วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2567

Topography กับประวัติศาสตร์ / โดย เรืองยศ จันทรคีรี-ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก

On September 18, 2017

คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร

ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี-ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก

สมมุติฐานในบทความชิ้นนี้ตั้งอยู่บนแนวคิดและความเชื่อเกี่ยวเนื่องที่ว่า ชาติและประวัติศาสตร์มีความเกี่ยวเนื่องในฐานะของประดิษฐกรรมทางวัฒนธรรมหรือชุมชนในจินตกรรม และความเป็นชาติในประวัติศาสตร์ตามจินตกรรมของความเป็นไทยต้องทำความเข้าใจในความหมายของความศักดิ์สิทธิ์ด้วย

สิ่งสำคัญและมีนัยของมิติสัมพันธ์ที่ต้องทำความเข้าใจอีกประการได้แก่ Topography หรือความศักดิ์สิทธิ์นั่นเอง ความคิดของสังคมไทยก่อนสมัยใหม่มักจะเกี่ยวข้องกับความสนใจในจักรวาลวิทยาแบบสัมพัทธ์ เป็นจักรวาลวิทยาแบบลัทธิเถรวาทซึ่งได้รับการวางรากฐานเอาไว้โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 คัมภีร์ภาษาไทยที่รู้จักกันมากที่สุดได้แก่ “ไตรภูมิพระร่วง”

ไตรภูมิพระร่วงถูกเขียนขึ้นในสมัยสุโขทัย พอสมัยรัตนโกสินทร์ทั้งพระเจ้าตากสินมหาราชและพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงจัดให้มีการสังคายนาไตรภูมิพระร่วงขึ้นมาใหม่

จักรวาลวิทยาแบบไตรภูมิพระร่วงเป็นการแบ่งสิ่งมีชีวิตทั้งหมดมาจากเหตุผลที่อธิบายว่าเป็นไปตามผลของบุญและกรรม ความจริงในการจัดการสังคายนาขึ้นมาใหม่คือ การแต่งขึ้นมาใหม่อีกครั้ง แต่ยังเป็นการแต่งภายใต้กรอบความคิดประการเดียวกัน ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปใหม่แต่อย่างใด

คือบรรดาสิ่งมีชีวิตจะมีวิถีของความเป็นไปประการใด ย่อมสืบเนื่องมาจากผลของบุญและกรรมที่ตนเองเป็นผู้สะสมมา

ตรรกะจักรวาลวิทยาในแบบไตรภูมิพระร่วงถือว่าบุญและกรรรมของสิ่งมีชีวิตนั้นทำให้มีการจัดแบ่งกลุ่มตามผลของบุญที่ได้กระทำมา ใครทำกรรมชั่วร้ายมากที่สุดจะต้องรับกรรมในนรกขุมลึกที่สุด ส่วนใครที่มีบุญมากก็จะอยู่ในภูมิที่สูงขึ้นมา ผลบุญหรือกรรมอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ขึ้นอยู่กับการกระทำของบุคคลนั้นๆ ชีวิตในปัจจุบันเป็นผลจากชีวิตในอดีตที่ได้กระทำมา

ไตรภูมิพระร่วงและโลกทั้งหมดมีอยู่ 31 ภูมิ ในแต่ละภูมิจัดชั้นตามลำดับคุณค่าแห่งสรรพสัตว์ โดยโลกมนุษย์เป็นเพียงชั้นภูมิหนึ่งเท่านั้นเอง พื้นที่และภูมิในไตรภูมิคือการแสดงถึงคุณค่าของสัตว์สภาวะ ซึ่งเป็นไปตามจินตนาการ ถึงกระนั้นคัมภีร์ไตรภูมิที่ได้เหลือหรือรับสืบทอดจนมาถึงในปัจจุบันมีการแจกแจงรายละเอียดของภูมิต่างๆ โดยเฉพาะโลกมนุษย์ รวมทั้งรายละเอียดการโคจรของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลอย่างที่จินตนาการในไตรภูมิพระร่วง ซึ่งชัดเจนและเป็นรูปธรรม

ขณะที่ไตรภูมิพระร่วงและคัมภีร์อื่นๆในแนวเดียวกันโดยทั่วไปเป็นเรื่องของสิ่งมีชีวิตในระดับต่างๆของ 3 ภูมิและสัจธรรมของสภาวะนิพพาน โดยมีเพียง 1 หรือ 2 บทเท่านั้นที่เป็นความรู้เกี่ยวกับจักรวาล ตลอดจนการเคลื่อนไหวของโลกและสัณฐานของโลก

มีแม่แบบหนึ่งที่เป็นตำราจักรวาลวิทยา เช่น โลกบัญญัติและจักรวาล การบรรยายถึงรูปทรงสัณฐานของโลกและจักรวาลมีทั้งการให้นิยามที่ระบุถึงขนาดและรายละเอียดต่างๆของโลก ระบุถึงทวีปทั้งสี่ของมนุษย์ เรื่องราวของ 36 เมือง และ 21 ชนบท และยังมีการบรรยายถึงภพของเทวดาและใต้พิภพ

สำหรับมนุษย์ภูมิจะประกอบไปด้วย 4 ทวีปใหญ่ โดยทวีปดังกล่าวอยู่รอบภูเขาอันเป็นใจกลางของจักรวาล ได้แก่ ภูเขาพระสุเมรุ ซึ่งมีมหาสมุทรและภูเขาอีก 7 ทิวคั่นอยู่ระหว่างทวีปทั้งสี่กับเขาพระสุเมรุ เหนือไปจากทวีปทางทิศใต้หรือชมพูทวีป

แต่การศึกษาจักรวาลวิทยาของศาสนาพุทธเถรวาทนั้นเป็นไปในแบบ shift หรือเป็นไปในแบบของการเปลี่ยนเลื่อน

หากเราพิจารณาอย่างเป็นเหตุเป็นผลตามทรรศนะวิธีที่เป็นวิทยาศาสตร์แบบโลกตะวันตกแล้ว ทำให้วิธีเข้าใจโลกตามจักรวาลวิทยาในแบบพุทธเถรวาทหรือแบบไทยๆนั้นถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ตลกมาก เป็นทรรศนะอันบิดเบี้ยวของชาวบ้านที่มีต่อโลก เช่น จินตนาการรูปของโลกเป็นสี่เหลี่ยมบ้าง แบนบ้าง โดยโลกที่จินตนาการไม่มีกลมเลย

ทำให้กล่าวได้ว่าการจินตนาการรูปธรรมของโลกมนุษย์นั้นสามารถจินตนาการได้มากกว่า 1 แบบ เพียงแต่มีเงื่อนไขว่าต้องสร้างความเชื่อขึ้นมาให้ยึดโยงกับความหมายของจิตวิญญาณของภูมิทั้งสาม ซึ่งสะท้อนว่าตรรกะในแบบพุทธเถรวาทไทยๆนั้นยึดถือจิตวิญญาณในความจริง

การคิดหรือจินตนการแบบไตรภูมิพระร่วงเป็นโลกแห่งจินตนาการ ซึ่งกลายเป็นความศักดิ์สิทธิ์ จึงมีอำนาจในการครอบงำทางความคิดและจิตสำนึก เป็นพลังหรืออิทธิพลอยู่ในสังคมไทย จารีตของจิตวิทยาในแบบไทยๆ มีบ่อยครั้งที่นำเอาเทพเจ้าของลัทธิอื่นเข้ามา บางครั้งก็มีผีเมือง ผีบ้าน หรือผีฟ้า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์หมายถึงกษัตริย์แต่ครั้งโบราณ

สรุปว่าภูมิลักษณ์ความศักดิ์สิทธิ์ในแบบไทยๆเป็นตรรกะที่ผสมปนไปทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งพุทธ ทั้งพราหมณ์ รวมถึงผี จึงถูกเหมารวมอธิบายถึงตรรกะแบบไทยๆ ความน่ากลัวของตรรกะในแบบไทยๆอยู่ตรงนี้เองคือ เป็นได้ทุกสิ่ง จนหลอมรวมทำให้ตรรกะความเป็นไทยกลายเป็นความไม่มีหลักการใดๆให้ยึดถือ กลายเป็นวัฒนธรรมและวิธีคิดแบบไทยๆที่ครอบงำสังคมไทยมาช้านาน ซึ่งไม่รู้ว่ายังครอบงำอยู่จนถึงปัจจุบันนี้อีกหรือไม่?

เขียนบทความชิ้นนี้ก็เพื่อจะบอกว่า อำนาจที่รุนแรงและน่ากลัวที่สุดในสังคมไทยคืออำนาจที่ถูกสร้างจากประวัติศาสตร์ไทยนั่นเอง เป็นภูมิลักษณ์หรือความศักดิ์สิทธิ์ที่มีรากฐานจากจักรวาลทัศน์ ซึ่งเป็นตรรกะของความไม่มีหลักการใดๆ

ความน่าเกรงกลัวตรงความไร้หลักการใดๆนี้เองคืออำนาจไร้หลักการที่พร้อมจะดีดดิ้นไปได้รอบทิศโดยไม่ต้องยึดโยงตัวเองกับอะไรทั้งสิ้น แม้แต่บ้านเมือง นอกจากตนเองเท่านั้น!


You must be logged in to post a comment Login