วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2567

วิกฤตต้มกบ? / โดย กองบรรรณาธิการ

On September 25, 2017

คอลัมน์ : ปรับทัศนสติ

ผู้เขียน : กองบรรรณาธิการ

รศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมรายการ “คืนวันสุข” ช่วง “ปรับทัศนคติ” วันที่ 15 กันยายน 2560 เวลา 20.00 น. ดำเนินรายการโดย “พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์-วิโรจน์ อาลี-ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข” ติดตามรายการได้ทุกวันศุกร์ 20.00 น. ทาง www.facebook.com/lokwannee และ www.youtube.com/lokwannee โดยอาจารย์อภิชาตวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยว่าทำไมจึงเรียกว่า “วิกฤตต้มกบ” ว่า ครั้งวิกฤตแบบต้มยำกุ้งเป็นวิกฤตการเงินที่เกิดจากความไม่สมดุลกับภายนอกประเทศ เป็นวิกฤตเงินตราระหว่างประเทศและสถาบันการเงิน แต่ครั้งนี้กลับตาลปัตรทั้งที่มีความมั่นคงทางการเงิน เพราะประเทศไทยมีเงินสำรองระหว่างประเทศกว่า 2 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี ทำให้ไม่เกิดวิกฤตแบบต้มยำกุ้ง แต่จะเกิด “วิกฤตต้มกบ” แทน คือวิกฤตอย่างช้าๆ ซึมๆ ยาวๆ

อาจารย์อภิชาตเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า ถ้าต้มน้ำร้อนให้เดือดแล้วเอากบใส่ลงไป กบก็ต้องกระโดดออกมา กบก็ไม่ตาย แต่ถ้าเอาน้ำเย็นแล้วใส่กบไปแล้วจุดไฟให้น้ำค่อยๆร้อน กบก็รู้สึกอุ่นสบายไม่รู้ตัวจนน้ำเดือด สุดท้ายก็จะตายเพราะถูกต้ม จึงเรียกว่า slow burning crisis

ทำไมคนอื่นมองไม่เห็น แล้วนักเศรษฐศาสตร์จับสัญญาณจากไหน?

อาจารย์อภิชาตอธิบายว่า จับสัญญาณจากช่วง 20 ปีหลังวิกฤตเศรษฐกิจ จากอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ช้าลงเรื่อยๆ หลังวิกฤตใหม่ๆโตเฉลี่ย 6% จนถึงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008 ลดลงเหลือ 5% และปัจจุบัน 3 ปีหลังเหลือแค่ 3% ปีนี้ที่ถือว่าเศรษฐกิจดีแล้วยังโตแค่ 3% เศษๆ 3.5% ก็ดีใจกันยกใหญ่

แน่นอนว่าเศรษฐกิจไม่ติดลบน่าจะดี แต่ต้องดูว่าดีมากหรือดีน้อย ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ต่อเนื่องมาเศรษฐกิจไทยโตเฉลี่ย 7% ตอนนี้เหลือแค่ 3% แล้วยังต้องจุดแชมเปญฉลอง คือมันไม่เกิดง่ายๆ

ทำไมยังไม่พอใจ เพราะเรายังไม่ได้เป็นประเทศที่รวยแล้วอย่างยุโรป ญี่ปุ่น หรืออเมริกา ที่เขาสมควรฉลอง แต่ของเราไม่พอ เพราะฐานเศรษฐกิจเราเล็ก รายได้เฉลี่ยของอเมริกาไม่รู้กี่หมื่นเหรียญต่อปี ของเราแค่ 6,000 เหรียญต่อปี หากโต 3% เท่ากัน แต่ต่างกันมาก ยิ่งระยะยาวเรากำลังเข้าสู่สังคมคนชราเต็มรูปแบบ คือคนเกษียณอายุ ไม่ทำงาน ไม่มีรายได้ แต่ใช้เงิน คนกลุ่มนี้จะมากขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้ประมาณ 20% และจะเพิ่มเป็น 30% ของประชากรใน 10 กว่าปีข้างหน้า แต่สัดส่วนของผู้ทำงานได้ในวัยแรงงาน 15-65 ปีกลับลดต่ำลงเรื่อยๆ ซึ่งเราผ่านจุดพีคตั้งแต่ปีที่แล้ว คนทำงานมีสัดส่วนน้อยลงก็ต้องแบกภาระคนที่ทำงานไม่ได้มากขึ้น ซึ่งคนแก่ใช้เงินเยอะ ถ้าออมไม่พอก็ต้องให้ลูกหลานดูแล

อาจารย์อภิชาตยังเปรียบกับฟิลิปปินส์ว่า ขณะนี้ไม่ได้เป็น “คนป่วยแห่งเอเชีย” แล้ว เพราะเศรษฐกิจฟิลิปปินส์โตเร็วกว่าไทย เกิดจากอะไร 1.แรงงานของเราจะน้อยลง การผลิตต้องใช้แรงงานและต้องใช้อย่างอื่นด้วย คือเครื่องจักรและทุน แต่ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาเราลงทุนทั้งระบบเศรษฐกิจในไทยน้อยมากตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจ ไม่ว่าภาครัฐ เอกชน หรือต่างประเทศ ไม่มีการยกระดับเครื่องมือใหม่ๆ เหมือนถนนต้นทุนก็จะสูง ระบบโลจิสติกส์ ระบบราง รถไฟสมัยใหม่ ต้นทุนจากอินฟราสตรัคเจอร์ต่างๆสูงขึ้น ขณะที่ค่าแรงก็แพงขึ้น เพราะเราไม่ได้ลงทุนใหม่ 20 ปีเราได้แต่ซ่อม ไม่ได้ลงทุนของใหม่ เพราะฉะนั้นความสามารถในการแข่งขันก็ตกลงหรือแย่ลงในอนาคต ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านค่าแรงถูกกว่า อันนี้คือตอบคำถามว่าทำไมเศรษฐกิจโตแค่ 3% ไม่ใช่ 7%

นักเศรษฐศาสตร์เป็นพันทำไมไม่บรรลุร่วมกันในการกดดันรัฐบาล หรือมองไม่เห็น?

วิกฤตต้มกบของเราจะเป็นแบบ “สังคมคนแก่” คือเราจะเป็นสังคมที่แก่ก่อนรวย ทำให้ต้องใช้ทรัพยากรในการดูแลมากขึ้น ขณะที่รายได้โตไม่ทัน ภาวะลำบากในอนาคตข้างหน้าจึงเป็นวิกฤตอย่างช้าๆ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ในไทยคงเห็นเหมือนกันหมด ไม่มีใครเถียงว่าภาพนี้ไม่จริง แต่ที่ไม่ออกมากดดันรัฐบาลนั้นคงตอบไม่ได้ว่าทำไมไม่ออกมาพูด

สำหรับแนวทางแก้ไขนั้น คิดว่าส่วนใหญ่เห็นคล้ายกัน หลายอย่างเห็นตรงกันว่าจะต้องลงทุนอินฟราสตรัคเจอร์ขนาดใหญ่ ระบบรางต้องมา World Bank หรือทีดีอาร์ไอก็เห็นด้วย แต่ใครจะลงทุนเป็นอีกเรื่อง แต่ก็มีคำถามว่าทำไมไม่เปิดให้ต่างชาติเข้ามาประมูล ทำไมไปเซ็นสัญญากับคนคนเดียว

สรุปว่าเรากำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ทำให้นักลงทุนไทยไม่กล้าลงทุน เพราะลงทุนแล้วไม่รู้จะไปแข่งขันกับเขาได้หรือไม่ เศรษฐกิจจึงไม่โต เพราะฉะนั้นต้องกลับไปแก้ที่ต้นตอคือความสามารถในการแข่งขัน การลงทุนในอินฟราสตรัคเจอร์ก็เป็นหนึ่งในการแข่งขัน ขอให้มีเงินและตกลงกันได้ อันนี้ง่ายที่สุด เพราะไม่ว่าประเทศไหนก็เจอปัญหาเช่นนี้ ซึ่งเป็นเรื่องยาก ทางออกที่ง่ายที่สุดและนักเศรษฐกิจทุกคนเห็นตรงกันคือ ต้องลงทุนในอินฟราสตรัคเจอร์ขนาดใหญ่

อีกประการคือคนงานของเราขาดทักษะ ไม่ดีพอหรือไม่ก้าวหน้า จึงต้องลงทุนการศึกษา ปรับทักษะให้ดีขึ้น ซึ่งไม่ใช่ขาดเงินในการลงทุน เพราะระบบการศึกษาของเรามีสัดส่วนใช้เงินมากที่สุดในอาเซียน ประเด็นคือคุณภาพการศึกษาที่แย่ ซึ่งแก้ยากมาก

ท่องค่านิยม 12 ประการแล้วแก้ได้มั้ย?

นั่นล่ะปัญหาอันหนึ่ง ท่องค่านิยม 12 ประการไป แล้วเราจะเป็นสังคมแห่งความรู้ สังคม Innovation หรือไม่ แต่ประเด็นหลักคือปรับคุณภาพการศึกษา เพราะ 20 ปีเรามีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการถึง 21 คน เป็นตัวเลขที่เห็นชัดเจนว่ามันไม่ต่อเนื่อง เฉพาะครูที่เกี่ยวข้องก็หลายแสนคนแล้ว จะสร้างแรงจูงใจอย่างไรให้ครู 5 แสนคนหันมาสนใจในตัวเด็ก ให้เห็นผลงานของเด็ก ไม่ใช่ให้เงินเดือนของครูมาวัดจากผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา เงินเดือนครูไม่เกี่ยวข้องกับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาหรือของเด็ก แต่ที่ทำกันคือผลงานที่กรอกเอกสารจำนวนมาก หมดไปกับเอกสารที่ไม่เกี่ยวข้องกับตัวเด็ก เพราะฉะนั้นเรื่องการศึกษาและอินฟราสตรัคเจอร์จึงไม่มีใครเถียง

ประเทศอื่นๆก็เคยมีปัญหานี้และถีบตัวออกมา ทำไมเราไม่เอาบทเรียนคนอื่นมาปรับใช้ พยายามสร้างอะไรเป็นของตัวเอง ไม่ใช่ได้แต่วาทกรรม?

ประเทศเหล่านั้นไม่ติดกับดักรายได้ปานกลางอย่างเรา ญี่ปุ่นเป็นสังคมคนแก่ แต่เขารวยแล้ว เขาดูแลคนเขาได้ แม้เศรษฐกิจโตช้าๆหรือแทบไม่โตเลย ซึ่งก็มีไม่กี่ประเทศที่ทำได้ อย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ไม่ต้องพูดถึง เพราะขนาดเล็กมากและไม่มีภาคการเกษตร แต่มาเลเซียทำได้ดีกว่าเรา อินโดนีเซียก็ทำได้ดีกว่าหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ทั้งที่ตอนวิกฤตเละเทะหมด วิกฤตทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และเชื้อชาติ แต่เมื่อเขาเปลี่ยนผ่านการเมืองสำเร็จเขาดีกว่าเรา ดีวันดีคืน รวมทั้งทางเศรษฐกิจด้วย การกระจายอำนาจจากจาการ์ตาไปสู่ท้องถิ่น บวกกับความเป็นประชาธิปไตย เราจึงเห็นความสอดคล้องระหว่างความเป็นประชาธิปไตยกับเศรษฐกิจที่เติบโต

ส่วนรัฐบาลที่ประกาศจะเป็น Digital Economy 4.0 จะทำให้เราหลุดจากกับดักรายได้ปานกลางหรือไม่นั้น อาจารย์อภิชาตถามกลับว่า 4.0 คืออะไร เราเถียงกันก่อน เราไม่เห็นรายละเอียดคืออะไร เศรษฐกิจสร้างสรรค์ Knowledge Society หรือเปล่า อย่างพร้อมเพย์หรือลาซาด้าที่เข้ามาก็เป็นแค่การลดค่าโสหุ้ยทางธุรกิจ ไม่ใช่การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตที่เราโตช้า จึงสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ต้องยกระดับหมด เรียกว่า Industry Upgrading จะอัพเกรดได้ต้องลงทุนในการวิจัยและพัฒนา ซึ่งรัฐไทยลงทุนน้อยมาก ไม่ถึง 1% ของจีดีพี แค่ครึ่งเปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ซึ่งต่ำมากๆทั้งภาครัฐและเอกชน

 

เศรษฐกิจไทยพึ่งต่างประเทศมาก โดยเฉพาะการส่งออก

อาจารย์อภิชาตชี้ว่า คนไทยเอาเงินไปลงทุนภายนอกมากกว่าที่ลงทุนในประเทศ ทำให้เศรษฐกิจไม่โต แต่สิ่งที่รัฐบาลพยายามทำคือลดสิทธิพิเศษให้จำนวนมหาศาลเพื่อให้คนมาลงทุน แต่ก็ยังมาไม่พอ การลงทุนจึงต่ำเตี้ยติดดินมากเป็นสิบปีมาแล้ว เพราะลงทุนในไทยแล้วไปไหนไม่ได้ รัฐบาลแก้โดยการแจกอภิสิทธิ์ทางภาษี อย่างอีอีซีอะไรต่างๆ ไปล่อใจให้เข้ามาลงทุน ซึ่งงานวิจัยของอาจารย์จุฬาฯบอกว่าเราแจกไปเยอะมากจนมีคำถามว่าคุ้มหรือไม่

สูตรสำเร็จที่รัฐบาลแก้คือเพิ่มงบประมาณการลงทุนภาครัฐให้มากที่สุด?

ไม่ต้องพูดถึงงบเงินเดือนข้าราชการ ขนาดของภาครัฐไทยประมาณ 17-18% ของจีดีพีเท่านั้น คือ Total size รายจ่ายรายรับ ถ้าพูดถึงงบลงทุนของรัฐประมาณแค่ 20% ของงบประมาณในแต่ละปี ซึ่งถือว่าน้อยมาก อย่างให้ตำบลละ 5 ล้านบาท มันนิดเดียวเมื่อเทียบกับขนาดของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งอาจช่วยได้บ้าง แต่อย่าไปหวังมากเพราะไซซ์มันนิดเดียว ถ้าลงทุนถูกที่ก็ดี อย่างการกระตุ้นเศรษฐกิจ ถ้าไปลดภาษีให้คนรวย คนรวยก็เอาเงินไปออม ไม่ได้เอาไปกระตุ้นเศษฐกิจ แต่ถ้าแจกให้คนจน คนจนก็ต้องกินต้องใช้ มีเท่าไรก็ใช้หมด ก็จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่า

รัฐมองเหมือนว่าภาคเกษตรเป็นภาระ จะให้ลดพื้นที่เพาะปลูกหรือเป็น smart farmer?

ผมก็ไม่รู้ว่า smart farmer คืออะไร เอาว่า 1 ใน 3 ยังอยู่ในภาคการเกษตร ขณะที่จีดีพีภาคการเกษตร 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ต้นๆทั้งประเทศ คนในภาคการเกษตรจึงมีรายได้น้อยกว่าคนในภาคอุตสาหกรรมแน่ๆ ความเหลื่อมล้ำระหว่าง sector ก็สูงด้วย ถ้าเราไปดูประเทศที่รวยแล้ว ไม่มีประเทศไหนที่ sector การเกษตรใหญ่ ประเด็นคือจะทำอย่างไร ประวัติศาสตร์หลายประเทศคือโอนคนไปภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเราทำมาระยะหนึ่งแล้วแต่ก็ไม่พอ และถ่ายโอนช้าลงเมื่อเศรษฐกิจโตแค่ 3% ส่งออกโตช้า แต่ก่อนเราถ่ายโอนเร็วกว่านี้เพราะเศรษฐกิจโตกว่า 7% วันนี้โรงงานก็ไม่ลงทุน การดึงคนออกจากภาคเกษตรก็จะยิ่งช้าลง

ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์จะแก้ปัญหาจากเศรษฐกิจโตช้าอย่างไร?

ข้อเสนอผมเป็นด้านการเมือง อันแรกต้องมีเสรีภาพและประชาธิปไตย ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายในบ้านเมือง อันนี้ไม่ใช่พูดเล่นๆ แต่เป็นเงื่อนไขพื้นฐานที่จะทำให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว เพราะเราขาดความสามารถในการแข่งขัน แสดงว่าเราต้องยกระดับ productivity ของเรา เช่น พัฒนาทักษะคนงานให้เก่งขึ้น ทำให้บริษัทกำไรมากขึ้น คนงานก็ต้องลงทุนลงแรง บริษัทก็ต้องให้การอบรมให้คนงานรู้ว่าเมื่อเก่งขึ้นแล้วเขาจะมีรายได้จากสัดส่วนของกำไรที่มากขึ้น แต่ถ้าคนงานลงทุนปรับตัวเองแล้วไม่ได้มีส่วนร่วมกับความมั่งคั่งเขาก็ไม่ทำ จึงต้องซื้อใจคนงานให้ร่วมยกระดับ productivity

ประชาธิปไตยจึงเป็นเงื่อนไขบังคับก่อน ต้องเปิดการมีส่วนร่วมของคนงาน ลุงประยุทธ์พูดวันก่อนว่า 700 บาทอย่าเพิ่งพูดเลย รอไปก่อนเลย อันนี้ยิ่งทำให้คนงานไม่ปรับปรุงตัวเอง ชัดเจนมากๆ แรงจูงใจที่จะให้คนงานพัฒนาตัวเองอยู่ที่ไหน มันไม่มี

อีกประเด็นคือต้องเป็นสังคมความรู้ ต้องมี innovation thinking แต่มันไม่สามารถมาจากค่านิยม 12 ประการได้ ถ้าเนติวิทย์ตั้งคำถามกับจุฬาฯแล้วถูกจัดการ มันไม่มีทางจะเป็นสังคมที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ ถึงบอกว่าเงื่อนไขแรกคือการกลับไปสู่การมีเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมือง มันถึงจะมั่นใจในการพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาว เงื่อนไขทางการเมืองที่จะทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว แต่ประเทศไทยไม่คิดอย่างนี้

อีกประเด็นคือทางเศรษฐกิจที่พูดถึงคำขวัญเยอะแยะ อย่าง 4.0 เยอะแยะในปัจจุบัน เราพูดเรื่องที่เราเรียกร้องมา 30-40 ปีแล้วคือความเป็นธรรมในการกระจายรายได้ การปฏิรูปภาษีหายไปไหน เรื่องนี้ทุกคนลืมไปหมดแล้ว ถ้าไม่ปฏิรูปภาษีและค่าใช้จ่ายภาครัฐ กรุงเทพฯและปริมณฑลยังได้ค่าใช้จ่ายจากภาครัฐมากกว่าภาคอีสานหลายเท่าตัว คนรวยยังมีช่องทางลดหย่อนภาษี หักภาษี ณ ที่จ่ายได้มากกว่าผู้ได้เงินเดือนประจำที่รายได้น้อยกว่า ความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจอย่างนี้ทำให้ไม่มีความร่วมมือกัน ผมเป็นคนงานผมจะไปร่วมมือทำไมถ้าไม่เป็นธรรม ดังนั้น 1.ต้องมีเงื่อนไขให้ผมพูดได้ 2.ต้องมีความเป็นธรรม สังคมไทยเป็นสังคมเดียวที่วัดความเหลื่อมล้ำทางรายได้หลังมีภาครัฐ ถ้าเราเอาตัวเลขภาครัฐออก ความเหลื่อมล้ำมันจะต่ำลง แปลว่าการใช้จ่ายของภาครัฐมันซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ เป็นประเทศเดียวในโลกหรือไม่กี่ประเทศที่เป็นแบบนี้ ซึ่งเป็นมานานนับสิบปีแล้ว ไม่เคยถูกแก้

นโยบายที่มีต่อคนจนที่พยายามตีปี๊บลงทะเบียนคนจน เท่ากับประกาศว่าเรามีคนจนเยอะ เทียบกับรัฐสวัสดิการคือ target ว่าจะช่วยคนจนยังไง?

รัฐต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายชัดเจน เรื่องบัตรคนจน 11 ล้านคน ตัวเลขถ้าใช้เส้นประมาณความยากจนคือต่ำกว่า 7 ล้านคน แต่ลงทะเบียน 11 ล้าน เท่ากับว่าอีก 1 เท่าของคนยากจนเป็นการนับรวมๆกันไป ซึ่งไม่มากหรือใกล้จน คือรัฐต้องการลดค่าใช้จ่าย อย่างรถเมล์ฟรี แทบจะให้ทุกคนขึ้นฟรี ก็ระบุไปเลยว่าใครที่จะขึ้นได้ คำถามคือควรแจกให้ทุกคนหรือไม่ เราต้องยอมรับว่ารัฐมีปัญหาเงินจำกัด ไม่สามารถจ่ายได้ ยกเว้นว่าไปซื้อเรือเหาะ อันนั้นไม่ต้องพูดว่าเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม อะไรควรเป็น universal อะไรควรเป็น target เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค ผมก็ยืนยันว่าควรเป็น universal ค่าน้ำค่าไฟอาจมี target แต่ผมก็เห็นด้วย คือดีกว่าไม่มี รัฐไทยในอดีตที่ผ่านมาไม่มีข้อมูล ความสามารถของรัฐไทยมันกระจอก ไม่เคยรู้ว่าคนจนของไทยคือใครและอยู่ตรงไหน อันนี้เป็นการลงทะเบียนครั้งแรก สมัยทักษิณเคยทำแต่ไม่สำเร็จ มันก็มีคนแอบจนในนี้แน่ๆ อันนี้จึงเป็นเหมือนนโยบายประชาสงเคราะห์มากกว่า

เราอยากมีโมเดลแบบจีน แบบสิงคโปร์ แต่เขาก็มีการมีส่วนร่วมแบบของเขา รัฐบาลรู้ดี มีแผนยุทธศาสตร์ หรือเป็นเผด็จการก็ได้หากทำให้เศรษฐกิจโต โมเดลเศรษฐกิจโตแบบเผด็จการยังมีอยู่จริงมั้ย?

ไม่น่าจะจริง ที่ผ่านมาที่ว่าเป็นเผด็จการแล้วเศรษฐกิจโตมันไม่พบว่าจริง แค่ในเอเชียก็เห็นชัดเจนว่าญี่ปุ่นหลังสงครามโลกเป็นประชาธิปไตย ไต้หวัน เกาหลีใต้ก็เป็นเผด็จการแค่ช่วงหนึ่งเท่านั้น วันนี้ก็เปลี่ยนแปลงแล้ว หรือต่อให้เราอยากเป็นอย่างจีน ถามว่าแล้วเราเป็นอย่างจีนได้มั้ย รัฐไทยเข้มแข็งอย่างรัฐจีนมั้ย ยังต้องมีประสิทธิภาพในการทำงานอีก เผด็จการที่เหลวเป๋วก็มีเยอะแยะไป อย่างเผด็จการในแอฟริกา เศรษฐกิจโตมั้ย


You must be logged in to post a comment Login