรื่อง จึงพยายามทำให้ประชาชนมองว่านักการเมืองบิดเบือนข้อเท็จจริง โยนระเบิดให้นักการเมืองและพรรคการเมืองที่วิจารณ์ คสช.

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ตอบเป็นข้อๆและสรุปว่า “การถามคำถามอย่างนี้ผมให้ศูนย์คะแนน ซึ่งต้องถามนายกฯว่าต้องการความสงบเรียบร้อยแบบในเรือนจำหรือความวุ่นวายแบบในตลาดสด นายกฯชอบแบบในเรือนจำหรือจึงสั่งให้นั่ง ยืน นายกฯเกลียดความวุ่นวายในตลาดสดหรือไม่ เพราะประชาธิปไตยมีความวุ่นวายเหมือนในตลาดสด ซึ่งอาจตีหัวหมา ด่าแม่เจ๊ก แต่นี่คือประชาธิปไตย ทั้ง 6 ข้อที่ถามมานี้ ผมอยากไปตอบให้นายกฯฟังในที่สาธารณะว่า นายกฯสอบตกที่ถามคำถามเหล่านี้ แสดงถึงความไม่เข้าใจประชาธิปไตย คำถามเหล่านี้ไม่ควรถาม เหมือนไปเปรียบเทียบว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกับรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารอะไรดีกว่ากัน หรือผู้หญิงกับผู้ชายอะไรดีกว่ากัน ถามอย่างนี้ไม่ตีกันตายหรือ แล้วนายกฯจะถามทำไม”

6 คำถาม 1 สิทธิ 1 เสียง

ส่วนบรรยากาศวันที่ 13 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันแรกที่ให้ประชาชนตอบ 6 คำถามที่ศูนย์ดำรงธรรมทั่วประเทศนั้น กระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือด่วนที่สุดถึงหน่วยงานต่างๆให้เตรียมความพร้อมประชาชนที่มาแสดงความคิดเห็น โดยมีแบบฟอร์มให้เลือกตอบแบบปรนัย  มีเพียงข้อ 6 ที่พุ่งเป้าไปที่พรรคการเมืองและนักการเมืองที่ให้แสดงความคิดเห็นแบบอัตนัย

ที่สำคัญประชาชนมีสิทธิที่จะแสดงความเห็นได้เพียงครั้งเดียว และต้องนำบัตรประชาชนมาแสดงด้วย โดย พล.ต.พีรวัชฌ์ แสงทอง โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ชี้แจงถึงการใช้บัตรประชาชนประกอบการตอบ 6 คำถามว่า เพื่อป้องกันการเวียนเทียน เพราะต้องการให้แต่ละบุคคลได้แสดงความคิดเห็นเพียงครั้งเดียว ประชาชนที่ตอบคำถามนายกรัฐมนตรี 4 ข้อก่อนหน้านี้ก็สามารถแสดงความคิดเห็นคำถาม 6 ข้อครั้งนี้ได้

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า มีการเกณฑ์ประชาชนมาตอบคำถาม ทั้งมีหลักฐานการส่งไลน์ให้ตอบคำถาม หากไม่ใช่นโยบายของกระทรวงมหาดไทยก็ขอให้ประกาศคำสั่งห้ามให้ชัดเจน

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันแรกมีประชาชนมาแสดงความเห็น 19,580 คน ทั้งปฏิเสธว่าไม่มีการสั่งการให้เกณฑ์คนมา ทุกคนมาโดยสมัครใจ และต้องมาด้วยตัวเอง ถ้าใครทำจะถือว่ามีความผิด เพราะไม่ได้เป็นนโยบายให้ทำ ไม่ต้องการรู้มากรู้น้อย ใครมาแค่ไหนก็แค่นั้น ไม่ได้ต้องการแห่แหนกะเกณฑ์คนว่ามามากมาน้อย

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายถึงการตั้งคำถามครั้งนี้ โดยยืนยันว่า คสช. ไม่ได้เป็นศัตรูกับนักการเมือง ไม่ได้หยั่งเสียงของประชาชนเพื่อปูทางสู่การเมือง และปฏิเสธว่าไม่ได้เกณฑ์คนมาตอบ 6 คำถาม

6 คำถามแค่อยากรู้..รักเค้ามั้ย?

การตั้งคำถาม 6 ข้อของ พล.อ.ประยุทธ์มีคำถามกลับว่า กว่า 3 ปีที่ผ่านมาที่ คสช. สร้างกลไกทางการเมืองเพื่อปฏิรูปประเทศนั้นมีอะไรที่สำเร็จเป็นรูปธรรมบ้าง การสร้างความปรองดองก็ล้มเหลว เศรษฐกิจก็ยังวิกฤต การทุจริตคอร์รัปชันก็ยังมีให้เห็นมากมาย

เสียงวิพากษ์วิจารณ์ คสช. ไม่ใช่มีเฉพาะนักการเมืองและนักวิชาการเท่านั้น แต่นักธุรกิจและประชาชนจำนวนมากเห็นว่ารัฐบาลทหารและ คสช. มีแต่วาทกรรมสร้างความหวังอย่างลมๆแล้งๆ ตั้งหน่วยงานหรือกรรมการต่างๆ และโยกย้ายข้าราชการมากมาย แต่ไม่เห็นมีการเปลี่ยนแปลงใดๆที่เป็นรูปธรรมหรือดีขึ้นเลย แม้แต่การตั้ง “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ” มาชี้เป็นชี้ตายอนาคตประเทศและประชาชนถึง 20 ปี ส่วนใหญ่ก็เป็นคนหน้าเดิมๆที่ร่วมทำงานกับ คสช. ในองค์กรหรือคณะกรรมการชุดต่างๆ ซึ่งไม่ได้มีผลงานเป็นรูปธรรมเช่นกัน

คำมั่นสัญญาที่ว่า “ขอเวลาอีกไม่นาน จะคืนความสุขให้ประเทศไทยและประชาชน” เป็นแค่ลมปาก ความนิยมของรัฐบาลทหารและ คสช. ลดลงอย่างมาก ปฏิเสธไม่ได้ว่าวันนี้ความนิยมรัฐบาลทหารและ คสช. กำลังอยู่ในภาวะเสื่อมหรือตกต่ำสุดกู่ แม้แต่การปรับคณะรัฐมนตรีก็ถูกตั้งคำถามมากมายว่าจะยังวนเวียนอยู่กับพวกพ้องหรือไม่

คำถาม 6 ข้อของ “ทั่นผู้นำ” ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากมายว่าไม่น่าถาม เพราะคำตอบที่ไม่ใช่พวกเชลียร์หรือพวกจัดตั้งจะมีแต่ “ก้อนอิฐ” ไม่ใช่ “ดอกไม้” ยิ่งถูกมองว่ากำลังปูทางเพื่อ “สืบทอดอำนาจ” ก็ยิ่งทำให้เห็นภาพครั้งเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 กับวาทกรรม “เสียสัตย์เพื่อชาติ”

แม้คนจำนวนมากจะจำไม่ได้หรือเกิดไม่ทัน แต่ประชาชนวันนี้ไม่ได้ “โง่ จน เจ็บ” ประชาชนรู้ทันและรู้ดีถึงการดันทุรังของผู้เสพติดอำนาจที่พร้อมจะทำทุกอย่างเพื่ออยู่ต่อ

คำถาม 6 ข้อของ “ทั่นผู้นำ” ไม่ได้ถามเพื่อประเทศชาติ แต่เป็นแค่การโยนหินถามทาง ปัดสวะให้พ้นตัว และเอาดีใส่ตัวโยนชั่วใส่คนอื่นเท่านั้น

คสช. นั้นเข้ามาปกครองประเทศด้วยการยึดอำนาจ มิได้มาจากเสียงของประชาชน ไม่ได้เกิดจากความรัก ความศรัทธาของประชาชนที่มอบอำนาจให้แต่อย่างใด

เกือบ 4 ปีที่เข้ามาบริหารประเทศ ผลงานไม่เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาประชาชน ประชาชนวัดฝีมือรัฐบาล ผลงานในการบริหารประเทศ มิใช่เพียงแค่ลมปาก

จะไปออดอ้อนตั้งคำถามกับประชาชนว่ายัง… “รักเค้ามั้ย?..รักเค้ามั้ย?..รักเค้ามั้ย? ..รักเค้ามั้ย?..รักเค้ามั้ย?” ทำเหมือนไปทวงบุญคุณว่า.. เค้าทำให้ขนาดนี้.. ยังดีไม่พออีกหรือ? ได้ถามตัวเองหรือยังว่าคุณเป็นอะไรกับเขา จึงไปถามเขาแบบนั้น?

นอกจากจะเป็นคำถามที่ไร้สาระ ไร้วุฒิภาวะแล้ว ยังแสดงออกให้เห็นถึงการหลง ไม่ได้รู้จักตัวเองเลยว่า เขาไม่เลือกคุณมา แต่คุณยึดอำนาจเขาเข้ามา

รู้ตัวรึยัง? รักนะ..จุ๊บ จุ๊บ!!??


You must be logged in to post a comment Login