วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2567

“ความปรองดองไม่มีคำว่าสาย” สัมภาษณ์ พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ โดย ประชาธิปไตย เจริญสุข

On September 25, 2017

คอลัมน์ : ฟังจากปาก

โดย  : ประชาธิปไตย เจริญสุข

พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ไม่เชื่อการเลือกตั้งจะมีในปี 2561 เพราะแผนยุทธศาสตร์ชาติต้องเขียนให้เสร็จกันยายน 2561 แม้แต่การปรองดองและการปฏิรูปประเทศก็ยังไม่มีอะไรชัดเจน อย่างเร็วที่สุดต้องใช้เวลา 10 ปี ไม่ทำก็ไม่ได้

*********

การเลือกตั้งตามโรดแม็พยังไม่มีอะไรชัดเจน เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 กำหนดให้มีกฎหมายลูก 8 ฉบับ และขณะนี้ออกมาเพียง 2 ฉบับ กฎหมายลูกต้องออกให้ทันภายใน 240 วัน ซึ่งจะต้องเสร็จภายในเดือนธันวาคม พูดง่ายๆว่าใน 8 เดือนใช้เวลาไปแล้ว 5 เดือน ได้แค่ 2 ฉบับ เหลืออีก 6 ฉบับ คิดว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เขาอาจยื่นบางฉบับ เท่าที่สังเกตดูแต่ละฉบับที่ยื่นมาปรากฏว่ามีแก้ไขทุกฉบับเลย ถ้าแก้ไขทุกฉบับก็ต้องใช้เวลาแก้ไขถึง 2 เดือน ก็จะทำไม่ทัน หรือจะไปเร่งอย่างไรไม่รู้ แต่ถ้ามีการแก้ไขอย่างนี้ ตั้งคณะกรรมาธิการร่วม ก็จะไม่ทันแน่นอน

ถ้าไม่ทันรัฐธรรมนูญเปิดไว้ว่าให้เอาของ กรธ. ที่ร่างเข้ามาประกาศใช้ได้เลย แต่คิดว่าถ้าประกาศใช้เลยคงมีปัญหาบ้าง เนื่องจาก 2-3 ฉบับที่ทำอยู่ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับ กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ การปะทะคารมกันมากมาย สุดท้ายก็เซตซีโร่ เกิดปัญหาระหว่าง กกต.เก่ากับ กรธ. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่ง กกต. กำลังทำระเบียบต่างๆเกี่ยวกับรูปแบบการเลือกตั้ง เนื่องจากใช้บัตรใบเดียว ซึ่งไม่เคยมีที่ไหนในโลก และเป็นครั้งแรกของประเทศไทยอีก พูดง่ายๆว่าไม่ต้องไปดูแบบอย่างใคร เพราะไม่มีใครในโลกทำแบบนี้ ผลจะออกมายังไงก็ไม่รู้ หลายคนจึงกังวล จะดีไม่ดีไม่มีใครรู้ เพราะเป็นเรื่องอนาคต ก็ต้องว่ากันไป

กฎหมายพรรคการเมืองก็จะออกมา พรรคการเมืองก็จะมีการเซตซีโร่เหมือนกัน ก็จะมีแรงกระเพื่อมพอสมควร กกต. ประกาศว่าน่าจะมีการเลือกตั้งได้ในเดือนสิงหาคม 2561 ผมอยู่ในคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ  ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ประชุมคณะใหญ่กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา และประชุมกับคณะกรรมการปรองดองที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน เมื่อปลายเดือนมกราคม ก็ทราบจากประกาศที่การประชุมว่า กรรมการปฏิรูปที่ตั้งขึ้นมาภายใต้กฎหมาย ภายใต้รัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์กับคณะกรรมการปฏิรูป ซึ่งขณะนี้ยังตั้งไม่ครบ ตั้งมา 120 คน ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปต้องมี 150 คน แล้วคณะกรรมการยุทธศาสตร์ก็มีอีก 34 คน มีทั้งข้าราชการประจำคือตามตำแหน่งกับผู้ทรงคุณวุฒิที่ตั้งเข้ามา ทราบว่าคณะกรรมการปฏิรูปเริ่มประชุมกันบ้างแล้ว ทั้งที่ยังไม่ครบคณะ เพราะกลัวไม่ทัน ต้องทำให้เสร็จภายในเดือนเมษายน 2561 คณะกรรมการปฏิรูปก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าสุดท้ายหน้าตาจะออกมาเหมือนมัดตราสังประเทศหรือเปล่า ผูกมัดให้ประเทศไม่ไปไหนหรือเปล่า ตรงนี้เป็นข้อกังวล ข้อสงสัยที่ยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจน

อีกอันหนึ่งคือกรรมการยุทธศาสตร์ต้องทำแผนให้เสร็จภายในเดือนกันยายน 2561 เมื่อแผนปฏิรูปเสร็จเดือนเมษายนแล้ว เชื่อว่าแผนยุทธศาสตร์จะต้องเขียนรวมไปถึงแผนปฏิรูปด้วยว่าจะต้องดำเนินการตามกรอบยุทธศาสตร์อย่างไร เมื่อไร เพราะแผนยุทธศาสตร์ต้องทำให้เสร็จ คือตั้งแต่เดือนเมษายนไปจนถึงกันยายน และแผนยุทธศาสตร์ต้องเข้า สนช. ด้วย แล้วต้องออกเป็นกฎหมายบังคับใช้

ผมจึงเกิดข้อสงสัย ได้ฟังมาจาก ป.ย.ป. บอกว่าจะมีการทำแผนยุทธศาสตร์ให้เสร็จภายในกันยายน 2561 แต่ กกต. ประกาศว่าจะมีการเลือกตั้งสิงหาคม 2561 รองนายกฯวิษณุ เครืองาม ก็บอกว่าไม่ใช่ เมื่อกฎหมายลูกเรียบร้อยแล้วต้องใช้เวลาอีก 150 วัน เท่ากับใช้เวลาอีก 5 เดือน ซึ่ง 5 เดือนเป็นการเตรียมการเลือกตั้ง ถ้าอย่างนี้กฎหมายลูกต้องเสร็จธันวาคม อีก 5 เดือนก็คือพฤษภาคม มันก็ไม่ตรงกัน โรดแม็พไม่ตรงกัน ก็จะเกิดแรงกระเพื่อมตรงนี้ ความไม่ชัดเจน ไม่แน่นอนว่าใน 240 วันกฎหมายลูกจะผ่านหรือไม่ หรือจะออกมาเป็นยังไง ถ้าไม่ผ่านให้นำร่างของ กรธ. ใช้เลย ถ้าเป็นเช่นนั้นจะเกิดการโต้แย้งหรือไม่ยอมรับต่างๆมากมาย สนช. อาจไม่เอาตาม กรธ. ทั้งหมดถึงได้แก้ไขทุกฉบับ

นี่คือความไม่ชัดเจน ยิ่งวันนี้สถานการณ์ทางการเมืองก็มีการดำเนินคดีแต่ละฝ่าย ถูกจับกุม รอลงอาญา หรือตัดสินจำคุกตั้งแต่ 10-40 ปี บางคนถูกตัดสินให้ชดใช้ที่ทำให้บ้านเมืองเสียหาย ทุกฝ่ายโดนกันหมด คดีมันเลยเวียนว่ายตายเกิดกันอยู่ตรงนี้ ไม่จบไม่สิ้น อันนี้ก็จะเป็นแรงกระเพื่อมอีกอันหนึ่ง

ฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 5 คนถ้าผิดก็ต้องชดใช้ ถูกยึดทรัพย์ หรือม็อบ กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ก็โดนคดีต่างๆเยอะแยะมากมาย โอกาสติดคุกมีแทบทุกฝ่าย เพราะคดีความก็ดำเนินมาตามลำดับ จึงมีความสุ่มเสี่ยง ความไม่แน่นอน นักศึกษาก็โดนคดีก่อการร้ายหลายคน

ปี 2561 มีเลือกตั้งหรือไม่?

มีโอกาส แต่สำคัญว่ากฎหมายลูกจะเสร็จทันหรือไม่ แผนปฏิรูปที่จะทำร่วมกับแผนยุทธศาสตร์ชาติเสร็จทันหรือไม่ ยกตัวอย่างผมอยู่ใน ป.ย.ป.การปรองดอง ประกาศเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่วันนี้เดือนกันยายนแล้วยังไม่ประกาศอะไรเลย ที่จริงเขามีแผนอยู่แล้ว จะต้องเปิดเวทีรับฟังให้ครบทั้ง 4 ภาคว่าสัญญาประชาคมเป็นอย่างไร อธิบายรายละเอียดในเวทีทุกอำเภอ แต่เห็นแค่คัตเอาต์เล็กๆและรายละเอียดปรองดอง 10 ข้อเท่านั้น ทำไมไม่ประกาศให้ชัดเจนไปเลย

พูดง่ายๆว่ายังไม่เสร็จ ข้อสำคัญที่ผมมองเห็นคือ ที่บอกว่าจะเสร็จนั้นเป็นแค่เอกสารทั้งสิ้น การปฏิบัติจริงๆไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นเมื่อไร เพราะคณะกรรมการปฏิรูป สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ก็เขียนแผนไว้ทั้งสิ้น แม่น้ำ 5 สายก็เหลือ 3 สาย และตอนนี้แม่น้ำทั้งหมดไม่มีสายอย่างเก่าแล้ว เพราะมาอยู่ที่ ป.ย.ป. มีคณะอนุกรรมการต่างๆดำเนินการ โดย ป.ย.ป. เขียนแผน เช่น แผนปฏิรูปตำรวจที่ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน แผนการปฏิรูปเชิงโครงสร้างระบบ เขียนโดย ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ แผนการปฏิรูปเชิงพื้นที่ เขียนโดย ดร.สีลาภรณ์  บัวสาย แผนการปฏิรูปราชการ เขียนโดย ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ แผนการปฏิรูปการศึกษา เขียนโดย ดร.จรัส สุวรรณเวลา และแผนการปฏิรูปเรื่องการปรองดอง รวมทั้งแผนการปฏิรูปกฎหมาย เขียนโดยอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ

มีคณะอนุกรรมการเกือบ 10 คณะ แต่ยังไม่เห็นความชัดเจน อย่างที่นายกรัฐมนตรีพูดว่าอยากเห็นความชัดเจน คือไม่อยากให้พูดว่าจะทำโน่นทำนี่ เช่น เรื่องกฎหมายจะแก้อะไร แก้กี่ฉบับ เริ่มเมื่อไร เสร็จเมื่อไร นายกฯอยากเห็นความชัดเจนว่าขณะนี้เรื่องอะไรทำไปแล้ว กำลังจะทำเรื่องอะไร จะต้องให้หน่วยงานไหนไปดำเนินการ ถ้าต้องให้รัฐบาลสั่งการรัฐบาลจะได้สั่ง จะแก้กฎหมายก็จะได้เสนอแก้กฎหมาย นี่ต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิด

ดังนั้น ผมจึงยังไม่แน่ใจว่าปี 2561 จะมีการเลือกตั้งหรือไม่ อย่างที่บอกแผนยุทธศาสตร์จะต้องเขียนให้เสร็จกันยายน 2561 ถ้าเสร็จตามเวลา ต้องให้มีการเลือกตั้งภายใน 2-3 เดือน คงเป็นไปไม่ได้แน่นอน ถ้าเกิดความมหัศจรรย์ก็เป็นไปได้ที่จะมีการเลือกตั้งปลายปี 2561 ถ้าตามกระบวนการน่าจะเลือกตั้งต้นปี 2562 ผมคิดว่าไม่อยู่ที่ว่าล่าช้าหรือไม่ อยู่ที่คนรอคอยความชัดเจนว่าจะเลือกตั้งเมื่อไรมากกว่า จะปี 2563, 2564 หรือ 2565 ก็บอกให้ชัดเจนไปเลย คนจะได้เตรียมตัวทัน แต่ตอนนี้มันไม่แน่นอน ประชาชนจึงเกิดความกังวล

พรรคการเมืองต่างๆก็ต้องเตรียมตัว เนื่องจากถ้ามีไพรมารีโหวตจะนิ่งดูดายไม่ได้ ต้องลงพื้นที่หาประชาชนและคุยกับประชาชนเพื่อให้ยอมรับ ผมอยากให้รออีกสักพักอาจมีความชัดเจนออกมาในแต่ละเรื่อง ถ้ากฎหมายลูกออกมา ฉบับสุดท้ายก็คงจะเป็นสมาชิกวุฒิภา (ส.ว.) และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ความชัดเจนก็จะมากขึ้นว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไร รัฐบาลจะได้หมดกังวลเรื่องการบังคับใช้กฎหมายโน่นกฎหมายนี่

ประชาชนจะอึดอัดหรือไม่

ประชาชนอึดอัดหรือไม่มันอยู่ที่เรื่องเศรษฐกิจ ถ้ารายได้ดี กินอยู่ดี ไม่อึดอัดหรอก ไปไหนก็สะดวกสบาย รู้สึกคล่องตัวมากกว่าเดิม ไม่ขัดสนมันก็ไม่หงุดหงิด ผมก็ไม่หงุดหงิด แต่ถ้าไม่มีอะไรชัดเจน เศรษฐกิจก็ยังลุ่มๆดอนๆ รัฐบาลพยายามจะสร้างโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับการขนส่ง อุตสาหกรรม ด้านไอที และโครงการหลายๆเรื่อง แต่มันเป็นระยะยาว อย่างรถไฟความเร็วสูงที่จะทำให้การขนส่งดีขึ้น กว่าจะทำเสร็จ 5 ปี สร้างท่าเรือ สร้างถนน มอเตอร์เวย์ มันต้องใช้เวลาถึง 5 ปี ไม่ใช่พอ 5 ปีแล้วคนร่ำรวยมหาศาลเมื่อไร กว่าจะเข้าที่เข้าระบบ กว่าจะผลิดอกออกผลก็ 10 ปี คนที่ชื่นชมรัฐบาลว่ามีวิสัยทัศน์กว้างไกล ไม่รู้ว่าอีก 10 ปีจะเป็นอย่างไร

ความคืบหน้าการสร้างความปรองดอง

หยุดชะงักไปเหมือนกัน คณะกรรมการ ป.ย.ป.ชุดปรองดองยังอยู่ในขั้นตอนเขียนแผน เพราะทำเรื่องสัญญาประชาคมและการขับเคลื่อน ยังไงก็ต้องว่ากันอีกเยอะ ในสัญญาประชาคมแค่ข้อ 1 สร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อการอยู่ร่วมกัน ในรายละเอียดมี 10-15 เรื่องใหญ่ๆที่ต้องทำ ต้องเขียนออกมาเป็นรายละเอียดและมอบว่าใครจะเป็นคนทำ มันจึงเป็นไปได้ยาก 2.ถ้าจะปรองดองกันต้องมีพื้นที่ให้คนต่างๆเคลื่อนไหว อยู่ร่วมกัน พูดคุยกันได้ แต่วันนี้ยังไม่สามารถเคลื่อนไหวหรือทำอะไรได้ เนื่องจากฝ่ายความมั่นคงยังไม่มั่นใจว่าเปิดให้เคลื่อนไหวแล้วจะนิ่งหรือไม่ จะสงบหรือเปล่า

ผมคิดว่าเรื่องการสร้างความปรองดองคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง บางคนบอกว่าแล้วคุณตัดสิน แม้กระทั่งอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ยังหายตัวไป หาไม่เจอ การตัดสินคดีความต่างๆที่ผ่านมาจะกระทบความปรองดองมั้ย ที่จริงเรื่องความปรองดองต้องทำในเชิงปฏิบัติการ ไม่ใช่เชิงการเขียนแผน ต้องมีกระบวนการทำและบังคับทำไม่ได้ด้วย เพราะมีกรณีศึกษาในหลายประเทศแล้วว่า เวลาทำเหมือนนกบินอย่างช้าๆ ถ้าเร่งรีบไปก็จะหักลงกลางคัน ไปไหนไม่ได้ เรื่องความปรองดองต้องทำอย่างต่อเนื่องและทำอย่างช้าๆ ไม่ต้องรีบเร่ง ต้องสร้างบรรยากาศให้คนเอื้อต่อกันและอยู่ร่วมกัน

จะก้าวข้ามความขัดแย้งอย่างไร

สถานการณ์ขณะนี้ความขัดแย้งยังมีอยู่ การจะก้าวข้ามความขัดแย้ง ผมคิดว่าช่วงนี้ยังไม่เห็น แม้แต่แผนก็ยังไม่มี ยังไม่มีการมอบหมายให้ใครทำก็ไม่มีใครทำอะไร แต่ก่อนยังมีศูนย์ปรองดองของ คสช. ที่ตั้งขึ้นมา แต่ตอนนี้ไม่ได้ทำอะไรในส่วนนี้แล้ว ปีแรกทำอะไรเยอะแยะมากมาย ทั้งเปิดเวที จับคนเสื้อสีต่างๆมานั่งคุย ตอนนี้เงียบสนิท แต่เรายังมีโอกาสที่จะเห็นการสร้างความปรองดองเกิดขึ้นในอนาคต เพราะบ้านเราจะแตกหักและบาดเจ็บล้มตายมากมายเหมือนต่างประเทศมันยังไม่เกิด จึงถือเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะทำให้คนอยู่ร่วมกันได้ ถ้าเราไม่ทำแล้วจะทำเมื่อไร ไม่จำเป็นต้องรอให้ล้มหายตายจากกันมากกว่านี้ถึงค่อยมาทำ

เริ่มทำตั้งแต่ตอนนี้น่าจะดีที่สุด ผมยังคิดว่ามันทำได้ ต้องสามารถจบกันได้ ส่วนการสร้างความปรองดองในความคิดผมอยากให้ไปใช้ที่ทำไว้สมัยสภาปฏิรูปฯ เพราะเป็นการสรุปจากทุกคนที่เคยเสนอมาตั้งแต่ปี 2549 อยู่ในเอกสารทั้งหมดแล้ว เพียงแต่เมื่อไรจะเริ่มทำเท่านั้นเอง การปรองดองที่เราเสนออย่าไปเลือกทำ ให้ทำทุกเรื่องพร้อมๆกัน ที่ผ่านมาเราเลือกทำเฉพาะนิรโทษกรรมหรือเยียวยา มันไม่ใช่ ต้องทำทุกอย่างพร้อมๆกันถึงจะประสบความสำเร็จ ที่สำคัญต้องทำต่อเนื่องด้วย ไม่ใช่ทำแล้วก็เลิกไป

ผมไม่เป็นห่วงอะไร เพราะประเทศไทยก็เป็นอย่างนี้แหละ การสร้างความปรองดองกับแผลที่เกิดขึ้นในประเทศวันนี้ ผมมองว่าอย่างเร็วที่สุดต้องใช้เวลา 10 ปี อาจจะแค่รู้สึกเท่านั้น เราสามารถอยู่ร่วมกันได้ แต่ต้องผ่านไปอีก 20 ปีถึงจะค่อยๆดีขึ้น ลองย้อนกลับไปสมัยมีการปฏิวัติเมื่อปี 2549 ผ่านมาถึงวันนี้ 11 ปีแล้ว เข้าปีที่ 12 ถามว่ามันปรองดองมั้ยล่ะ ไม่ปรองดอง ยิ่งหนักขึ้นอีก ถ้าไม่แก้ไข ไม่ทำอะไร จะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตล่ะ ผมถึงบอกว่ามันยิ่งหนักขึ้น ที่ผ่านมา 10 ปียังแก้อะไรทำอะไรไม่ได้เลย แล้วอีก 10 ปีข้างหน้าจะทำอะไรได้ ดังนั้น การสร้างความปรองดองต้องทำตั้งแต่วันนี้ ไม่มีคำว่าสาย

แนวโน้มอนาคตประเทศไทย

ผมไม่อยากให้คาดหวังอะไรมากมาย เนื่องจากประเทศไทยถ้าเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม เมื่อก่อนล้าหลังเราหมด แล้ววันนี้เขาเดินไปข้างหน้าเรามากมาย เราเคยคิดทบทวนหรือไม่ว่าเป็นเพราะอะไร อย่าไปโทษประเทศเขา ต้องโทษตัวเราเอง ผมมองว่าประเทศไทยจะเลวจะแย่ จะดีจะเยี่ยมก็ไม่ใช่ ประเทศไทยก็ทรงๆอย่างนี้ตลอดไป เพราะเราขาดระบบ ระเบียบ ขาดความต่อเนื่อง ขาดการยอมรับ และขาดการกำหนดทิศทางประเทศร่วมกันที่เป็นของคนทั้งชาติ


You must be logged in to post a comment Login