วันพฤหัสที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567

บุคคลล้มละลาย

On September 22, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

คดีชุมนุมปิดสนามบินของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่เป็นมหากาพย์มานาน ได้ข้อสรุปในส่วนของความผิดทางแพ่งแล้ว เมื่อศาลฎีกามีคำสั่งไม่ขยายระยะเวลาฎีกาตามคำร้องของแกนนำพันธมิตรฯ ที่ตกเป็นจำเลยคดีนี้

คำสั่งของศาลฯ ทำให้แกนนำพันธมิตรฯ 13 คน ประกอบด้วย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, นายสนธิ ลิ้มทองกุล, นายพิภพ ธงไชย, นายสุริยะใส กตะศิลา, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์, นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, นายอมร อมรรัตนานนท์, นายนรัณยู หรือ ศรัณยู วงษ์กระจ่าง, นายสำราญ รอดเพชร, นายศิริชัย ไม้งาม, นางมาลีรัตน์ แก้วก่า และ นายเทิดภูมิ ใจดี ต้องชดใช้ค่าเสียหายจากการชุมนุมในสนามบินให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เป็นเงิน 522,160,947.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2551 จนกว่าจะชำระเสร็จ ซึ่งเป็นไปตามคำตัดสินของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์

ส่วนการขอขยายเวลาฎีกาที่ศาลฯมีคำสั่งในวันนี้ นั่นเนื่องจากทีมทนายความของพันธมิตรฯยื่นฎีกาไม่ทันตามกำหนดภายใน 30 วันหลังมีคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์จึงยื่นคำร้องขอขยายฎีกาแต่ศาลไม่อนุญาตตามคำร้อง

เมื่อคดีถึงที่สุดแล้วขั้นตอนต่อไปก็เป็นการบังคับคดีให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายส่วนใครจะจ่ายเท่าไหร่ จ่ายอย่างไรเป็นเรื่องที่จำเลยต้องไปตกลงกันเอาไว้เพราะตามคำสั่งศาลให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย

แนวทางของคดีนี้มีอยู่สองทางคือ

1.จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยตามคำสั่งศาล

2.จำเลยไม่สามารถชดใช้ได้ตามจำนวนต้องทำการยึดทรัพย์ขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาจ่ายให้กับ ทอท. หากยังจ่ายได้ไม่ครบจำนวนก็ถูกฟ้องเป็นบุคคลล้มละลาย

ทั้งนี้ หากจำเลยกลายเป็นบุคคลล้มละลาย ก็หมายความว่าไม่มีอะไรจะให้ยึดเพื่อขายทอดตลาดอีกแล้ว เพราะคำว่าล้มละลายหมายความว่าไม่มีทรัพย์สินอะไรเหลืออยู่อีก และเรื่องนี้ไม่สามารถติดคุกแทนการชดใช้ได้ เนื่องจากเป็นคดีแพ่ง ให้ติดคุกทางอาญาแทนกันไม่ได้

จึงมีแนวโน้มว่าประเทศไทยจะมีบุคคลล้มละลายเพิ่มขึ้นมาอีก 13 คน เพราะดูความน่าจะเป็นแล้วทั้งหมดไม่น่าจะมีทรัพย์สินมากพอที่จะจ่ายให้กับ ทอท.ตามคำสั่งศาลได้

อย่างไรก็ตาม คดีนี้เป็นคนละส่วนกับคดีอาญาที่อัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นานสนธิ ลิ้มทองกุล พร้อมแนวร่วม รวม 98 คน เป็นจำเลยที่ 1-98 ในความผิดฐาน ร่วมกันก่อการร้าย เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาลโดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ. 2521 และฝ่าฝืน พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 จากกรณีที่พวกจำเลยชุมนุมในสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2551 ที่ศาลเลื่อนสืบพยานโจทก์จากวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมาไปเป็น วันที่ 9 มีนาคม 2561 เนื่องจากมีพยานบางคนป่วยมาศาลไม่ได้

สาเหตุที่เลื่อนสืบพยานคือศาลเห็นว่าเป็นคดีร้ายแรงมีอัตราโทษสูงต้องสืบหยานต่อหน้าจำเลยไม่สามารถสืบพยานลับหลังจำเลยได้ ซึ่งคดีนี้กว่าจะสืบพยานโจทก์ พยานจำเลยครบทุกปากคงต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่

อย่างที่บอกว่าคดีอาญาเป็นคนละส่วนกับคดีแพ่ง แม้คดีแพ่งศาลจะตัดสินให้จ่ายเงินชดใช้ความเสียหายแล้ว แต่ในคดีอาญาไม่ได้หมายความว่าจำเลยจะมีความผิด ผลทางอาญาจะออกมาอย่างไร จึงต้องรอดูคำตัดสินของศาล ซึ่งคดียังอยู่ในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้น ยังมีชั้นอุทธรณ์ ฎีกา ให้ต่อสู้กันอีก

แต่คำตัดสินคดีแพ่งถือเป็นบรรทัดฐานได้อย่างหนึ่งว่าการชุมนุมไม่ว่าจะมีเป้าหมายเพื่ออะไร ไม่มีสิทธิไปสร้างความเสียหายให้คนอื่น แม้ผลการชุมนุมจะบรรลุเป้าหมายแต่ก็ต้องรับผิดชอบต่อความผิดที่ตัวเองได้กระทำ

นับเป็นบทเรียนล้ำค่าของนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะแม้จะชนะการชุมนุม แต่แพ้คดีในศาล ที่สำคัญไม่ได้อำนาจมาอยู่ในมือหลังชนะชุมนุม แต่เป็นคนอื่นที่เข้ามาเสวยอำนาจแทน

เข้าตำรา “เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง เอากระดูกมาแขวนคอ” โดยแท้


You must be logged in to post a comment Login