วันพฤหัสที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567

“กับดักประเทศไทย” สัมภาษณ์- วรชัย เหมะโดย ประชาธิปไตย เจริญสุข

On November 13, 2017

คอลัมน์ : ฟังจากปาก

สัมภาษณ์โดย  : ประชาธิปไตย เจริญสุข

วรชัย เหมะ พรรคเพื่อไทย มองไม่เห็นแสงสว่างในปลายอุโมงค์ แม้เลือกตั้งได้ แต่เลือกนายกรัฐมนตรีไม่ได้ คสช. ก็มีอำนาจยุบสภา รัฐธรรมนูญฉบับมีชัยเห็นชัดเจนว่าต้องการสืบทอดอำนาจ ขณะนี้ “พล.อ.ประยุทธ์” อยู่ในช่วงขาลงสุดๆ การปรับ ครม. ต้องปรับทีมเศรษฐกิจทั้งหมด ถ้าไม่ปรับประชาชนจะยิ่งจนลง คนรวยก็ยิ่งรวยขึ้น

++++++

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาแรกๆบอกว่าจะไม่สืบทอดอำนาจ จะเข้ามาแก้ไขปัญหาของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ความขัดแย้ง แล้วจะปฏิรูปประเทศ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการบริหารที่ผ่านมาและการทำรัฐธรรมนูญ ตอนคุณบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ทำรัฐธรรมนูญและถูก สนช. (สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ) ล้ม คุณบวรศักดิ์ออกมาพูดว่า “เขาอาจจะอยู่ยาว”

รัฐธรรมนูญฉบับคุณบวรศักดิ์ ส.ว. (สมาชิกวุฒิสภา) มาจากการเลือกตั้งส่วนหนึ่ง อำนาจไม่เท่ากับรัฐธรรมนูญฉบับคุณมีชัย ฤชุพันธุ์ รัฐธรรมนูญฉบับคุณมีชัยเห็นชัดเจนว่ามีลักษณะสืบทอดคือ ให้ ส.ว. 250 คน สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) แล้วเสนอชื่อนายกฯคนนอกได้ด้วย โดยยกเว้นข้อบังคับมาตรา 272 สะท้อนให้เห็นว่าผู้ทำรัฐธรรมนูญซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์เป็นรัฏฐาธิปัตย์สูงสุด ทั้งหัวหน้า คสช. และหัวหน้ารัฐบาล จะถือว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ได้เลย เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสำคัญของประเทศที่นำมาใช้กับประชาชนทุกคน พล.อ.ประยุทธ์ต้องรู้การทำรัฐธรรมนูญ

ขณะที่การบริหารประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์จนถึงขณะนี้มีอะไรที่ประสบความสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอัน เป็นรูปธรรมบ้าง เช่น การปฏิรูป อะไรบ้างที่ปฏิรูปสำเร็จ คอร์รัปชันยังมีมั้ย มีการตรวจสอบได้หรือไม่ แค่ไหน อย่างไร ความขัดแย้งยังมีอยู่หรือไม่

จุดร่วมของประชาชนคือต้องมีการเลือกตั้ง ขณะที่การทำมาหากินยากลำบาก จึงต้องถามว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไร ผมมองว่าการยึดอำนาจยืดเยื้อเกินไป ทำให้คนยากลำบากมากขึ้นทุกวัน เพราะแก้ปัญหาปากท้องก็ไม่สำเร็จ แก้คอร์รัปชันและการปฏิรูปก็ล้มเหลว สิ่งเหล่านี้ทำให้ความน่าเชื่อถือของรัฐบาลลดลง โพลที่ระบุว่าฐานสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จาก 90% ลดลงมาเรื่อยๆเหลือ 78% ล่าสุด 52% ถือว่า พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในช่วงขาลงสุดๆ หาก พล.อ.ประยุทธ์คิดจะเป็นนายกฯคนนอกก็ขอให้ท่านทำให้เห็นว่าสามารถแก้ปัญหาปากท้องสำเร็จ แก้ราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำเกือบทุกตัว ยกระดับรายได้ของเกษตรกรให้ได้ แก้ปัญหาคอร์รัปชันให้ได้ ปฏิรูปอย่างจริงจัง แล้วเสนอตัวไปยังพรรคการเมืองไหนก็ได้ ประชาชนก็จะเลือกพรรคการเมืองนั้นเอง จะได้เป็นนายกฯที่มีศักดิ์ศรีร้อยเปอร์เซ็นต์

ถ้าทำไม่สำเร็จและไม่มีชื่อในพรรคการเมือง แต่ท่านจะรอรับเทียบเชิญเป็นนายกฯคนนอก ลองคิดดูว่าความรู้สึกของประชาชนจะเป็นอย่างไร ถ้าหลังการเลือกตั้งและในสภามีปัญหา ท่านทำให้สภาเกิดไม่ได้ เลือกนายกฯไม่ได้ แล้วท่านหาเรื่องยุบสภาไปเลย เพราะมีอำนาจมาตรา 44 อยู่ แต่ท่านมีความชอบธรรมหรือไม่ เพราะเลือกนายกฯต้องใช้เสียงทั้ง 2 สภาคือ 750 เสียง ต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งมันยากแสนเข็ญ หากท่านอาศัยเงื่อนไขนี้ยุบสภาแล้วตั้งรัฐบาลหรือรักษาอำนาจต่อไปอีก ผมเป็นห่วงว่าประชาชนจะยอมหรือไม่ ประเทศก็มีปัญหาตามมาไม่รู้จบ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เป็นอุปสรรคที่จะทำให้ประเทศสงบและเป็นประชาธิปไตย ความเชื่อมั่นประเทศจะกลับคืนมายากจริงๆ ผมมองไม่เห็นแสงสว่างในปลายอุโมงค์เลยว่าการเลือกตั้งสมัยหน้าจะได้รัฐบาลที่บริหารประเทศได้ ทำให้ประเทศสงบได้ ประเทศเดินได้อย่างมั่นคง ประชาชนมีความสุข มีรายได้ที่ดี การคอร์รัปชันหมดไป

สมมุติ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯคนนอกโดย ส.ว. โหวตให้ แต่การบริหารประเทศนั้น ส.ว. ไม่สามารถโหวตกฎหมายสำคัญได้ ถ้ารัฐบาลถูกเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจจะเป็นอย่างไร ผมฟันธงว่านายกฯคนนอกจะติดกับดัก สมมุติว่านายกฯมาจากการเลือกตั้ง มาจากพรรคการเมือง แต่ยุทธศาสตร์ชาติที่วางไว้ 20 ปี ถ้าคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติบอกว่ารัฐบาลไม่ทำตามยุทธศาสตร์ก็สามารถเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญล้มรัฐบาลได้ นี่คือปัญหาของประเทศที่ไม่มีวันจบ ไม่สามารถทำให้ประเทศเข้าสู่ปรกติได้ ผมขอย้ำว่านี่คือ “กับดักของประเทศไทย”

เพราะฉะนั้นมีอย่างเดียวคือ แก้ปัญหาด้วยการทำประชามติถามประชาชนเลยว่าให้เอารัฐธรรมนูญฉบับไหนมาใช้ก่อนถ้าติดกับดักของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มันเป็นกับดักประเทศไทยจริงๆ

จะเกิดรัฐประหารอีกหรือไม่

การทำรัฐประหารต้องมีเหตุการณ์ที่สร้างขึ้นมาให้เกิดความวุ่นวายขึ้น ทำให้เห็นว่าติดกับดักอย่างหนึ่งของประเทศไทย คุณรัฐประหารมา 4 ปี บริหารประเทศมา 4 ปีแล้ว ประเทศไทยก็ยังยากจน ยังลำบากแร้นแค้น ปัญหาของประเทศยังมีไม่รู้จบ คอร์รัปชันยังมี แล้วคุณเอาเหตุผลอะไรมาทำรัฐประหารอีก มีทางเดียวคือให้เลือกรัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุดมาใช้ ถามประชาชนก็ได้ คุณไม่มีความชอบธรรมที่จะรัฐประหาร แล้วประชาชนจะยอมมั้ยถ้าคุณยึดอำนาจอีก มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ถ้าประชาชนลุกขึ้นมาบอกว่าต้องการรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ว่าสีเสื้อใดเขาก็รักประเทศทุกคน เหลือง แดง น้ำเงิน หรือสีอะไรก็ตาม ต้องแก้ปัญหาโดยให้ประชาชนเจ้าของประเทศเป็นผู้ตัดสินใจเองดีกว่า

คสช. ยังไม่ปลดล็อกการเมือง

ผมไม่ทราบว่าจุดประสงค์ที่แท้จริงคืออะไร แต่การอ้างเหตุผลความไม่สงบ พรรคการเมืองและประชาชนเชื่อหรือไม่ เขายอมรับได้หรือไม่ วันนี้เขาไม่ฟังแล้ว ไม่เชื่อที่ คสช. พูดว่ายังทะเลาะกันอยู่ มีความขัดแย้งกันอยู่ ทั้งๆที่ไม่ได้มีความขัดแย้งกันในหมู่ประชาชน มีแต่พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย นักวิชาการ และนักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งและปลดล็อกการเมืองให้ทำกิจกรรมได้ แล้วตรงไหนที่บอกว่ายังมีความวุ่นวาย

เขาวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลที่ไม่ถูกต้อง งบประมาณของคนทั้งประเทศ เขามีสิทธิที่จะวิจารณ์และตรวจสอบว่านำเงินไปใช้อะไร คอร์รัปชันหรือไม่ เขาสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ เหตุผลที่ คสช. นำมาอ้างฟังไม่ขึ้น ที่ คสช. ยังไม่ยอมปลดล็อกการเมืองสะท้อนว่าเขาต้องการให้มีการเลือกตั้งจริงอย่างที่พูดหรือไม่ เพราะมีรัฐธรรมนูญแล้ว กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองก็มีผลบังคับแล้ว พรรคการเมืองต้องทำกิจกรรมตามกรอบเวลา ต้องตรวจสอบว่าสมาชิกยังอยู่ครบหรือไม่ ใครที่ตาย หายไปกี่คน อีกประเด็นคือภายใน 180 วัน สมาชิกที่เหลือต้องจ่ายค่าสมาชิกให้ครบ ถ้าไม่อย่างนั้นจะขาดสมาชิกภาพ หรือต้องเลือกกรรมการบริหารและหัวหน้าพรรคให้เสร็จภายใน 180 วัน ถ้าพรรคการเมืองไม่ได้ทำตามกรอบเวลาก็ไม่สามารถส่ง ส.ส. ลงสมัครได้ ไม่สามารถทำกิจกรรมได้ก็ถูกยุบพรรคอยู่ดี ถ้า คสช. ยิ่งยืดเยื้อ พรรคการเมืองเก่าก็ลำบาก พรรคการเมืองใหม่ก็ยิ่งลำบาก เพราะต้องหาสมาชิกให้ครบทุกเขต ทุกจังหวัดให้ได้ 100 คน ต้องมีตัวแทนพรรค ขอจดทะเบียนพรรค ใช้เวลา 60 วันกว่าจะพิจารณาว่าได้รับการจดทะเบียนหรือไม่ เมื่อพรรคการเมืองทำกิจกรรมไม่ได้ตามกรอบเวลาก็ติดกับดักอยู่ตรงนี้

เห็นอย่างไรกับการปรับ ครม.

การลาออกของ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ผมมองว่าเป็นเพราะการใช้มาตรา 44 โยกย้ายนายวรานนท์ ปีติวรรณ จากอธิบดีกรมการจัดหางานมาเป็นรองปลัดกระทรวงแรงงาน ทำให้เกิดความไม่พอใจ รัฐบาลชุดนี้แม้มาจากการยึดอำนาจก็มีค่าย แบ่งเป็นก๊กเป็นเหล่า มีเจ้าของทั้งนั้น คนนี้มาจากใคร คนโน้นมาจากใคร เป็นวัฏจักรความขัดแย้งที่ไม่จบ ความไม่พอใจในรัฐบาลด้วยกันก็เกิดขึ้น นี่คือกับดักความขัดแย้งภายในรัฐบาล คสช. ทำให้การบริหารยิ่งยากลำบาก พล.อ.ประยุทธ์ควรถือโอกาสปรับคณะรัฐมนตรีครั้งใหญ่ โดยเฉพาะกระทรวงที่ดูแลเศรษฐกิจทั้งหมด เพราะบริหารงานล้มเหลว รวมทั้งคนที่ไม่บริสุทธิ์ขาวสะอาด

คุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ต้องถามประชาชนว่าทำงานเป็นอย่างไร ผมไม่อยากพูดถึงตัวบุคคล ถ้าพูดถึงทีมเศรษฐกิจก็ต้องปรับใหม่ทั้งหมด ถ้าไม่ปรับประเทศก็จะยากลำบากอยู่อย่างนี้ ประชาชนจะยิ่งจนลง คนรวยก็ยิ่งรวยขึ้น ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมากขึ้น ที่บอกว่ารายได้ประเทศโตขึ้น มีแต่เศรษฐีที่รวยขึ้น คนจนมีแต่จนลง ต้องลดช่องว่างระหว่างคนในเมืองกับชนบท คนจนกับคนรวย ข้าราชการกับประชาชน ต้องแก้ปัญหาจุดนี้ให้ได้

รัฐบาลจากการเลือกตั้งพยายามลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน สร้างความเจริญในชนบท ส.ส. ลงพื้นที่ดูแลประชาชน ลดช่องว่างระหว่างข้าราชการกับประชาชน แต่วันนี้ตัวแทนรัฐบาลที่แท้จริงลงไปดูแลปัญหาของประชาชนหรือไม่ ทราบข้อเท็จจริงหรือไม่ว่าประชาชนเป็นอย่างไร ต้องการอะไร

ปี 2561 จะมีเลือกตั้งหรือไม่

ถ้ามีก็ทุลักทุเลสิ้นดี พรรคการเมืองก็ไม่พร้อม การเลือกตั้งก็ไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ จะมีปัญหาตามมาเยอะแยะเลย กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญก็ยังไม่เสร็จ พรรคการเมืองก็ไม่พร้อม นี่คือกับดักการเมืองประเทศไทยในอนาคต

เพื่อไทยจะจับมือประชาธิปัตย์

ผมคิดว่าอยู่ที่เสียงของประชาชนจะออกมาอย่างไร ประชาชนจะให้พรรคการเมืองไหนได้เสียงข้างมากข้างน้อยอย่างไร มันมีโอกาสเป็นไปได้หมดในสถานการณ์ข้างหน้า อยู่ที่ความต้องการของประชาชน เราอย่าดูถูกประชาชน ถ้าประชาชนไม่ต้องการให้นายกฯคนนอกเข้ามาเราก็ทำตาม

ถ้าสกัดนายกฯคนนอกได้ แล้วใครจะมาเป็นนายกฯ ตามหลักแล้วพรรคเพื่อไทยต้องเสนอชื่อผู้ที่จะมาเป็นนายกฯในส่วนของเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์เสนอชื่อของประชาธิปัตย์ ความเป็นจริงถ้าผลการเลือกตั้งออกมาว่าใครได้เสียงข้างมาก ประชาชนต้องการอะไร ก็ต้องเคารพตามนั้น ต้องมีการตั้งกรรมาธิการร่วมระหว่างพรรคการเมือง นี่คือลักษณะที่ต้องพิจารณาในสภา ผมมั่นใจว่าคนที่มาจากประชาชนไม่สร้างความผิดหวังให้กับประชาชนแน่ เพราะเขาอยู่กับรัฐประหารมา 4 ปีแล้ว บ้านเมืองเป็นอย่างไร ประชาชนรู้รสชาติแล้ว

ผู้นำพรรคเพื่อไทยคนใหม่

ส่วนตัวผมวันนี้ยังไม่แน่ใจว่าใครจะมาถือธงนำพรรคสู้ศึกเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยมี พล.ต.อ.วิโรจน์ เปาอินทร์ เป็นหัวหน้าพรรคขณะนี้ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่จะเสนอ 3 คนนั่นแหละสำคัญ อย่ามองว่าใครจะมานำพรรค ต้องมองว่าคนที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯคนที่ 1-3 คือใคร ต้องดูตรงนี้มากกว่า

ส่วนคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ตอนนี้ก็ยังไม่มีใครฟันธง พรรคเพื่อไทยมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเยอะแยะ ถึงเวลาก็จะเกิดขึ้นมาเองโดยธรรมชาติ ผู้หลักผู้ใหญ่ทุกคนภายในพรรคมีสิทธิทั้งหมด


You must be logged in to post a comment Login