วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

จีนปลูกข้าวน้ำกร่อยสำเร็จ

On October 18, 2017

ประเทศจีนประสบความสำเร็จครั้งแรก ในการผลิตข้าวเชิงพาณิชย์จากนาน้ำกร่อย แต่ระบุว่าเป็นความสำเร็จเพียงขั้นต้นเท่านั้น ยังต้องเดินหน้าพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ดีกว่าต่อไป ในขณะเดียวกันก็ตั้งเป้าขยายพื้นที่ปลูกในอนาคต เพื่อเพิ่มผลผลิตรองรับผู้บริโภคให้ได้อย่างน้อย 80 ล้านคน

ความสำเร็จดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องมาจากความพยายามพัฒนาพันธุ์ข้าวสำหรับปลูกในดินเค็มและน้ำกร่อยมานานกว่า 40 ปี มีภาคส่วนต่างๆ ทั้งเกษตรกร นักวิชาการ หน่วยงานรัฐ และภาคเอกชน ทดลองหาพันธุ์ข้าว “ในฝัน” ที่ให้ผลผลิตมากในระดับคุ้มทุน

คณะวิจัยที่พิชิตความท้าทายสำเร็จ ได้แก่ ทีมงานของศาสตราจารย์หยวน หลงผิง เจ้าของสมญานาม บิดาแห่งข้าวพันธุ์ผสม (Father of Hybrid Rice)

ทีมวิจัยของศาสตราจารย์หยวน ทำงานอยู่ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวทนต่อดินเค็มด่าง (Qingdao Saline-Alkali Tolerant Rice Research and DevelopmentCenter) ที่เมืองชิงเต่า มณฑลซานตง ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าวชนิดนี้ใหญ่ที่สุดของจีน มีแปลงทดลองอยู่ใกล้ปากแม่น้ำฮวงโห (แม่น้ำเหลือง)

การทดลอง ใช้น้ำจากทะเลนำมาเจือจางความเค็มลงระดับหนึ่งด้วยน้ำจืด ก่อนปล่อยเข้าสู่แปลงนาข้าว

ทีมวิจัยปลูกทดลองพันธุ์ข้าวมากกว่า 200 ชนิด และพบว่ามี 4 ชนิด (จีนไม่เปิดเผยชื่อพันธุ์ข้าว) ที่ให้ผลผลิตมากถึงไร่ละ 1.10-1.55 ตัน ซึ่งมากกว่าที่คาดไว้ ทีมวิจัยจึงประกาศความสำเร็จ ยกเป็นพันธุ์สำหรับปลูกเชิงพาณิชย์ได้ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

นอกจากให้ผลผลิตมากแล้ว ข้าวที่ได้ยังมีคุณสมบัตินุ่มกลิ่นหอมรับประทานอร่อย และข้อดีอีกอย่างของข้าวนาน้ำกร่อย คือไม่มีแมลงศัตรูพืชรบกวน เนื่องจากดินเค็มและน้ำกร่อยเป็นธรรมชาติขับไล่แมลงศัตรูพืชในตัว

เหตุผลที่จีนพยายามพัฒนาพันธุ์ข้าวชนิดนี้ เนื่องจากมีพื้นที่ดินเค็มด่างทั่วประเทศ ที่ไม่สามารถใช้เพาะปลูกได้มากถึง 1 ล้านตารางกิโลเมตร กว้างกว่าประเทศไทย 2 เท่า โดยเฉพาะปากแม่น้ำแยงซีและฮวงโห ที่น้ำพัดตะกอนดินมาทับทมสะสมกลายเป็นผืนดินกว้างขึ้นต่อเนื่อง

ทีมวิจัยระบุว่า การได้พันธุ์ข้าวทนต่อความเค็ม 4 ชนิด ถือเป็นความสำเร็จขั้นต้น ทีมงานยังคงทำวิจัยทดลองต่อ โดยนำพันธุ์ข้าว 35 ชนิด ไปปลูกทดลองในสถานที่แตกต่างกัน 23 แห่ง เพื่อคัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะสมกับแต่ละสภาพพื้นที่ คาดว่าจะใช้เวลาอีกหลายปีจึงจะได้ข้อสรุป

สำหรับแผนในอนาคต ทีมวิจัยตั้งเป้าไว้ว่า จะส่งเสริมให้เกษตรกรเข้ามามีส่วนขยายพื้นที่ปลูกในเขตดินเค็มด่างทั่วประเทศให้ได้อย่างน้อย 47 ล้านไร่

เพื่อสร้างผลผลิตรองรับผู้บริโภคให้ได้อย่างน้อย 80 ล้านคน


You must be logged in to post a comment Login