วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567

ดูมาตรฐาน?

On November 17, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

ในยุคที่การเมืองถูกทำให้ดูเป็นเรื่องเลวร้ายจนเกิดกระแสเรียกร้องให้ปฏิรูปเพื่อยกระดับมาตรฐานให้สูงขึ้น กลับมีประเด็นแหลมคมที่น่าสนใจคือการตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรีที่ถูกร้องว่าอาจขัดต่อกฎหมาย ที่สำคัญคืออาจเป็นการเสนอแต่งตั้งทั้งที่รู้ว่าขาดคุณสมบัติ กรณีนี้มีผู้ร้องให้หน่วยงานเกี่ยวข้องตรวจสอบมาตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา รัฐมนตรีที่ป.ป.ช.ส่งเรื่องให้นายกฯพิจารณาคือ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ถึงจะเดาผลได้ไม่ยาก แต่ในช่วงที่มีการปรับคณะรัฐมนตรีถือว่าน่าติดตาม ถ้าต้องการยกมาตรฐานการเมืองให้สูงขึ้น

การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) แม้จะเป็นข่าวใหญ่ แต่ไม่น่าสนใจเท่าเรื่องนี้

เรื่องที่ว่าคือกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สรุปว่าตัวเองไม่มีอำนาจชี้ขาดกรณีตรวจสอบพบรัฐมนตรีถือครองหุ้นในบริษัทเอกชนเกินกว่าพ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 กำหนดไว้ โดยโยนเรื่องไปให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตัดสินใจเองว่าจะทำอย่างไรกับรัฐมนตรีที่ถูกร้องให้สอบ

ป.ป.ช.ให้เหตุผลว่ารัฐมนตรีย่อมอยู่ภายใต้การดูแลของนายกรัฐมนตรี และได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับทราบด้วย

รัฐมนตรีที่ป.ป.ช.ส่งเรื่องให้นายกฯพิจารณาคือ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

ความจริงมีรัฐมนตรีในรัฐบาล “บิ๊กตู่” อีกหลายคนที่ถูกยื่นให้ป.ป.ช.สอบมีคุณสมบัติขัดต่อกฎหมายตามคำร้องของ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย โดยยื่นร้องทั้งป.ป.ช.และ กกต.

ทั้งนี้ นอกจากขัดพ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 แล้ว ตามคำร้องของนายเรืองไกรยังชี้ว่ามีรัฐมนตรีที่อาจเข้าข่ายต้องพ้นจากตำแหน่งตามความในมาตรา 264 วรรคสอง ประกอบมาตรา 170 (5) และมาตรา 98 (3) ซึ่งเป็นหน้าที่ของกกต.ต้องดำเนินการตามมาตรา 170 วรรคสาม ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด

คำร้องของนายเรืองไกร ยังน่าสนใจตรงที่ระบุไว้ด้วยว่า กรณีการเสนอแต่งตั้งนายอุตตม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายสนธิรัตน์  เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2559 นั้น มีข้อสังเกตว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ควรต้องรู้อยู่แล้วว่า ทั้งสองคนเป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี เพราะมีคุณสมบัติที่ขัดต่อมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543

เนื่องจากนายอุตตม เคยยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน กรณีเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2558 ซึ่งนายอุตตม ได้ยื่นแสดงรายการเงินลงทุนทำธุรกิจที่ดินเขาใหญ่ ไว้ในรายการทรัพย์สินอื่นมาก่อนแล้ว ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจะอ้างว่า ไม่รู้ข้อมูลดังกล่าว คงรับฟังไม่ขึ้น

เมื่อควรทราบการลงทุนทำธุรกิจที่ดินเขาใหญ่ของนายอุตตม มูลค่า 5,000,000 บาทแล้ว ก็ต้องทราบต่อไปด้วยว่า การลงทุนดังกล่าว มีนายสนธิรัตน์ ลงทุนด้วยจำนวน 20,000,000 บาท จากเงินลงทุนทั้งหมด 100,000,000 บาท ดังนั้น การเสนอแต่งตั้งทั้งสองคนเป็นรัฐมนตรี จึงขัดต่อมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 มาตั้งแต่แรกแล้ว

นายเรืองไกร ขอให้ กกต.เชิญนายกฯมาให้ปากคำ พร้อมตั้งคำถามว่านายกฯที่รู้ว่าตั้งคนขาดคุณสมบัติมาเป็นรัฐมนตรีจะต้องมีความรับผิดชอบตามกฎหมายอย่างไร และรัฐมนตรีที่รู้ตัวว่าขาดคุณสมบัติแต่ยังรับตำแหน่งต้องรับผิดชอบตามกฎหมายอย่างไร

ป.ป.ช.ได้รักษามาตรฐานตัวเองไว้แล้ว เพราะย้อนไปสมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตรวจสอบรัฐมนตรีที่ถูกร้องแล้วก็มีมติแบบเดียวกันนี้คือไม่มีอำนาจชี้ขาดว่ารัฐมนตรีที่ถูกร้องให้สอบต้องพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีหรือไม่

ที่เหลือก็รอดูมาตรฐานของกกต.ว่าจะสอบและส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดตามอำนาจหน้าที่หรือไม่หลังจากนายเรืองไกรยื่นเรื่องให้สอบรัฐมนตรีรวม 9 คนตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมาแต่ยังไม่มีวี่แววว่า กกต.จะสรุปผลสอบได้เมื่อไหร่

ไฮไลท์ของเรื่องนี้คือกกต.จะเชิญพล.อ.ประยุทธ์ไปสอบปากคำตามคำร้องของนายเรืองไกร หรือไม่ และหากสอบแล้วความจริงปรากฏตามที่นายเรืองไกรตั้งข้อสังเกตไว้ พล.อ.ประยุทธ์ จะแสดงความรับผิดชอบกับการตั้งรัฐมนตรีที่รู้อยู่ก่อนแล้วว่าขาดคุณสมบัติอย่างไร

ถึงจะเดาผลได้ไม่ยาก แต่เรื่องนี้ก็ยังน่าติดตามอยู่ดี ถ้าต้องการยกมาตรฐานการเมืองให้สูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่กำลังมีการปรับคณะรัฐมนตรี


You must be logged in to post a comment Login