วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

สร้างเขื่อนแม่วงก์คุ้มจริงๆ / โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย

On November 2, 2017

คอลัมน์ : โลกอสังหาฯ
ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

มีผู้ถามว่าถ้าสร้างเขื่อนแม่วงก์แล้วจะเอาต้นไม้ในพื้นที่สร้างเขื่อน 12,350 ไร่ไปไว้ที่ไหน ไม่รู้จะคุ้มหรือไม่ คำตอบง่ายๆ ชัดๆ ตรงๆคือ ตัดต้นไม้ครับ ต้นไม้เหล่านี้มีค่าประมาณ 1,073 ล้านบาท ค่าสร้างเขื่อน 13,000 ล้านบาท มากกว่าตั้งมากมาย แสดงว่าเราเสียไปนิดเดียว ที่สำคัญคืออย่าคิดแต่ในแง่ที่เสียไป ต้องมองในแง่ที่ได้มาว่าคุ้มอย่างไรดังนี้

1.จะทำให้ปริมาณน้ำต้นทุนในลุ่มน้ำแม่วงก์เพิ่มขึ้น โดยมีปริมาตรเก็บกักประมาณ 258 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้เพื่อการเกษตร อุปโภคบริโภค ประมงน้ำจืด รวมทั้งการท่องเที่ยว เป็นต้น 2.สามารถส่งน้ำให้พื้นที่รับประโยชน์ท้ายอ่าง 10,000 ไร่ พื้นที่ชลประทาน 291,900 ไร่ (ฤดูฝน) และในฤดูแล้ง 116,545 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 127 หมู่บ้าน 23 ตำบล 6 อำเภอ 3 จังหวัด

3.ประสิทธิภาพการใช้ที่ดินด้านเกษตรกรรม (Cropping Intensity : CI) เพิ่มขึ้น 40% 4.ยกระดับรายได้เกษตรกรซึ่งสามารถเพิ่มผลผลิตข้าวในฤดูฝนและเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกในฤดูแล้ง 5.เพิ่มผลผลิตด้านสัตว์น้ำและประมงน้ำจืดประมาณปีละ 165 ตัน คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจปีละ 7.13 ล้านบาท ทั้งทำให้ระบบนิเวศท้ายน้ำในลำน้ำแม่วงก์มีความสมบูรณ์มากขึ้น 6.อ่างเก็บน้ำสามารถเป็นแหล่งน้ำเพื่อดับไฟป่าในช่วงฤดูแล้งในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ซึ่ง พ.ศ. 2542 เกิดไฟป่าถึง 108 ครั้ง พื้นที่เสียหาย 3,327 ไร่

7.ทำให้ดินรอบอ่างเก็บน้ำและพื้นที่ชลประทานมีความชุ่มชื้นมากขึ้นโดยเฉพาะในฤดูแล้ง เหมาะกับการเจริญเติบโตของพืชพรรณธรรมชาติ รวมทั้งพืชเกษตรกรรม 8.เป็นแหล่งน้ำและแหล่งอาหารต่อสัตว์ป่า 9.มีน้ำใช้เพื่อการชลประทานและอุปโภคบริโภค รวมทั้งธุรกิจท่องเที่ยว และ 10.สภาพทางสาธารณสุขและภาวะโภชนาการมีแนวโน้มดีขึ้น

ถ้าสร้างเขื่อนแม่วงก์เมื่อ พ.ศ. 2525 ด้วยเงินเพียง 3,761 ล้านบาท ป่านนี้คุ้มทุนไปแล้ว ถ้าอีก 30 ปีข้างหน้าถึงจะสร้าง ต้องลงทุนเพิ่มขึ้นถึง 43,128 ล้านบาท เมื่อคำนวณทางการเงินเพื่อความเข้าใจอย่างง่ายๆถึงการสูญเสียโอกาสในการไม่ได้ก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ในอดีต ในอนาคตจะยิ่งมีต้นทุนสูงขึ้น

1.ค่าก่อสร้างเขื่อนที่ประมาณการไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2525 เป็นเงินเพียง 3,761 ล้านบาท แต่ พ.ศ. 2556 เพิ่มขึ้นเป็น 13,000 ล้านบาท ตามข้อมูลของกรมชลประทาน

2.ในระยะเวลา 31 ปีที่ผ่านมา การเพิ่มขึ้นของค่าก่อสร้างนี้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 4.08% ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นไม่มากนัก

3.หากขณะนั้นกู้เงินมาทำโครงการ 3,761 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 8% ระยะเวลา 15 ปี เท่ากับผ่อนชำระคืนเพียงปีละ 419 ล้านบาท หรือเดือนละ 37 ล้านบาท ตอนนี้ก็ผ่อนหมดไปแล้ว 16 ปี

4.ยิ่ง “ซื้อเวลา” ออกไป และหากสร้างในอีก 30 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2586) ค่าก่อสร้างจะเพิ่มเป็น 43,128 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.32 เท่า (332%) โดยใช้อัตราดอกเบี้ยเดิม 4.08% ยิ่งปล่อยนานวันประเทศชาติจะยิ่งเสียหาย

5.ถ้าต้องมีเงิน 43,128 ล้านบาทก่อสร้างเขื่อนในอีก 30 ปีข้างหน้า นับแต่วันนี้ไปอีก 30 ปี รัฐบาลต้องเริ่มสะสมเงินปีละ 759 ล้านบาท หรือเดือนละ 63 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 4.08% ต่อปี จึงจะได้เงินจำนวนดังกล่าว นี่คือความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นจากการ “เตะถ่วง” โครงการอย่างไม่สิ้นสุด

6.สมมุติผลตอบแทนจากเขื่อนเป็นเงิน 5% ของ 3,761 ล้านบาท หรือ 188 ล้านบาทต่อปี และเก็บกินมาแล้ว 23 ปี (31 ปีที่ผ่านมาลบด้วย 8 ปีในการก่อสร้าง) จะได้เม็ดเงิน ณ อัตราดอกเบี้ย 4.08% เป็นเงินถึง 6,952 ล้านบาท นี่คือโอกาสที่สูญเสียไปจากการไม่ได้สร้างเขื่อนแม่วงก์

7.ถ้าเขื่อนแม่วงก์สามารถสร้างผลตอบแทนสุทธิได้ 10% ต่อปีเท่าๆกันโดยไม่มีการเติบโตของผลตอบแทนเลย (ปรกติควรมี) และนำผลตอบแทนนี้มาคิดด้วยอัตราเงินเฟ้อที่คำนวณจากการเพิ่มค่าก่อสร้างของเขื่อน 4.08% ต่อปี จะพบว่าการลงทุนก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์จะคุ้มทุนในปีที่ 14 ของการดำเนินงาน และหากคิดถึงปัจจุบันจะได้กำไรเป็นอันมาก

ที่ผ่านมามีการ “เตะถ่วง” โครงการมาตลอด เช่น พอจะสร้างเขื่อนในปี พ.ศ. 2525 ก็ปรากฏว่า พ.ศ. 2532 ให้ไปศึกษา EIA พ.ศ. 2537 ให้ไปศึกษาทางเลือกพื้นที่อื่น เช่น เขาชนกัน พ.ศ. 2541 ให้ทำประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2546 ให้ศึกษาการจัดการลุ่มน้ำแทนการสร้างเขื่อน และ พ.ศ. 2556 อ้างว่าต้นไม้ในป่าเสื่อมโทรมที่ปลูกฟื้นฟูมามีอายุ 5-18 ปี และไม่มีสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรมอย่างที่มีชาวเขา 200 กว่าครัวเรือนเข้าไปอาศัย

การตัดสินใจอย่างรวดเร็วและชัดเจน ฝ่ามายาคติ จะเป็นสิ่งสำคัญต่อประเทศชาติโดยรวม


You must be logged in to post a comment Login