วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

กำเนิดมวยไทย(3) / โดย เรืองยศ จันทรคีรี-ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก

On October 9, 2017

คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร

ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี-ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก

มีเหตุผลเป็นไปได้ว่ากีฬาที่เก่าแก่มากในโลกนี้คือมวยปล้ำที่มีจุดกำเนิดจากพวกกรีกและโรมัน จึงมีเหตุผลเป็นไปได้ว่าการนำมวยปล้ำมาแพร่ในเอเชียจะมาจากทหารกรีกของกษัตริย์อเล็กซานเดอร์มหาราช

อย่างไรก็ตาม กีฬาและศิลปะการต่อสู้ต่างๆก็มีพัฒนาการของแต่ละชนิด โดยมีการดัดแปลงและผสมกลมกลืนไปกับศิลปะต่างๆจนมีวิวัฒนาการไปตามวันเวลา เพื่อเพิ่มศักยภาพในการต่อสู้ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

ตอนเริ่มต้นที่ผมได้รับการเชิญชวนให้มาเกี่ยวข้องกับการแกะรอยมวยไทยจากอดีตตามคำเชิญชวนของ ดร.ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก ผมได้ให้ความเห็นพื้นฐาน 2 ข้อหลักๆคือ

ประการแรก เห็นว่าการจะแกะรอยเส้นทางมวยไทยได้ มีความจำเป็นต้องใช้วิธีการต่อจิ๊กซอว์ทางประวัติศาสตร์ เห็นแบบอย่างการทำงานทางประวัติศาสตร์ได้อย่างชัดเจนของวาเลอรี แฮนเซน จากงานเขียนพลิกประวัติศาสตร์เส้นทางสายไหม (silk road) ซึ่งเขาเห็นว่าการทำงานประเภทนี้เหมือนกับการนำเรื่องราวความเป็นอยู่ที่ได้เลือนหายไปในอดีตนำมาเล่าถึงใหม่ เพราะเอกสารโบราณหลายๆชิ้นอาจหายสาบสูญไปนานแล้ว

เพราะฉะนั้นเพื่อจะเอาชนะกำแพงอุปสรรคเหล่านั้นและก้าวข้ามข้อจำกัดทางวิชาการอันคับแคบ วาเลอรีจึงใช้วิธีการเสมือนไทม์แมชีนปะติดปะต่อเรื่องราวต่างๆเข้าด้วยกัน ซึ่งอาจกล่าวได้อีกอย่างว่า เป็นวิธีการต่อจิ๊กซอว์หรือต่อชิ้นส่วนทางประวัติศาสตร์เข้าหากัน เพื่อมองเห็นคำตอบในภาพรวมขึ้นมา

ข้อคิดอีกประการที่ผมได้แนะนำไว้คือ ในการทำงานประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่มีข้อโต้แย้งมากมาย โดยเฉพาะการแกะรอยประวัติศาสตร์หาคำตอบกำเนิดมวยไทย ซึ่งต้องสืบเนื่องมาจากประวัติศาสตร์กระแสหลักหรือประวัติศาสตร์แห่งชาติ ย่อมมีความขัดแย้งที่สูงมาก จึงจำเป็นต้องหาข้อยุติหรือข้อสรุปในเชิงทฤษฎีของประวัติศาสตร์ให้ได้ชัดเจนเสียก่อน

ข้อแรกได้ให้ความเห็นว่า คนทำงานจะต้องยอมรับว่าข้อเท็จจริงในงานประวัติศาสตร์นั้นย่อมมีความแตกต่างกับข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ โดยแนะนำให้ยึดถือความเห็นของ E.H. Carr ในงานเขียนของเขาเรื่อง What is History ซึ่งบอกถึงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ คือข้อคิดและความเห็นของผู้เขียนประวัติศาสตร์นั้นเอง

เป็นการสนทนาระหว่างผู้เขียนกับข้อมูลของเขาที่ไม่รู้จบ จึงต้องเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนกับข้อมูลของเขา ซึ่งหนีไม่พ้นเรื่องความเห็นส่วนตัวและจินตนาการ และหนีไม่พ้นเรื่องอคติ การโน้มเอียงเข้าข้าง หรือความคลั่งไคล้ใหลหลง ที่จะเกี่ยวข้องอยู่ในข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ซึ่งถือเป็นเรื่องปรกติธรรมดา

แน่นอนที่สุดว่าอคติหรือการเข้าข้างและคลั่งไคล้ใหลหลง ความห่วงหาอาลัย ความจงรักภักดี ส่งผลให้งานประวัติศาสตร์กลายเป็นวาทกรรม สิ่งเหล่านี้ย่อมมีอิทธิพลและเกี่ยวข้องเป็นข้อจำกัดได้ในการทำงานทางประวัติศาสตร์

ข้อแนะนำสุดท้ายที่ผมได้กล่าวไว้คือ การทำงานทางประวัติศาสตร์ต้องเคร่งครัดต่อความหมายแท้จริงของประวัติศาสตร์ ซึ่งมีรากฐานมาจากภาษากรีก คือความหมาย Historio ซึ่งแปลว่าการตรวจสอบ หรือ investigation

และล่าสุดหมาดๆที่ผมได้วิวาทะจบสิ้นกับ ดร.ณัฐวุธคือ เห็นว่าสังคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมที่หลากหลายมาก อาจเป็นไปตามสังคมที่ดำเนินไปตามสภาพแวดล้อมของการค้าขายมาตั้งแต่ครั้งโบราณ ซึ่งได้กลายเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรมอันแตกต่างและหลากหลายมุมในอุษาคเนย์ อาจจะมีสภาพการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่หลากหลายมากกว่าเส้นทางสายไหมด้วยซ้ำไป ตรงนี้จึงน่าจะเป็นอีกปัจจัยที่ไปกระทบและก่อให้เกิดวิวัฒนาการของศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวในแบบมวยไทย

จากกระบวนทัศน์ทางประวัติศาสตร์ทั้งหมดที่ผนวกเข้ากับทฤษฎีที่ว่ามีการเรียนรู้และส่งผ่านในด้านศิลปวัฒนธรรมอย่างมากมายในอุษาคเนย์ ทั้งด้วยเหตุปัจจัยที่สืบเนื่องมาจากการค้าขายแลกเปลี่ยนระหว่างนานาชาติ ตลอดจนการเดินทางด้วยวัตถุประสงค์ต่างๆ จึงทำให้เกิดกระบวนการศึกษาเรียนรู้อย่างเป็นบูรณาการ

เงื่อนไขตรงนี้กลายเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวแบบมวยไทยได้วิวัฒนาการมาจนกลายเป็นศิลปะการต่อสู้ที่ใช้อาวุธ เกิดการต่อสู้ในแบบครบเครื่องมากที่สุดในบรรดาศิลปะการต่อสู้ด้วยกันทุกชนิดเท่าที่มีอยู่ในโลกนี้

ข้อเขียนชิ้นนี้นอกจากจะระบุถึงแนวทางของประวัติศาสตร์ที่หาร่องรอยของมวยไทยแล้ว ยังเป็นการบ่งชี้ถึงสภาวะความหลากหลายของสังคมอุษาคเนย์ ซึ่งเป็นอีกเงื่อนไขที่ต้องเข้าใจการทำงานประวัติศาสตร์และอีกหลากหลายประเด็น ซึ่งมิใช่เฉพาะการแกะรอยมวยไทยเท่านั้น


You must be logged in to post a comment Login