วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2567

นานแค่ไหนก็รอ / โดย สมศักดิ์ ไม้พรต

On September 25, 2017

คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง

ผู้เขียน : สมศักดิ์ ไม้พรต

เรื่องให้เอกชนเช่าที่ดินสาธารณประโยชน์ห้วยเม็ก ในพื้นที่ตำบลบ้านดง อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ใช้ประโยชน์ทางธุรกิจจบไปแล้วเมื่อเป็นข่าวใหญ่ แม้คนเซ็นอนุมัติยังไม่ได้ยกเลิก แต่เอกชนที่เช่าพื้นที่ขอยกเลิกการเช่าใช้พื้นที่เอง

เมื่อการเช่าพื้นที่ยกเลิกแล้ว ไม่ทราบว่าที่มีการยื่นเรื่องให้องค์กรอิสระตรวจสอบการอนุมัติครั้งนี้จะสิ้นสุดไปด้วยหรือไม่ หรือยังเดินหน้าสอบตามขั้นตอนกันต่อไป ต้องรอความชัดเจนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ที่แน่ๆเรื่องนี้ไม่ทำให้ผู้ใหญ่มือพอง แต่จะเป็นพวกเบี้ยระดับล่าง โดยเฉพาะระดับท้องที่ที่ต้องมีคนโดนจับมาบูชายัญเพื่อการันตีว่าไม่มีผู้ใหญ่เกี่ยวข้องหรือรู้เห็นกับการเช่าที่ป่าชุมชนครั้งนี้ เป็นเรื่องที่ระดับปฏิบัติชงเรื่องขึ้นมาให้เซ็นอย่างไม่ถูกต้อง

อีกเรื่องที่น่าติดตามคือ การปลดประจำการเรือเหาะตรวจการณ์ที่ซื้อมาใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มูลค่า 350 ล้านบาท (เฉพาะราคาตัวเรือ ไม่รวมค่าซ่อมบำรุง ค่าโรงจอด ค่ารถลากจูง ฯลฯ)

เรือเหาะลำนี้ซื้อมาตั้งแต่ปี 2552 แต่ไม่สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ ซ่อมแล้วซ่อมอีก ในที่สุดต้องจอดเก็บไม่ได้ใช้งาน และต้องประกาศปลดประจำการไปตามสภาพ

กรณีนี้มีเสียงเรียกร้องให้สอบหาคนรับผิดชอบในการจัดซื้อ เพราะไม่คุ้มค่างบประมาณ โดยนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นเรื่องให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผู้บัญชาการทหารบก และคณะกรรมการตรวจรับเรือตรวจการณ์ อดีตคณะรัฐมนตรีรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่อนุมัติให้จัดซื้อเรือเหาะตรวจการณ์ และพนักงานเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“กองทัพบกได้เสนอจัดซื้อจัดหาเรือเหาะมาประจำการเพื่อใช้งาน แต่กลับไม่สามารถใช้งานได้ดังคำโฆษณาชวนเชื่อหรือเหตุผลในการนำเสนอขออนุมัติจัดซื้อ ไม่เคยทำหน้าที่สอดส่องจนสามารถเตือนภัยเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นจากการก่อการร้ายได้ หรือช่วยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับรู้ว่ามีผู้ใด ผู้ก่อการร้ายใด กำลังก่อเหตุหรือก่อเหตุแล้วหลบหนีไปในทางใด เรือเหาะดังกล่าวจึงเป็นยุทธภัณฑ์ที่ไม่มีประสิทธิผลตามข้ออ้างในการเสนอจัดซื้อ

ดังนั้น เมื่อรู้ว่าเป็นยุทธภัณฑ์ที่ไม่มีประสิทธิผล ล้าสมัย และราคาแพง ไม่มีความคุ้มค่า ผู้ที่เสนอและอนุมัติควรจะระงับการจัดซื้อจัดหาเพื่อประสิทธิภาพในการใช้เงินงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยการเงินการคลัง แต่ผู้ที่เสนอและอนุมัติกลับนำเงินภาษีของปวงชนชาวไทยทั้งชาติไปจัดซื้อ การดำเนินการดังกล่าวต้องมีผู้รับผิดชอบ”

เกี่ยวกับเรื่องนี้นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่า สตง. บอกว่า จะตรวจสอบให้ได้ผลภายใน 1 เดือน โดยจะตรวจสอบเอกสารหลักฐาน กระบวนการขั้นตอน วิธีการใช้ประโยชน์ ว่าที่ซื้อมาตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ การใช้จ่ายงบประมาณ และการใช้งานหรือไม่

“ที่ผ่านมาตลอดเวลา 8 ปี สตง. ได้มีการติดตามประเด็นดังกล่าวอยู่แล้ว โดยจะนำข้อมูลที่ทางผู้ยื่นส่งมาเพิ่มเติมเข้าไปด้วย และในอนาคตจะตรวจสอบเรื่องเรือดำน้ำเช่นเดียวกับเรือเหาะตรวจการณ์

สำหรับประเด็นความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณจะต้องมองถึงการใช้งาน ซึ่งจะมาจากหลักฐานที่จะตรวจสอบต่อจากนี้ และในเรื่องการตรวจสอบไม่ต้องกังวลว่าจะไปเชื่อมโยงหรือเกี่ยวข้องกับผู้ที่ยังดำรงตำแหน่งในรัฐบาลปัจจุบัน เพราะ สตง. เป็นองค์กรอิสระ มีอำนาจในการตรวจสอบ ยึดการใช้จ่ายงบประมาณต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์”

อย่างไรก็ตาม หากมองย้อนไปหลังจากที่ศาลอังกฤษพิพากษายึดทรัพย์ผู้ผลิตเครื่องตรวจจับระเบิดปลอมรุ่น GT 200 และเครื่องตรวจหายาเสพติดอัลฟ่า 6 ที่ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ซื้อมาใช้และมีข้อเรียกร้องให้ตรวจสอบการจัดซื้อ

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 ผู้ว่า สตง. คนเดียวกันนี้เคยตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า จะรื้อเรื่องการจัดซื้อจีที 200 ขึ้นมาพิจารณาใหม่ เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินคดีจากเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ว่าอยู่ในขั้นตอนใดแล้ว และประเมินความเสียหายของหน่วยงานรัฐที่ได้รับผลกระทบจากการจัดซื้อเครื่องจีที 200 ไม่ได้ประสิทธิภาพตามโฆษณาอวดอ้าง

“จะตรวจสอบข้อมูลบริษัทเอกชนที่เป็นตัวแทนจำหน่ายในไทยที่อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายเกี่ยวกับการฟอกเงิน พร้อมส่งเรื่องให้ที่ประชุมศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พิจารณาด้วย”

เป็นคำพูดของนายพิศิษฐ์ที่กล่าวไว้เมื่อปีกว่ามาแล้ว (เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ www.bangkokbiznews.com/news/detail/703416)

จนถึงวันนี้ไม่มีใครรู้ว่าการตรวจสอบการจัดซื้อจีที 200 มีความคืบหน้าไปถึงขั้นตอนไหนอย่างไร ทั้งในส่วนการตรวจสอบของ สตง. และคดีความที่อยู่ในความรับผิดชอบของดีเอสไอ

หากย้อนไปไกลกว่านั้น นายพิศิษฐ์เคยให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2553 หลังจากเรื่องนี้เป็นข่าวดังใหม่ๆว่า

“สตง. กำลังตรวจสอบข้อมูลการจัดซื้อเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดจีที 200 และเครื่องตรวจหาสารยาเสพติดอัลฟ่า 6 หลังพบความผิดสังเกตที่ราคาเครื่อง เนื่องจากแต่ละหน่วยงานมีราคาจัดซื้อแตกต่างกันมาก หากข้อมูลที่ สตง. ได้มาไม่ครบถ้วนจะเรียกเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่จัดซื้อมาชี้แจง และอาจตรวจสอบย้อนหลังการจัดซื้อเครื่องจีที 200 ตั้งแต่ปี 2547 หากพบว่าการจัดซื้อไม่สมเหตุสมผล มีการทุจริต จะส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการต่อไป” (ไทยรัฐออนไลน์ https://www.thairath.co.th/content/65709)

จะเห็นได้ว่ามีการพูดถึงเรื่องการตรวจสอบการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ในกองทัพมาหลายกรรมหลายวาระ แต่ละครั้งดูขึงขังจริงจังต่อการทำหน้าที่ตรวจสอบ

ในส่วนของจีที 200 นั้นเคยมีผลสอบของ สตง. ออกมาครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 โดยแจ้งผลสอบส่งตรงถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ให้ได้รับทราบว่า ผลการตรวจสอบโดยรวมพบว่า การเสนอราคาการจัดซื้อเครื่องจีที 200 ให้กับหน่วยงานรัฐมีราคาแตกต่างกันมาก ประกอบกับเครื่องจีที 200 ไม่มีคุณลักษณะเฉพาะของการใช้งานอันเป็นสาระสำคัญ และมีคุณลักษณะไม่ถูกต้องตรงตามวัตถุประสงค์ของสัญญาซื้อ

โดยมีข้อเสนอแนะให้หัวหน้าส่วนราชการที่จัดซื้อดำเนินการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีอาญาแก่กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท Global Technical Limited บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด และผู้ที่เกี่ยวข้องในความผิดฐานฉ้อโกง และดำเนินคดีทางแพ่งกับบริษัททั้งสอง และควรพิจารณาแต่งตั้งผู้ชำนาญการหรือผู้ทรงคุณวุฒิหรือนักวิชาการร่วมเป็นกรรมการจัดซื้อจัดจ้างหากมีการดำเนินการจัดหาพัสดุที่มีเทคนิคพิเศษในอนาคต

ในมุมของ สตง. 5 หน่วยงานรัฐที่จัดซื้อจีที 200 และอัลฟ่า 6 รวม 954 เครื่อง มูลค่ากว่า 742 ล้านบาท คนซื้อไม่ผิด ผิดที่คนขายเอาของไม่มีคุณภาพมาหลอกขาย ส่วนที่บอกว่าจะรื้อคดีมาพิจารณาใหม่คงต้องรอผลกันต่อไป

อย่างไรก็ตาม 1 เดือนหลังจากนี้ต้องรอดูผลสอบการจัดซื้อเรือเหาะที่ทำท่าขึงขังจริงขังว่าจะออกมาในรูปแบบใด


You must be logged in to post a comment Login