วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567

“โรดแม็พไม่มีความหมาย” สัมภาษณ์-วิเชียร ตันศิริคงคล โดย ประชาธิปไตย เจริญสุข

On September 18, 2017

คอลัมน์ : ฟังจากปาก

สัมภาษณ์โดย  : ประชาธิปไตย เจริญสุข

วิเชียร ตันศิริคงคล ประธานหลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยบูรพา ชี้การเมืองไม่เปลี่ยน ไม่ว่าอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะอยู่หรือไม่ เพราะ คสช. ขึงไว้หมดทุกด้านแล้ว ใครคิดจะเคลื่อนไหวก็โดนมาตรา 116 หมด กฎหมายลูกอาจลากยาว โรดแม็พจึงไม่มีความหมาย

*********

สถานการณ์การเมืองขณะนี้มี 3-4 ระดับคือ 1.ระดับโครงสร้างใหญ่คือโครงสร้างการเมือง ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เป็นโครงสร้างใหญ่ที่กำหนด แม้อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะยังอยู่หรือไม่ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ก็ยังมีอำนาจ แล้วยังเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญให้มีอำนาจต่อไปอีก หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ คสช. ก็ยังอยู่

2.โอกาสของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้ง คงกลับมาเป็นรัฐบาลยาก เพราะรัฐธรรมนูญเขียนไว้ให้มี ส.ว. (สมาชิกวุฒิสภา) ที่มาจากการแต่งตั้ง 250 คน ระบบการเลือกตั้งก็มีผลต่อการควบคุมพรรคการเมือง การเซตซีโร่ กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) ไม่รู้ว่าใครจะมาเป็น กกต. ชุดใหม่ ยังมีคดีต่างๆใน ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) เยอะมาก ทำให้พรรคเพื่อไทยเกือบสูญพันธุ์

3.ระหว่างรอการเลือกตั้งยังห้ามกิจกรรมทางการเมือง จำกัดสิทธิเสรีภาพ และ 4.มาตรา 44 ยังอยู่ อะไรๆก็เกิดขึ้นได้

เพราะฉะนั้นคุณยิ่งลักษณ์จะอยู่หรือไม่อยู่ สิ่งเหล่านี้ก็ยังอยู่ ส่วนคำพิพากษาวันที่ 27 กันยายนก็ยังไม่รู้ว่าจะออกมาอย่างไร ถ้าให้จำคุกจะมีการต่อต้านหรือไม่ ก็ต้องตั้งคำถามว่าใครจะเป็นคนนำ เพราะแกนนำหลายคนถูกจำคุกหรือมีคดีติดตัวเกือบทุกคน จึงอย่าพูดถึงคนนำ แค่คิดจะเคลื่อนไหวก็โดนมาตรา 116 หมดแล้ว คือ คสช. ใช้ความมั่นคงขึงไว้ทุกจุด โอกาสที่จะขยับเขยื้อนมันยาก การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ ทหาร รวมถึงการวางตัวคนในตำแหน่งเกี่ยวกับความมั่นคงทั้งหมด เขาขึงไว้ทุกจุด พลังภาคประชาชนอ่อนแอ ความเป็นเอกภาพในระบบราชการเข้มแข็ง กองทัพไม่มีรอยปริรอยแยก วางทายาทกันครบถ้วน ใครจะนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คสช. ประเมินการต่อต้านในกรณีที่เลวร้ายที่สุดแล้วว่าไม่มี

มีคนตั้งคำถามว่าทำไมคุณยิ่งลักษณ์หนี เป็นความคิดส่วนตัวท่านหรือจะได้รับคำแนะนำจากใครก็ตาม ผมเชื่อว่าเจตนาของท่านคงไม่อยากไปไหน แต่อาจได้คำแนะนำหรือเงื่อนไขอะไรบางอย่าง ต้องรอฟังจากปากคุณยิ่งลักษณ์ เพราะไม่มีใครรู้ดีเท่ากับคุณยิ่งลักษณ์

ผมคิดว่าการเมืองไทยหลังจากนี้จะเป็นไปตามที่ คสช. ต้องการ เพราะเขาคุมเกมได้หมด อย่าง กกต. บอกว่าจะให้เลือกตั้งเดือนสิงหาคม 2561 ก็โดนคุณมีชัย ฤชุพันธุ์ ออกมาบอกว่าไม่มีสิทธิพูด เพราะกฎหมายลูกยังไม่เสร็จ โรดแม็พจึงไม่มีความหมายเลย หรือล่าสุด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พูดว่าไม่มั่นใจว่าปี 2561 จะมีเลือกตั้งหรือไม่ สะท้อนให้เห็นว่าเขาจะลากยาวทั้งกฎหมายลูกและดึงเรื่องความมั่นคงมาเกี่ยวข้อง

การเมืองจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับ คสช. เพราะมีมาตรา 44 สามารถทำอะไรก็ได้ ถ้า คสช. ยังไม่ปลดล็อกกฎหมายลูกให้เสร็จ ไม่เปิดให้มีกิจกรรมทางการเมือง การเมืองก็ยังอยู่ในระบบปิด ยังถูกควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จ ผมเชื่อว่าการเมืองตอนนี้ไม่ได้เปลี่ยนผ่าน ยังเป็นระบบปิดกึ่งเปลี่ยนผ่าน ถ้าเปลี่ยนผ่านต้องปลดล็อกให้การเมืองทำกิจกรรมได้

คสช. แช่แข็งประเทศอีกนาน

ปรกติเราจะดูประวัติศาสตร์กัน ที่ผ่านมาเมื่อมีการรัฐประหาร อย่างครั้งแรกปี 2490 ไม่ใช่ปี 2475 นะ รัฐประหารปุ๊บก็ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2492 ขณะเดียวกันก็ให้มีการเลือกตั้ง มี ส.ส. จากการเลือกตั้ง แล้วก็รัฐประหารอีกในปี 2494 และ 2495 ก็มีการเลือกตั้ง รัฐประหารอีกครั้งปี 2500 ก็มีเลือกตั้งทันที รัฐประหารอีกครั้งปี 2501 คราวนี้มาเลือกตั้งปี 2511 ยาว 10 ปีที่ไม่มีการเลือกตั้ง รัฐประหารครั้งนี้จึงรองแชมป์ และยังไม่รู้ว่าจะมีเลือกตั้งเมื่อไร

ถ้าเลือกตั้งปี 2561 รัฐบาล คสช. ก็จะอยู่ในอำนาจถึง 4 ปีกว่า เป็นรองแชมป์ แต่ก็ต้องดูประวัติศาสตร์ช่วงรัฐประหารปี 2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำไมมีเลือกตั้งปี 2511 เพราะมีแรงกดดันจากกลุ่มทหารที่ไม่มีเอกภาพ ทำให้มีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2511 และเลือกตั้งปี 2512 ถ้าดูประวัติศาสตร์ในปี 2519 เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา บางคนบอกว่ารุนแรงและเกิดความแตกแยกของคนในชาติมาก แต่ปี 2521 ก็ยังมีเลือกตั้ง รัฐประหารปี 2520 ก็เลือกตั้งปี 2521 ได้รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่อยู่ยาวนาน

ผมพูดอย่างนี้เพราะครั้งนี้มีแนวโน้มว่า คสช. จะอยู่ยาวเหมือนสมัยจอมพลสฤษดิ์ จนกว่าจะมีการแตกแยกใน คสช. หากย้อนกลับไปยุคจอมพลสฤษดิ์ ท่านมีคนชอบมาก พล.อ.ประยุทธ์ก็มีลักษณะคล้ายๆกัน จอมพลสฤษดิ์อยู่ในอำนาจแค่ 5 ปี ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ตอนนี้จะ 4 ปีแล้ว ยังไม่เห็นใครดุด่าว่ากล่าว พล.อ.ประยุทธ์อย่างรุนแรงเลย พล.อ.ประยุทธ์จึงอาจอยู่นานกว่าจอมพลสฤษดิ์ก็ได้ ระบอบ คสช. ก็จะอยู่ยาวเหมือนช่วงปี 2500 จนถึงปี 2511 ที่ทหารแตกแยกกัน แต่ยุคนี้ผมยังไม่เห็นความแตกแยก เพราะการแต่งตั้งนายกองเป็นเอกภาพ ผมมองว่า คสช. จะอยู่ยาว แม้จะมีการเลือกตั้งในปี 2561 ก็มีโอกาสจะได้รัฐบาลที่มีนายกฯคนนอก ซึ่งคนที่อ่านรัฐธรรมนูญก็ฟันธงว่า พล.อ.ประยุทธ์จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ

ถ้าไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ต้องเป็น คสช. คนใดคนหนึ่ง คือทหารจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ภายใต้บริบทอย่างนี้ผมถามว่าพรรคการเมืองไหนกล้าเป็นรัฐบาล ติดคุกหมดนะ เพราะนโยบายถูกตีความได้ว่าขัดหรือไม่ขัดกับยุทธศาสตร์ชาติ มีใครร้องสักคน หรือไม่ร้องก็ส่งให้ ป.ป.ช. สอยได้ องค์กรอิสระทั้งหลายที่เขียนโดยรัฐธรรมนูญมีอำนาจยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้รัฐบาลสะดุด หยุดชะงักได้ ไม่รวมถึงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ผมถึงบอกว่าวันนี้เราอยู่ภายใต้โครงสร้างหลักอย่างที่บอก

ฝ่ายประชาธิปไตยไม่มีพลัง

รัฐธรรมนูญบวกกับกลุ่มที่มีอำนาจคือทหาร มันเป็นโครงสร้างหลัก พลังภาคประชาชนหรือฝ่ายประชาธิปไตยจะยังอ่อนแอ ไม่สามารถต้านทานอะไรได้ กลุ่มทุนเองก็พอใจรัฐบาลแบบนี้ เพราะความวุ่นวายหรือการประท้วงต่างๆไม่มี แต่ถ้าถามประชาชนบางกลุ่มหรือนักการเมืองเดิมๆเขาคงไม่ชอบ เป็นเรื่องปรกติ แต่ไม่ชอบ แล้วคุณจะไปทำอะไรได้ เพราะรัฐธรรมนูญผ่านประชามติแล้ว ผมถึงบอกว่าเขาจะอยู่ยาว

ยิ่งมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีรองรับ ผมคิดว่าไม่มีที่ไหนที่เป็นอย่างนี้ มันเป็นรัฐธรรมนูญแบบไทยๆ ปกครองแบบไทยๆ อยู่กันแบบไทยๆ สะท้อนถึงสมัยจอมพลสฤษดิ์รัฐประหารปี 2501 แล้วประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2502 ทำให้เป็นการเมืองระบบพ่อขุน จอมพลสฤษดิ์พูดชัดเจนว่าเมืองไทยต้องอยู่แบบไทยๆ จะอยู่แบบตะวันตกไม่ได้ วันนี้มันย้อนกลับมา 60 ปี นาฬิกาหมุนกลับเหมือนปี 2501 และ 2502 การใช้มาตรา 44 ก็คล้ายๆมาตรา 17 สมัยนั้น แถมใช้มากกว่าด้วย ใช้กระทั่งบริหารราชการแผ่นดิน ยึดมหาวิทยาลัย ย้าย อบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล)

โครงสร้างรัฐบาลในอนาคต

รัฐบาลต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ต้องเป็นเด็กดีตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นเด็กดีของคณะกรรมการปฏิรูป รัฐบาลจึงต้องมองซ้ายมองขวา มองซ้ายคือมอง คสช. มองขวาต้องมององค์กรอิสระ เพราะเขาใหญ่กว่าคุณ ไม่นับถึงศาลรัฐธรรมนูญ รัฐบาลในอนาคตเป็นรัฐบาลที่ต้องเหลียวซ้ายแลขวา ต้องระมัดระวังมาก เว้นแต่เป็นรัฐบาลที่เขาตั้งเข้ามากับมือ

สิ่งหนึ่งที่ต้องจับตาดูคือ สมมุติเป็นรัฐบาลที่มาจากทหาร จะมีอะไรมาคุ้มกัน แต่ผมคิดว่ามีเลือกตั้งดีกว่าไม่มี เพราะทำให้มีการตรวจสอบรัฐบาลในสภาได้ แม้ ส.ส.ฝ่ายค้านจะทำอะไรไม่ได้ก็ฟ้องประชาชนได้ว่าเกิดอะไรขึ้น ยังมีช่องทางฟ้องประชาชน แต่ถ้าเป็นระบบแบบนี้ (เผด็จการ) ไม่ต้องฟ้องเลย พูดไปก็ติดมาตรา 116 หมด อันตรายมาก นักวิชาการก็โดน ผมพูดเรื่องปฏิรูปตำรวจมากๆ สันติบาลก็จ้องผม บ้านเมืองวันนี้อยู่ในภาวะอันตราย

ที่มองว่า คสช. รวบรวมทุกพรรคการเมืองเพื่อจะจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งแล้วนั้น ผมพูดตลอดว่าแม้กรณีเลวร้ายที่สุดคือคุณทักษิณโยนผ้าทิ้งพรรค พรรคเพื่อไทยก็ยังอยู่ ในยุคคุณทักษิณนโยบายพรรคมีแค่ 20% อุดมการณ์ไม่มี พอคุณยิ่งลักษณ์ก็มีนโยบายพรรค 30% อุดมการณ์ 10% ตอนนี้คุณทักษิณและคุณยิ่งลักษณ์เหลือ 50% แล้ว นโยบายพรรค 30% อุดมการณ์ก็เริ่มมี 20% คือตอนนี้คนเริ่มมองว่าพรรคเพื่อไทยยืนอยู่ตรงข้ามกับทหาร ถ้าคุณไม่พอใจทหารสักคนคุณก็ต้องเลือกพรรคเพื่อไทย เพราะที่เหลือเอาทหารหมด ถ้าพรรคเพื่อไทยเอากับทหารด้วยก็ไม่มีราคาแล้ว คนที่ไม่ชอบทหารก็ไม่เลือกพรรคเพื่อไทย ก็เหลือโหวตโนไป ไม่เอาสักพรรค

ถ้าชอบพรรคประชาธิปัตย์ ยังไงเขาก็ต้องเลือกพรรคประชาธิปัตย์ คนไม่ชอบพรรคนี้ยังไงก็ไม่เลือก แต่ถ้าพรรคเพื่อไทยขายตัวก็ไม่มีใครเลือก ความจริงพรรคเพื่อไทยขณะนี้มีความเป็นสถาบันในระดับหนึ่งแล้ว ดังนั้น ต้องมีจุดยืนที่มั่นคงและต้องพร้อมจะเป็นฝ่ายค้าน มันไม่ได้เป็นฝ่ายค้านทั้งปีทั้งชาติแน่ ทหารไม่สามารถอยู่ได้ตลอดไป คุณจาตุรนต์ ฉายแสง คุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ หรือคุณพงศ์เทพ เทพกาญจนา ใครก็ได้ที่มีโอกาสเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย โอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีอาจไม่มี แต่พรรคเพื่อไทยต้องสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมาเป็นแถว 2 แถว 3 ฝึกงานทางการเมืองจึงจะมีโอกาส จะรอ 10 ปีก็ไม่สาย ไม่ต้องเดือดร้อนอะไร ประชาธิปไตยต้องใช้เวลา แต่นานนักก็ไม่ดี

โอกาสเกิดรัฐบาลแห่งชาติ

ผมคิดว่ามันเพ้อฝัน เป็นไปไม่ได้ เก้าอี้รัฐมนตรีมีจำนวนจำกัด ทุกพรรคได้เก้าอี้หมด เป็นไปไม่ได้ อย่างนี้มันเป็นมวยล้มต้มประชาชน ประชาชนต้องการให้นักการเมืองเข้ามาตรวจสอบ สร้างความสมดุล ไม่ใช่เข้ามาฮั้วกัน มันไม่ใช่ช่วงเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 อังกฤษต้องเป็นรัฐบาลแห่งชาติ ประเทศเรามีความขัดแย้ง แต่ความขัดแย้งก็มีทั่วโลก การแก้ปัญหาต้องหาจุดสมดุลของมันเอง เพียงแต่อย่าไปล้มการเลือกตั้งก็แล้วกัน

แนวโน้มอนาคตประเทศไทย

ขึ้นอยู่กับรัฐบาลมีประสิทธิภาพในการบริหารหรือไม่ มันเป็นธรรมชาติของรัฐบาลที่มาจากแบ็กกราวนด์แบบทหาร เขาจะให้ความสำคัญเรื่องสิทธิเสรีภาพน้อยกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลอะไรก็ตามก็ต้องเน้นเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล คำว่าประสิทธิภาพ ประสิทธิผล พูดภาษาชาวบ้านคือทำเศรษฐกิจให้ดีได้หรือไม่ พัฒนาประเทศได้หรือไม่ ปราบโกงปรามคอร์รัปชันได้หรือเปล่า ถ้าทำให้เศรษฐกิจดี ไพร่ฟ้าหน้าใส เงินทองไหลมาเทมา ทุกคนมีเงินในกระเป๋า ไม่ว่าระดับรากหญ้าถึงระดับพ่อค้า นักลงทุน นายทุน ทำได้มั้ย นี่เป็นเรื่องแรก

เรื่องที่ 2 ทำให้บ้านเมืองสงบราบคาบ โจรผู้ร้ายไม่มี ยาเสพติดลดลง ประชาชนได้รับบริการจากภาครัฐ รถเมล์ดีขึ้น ไฟฟ้า ประปาไม่มีปัญหา น้ำท่วมก็แก้ไขโดยเร็ว รวมถึงทำให้เมืองไทยได้รับการยอมรับจากนานาชาติ บรรยากาศน่าลงทุนหรือการส่งออกเพิ่มขึ้น ทำได้มั้ย

เรื่องที่ 3 การกระจายรายได้ คนรวย คนจน ช่องว่างต้องไม่ห่างกันมากนัก ต้องลดช่องว่างนี้ และสุดท้ายคือสร้างเสริมศักยภาพ คุณภาพชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเด็ก คนชรา คนพิการ คนด้อยโอกาส ยกระดับการศึกษาให้ดีขึ้น คนไทยสามารถแข่งขันกับนานาชาติในทุกมิติได้ ทำได้มั้ย

ถ้าทำเรื่องพวกนี้ได้ก็จะลบคำที่บอกว่าไอ้นี่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไอ้นี่มี ส.ว. เป็นตัวช่วย ไอ้นี่มีอำนาจที่ไม่ใช่อำนาจมาจากประชาชนอะไรอย่างนี้ ต้องถามว่าทำได้มั้ย ถ้าทำไม่ได้ในช่วง 5-6 ปีก็คงเปลี่ยนหัวเรือเท่านั้น เรือยังลำเดิม ยกเว้นแต่ระบอบมันพังทั้งหมด นายทุน ประชาชนก็ไม่พอใจ ตรงนี้มันต้องใช้เวลาอีกหลายปี อย่างกรณี 14 ตุลา ที่ไม่พอใจรัฐธรรมนูญปี 2502 ที่มาถึงช่วงเปลี่ยนผ่านปี 2511 จึงสามารถล้มระบอบทหารได้ ใช้เวลาถึง 15 ปี ครั้งนี้ผมภาวนาว่าไม่ถึง 15 ปี ทหารต้องออกไป ปล่อยให้พลเรือนบริหาร แต่ก็ยังมีอะไรให้คิดเล็กๆว่าเขาจะอยู่ยาวหรือไม่ เพราะมีปัจจัยที่อธิบายไม่ได้ เชื่อว่าประชาชนทราบกันดี มันเป็นเหมือนอำนาจพิเศษอย่างที่อาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์ บอก ก็ต้องไปถามท่านว่าอำนาจพิเศษคืออะไร


You must be logged in to post a comment Login