วันพฤหัสที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567

..พอรึยัง? / โดย ทีมข่าวการเมือง

On November 13, 2017

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

“นายกรัฐมนตรีเหนื่อยจะตายโหง ทำงานทุกอย่าง ปัดโธ่ โพลที่ไหนสำรวจมา ให้ไปคิดกันเอาเอง ผมว่าทุกอย่างดีขึ้น ทุกวันนายกฯทำงานเหนื่อยจะตายอยู่แล้ว ทำทุกอย่าง แต่ผลสำรวจโพลบอกว่าคะแนนลดลง 20% ไปถามใครมา”

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนของสำนักวิจัยซูเปอร์โพลเรื่องความนิยม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลดลง ทั้งยังกล่าวถึงกระเเสข่าว คสช. สนับสนุนตั้งพรรคพลังชาติไทยที่ พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ เป็นหัวหน้าพรรคว่า ไม่รู้ ไม่รู้จัก และไม่เคยใกล้ชิดด้วย

พล.อ.ประวิตรยังย้อนถามผู้สื่อข่าวว่า พล.ต.ทรงกลดใกล้ชิดกับ คสช. คนไหน สื่อชอบพูดไปเรื่อยและคิดไปเอง จะเอาชื่อตนไปอ้างก็อย่าไปเชื่อ เพราะตนไม่ยุ่งอยู่แล้ว ถ้าจำเป็นก็ต้องตั้ง ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องตั้ง แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่จำเป็น ยังไม่มีแผนอยู่ในใจ ยืนยันว่าไม่เคยรับประสานงานตั้งพรรคให้ใคร มีแต่คิดและเขียนข่าวกันไปเอง

คะแนนหนุน “บิ๊กตู่” วูบ

ที่น่าสนใจคือผลสำรวจความเห็นประชาชนของสำนักโพลต่างๆสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่ว่าสวนดุสิตโพล ซูเปอร์โพล และกรุงเทพโพลล์ ประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนให้รัฐบาลทหารและ คสช. ปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) และปลดล็อกพรรคการเมืองเพื่อทำกิจกรรมและกลับสู่ความเป็นประชาธิปไตย แม้จะมีบางคนเห็นว่าอาจเกิดความวุ่นวายก็ตาม

แต่โพลที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดคือซูเปอร์โพลที่เสียงส่วนใหญ่ให้ปลดล็อกพรรคการเมือง แล้วยังต้องการให้ปรับทีมเศรษฐกิจรัฐบาลและเร่งแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน ที่สำคัญคือฐานเสียงสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ปรากฏว่าลดลงอย่างมาก จากร้อยละ 78 มาอยู่ที่ร้อยละ 52

ถือว่าผลสำรวจครั้งนี้พลิกความคาดหมาย เพราะที่ผ่านมาซูเปอร์โพลถูกมองว่าเป็นโพลที่สนับสนุนรัฐบาลจนผิดสังเกต โดยเฉพาะคะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์สูงลิ่วมาตลอด และสนับสนุนให้รัฐบาล คสช. อยู่ไปแบบยาวๆ เมื่อผลโพลล่าสุดออกมาแบบ “คนละเรื่อง” จึงเท่ากับตอกย้ำความตกต่ำของรัฐบาล คสช. และ พล.อ.ประยุทธ์

โละ ครม. เร่งแก้ปัญหา

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงราคาพืชผลการเกษตรที่ตกต่ำว่า อย่าบิดเบือนประเด็นว่าทำไมไม่แก้โน่นแก้นี่ และที่พูดกันมาก็ไม่เคยได้ยินว่าจะแก้ยังไง เพียงแต่บอกว่าไอ้โน่นมันแย่ ไอ้นี่มันแย่ แต่ไม่เคยบอกว่าต้องแก้ยังไง แต่ตนบอกหมดว่ารัฐบาลนี้ทำอะไรอยู่ เพราะฉะนั้นอยากให้สื่อและสังคมเข้าใจตรงนี้ด้วย สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่ยากและง่ายที่เราจะต้องทำให้ได้วันนี้และวันหน้า นี่คือการปฏิรูปการเกษตร ปฏิรูปอาหาร ปฏิรูปอะไรต่างๆเยอะแยะไปหมด ถ้าบอกว่าราคามันตกแล้วไม่ทำอะไรเลยแต่จะให้แก้ ถามว่ารัฐบาลไหนจะแก้บอกมาเลย เสนอมาเลย รัฐบาลหน้าหรือนักการเมืองที่จะเข้ามาเป็นพรรคการเมืองเสนอมาว่าจะทำอย่างไรให้ราคายางสูงขึ้น จะทำอย่างไรให้ข้าวสูงขึ้น ถ้าพูดแบบเดิมก็ได้แต่ประเด็นแล้วขัดแย้งกันอยู่แบบนี้ ไอ้ที่กำลังทำอยู่มันก็ไปไม่ได้

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการแก้ปัญหาการเกษตรว่า ต้องพัฒนาไปสู่การเพิ่มมูลค่า สู่การเกษตรอินทรีย์ ไปสู่การรวมแปลงการผลิตต่างๆ ถ้าเราเดินไปอย่างนี้จะเกิดความยั่งยืนและมีรายได้สูงขึ้น แต่ถ้าทำแบบเดิมๆก็ลำบาก แต่ปัญหาคือผู้มีอาชีพเกษตรกรในระบบจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม กระแสจากฝ่ายต่างๆล้วนออกมาในลักษณะเดียวกันคือ ถึงเวลาแล้วที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องปรับ ครม. โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจที่ถือว่าเป็นจุดอ่อนของรัฐบาล คสช. ตั้งแต่ยุค .ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล แม้จะให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจแทน ปัญหาเศรษฐกิจก็ยังไม่ดีขึ้นอย่างที่รัฐบาล คสช. อ้างว่าดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะราคาพืชผลการเกษตรที่ตกต่ำเท่านั้น แต่การทำมาหากินเกือบทุกระดับแทบจะหยุดนิ่ง

รัฐบาลอ้างว่าตัวเลขเศรษฐกิจดีขึ้น การส่งออกมากขึ้น ก็ดีเฉพาะกลุ่มทุนไม่กี่กลุ่ม ไม่ได้หมายถึงคนส่วนใหญ่ดีขึ้น อย่างที่บอกว่า “คนรวยยิ่งรวยขึ้น คนจนยิ่งจนลง” แม้แต่อันดับ “ประเทศง่ายต่อการลงทุน” หรือประกอบธุรกิจ Doing Business ที่ล่าสุดธนาคารโลกจัดให้ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 26 ขยับจากอันดับที่ 46 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ก็ออกมายืนยันทันทีว่าเป็นเพราะการทำงานของรัฐบาล คสช. แต่เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2547-2557 นั้นประเทศไทยอยู่อันดับที่ 12-19 มาตลอด และก่อนการรัฐประหารคือปี 2556 และ 2557 ก็อยู่อันดับที่ 18 แต่หลังเกิดการรัฐประหารอันดับก็เพิ่มขึ้นทันที เช่นเดียวกับปัญหาเศรษฐกิจที่ยังไม่เห็นวี่แววว่าฟื้นตัวอย่างที่รัฐบาลออกมาย้ำนักย้ำหนาเลย

อำนาจกับค่าโง่

ยิ่งซูเปอร์โพลที่ถูกมองว่าเป็น “โพลเชลียร์” รัฐบาล คสช. ระบุผลสำรวจฐานสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ตกต่ำเฉียดฉิวร้อยละ 50 และเรียกร้องให้ปรับ ครม. ทั้งคณะ โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจ ขณะที่ปัญหาทางการเมืองก็รุมเร้า ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันทั้งในระบบราชการและคนใกล้ชิดผู้มีอำนาจใน คสช. ก็มีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง

ผลโพลที่ออกมาสะท้อนถึงความอดทนอดกลั้นของประชาชนที่เริ่มจะทนไม่ไหวกับรัฐบาล คสช. ซึ่งกว่า 3 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นทหารจึงพิสูจน์แล้วว่าไม่มีความสามารถพอ คะแนนนิยมที่สูงของ พล.อ.ประยุทธ์เพราะการใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์และมาตรา 44 แก้ปัญหาในบางเรื่องเท่านั้น ขณะที่หลายปัญหากลับยิ่งสร้างปัญหาจนต้องยกเลิกคำสั่งหลายเรื่อง โดยเฉพาะกรณีสั่งปิดเหมืองทองคำ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ถูกนำเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศตามกรอบความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ซึ่งมีโอกาสสูงที่รัฐบาล คสช. จะต้องชดใช้ค่าเสียหาย ค่าโง่ ถึง 30,000 ล้านบาท

ขณะที่กรณี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชายของ พล.อ.ประวิตร กับ พล.ต.ท.บุญเรือง ผลพานิชย์ ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมาธิการร่างกฎหมาย ป.ป.ช. ทั้งที่ทั้ง 2 คนมีคดีร่ำรวยผิดปรกติที่อยู่ในชั้นไต่สวนของ ป.ป.ช. ซึ่งรัฐบาล คสช. ก็ถูกตั้งคำถามเรื่องความโปร่งใสและจริยธรรมมาตลอด เพราะกว่า 3 ปีที่ผ่านมารัฐบาลมีเรื่องฉาวโฉ่อย่างต่อเนื่องทั้งคนใกล้ตัวและพวกพ้อง เรื่องฉาวในเครือญาติ เรื่องชักหัวคิวหรือการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ และที่กำลังฉาวไปทั่วโลกคือการใช้อำนาจปิดเหมืองทองคำ แม้ “ทั่นผู้นำ” จะยืนยันว่าไม่ต้องรับผิดชอบเพราะมีมาตรา 44 จะทำอะไรก็ได้

รัฐมนตรีทหารสอบไม่ผ่าน

นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย เห็นว่าถึงเวลาที่นายกรัฐมนตรีต้องตัดสินใจครั้งใหญ่ก่อนประกาศปลดล็อกพรรคการเมืองและกำหนดวันเลือกตั้งโดยการปรับ ครม. ทั้งคณะ เพราะขณะนี้โอกาสกลับมาเข้าทางนายกฯอีกครั้งแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าจะมีความกล้าหาญหรือไม่ เพราะนอกจากรัฐมนตรีบางคนขอลาออกแล้วยังเป็นโค้งสุดท้ายของรัฐบาลชุดนี้ก่อนเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง

“ต้องยอมรับว่า 3 ปีกว่าที่ผ่านมามีรัฐมนตรีหลายกระทรวงสอบไม่ผ่าน และพิสูจน์พอแล้วว่าการเอาทหารมาเป็น ครม. มากเกินไปไม่ตอบโจทย์ ทำให้ปัญหาพุ่งกดดันไปที่ตัว พล.อ.ประยุทธ์เพียงคนเดียว เพราะยังมีต้นทุนมากกว่าคนอื่นอยู่ ที่สำคัญการปรับ ครม. โค้งสุดท้ายต้องไม่ใช่แค่เปลี่ยนตัวคนหรือย้ายสลับเก้าอี้ แต่ต้องกล้าเปลี่ยนวิธีคิดและมุมมองในการแก้ปัญหาด้วย นอกจากรัฐมนตรีแต่ละคนต้องรับผิดชอบงานในกระทรวงของตัวเองแล้ว ควรบูรณาการกลุ่มงาน ครม. เพื่อรับผิดชอบปัญหาในแต่ละกลุ่มงาน เช่น กลุ่มงานปฏิรูปประเทศ กลุ่มงานแก้ปัญหาปากท้องเฉพาะหน้า กลุ่มงานแก้ปัญหาเศรษฐกิจ กลุ่มงานปรองดองสมานฉันท์ เป็นต้น”

นายสุริยะใสอยากให้เอาการปรับ ครม. ครั้งนี้เป็นของขวัญปีใหม่ให้กับคนไทยทั้งประเทศด้วย แต่ถ้า พล.อ.ประยุทธ์มองข้ามโอกาสนี้ไปก็เป็นเรื่องน่าเสียดายจนอาจหมดเวลาแก้ตัวไปในที่สุด

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เมื่อนายกรัฐมนตรีต้องปรับ ครม. ทั้งที ขอฝากว่าเพื่อให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชนไม่ควรปรับเพียงแค่ปรับเปลี่ยนบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเท่านั้น ควรใช้โอกาสนี้ปรับปรุงการทำงานให้เกิดผลลัพธ์ออกมาเป็นที่พึงพอใจของประชาชนมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะปัญหาราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำและปัญหาเศรษฐกิจรากหญ้าที่อยู่ในภาวะฝืดเคือง ไม่มีสภาพคล่อง ชาวบ้านหาเช้ากินค่ำทั่วไปบ่นว่าเศรษฐกิจแย่ ค้าขายไม่ดีกันทุกหย่อมหญ้า

อย่าให้อำนาจบังตา

พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี อดีตที่ปรึกษานายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กล่าวว่า การปรับ ครม. ควรคิดเรื่องงานของประเทศชาติมากกว่าเพื่อนรักรู้ใจ ต้องรอดูว่านายกฯจะจับย้ายเพื่อนรักไปไว้กระทรวงไหน ก่อนหน้านี้พอโดนด่าจากกระทรวงนี้ก็สลับไว้กระทรวงโน้น ไปอยู่ไหนก็ทำงานไม่ได้ หากเป็นรัฐบาลเลือกตั้งให้พักไปแล้ว ขอชมเชยการลาออกของ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล และทีมงาน แสดงให้เห็นว่าท่านเป็นคนมีเกียรติศักดิ์ศรี การที่ย้ายคนที่อยู่ใต้บังคับบัญชาต้องบอกก่อน แต่ใช้มาตรา 44 เป็นการไม่ให้เกียรติกัน เรื่องใหญ่หรือเล็กก็ใช้มาตรา 44 เมื่อผิดพลาดมาไม่เคยเห็นรับผิดชอบ ถ้าเป็นนายกฯคนอื่นเขาลาออกไปแล้ว

“รอดูไปสักนิดว่าชาวบ้านทนอยู่ใต้กระบอกปืนได้กี่ลิมิต ถึงวันนั้นก็น่ากลัว ใจผมอยากเห็นประเทศมีความมั่นคง ประชาชนอยู่สันติสุข แต่ตอนนี้มันไม่ใช่ เห็นทุกวันศุกร์ออกมาอบรมประชาชนเหมือนพูดฝึกทหารใหม่ ยืนหยัดพูดมา 3-4 ปี ชาวบ้านก็ปิดทีวีกันหมด จะฝึกประชาชนให้เหมือนทหารไม่ได้ เห็นท่านนายกฯเป็นรุ่นน้อง ผมไปเตือนก็โกรธผม เมื่อ 2 เดือนที่แล้วถามว่าจะเป็นนายกฯคนนอกอีกหรือ เพราะว่าอยู่ 3-4 ปีพอแล้ว อย่ายึดติดอำนาจ จะลำบากไม่มีแผ่นดินอยู่ แม้เป็นคนเก่งฉลาดอย่างไรก็หลงเพลินกับอำนาจได้ ยิ่งอยู่นานมันเสพติด จึงอยากเตือนด้วยว่าอย่าให้อำนาจมันบังตา เวลานี้เป็นรัฐบาลเพื่อนรักมาก่อนประเทศชาติ ประชาชน

พล.อ.พัลลภมองว่า พล.อ.ประยุทธ์อยากเป็นนายกฯต่อจึงได้วางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีไว้ ร่างรัฐธรรมนูญให้มี ส.ว. 250 เสียง รวมถึงได้เตรียมพรรคที่อยากเป็นรัฐบาลเสริมทัพไว้แล้ว ตอนนี้พรรคเพื่อไทยเตรียมตัวเป็นฝ่ายค้าน ตนก่อตั้งพรรคไทยรักไทยมากับอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร รู้ว่าต้องเป็นฝ่ายค้านก็เป็น เพื่อจะไปทำหน้าที่ในสภา ขัดขารัฐบาลบ้าง ดีกว่าปล่อยฉลุยแบบทุกวันนี้

พรรคทหาร-พรรคนอมินี

ขณะที่สารพัดปัญหารุมเร้าและกดดันรัฐบาล คสช. ให้ปลดล็อกพรรคการเมืองและเลือกตั้งตามโรดแม็พ แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะยืนยันว่าทุกอย่างยังเป็นไปตามโรดแม็พ แต่ให้รออีกระยะ เพราะกฎหมายลูกยังไม่เรียบร้อย และอยู่ระหว่างการสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่กรณี พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ นายทหารประจำสำนักงานปลัดกลาโหม ซึ่งทำงานในคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ ประกาศเตรียมการจัดตั้ง “พรรคพลังชาติไทย” ซึ่งไม่ต่างกับเมื่อเดือนสิงหาคม 2559 นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็ประกาศตั้ง “พรรคประชาชนปฏิรูป” เพื่อสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯคนนอก

กระแสข่าวการตั้งพรรคทหารหรือพรรคนอมินีเพื่อรองรับการแปลงร่างของรัฐบาล คสช. จึงยิ่งเชื่อว่า คสช. พยายามจะคุมอำนาจต่อไป หลังจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เปิดช่องให้มี ส.ว. 250 คนที่ คสช. แต่งตั้งแล้ว ยังกำหนดให้รัฐบาลใหม่ต้องทำตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีอีก จึงไม่แปลกที่จะมีพรรคทหารหรือพรรคนอมินีเพื่อรองรับอำนาจของ คสช. ซึ่ง พล.อ.ประวิตรก็ยอมรับว่า “ถ้าจำเป็นก็ต้องตั้ง ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องตั้ง” แม้ขณะนี้ยังไม่มีแผนในใจก็ตาม ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่ปฏิเสธ โดยบอกเพียงว่า “คสช. ยังไม่คิดในตอนนี้”

พรรคทหารหรือพรรคนอมินีไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะทุกครั้งที่มีการรัฐประหารก็จะมีพรรคทหารหรือพรรคนอมินีทุกครั้ง แม้แต่รัฐประหารปี 2549 พรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดยังยอมลดศักดิ์ศรีตัวเองไปร่วมตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ซึ่งก็คือการ “เชลียร์” กองทัพเพื่อจัดสรรอำนาจและผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน แต่ครั้งนี้อาจแตกต่างที่ คสช. มีเป้าหมายชัดเจนในการควบคุมอำนาจ

นายศราวุฒิ วิสาพรม อาจารย์สาขาการเมืองการปกครอง วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้เขียนหนังสือ “ราษฎรสามัญหลังวันปฏิวัติ 2475” ให้สัมภาษณ์วอยซ์ทีวีว่า ที่ผ่านมา 3-4 ปี พรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดคือ “พรรคคืนความสุข” ซึ่งมีโครงสร้างไม่ต่างจากพรรคการเมือง โดยมี พล.อ.ประยุทธ์เป็นหัวหน้าพรรค พล.อ.ประวิตรเป็นเลขาธิการพรรค และมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นรองหัวหน้าพรรค ส่วนตำแหน่งอื่นๆก็มีการสับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพียงแต่เป็นพรรคที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและไม่สามารถตรวจสอบได้  ดังนั้น การจะให้ได้นายกฯคนนอกก็ต้องตั้งพรรคทหารหรือพรรคนอมินี เพราะพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ไม่กล้าเสนอชื่อคนนอกเป็นนายกรัฐมนตรีแน่นอน

คสช. หนุนพรรคไหนก็เป็นสิทธิของ คสช.?

การตั้งพรรคทหารหรือพรรคนอมินีขณะที่คะแนนนิยม พล.อ.ประยุทธ์ลดฮวบ ทั้งยังมีกระแสให้ปลดล็อกพรรคการเมืองและปรับ ครม. หาก พล.อ.ประยุทธ์และ คสช. ไม่ปรับกลยุทธ์หรือเปลี่ยนอะไรให้เห็นว่าได้พยายามแก้ไขแล้วก็จะยิ่งตกเป็นเป้ามากขึ้น โดยเฉพาะการปรับ ครม. ซึ่งต้องปรับใหญ่ ที่เป็นจุดอ่อนที่สุดคือทีมเศรษฐกิจและบรรดารัฐมนตรีทหาร เพื่อไม่ให้เป็น “เขตกระสุนตก” พร้อมๆกับการจัดตั้งพรรคทหารหรือพรรคนอมินีพร้อมกับการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะไม่ได้ออกมายอมรับ แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าจะไม่ตั้งพรรคการเมือง กล่าวแต่เพียงว่ายังไม่ใช่พรรคของ คสช. และยังไม่ได้ตั้งพรรค แต่คำถาม 6 ข้อล่าสุดที่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าได้เขียนคำถามทั้ง 6 ข้อด้วยตนเอง และขอสื่ออย่าเขียนให้ทะเลาะกัน เพราะต้องการพูดกับประชาชน ไม่ได้พูดกับนักการเมือง กลับมีนัยว่าจะอยู่ในอำนาจต่อหรือไม่? โดยเฉพาะคำถามที่ว่า “คสช. จะสนับสนุนพรรคการเมืองใดก็เป็นสิทธิของ คสช. และสิทธิของตนใช่หรือไม่”

ซึ่งมีคำถามถึงประชาชนเพิ่ม 6 ข้อ หลังจากที่เคยถาม 4 คำถามก่อนหน้านี้ โดยให้กระทรวงมหาดไทยไปสอบถามประชาชนว่า

1.วันนี้เราจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองใหม่หรือนักการเมืองหน้าใหม่ที่มีคุณภาพให้ประชาชนได้พิจารณาในการเลือกตั้งครั้งต่อไปบ้างหรือไม่ และการที่มีแต่พรรคการเมืองเดิมและนักการเมืองหน้าเดิมแล้วได้เป็นรัฐบาลจะทำให้ประเทศชาติเกิดการปฏิรูปและทำงานต่อเนื่องตามยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่

2.การที่ คสช. จะสนับสนุนพรรคการเมืองใดก็เป็นสิทธิของ คสช. และสิทธิของตนใช่หรือไม่ เพราะตนไม่ได้รับเลือกตั้งด้วยอยู่แล้ว ดังนั้น จะสนับสนุนใครหรือไม่สนับสนุนใครก็ได้ หากไม่มีอะไรใหม่ๆตนก็จะไม่สนับสนุน

3.สิ่งที่ คสช. และรัฐบาลนี้ได้ดำเนินการในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประชาชนมองเห็นอนาคตที่ดีของประเทศชาติบ้างหรือไม่ และเห็นด้วยกับรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาที่หมักหมมเป็นเวลานานด้วยการรื้อใหม่และวางแผนอย่างเป็นขั้นตอนหรือไม่ นอกจากนี้เห็นด้วยให้มียุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปเพื่อให้การเมืองไทยในอนาคตมีประสิทธิภาพ มีธรรมาภิบาล และมีความต่อเนื่องในการพัฒนาประเทศหรือไม่ อีกทั้งการทำงานของทุกรัฐบาลต้องคำนึงถึงภาพรวมทั้งประเทศ ไม่ใช่ทำตามเพียงนโยบายพรรคที่หาเสียงไว้หรือดูแลเฉพาะพื้นที่ฐานเสียงใช่หรือไม่

4.การเอาแนวทางจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอดีตมาเปรียบเทียบกับการจัดตั้งรัฐบาลวันนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะสถานการณ์บ้านเมืองก่อนที่ คสช. และรัฐบาลเข้ามามีความขัดแย้ง ความรุนแรง และการแบ่งแยกประชาชนเป็นกลุ่มๆเพื่อมาสนับสนุนทางการเมืองใช่หรือไม่

5.รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพ มีธรรมาภิบาล และมีการพัฒนาประเทศที่มีความต่อเนื่องชัดเจนเพียงพอหรือไม่

และ 6.เหตุใดพรรคการเมืองและนักการเมืองจึงออกมาเคลื่อนไหวด่า คสช. รัฐบาล และนายกฯ บิดเบือนข้อเท็จจริงในการทำงานในช่วงนี้อย่างมากผิดปรกติ จึงขอฝากถามประชาชนว่าเพราะอะไร เนื่องจากอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ จึงอยากให้ทุกคนที่เป็นคนไทยช่วยพิจารณาตัดสิน

…พอรึยัง?

การจะอยู่ในอำนาจให้นานที่สุด ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล คสช. หรือแปลงร่างเป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้งก็ต้องทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งเป็นฐานสนับสนุนและเชื่อว่าจะ “ปฏิรูปประเทศ” สำเร็จ การปรับ ครม. จึงไม่ใช่แค่การเริ่มต้นสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แต่ยังเป็นโอกาสสุดท้ายที่ พล.อ.ประยุทธ์และ คสช. จะสามารถสืบทอดอำนาจต่อตามแผนยุทธศาสตร์ที่วางไว้ ซึ่งเวลาก็เหลือน้อยลงทุกที การยืดโรดแม็พออกไปก็มีแต่ทำให้ฐานสนับสนุน คสช. ลดลง แม้คนไทยจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าปัญหาของประเทศยังต้องให้ทหารเป็นผู้ขับเคลื่อนก็ตาม อย่างที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ บอกว่า บางครั้งกองทัพไม่ได้เป็นตัวตัดสินการทำรัฐประหารเองทุกครั้ง แต่เกิดจากบริบทแวดล้อมเสนอให้ทำ

ที่ขาดไม่ได้คือ “โหรวารินทร์” นายวารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ เจ้าของฉายา “โหร คมช.” ได้ออกมาทำนายว่าภายในเดือนพฤศจิกายนนี้จะมีการปรับใหญ่คณะรัฐมนตรี มีทั้งอดีตนักการเมืองและคนนอกรัฐบาลมาร่วม แถมทำนายอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกรัฐมนตรีอีก 1-2 สมัย คำทำนายที่แม่นจนไม่รู้ว่านายวารินทร์ “หยั่งรู้” หรือ “แอบรู้” ยิ่งสะท้อนถึงบ้านเมืองในอนาคตได้ว่าจะยังอยู่ในวังวนอำนาจเดิมๆต่อไป แม้แต่การรัฐประหารก็ไม่มีใครเชื่อว่าจะเป็นครั้งสุดท้าย ทั้งที่รัฐประหารทุกครั้งก็ไม่เคยแก้ปัญหาบ้านเมืองได้เลย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม ขนาด คสช. ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด อยู่ในอำนาจมาแล้วกว่า 3 ปี และกว่าจะมีการเลือกตั้งก็คงอยู่ในอำนาจต่อไปเกินกว่า 4 ปี มากกว่าเทอมปรกติของรัฐบาล ก็เห็นชัดว่าไม่สามารถแก้ปัญหาของบ้านเมืองได้ ตรงกันข้ามยังมีส่วนสร้างความแตกแยกหนักขึ้นจากการใช้กฎหมายหลายมาตรฐาน

แม้แต่โพลที่เคยเอาแต่เชลียร์ยังทำผลสำรวจออกมาตรงข้ามกับที่ผ่านมา เหมือนการส่งสัญญาณให้ คสช. รู้ว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องลงจากอำนาจ แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวในการบริหารประเทศและความเสื่อมของอำนาจ

เพราะการบริหารบ้านเมืองไม่ใช่แค่ใช้วาทกรรมตอบโต้หรือโยนความผิดให้รัฐบาลที่ผ่านมา แต่ต้องยอมรับความจริงว่ารัฐบาลทหารและ คสช. เองก็ล้มเหลวในการแก้ปัญหาบ้านเมืองเกือบทุกด้าน ยกเว้นปัญหาความมั่นคงที่ทำให้บ้านเมืองเงียบสงบเพราะการใช้อำนาจมาตรา 44 ที่มาจากปลายกระบอกปืนกดหัวผู้คนไว้เท่านั้น

เวลาของรัฐบาลทหารและ คสช. เหลือน้อยลงทุกขณะ แต่ที่วันนี้ยังเสมือนอยู่ได้อย่างมั่นคงเพราะยังมีเสียงเชียร์เสียงเชลียร์จากกองเชียร์ที่ “ไม่เอาทักษิณและเกลียดชินวัตร” แต่พร้อมยอมเอาทุกอย่างไม่ว่าเทาหรือดำ ไม่สนใจเรื่องจริยธรรม ไม่สนใจมารยาททางการเมือง จนถึงขนาดไม่สนใจว่าใครจะคอร์รัปชันก็ได้แต่อย่าให้เครือข่ายทักษิณกลับมามีอำนาจ

ประเทศไทยวันนี้จึงไม่ไปไหน อยากรู้อนาคตประเทศไทยต้องไปถามโหร อยากให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยต้องให้ทหารมายึดอำนาจ อยากดูดีดูฉลาดต้องไปเป่านกหวีด

มาถึงจุดๆนี้ เปียกแฉะขนาดนี้ ถามจริงๆว่า “…พอรึยัง?”


You must be logged in to post a comment Login