วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567

เยรูซาเล็มภายใต้การปกครองของมุสลิม / โดย บรรจง บินกาซัน

On November 4, 2017

คอลัมน์ : สันติธรรม

ผู้เขียน : บรรจง บินกาซัน

เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกากับอิสราเอลได้ถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกองค์การยูเนสโก (UNESCO) เพราะองค์การนี้ผ่านมติเรียกอิสราเอลเป็น “มหาอำนาจที่เข้ายึดครอง” เมืองเยรูซาเล็ม และเรียกร้องให้อิสราเอลล้มเลิกความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงลักษณะของเมืองนี้

ยูเนสโกในฐานะที่เป็นองค์การจัดทำทะเบียนแหล่งมรดกโลกยืนยันมาตลอดว่าเมืองเยรูซาเล็มเป็นของปาเลสไตน์ เพราะประวัติศาสตร์ยืนยันเช่นนั้น

ในอดีตปาเลสไตน์ (หรือฟิลิสติน) เป็นชนเผ่าโบราณเผ่าหนึ่งที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินที่เรียกว่าคะนาอัน (หรือ “กันอาน”) มาก่อน หลังสมัยของโมเสส ลูกหลานอิสราเอลได้เร่ร่อนเข้ามาในดินแดนแถบนี้ จึงถูกชนเผ่าปาเลสไตน์ขับไล่ ไม่สามารถตั้งรกรากถิ่นฐานได้

จนเมื่อเด็กหนุ่มนามว่าเดวิดขันอาสาออกไปรับคำท้าโกไลแอธ แม่ทัพร่างยักษ์ของชาวปาเลสไตน์ และสามารถสังหารโกไลแอธลงได้ ชนชาติอิสราเอลจึงได้รับชัยชนะและรวมตัวกันสร้างอาณาจักรอิสราเอลขึ้นมาโดยมีเดวิดเป็นกษัตริย์ปกครอง

ในช่วงเป็นกษัตริย์ปกครองชนชาติอิสราเอลนี้เองที่พระเจ้าได้ประทานคัมภีร์แก่เดวิด คัมภีร์นี้ถูกเรียกเป็นภาษาอาหรับว่า “ษะบูรฺ” ปัจจุบันคัมภีร์นี้ถูกรวมอยู่ในคัมภีร์ไบเบิลพันธสัญญาเก่าในชื่อว่า Psalms หรือบทเพลงสดุดี มุสลิมถือว่านบีเดวิดเป็นนบีคนหนึ่งของพระเจ้า

เมื่อเดวิดตายจากไป โซโลมอนได้ขึ้นมาสืบทอดอำนาจต่อ ก่อนที่โซโลมอนจะเสียชีวิต เขาได้สร้างวิหารขึ้นมาหลังหนึ่งเพื่อสักการะพระเจ้าองค์เดียวตามความเชื่อของอับราฮัม และวิหารหลังนี้เป็นจุดศูนย์กลางทางจิตวิญญาณของลูกหลานอิสราเอล

หลังสมัยโซโลมอน อาณาจักรอิสราเอลแตกเป็น 2 ส่วน และทั้ง 2 อาณาจักรถูกต่างชาติรุกราน เมืองเยรูซาเล็มถูกทำลายราบพร้อมกับวิหารของโซโลมอน และชนชาติอิสราเอลต้องตกเป็นทาส

ต่อมาเมื่อได้รับการปลดปล่อยจากกษัตริย์ไซรัสแห่งเปอร์เซีย ลูกหลานอิสราเอลจึงได้กลับไปยังเยรูซาเล็ม และได้สร้างวิหารหลังที่สองขึ้นมาตรงบริเวณที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นที่ตั้งของวิหารโซโลมอน

หลังสมัยพระเยซู 70 ปี (หรือ ค.ศ. 70) เมืองเยรูซาเล็มถูกกองทัพโรมันไบแซนตินทำลายพร้อมกับวิหารหลังที่สองจนไม่เหลือซาก ชนชาติอิสราเอลต้องอพยพหลบหนีไปอาศัยอยู่ในส่วนต่างๆของโลก และแผ่นดินปาเลสไตน์ตกอยู่ในการปกครองของอาณาจักรโรมัน

ปาเลสไตน์สมัยนั้นเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดิน “ชาม” ที่รวมถึงซีเรีย จอร์แดน และเลบานอน

หลังสมัยนบีมุฮัมมัด เมื่อกองทัพอาหรับได้ชัยชนะเหนืออาณาจักรโรมันไบแซนติน และเมืองเยรูซาเล็มตกเป็นของมุสลิม สังฆราชโซโพรนิอุส ตัวแทนรัฐบาลโรมันและผู้ดูแลเมืองเยรูซาเล็ม ไม่ยอมมอบกุญแจเมืองให้แม่ทัพมุสลิมนอกจากประมุขของรัฐอิสลามจะมารับกุญแจเมืองด้วยตัวเอง

เมื่อทราบเช่นนั้น เคาะลีฟะฮฺอุมัรฺจึงเดินทางมาตามลำพังโดยมีคนรับใช้ที่ใส่เสื้อผ้าเหมือนกับเขาติดตามและสลับกันขี่ล่อจากเมืองมะดีนะฮฺมายังเยรูซาเล็ม เมื่อรับกุญแจเมืองแล้ว สังฆราชโซโพรนิอุสได้เชิญอุมัรฺให้ละหมาดในโบสถ์ที่สร้างขึ้นตรงสถานที่ที่ชาวคริสเตียนเชื่อว่าเป็นที่ตรึงกางเขนพระเยซู (Church of the Holy Sepulchur) แต่อุมัรฺปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่าถ้าเขาเข้าไปละหมาด มุสลิมจะยึดเอาสถานที่แห่งนั้นเป็นมัสยิด แต่เขาได้ละหมาดตรงสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของมัสยิดอุมัรฺ

หลังจากนั้นเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺได้ทำสัญญาการปกครองเป็นลายลักษณ์อักษรว่า “ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงกรุณาปรานี ผู้ทรงเมตตาเสมอ

“นี่คือหลักประกันสันติภาพและการคุ้มครองที่ให้ไว้โดยอุมัรฺบ่าวของอัลลอฮฺแก่ชาวอิลิอา (เยรูซาเล็ม) เขาให้หลักประกันการคุ้มครองชีวิต ทรัพย์สิน โบสถ์แก่ชาวเมือง ซึ่งรวมถึงคนป่วยและคนสุขภาพดี และทุกกลุ่มศาสนาของเมืองด้วย

โบสถ์ของพวกเขาจะไม่ถูกยึดครอง ทำลาย หรือถูกเอาไปทั้งหมดหรือแม้ส่วนหนึ่ง พวกเขาจะไม่ถูกบังคับในเรื่องศาสนา และพวกเขาจะไม่ถูกทำร้าย ชาวอิลิอาจะจ่ายภาษีญิซยะฮฺ (ภาษีคุ้มครอง) เช่นเดียวกับผู้อาศัยในเมืองจ่าย (และเช่นเดียวกับที่มุสลิมจ่ายภาษีซะกาต)”

ดังนั้น สถานภาพของเมืองเยรูซาเล็มภายใต้การปกครองของมุสลิมจึงเป็นเมืองที่ทุกศาสนิกได้รับความปลอดภัยและเสรีภาพในการนับถือศาสนา


You must be logged in to post a comment Login