วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2567

อีดุลอัฎฮาที่สตูล / โดย บรรจง บินกาซัน

On September 25, 2017

คอลัมน์ : สันติธรรม

ผู้เขียน : บรรจง บินกาซัน

สตูลเป็นจังหวัดเล็กๆที่มีเสน่ห์และสงบริมชายฝั่งทะเลอันดามัน เนื่องจากในอดีตเคยเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของไทรบุรีที่ถูกแยกออกไปเป็นรัฐเกดะห์ของมาเลเซีย ผู้คนบางส่วนจึงสามารถสื่อสารด้วยภาษามลายูได้ แต่ส่วนใหญ่มักพูดภาษาไทยกลาง และประชาชนไม่ต่ำกว่า 60% ในจังหวัดสตูลเป็นมุสลิม

ในช่วงปีกว่าๆที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสไปสัมผัสบรรยากาศเฉลิมฉลองวันเทศกาลสำคัญของศาสนาอิสลามที่จังหวัดสตูลถึง 2 ครั้งคือ เทศกาลวันอีดุลฟิฏร์และวันอีดุลอัลฎฮา จึงอยากนำมาถ่ายทอดให้ท่านผู้อ่านได้รับรู้ และเผื่อว่าชุมชนมุสลิมจะนำไปทำตามก็ถือว่าเป็นเรื่องดี

ในเทศกาลอีดุลฟิฏร์ซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองการสิ้นสุดเดือนถือศีลอดเมื่อปีที่แล้ว กลุ่มนักธุรกิจเอกชนมุสลิม ร้านค้า และหน่วยงานราชการในอำเภอเมือง ได้ร่วมกันเปิดซุ้มอาหารคาวหวานและเครื่องดื่มประมาณ 300 ซุ้มบนถนนหน้ามัสยิดมัมบัง เลี้ยงคนทั่วไปไม่เฉพาะมุสลิมได้กินกัน เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองการสิ้นสุดเดือนรอมฎอน บนเวทีของงานฉลองมีการแสดงทางวัฒนธรรมและการบรรยายให้ความรู้แก่ผู้มาร่วมฉลองในงาน งานฉลองเป็นไปอย่างครึกครื้น ไม่มีการทะเลาะวิวาทต่อยตีกัน เพราะไม่มีสุราและมหรสพในงาน

มาในปีนี้เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสไปร่วมฉลองเทศกาลวันอีดุลอัฎฮา ซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองให้พี่น้องมุสลิมทั่วโลกที่มีโอกาสไปทำพิธีฮัจญ์ที่เมืองมักก๊ะฮฺ แต่งานเฉลิมฉลองวันอีดุลอัฎฮาคราวนี้ต่างไปจากงานฉลองวันอีดุลฟิฏร์

ผู้จัดงานครั้งนี้มีแนวความคิดว่า ในวันอีดุลอัฎฮามุสลิมจากทั่วโลกไปชุมนุมกันที่เมืองมักก๊ะฮฺ ดังนั้น มุสลิมในตัวเมืองสตูลก็ควรมารวมตัวฉลองกันที่ใดที่หนึ่ง ด้วยเหตุนี้ผู้จัดงานจึงเลือกเอาลานกว้างหน้าสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสตูลเป็นสถานที่จัดงาน โดยมีบรรยากาศแบบครอบครัว และผมถูกเชิญให้ไปเป็นส่วนหนึ่งในงานนี้ด้วย

งานนี้จัดบรรยากาศแบบเลี้ยงดูปูเสื่อ คือผู้จัดงานได้เอาเสื่อมาปูในลานกว้างเพื่อให้ผู้คนพาครอบครัวนำอาหารมาแบ่งกันกินบนพื้นหน้าเวที ถ้าใครมามือเปล่าภายในงานก็มีซุ้มอาหารที่จัดเตรียมไว้อย่างเหลือเฟือ แต่อาหารที่จัดเลี้ยงในงานครั้งนี้ต่างไปจากอาหารในงานฉลองครั้งที่แล้ว เพราะอาหารส่วนใหญ่ทำมาจากเนื้อกุรฺบานที่พี่น้องมุสลิมจากที่ต่างๆบริจาคมาให้ทำเป็นอาหารสารพัดเมนู

เนื้อกุรฺบานเป็นเนื้อแพะหรือแกะหรือวัวที่ถูกเชือดพลีในเทศกาลอีดุลอัฎฮา เพื่อเป็นการระลึกถึงวีรกรรมแห่งความศรัทธาอันแน่วแน่ของนบีอิบรอฮีมที่มีต่อพระเจ้า จนถึงขั้นยอมเชือดพลีอิสมาอีลบุตรคนแรกให้แก่พระเจ้าที่ต้องการทดสอบความศรัทธา แต่ก่อนจะลงมีดเชือดพระเจ้าได้สั่งให้นบีอิบรอฮีมเอาแกะหรือแพะมาเชือดแทน พิธีการเชือดสัตว์พลีจึงเป็นส่วนหนึ่งของพิธีฮัจญ์ ซึ่งคนที่ไม่ได้ไปทำฮัจญ์สามารถมีส่วนร่วมได้

คำว่า “กุรฺบาน” หมายถึงการเข้าใกล้ การเชือดสัตว์พลีเนื่องในเทศกาลอีดุลอัฎฮาจึงเป็นการเข้าใกล้พระเจ้าด้วยการเสียสละแกะหรือแพะหรือวัวเพื่อเอาเนื้อไปกินและแจกจ่ายแก่ผู้คน เนื้อของสัตว์ที่ถูกเชือดเป็นกุรฺบานจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นของเจ้าของ อีกส่วนหนึ่งแจกจ่ายให้ญาติมิตร และอีกส่วนหนึ่งแจกจ่ายให้แก่คนยากจน แต่ส่วนใหญ่แล้วเนื้อกุรฺบานจะถูกนำไปแจกจ่ายแก่คนยากจน

ผมรู้สึกทึ่งในแนวความคิดของผู้จัดงานครั้งนี้ที่รณรงค์ให้มุสลิมออมเงินสัปดาห์ละ 100 บาทเพื่อเอาไว้ทำกุรฺบาน เก็บทุกสัปดาห์ตลอดทั้งปีก็ได้เงิน 5,000 กว่าบาท ซึ่งสามารถทำกุรฺบานในปีหน้าได้อย่างสบายๆ ถ้าการรณรงค์ได้รับการตอบสนอง ผู้ที่จะได้รับผลดีตามมาก็คือผู้เลี้ยงปศุสัตว์ที่จะต้องขยายและบำรุงพันธุ์สัตว์ของตนให้เป็นที่ต้องการ เพราะแพะ แกะ หรือวัวที่จะนำไปทำกุรฺบานต้องสุขภาพดี อ้วนท้วนสมบูรณ์ ไม่มีตำหนิหรือพิการ

ในออสเตรเลียและในประเทศยุโรปที่มีอุปสรรคเรื่องการเชือดสัตว์ มุสลิมในประเทศเหล่านั้นได้ส่งเงินไปยังชุมชนในประเทศมุสลิมที่ยากจนเพื่อซื้อปศุสัตว์ทำกุรฺบาน และแจกจ่ายเนื้อแก่ผู้คนในประเทศนั้นได้กินกัน

นี่เป็นหนึ่งในคุณานุประโยชน์จากพิธีฮัจญ์ที่คัมภีร์กุรอานได้กล่าวไว้


You must be logged in to post a comment Login