วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2567

เสรีภาพกับความกลัว? / โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

On September 14, 2017

คอลัมน์ : โดนไป บ่นไป
ผู้เขียน : ..อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

ผมอ่านบทความของคอลัมนิสต์ท่านหนึ่งที่เขียนเกี่ยวกับการประชุมที่นครกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา จัดโดยมูลนิธิโคฟี อันนัน (The Kofi Annan Foundation) ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งมาเลเซีย (National Human Rights Commission of Malaysia)

สำหรับ “โคฟี อันนัน” นั้น คนรุ่นผมหรืออายุมากกว่าจะคุ้นเคยชื่อนี้เป็นอย่างดี เพราะท่านเป็นเลขาธิการองค์การสหประชาชาติคนที่ 7 เข้ารับตำแหน่งตั้งแต่ 1 มกราคม ค.ศ. 1997 และหมดวาระ 31 ธันวาคม ค.ศ. 2006 ถ้าจำกันได้ท่านเป็นนักการทูตชาวกานาที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพด้วย

การประชุมครั้งนี้แน่นอนว่าเป็นการพูดถึงเรื่อง “สิทธิมนุษยชน” และ“ประชาธิปไตย” ในภูมิภาคของเรา ซึ่งสถานการณ์ในประเทศไทยขณะนี้ถือว่าใครก็ตามที่เป็นตัวแทนไปพูดเรื่องนี้คงพูดได้ลำบาก เพราะหลังจากการรัฐประหารเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เราขาดความน่าเชื่อถือในการพูดถึงหัวข้อนี้ เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีการเลือกตั้งและยังไม่มีรัฐบาลที่มาจากระบอบประชาธิปไตย

ประเทศที่เป็นดาวรุ่งพุ่งแรงและปรับเปลี่ยนจากประเทศในอดีตที่ถูกสังคมโลกเรียกขานว่าเป็น “เผด็จการทหาร” เต็มรูปแบบอย่าง “อินโดนีเซีย” กลายเป็นประเทศผู้นำด้านประชาธิปไตยในภูมิภาคอย่างเต็มภาคภูมิ โดยการประชุมระดับภูมิภาคทั้ง 2 วัน อดีตผู้นำของอินโดนีเซียได้แสดงการเป็นตัวแทนประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างสง่างาม

การกล่าวสุนทรพจน์ของอดีตประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยูโดโยโน (Susilo Bambang Yudhoyono) ตอนหนึ่งที่ว่า “ไม่มีทางที่จะเกิดรัฐประหารในอินโดนีเซียเด็ดขาด แม้เพียงแค่คิดก็ไม่มีแล้ว” เรียกเสียงปรบมืออย่างกึกก้องทั้งห้องประชุม ข้อเท็จจริงดังกล่าวทำให้คนไทยอย่างเราต้องย้อนคิดว่า อินโดนีเซียซึ่งเคยมีรูปแบบการปกครองแบบเผด็จการทหารที่โหดเหี้ยมเด็ดขาดมายาวนาน ทำอย่างไรจึงสามารถส่งทหารกลับกรมกองและเป็นกำลังสำคัญในการช่วยเหลือดูแลรับใช้ประชาชน แทนที่จะเป็นผู้ออกคำสั่งต่อประชาชนอย่างที่เป็นอยู่ในประเทศไทยขณะนี้

อดีตประธานาธิบดีท่านนี้ยังกล่าวว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่ประเทศอินโดนีเซียมีความสุขกับเสรีภาพและความมั่งคั่งยั่งยืนของประเทศ” ประโยคนี้ผมเชื่อว่าท่านกล่าวด้วยความปลื้มปีติและความภาคภูมิใจ อ้อ! ผมลืมเล่าเกี่ยวกับประวัติของท่านให้ฟัง ท่านเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศที่ได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนในปี พ.ศ. 2547 ภายหลังการปฏิรูปการเมืองและการแก้ไขรัฐธรรมนูญของอินโดนีเซีย

รัฐธรรมนูญของอินโดนีเซียกำหนดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี โดยผู้ได้เป็นประธานาธิบดีต้องได้เสียงมากกว่าร้อยละ 50 ของผู้ออกเสียง หากไม่มีผู้ได้คะแนนเสียงเกินร้อยละ 50 ในการเลือกตั้งครั้งแรก ให้จัดการเลือกตั้งครั้งที่ 2 โดยให้ผู้ได้คะแนนเสียงอันดับที่ 1 และ 2 มาแข่งขันกันอีกครั้ง

ประธานาธิบดียูโดโยโนได้รับชัยชนะเหนือนางเมกาวาตี ซูการ์โนบุตรี ในการเลือกตั้งครั้งที่ 2 และดำรงตำแหน่งด้วยความคาดหวังอย่างมากจากประชาชนว่าจะบริหารประเทศและพัฒนาเศรษฐกิจที่ตกต่ำของประเทศให้ดีขึ้น

แม้ในช่วงแรกท่านอาจไม่ค่อยได้รับการยอมรับจากประชาชน แต่ก็สามารถบริหารประเทศให้ดีขึ้นเป็นลำดับ และจัดการแก้ไขปัญหาต่างๆได้เป็นอย่างดี เช่น การเจรจากับอาเจะห์จนเกิดสันติภาพ และการดูแลความขัดแย้งระหว่างเผ่าพันธุ์ต่างๆจนยุติความรุนแรง รวมทั้งฟื้นฟูเศรษฐกิจของอินโดนีเซียให้มีความเข้มแข็งเติบโตอย่างรวดเร็ว จนเป็นหนึ่งในประเทศน่าลงทุนในปัจจุบัน

ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด (พ.ศ. 2552) ประธานาธิบดียูโดโยโนได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2 ด้วยเสียงท่วมท้น และเป็นผู้จุดคบเพลิงในซีเกมส์ครั้งที่ 26 แต่เรื่องสำคัญที่ผมเก็บมาเล่าให้ฟังตอนท้ายคือ ท่านเป็นอดีต “พลเอก” ของกองทัพบก และมีส่วนสำคัญในการปฏิรูปกองทัพโดยการนำกองทัพกลับกรมกองเพื่อรับใช้ประเทศและประชาชน

“เพราะในที่สุดกองทัพนี่แหละที่จะต้องกลายเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาของประเทศ เราไม่ได้มีกองทัพสำหรับการป้องกันประเทศเท่านั้น แต่กองทัพต้องเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันและปกป้องการปฏิรูปประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยที่แท้จริงคือคุณค่าที่ทุกคนต้องร่วมกันต่อสู้เพื่อให้ได้มา”

เป็นยังไงบ้างครับสำหรับความเชื่อและทัศนคติของผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของอินโดนีเซียท่านนี้

ย้อนกลับมาดูประเทศอื่นๆบ้าง เริ่มจากมาเลเซียซึ่งมีตัวแทนขึ้นกล่าวในที่ประชุมหลายท่าน เนื้อหายังเป็นประเทศที่สนับสนุนประชาธิปไตยที่สิทธิทางการเมืองและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนยังมีข้อจำกัดในแบบที่มาเลเซียเรียกว่า “Asian values” ส่วนประเทศไทยมีตัวแทนขึ้นไปกล่าวท่านเดียวคือ อดีตเลขาธิการอาเซียนและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศคือ ท่านสุรินทร์ พิศสุวรรณ

ขออนุญาตเอ่ยนามท่าน ซึ่งการถกแถลงครั้งนี้เป็นไปด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน ท่านไม่ได้พูดจายกย่องท่านผู้นำสูงสุดของประเทศแต่อย่างใด แต่ได้เล่าให้ที่ประชุมฟังถึงข้อเท็จจริงของการปฏิรูปการเมืองในประเทศไทยว่า รัฐบาลทหารต้องการปฏิรูปประเทศในทุกๆด้าน ยกเว้นเรื่องเดียวคือ “การปฏิรูปกองทัพ”

อย่างไรก็ดี วิทยากรที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งคือ “Michael Vatikiotis” ซึ่งเป็นผู้ที่รู้เรื่องเมืองไทยและใช้เวลากว่า 10 ปีเข้าออกประเทศไทยเพื่อประเมินความเป็นธรรมของประเทศไทยและในภูมิภาคนี้ ได้แสดงความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า “ความเป็นประชาธิปไตยในภูมิภาคของเราเริ่มที่จะจางลงและเริ่มเลือนหายไป เนื่องจากความกลัวของประชาชน จึงทำให้ต้องยอมรับในสิ่งที่ไม่เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย”

Vatikiotis เป็นอดีตบรรณาธิการ Far Eastern Economic และขณะนี้เป็นผู้อำนวยการศูนย์การเจรจาด้านมนุษยธรรม ได้ยกตัวอย่างให้เห็นอย่างชัดเจน เช่น การฆาตกรรมแบบพิเศษในฟิลิปปินส์ของประธานาธิบดีดูแตร์เต ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสาธารณชน ส่วนในมาเลเซียนั้น ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนมีความสำคัญมากกว่าสิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

ประเทศกัมพูชาก็มีการกดดันและจำกัดสิทธิของฝ่ายค้านที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ส่วนประเทศไทยประชาชนส่วนใหญ่ลงประชามติยอมรับรัฐธรรมนูญที่ถูกเขียนมาจากอำนาจของรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ทั้งๆที่เป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมโลกอย่างหนักว่าไม่เป็นประชาธิปไตย

ก่อนจบในสัปดาห์นี้ผมขอนำคำพูดของ Vatikiotis มาปิดท้ายให้ฟัง อ่านแล้วลองคิดตามว่าจริงหรือเปล่าระหว่าง “เสรีภาพกับความกลัว” เขาบอกไว้อย่างนี้ครับ

“ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองทั่วโลกกำลังงุนงงกับข้อเท็จจริงที่ว่า ระบอบประชาธิปไตยกำลังตายลงอย่างเงียบๆ และความกังวลของผมในขณะนี้ก็คือ ประชาชนกำลังยินยอมที่จะแลกเปลี่ยนเสรีภาพของตนเองเพียงเพื่อได้มาซึ่งความปลอดภัยเท่านั้น”  พบกันฉบับหน้าครับ


You must be logged in to post a comment Login