วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

รับมือโดนแกล้งในโรงเรียน / โดย ภูริวรรณ วรานุสาสน์

On September 18, 2017

คอลัมน์ : China Today

ผู้เขียน : ภูริวรรณ วรานุสาสน์

ณ โรงเรียนแห่งหนึ่งทางใต้ของเขตปกครองตนเองพิเศษกว่างซี-จ้วง เด็กน้อยหลายคนใช้มือเช็ดน้ำตาหลังจากเล่าเรื่องที่พวกตนถูกกลั่นแกล้งและทำร้ายที่โรงเรียนให้ฟัง

เด็กชายชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 คนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เพื่อนของเขาหักดินสอของเขาโดยไม่มีเหตุผล และเมื่อเขาเข้าไปบอกให้คนนั้นชดใช้ค่าดินสอ กลับถูกเด็กคนนั้นต่อยจนเลือดกำเดาไหล

ขณะกำลังเล่าเรื่อง เด็กชายต้องถอดแว่นออกมาเพื่อเช็ดน้ำตา แต่กลับร้องไห้ไม่หยุดจนคุณครูต้องเดินเข้าไปปลอบและกอดเด็กชายคนนั้น

ทางโรงเรียนสาธิตชนเผ่าซานเจียง ในเขตปกครองตนเองซานเจียง-ตง ได้จัดห้องเรียนขึ้นมาห้องหนึ่งใช้ชื่อว่า การเรียนรู้ด้านสังคมและอารมณ์ (SEL) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการของจีนกับองค์การยูนิเซฟ (UNICEF)

การเรียนรู้ด้านสังคมและอารมณ์นี้ มีจุดประสงค์เพื่อช่วยนักเรียนพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่างๆ เช่น การรู้จักตนเอง ความมั่นใจในตนเอง การทำความเข้าใจและการจัดการกับอารมณ์ความรู้สึก รวมไปถึงการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

ซึ่งหัวข้อ “การไม่รังแกผู้อื่น” ถือเป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญของห้องเรียนนี้

ระหว่างการเรียนการสอน คุณครูจ้าว ลี่หง ได้เล่าถึงเรื่องราวสมมุติของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่กลายเป็นเด็กเก็บตัวหลังจากถูกรังแกมาเป็นระยะเวลานาน คุณครูได้ขอให้เด็กๆคนอื่นช่วยหาวิธีที่จะช่วยเหลือเด็กผู้หญิงคนนี้ บางคนแนะนำว่าให้หาเพื่อนให้กับเธอ บางคนแนะนำว่าเธอควรจะไปขอความช่วยเหลือจากพ่อแม่และคุณครู แต่บางคนถึงกับแนะนำว่า “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน”

คุณครูโจวสอนเด็กๆว่า การแกล้งกันนั้นมักเกิดขึ้นจากความตั้งใจและมักเกิดซ้ำๆ ผู้ที่ชอบแกล้งคนอื่นคือพวกที่แข็งแรงกว่า ดังนั้น เด็กๆจะต้องรู้จักป้องกันตนเอง ขณะเดียวกัน เด็กๆจะต้องไม่ไปแกล้งคนอื่น สิ่งนี้สำคัญมาก

กัว เสี่ยวผิง นักการศึกษาจากองค์การยูนิเซฟกล่าวว่า ตั้งแต่ที่ทางโรงเรียนริเริ่มโครงการดังกล่าวเมื่อปี ค.ศ.2013 ก็มีโรงเรียนอื่นๆให้ความสนใจ ขณะนี้มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการนี้กว่า 500 แห่งแล้ว

โรงเรียนส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการ มักเป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ทุรกันดารและห่างไกลทางภาคตะวันตกของประเทศจีน

หวู่ ซินหยุน หัวหน้าแผนกประถมของโรงเรียนซานเจียงกล่าวว่า เด็กๆจะเข้าร่วมโครงการนี้ทุกๆ 2 สัปดาห์ โดยใช้หนังสือเรียนที่จัดทำขึ้นมาโดยโครงการเอง

แต่ละห้องเรียนจะมีเด็กประมาณ 60 คน ซึ่งมากกว่าที่ทางการกำหนดไว้ที่ 45 คน ทำให้เกิดการทะเลาะหรือทำร้ายร่างกายกันบ่อย แต่หลังจากโครงการนี้เข้ามา ทำให้เด็กๆเรียนรู้ที่จะเข้าใจผู้อื่น จึงทำให้จำนวนการทำร้ายกันลดน้อยลง

ในห้องเรียน SEL เว่ย เจียฉี เด็กหญิงวัย 12 ปี วาดภาพเพื่อร่วมห้องของเธอช่วยกางร่มให้กับเธอ เธอตั้งชื่อภาพนี้ว่า “ขอบคุณที่ดูแลฉัน” เธอเล่าว่า วันนั้นเธอกำลังเสียใจเพราะแม่ดุเธอ แต่เพื่อนของเธอกลับมาดูแลและคอยอยู่เป็นเพื่อนเธอ

โครงการ SEL นี้ นอกจากจะมีการอบรมให้ครูและผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว บุคคลสำคัญอีกกลุ่มคือกลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครอง ก็ได้รับการเชิญชวนให้เข้าร่วมกับโครงการนี้ โดยจะใช้วิธีการสื่อสารผ่านทางแอปพลิเคชัน WeChat ซึ่งสามารถทำให้พ่อแม่ที่ต้องเดินทางไปทำงานต่างเมืองและทิ้งเด็กๆไว้ สามารถเชื่อมต่อกับทางโครงการและลูกๆของตนได้ตลอดเวลา

หวง กุ้ยเจิน เจ้าหน้าที่จากกระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่า โครงการนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยพัฒนาการเรียนการสอน แต่ยังเข้าไปช่วยเหลือเด็กกลุ่มด้อยโอกาส เช่นเด็กกลุ่มที่พ่อแม่ทิ้งไปทำงานในเมือง จะได้รู้สึกว่าโรงเรียนและครอบครัวยังรักและใส่ใจพวกเขาอยู่ ซึ่งก็หวังว่า โครงการนี้จะกระจายยังโรงเรียนอื่นๆอีก เพื่อประโยชน์แก่เยาวชนของชาติ

 


You must be logged in to post a comment Login