วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

ตามตูดผู้นำ 20 ปีชาติพ้นภัย? / โดย ทีมข่าวการเมือง

On September 11, 2017

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

3 เรื่องใหญ่ที่รัฐบาลทหารกำลังเดินหน้าอยู่ขณะนี้คือ “สัญญาประชาคมเพื่อความปรองดอง 10 ข้อ” กับการตั้ง “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ” จำนวน 36 คน หลังจากก่อนหน้านี้มีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน” จำนวน 120 คนไปแล้ว ทั้ง 3 เรื่องถือเป็นเรื่องใหญ่ที่มีผลต่ออนาคตของประเทศและประชาชนอย่างมาก

ผูกพันรัฐสภา-ครม. นาน 20 ปี

โดยเฉพาะ “แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ที่ถือเป็นแผนแม่บทที่สำคัญที่สุดและถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งแตกต่างกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่เป็นแนวทางกว้างๆในการวางแผนพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมฉบับละ 5 ปี แต่ พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติมีลักษณะ “สภาพบังคับ” ที่ผูกพันรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีทุกสมัย รวมถึงหน่วยงานรัฐ เป็นระยะเวลา 20 ปี และอาจพิจารณาทบทวนทุก 5 ปี หรือเมื่อมีสถานการณ์กระทบต่อวัตถุประสงค์ของยุทธศาสตร์ชาติอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งกำหนดให้การจัดทำงบประมาณของรัฐบาลต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ คำแถลงนโยบายของรัฐบาลชุดต่อๆไปต่อที่ประชุมรัฐสภาต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งให้ ส.ว. ชุดแรกจำนวน 250 คน ที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้ง มีอำนาจในการเร่งรัดให้รัฐบาลชุดต่อๆไปต้องปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติ

ส่วน พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ มาตรา 5 กำหนดให้การจัดทำนโยบาย งบประมาณ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แผนงานด้านความมั่นคง หรือแผนอื่นใดของรัฐบาล ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ

นอกจากนี้ยังต้องกำกับดูแลให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ มาตรา 26 กำหนดขั้นตอนการลงโทษผู้ไม่ปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติว่าอาจมีความผิดทั้งทางวินัยและทางอาญา

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี คืออะไร

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นความฝันของรัฐบาล คสช. ที่มั่นใจว่าจะเป็นแผนพัฒนาประเทศที่ทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ภายในระยะเวลาบังคับ 20 ปี ตั้งแต่ปี 2560-2579 โดย                                                 ร่างยุทธศาสตร์ชาติฉบับสรุปย่อที่เผยแพร่ต่อประชาชนแบ่งออกเป็น 6 ด้านคือ 1.ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง 2.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3.ยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน 4.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม 5.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 6.ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติถูกมองว่าเป็น “คปป.ซ่อนรูป” คือ “คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ” ที่เคยเขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ และถูกหลายฝ่ายออกมาคัดค้าน เนื่องจากคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดมีอำนาจอยู่เหนือทุกกลไกในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลและรัฐสภา ซึ่ง คปป. มีจำนวน 22 คน กรรมการโดยตำแหน่ง ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่เหลือเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา และผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏิรูปด้านต่างๆและการสร้างความปรองดอง

คปป. มีวาระ 5 ปี และต่ออายุได้หากผ่านการทำประชามติให้อยู่ต่อ หรือรัฐสภามีมติเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดให้อยู่ต่อ แต่ต้องไม่เกิน 5 ปีนับจากวันที่มีมติ คปป. มีหน้าที่ขับเคลื่อนการปฏิรูปโดยการเสนอแนะนโยบาย ดำเนินการเพื่อสร้างความปรองดองและสมานฉันท์ระหว่างคู่ขัดแย้งและระหว่างประชาชน ที่สำคัญคือมีหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการสร้างความปรองดองโดยให้คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานรัฐต้องปฏิบัติตาม

นายกษิต ภิรมย์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) อภิปรายในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมีอำนาจเหนือกว่าฝ่ายบริหารที่จะมาจากการเลือกตั้ง ดังนั้น การบอกว่าคณะกรรมการชุดนี้ไม่ใช่ คปป.ซ่อนรูปจึงเป็นการหลอกตัวเองหรือเปล่า ทั้งแผนยุทธศาสตร์ชาติไม่มีอะไรที่เป็นส่วนร่วมของประชาชนเลย แต่เป็นการเสริมอาณาจักรของข้าราชการเท่านั้น เมื่อ ครม. จะทำแผนยุทธศาสตร์ชาติอยู่แล้ว ตนไม่เห็นว่าการออก พ.ร.บ. นี้จะเป็นหน้าที่ใดๆของ สปท. หรือของกรรมาธิการ ควรเอาเรื่องนี้ออกไปจากสภา ขณะเดียวกันขอเตือนสติเพื่อนสมาชิกว่าเรามาเพื่อปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นของประชาชน ไม่ใช่เสแสร้งว่าปฏิรูปแล้วเสริมอำนาจของข้าราชการ กระจุกอยู่ในส่วนกลางหรือแค่ใน กทม. เท่านั้น และเราไม่ได้มาเพื่อปรับปรุงให้ขยายอาณาจักรของข้าราชการ

29 อรหันต์อำนาจเหนือ ครม.

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบรองประธานคณะกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติทั้งหมด 29 คน เป็นนายทหาร-ตำรวจ 11 คน และส่วนใหญ่เคยร่วมงานกับรัฐบาล คสช. อีกส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มนายทุนที่ร่วมงานกับรัฐบาล คสช. มาตลอด และมี 6 รายชื่อที่ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีในปัจจุบัน ซึ่งกรรมการจากการแต่งตั้งโดย ครม. จะมีวาระ 5 ปี และสามารถแต่งตั้งเพิ่มได้อีก 5 คน โดยรายชื่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 29 คนมีดังนี้

กรรมการโดยตำแหน่ง 17 คนคือ 1.นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 2.ประธานสภาผู้แทนราษฎร รองประธานคนที่ 1 นายพรเพชร วิชิตชลชัย 3.ประธานวุฒิสภา รองประธานคนที่ 2 (ยังไม่มีตำแหน่งประธานวุฒิสภา) 4.รองนายกฯหรือรัฐมนตรีที่นายกฯมอบหมาย เป็นรองประธานคนที่ 3 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ 5.ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล 6.ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ 7.ผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท 8.ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ 9.ผู้บัญชาการทหารอากาศ พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง 10.ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา 11.เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ

12.ประธานกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา 13.ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ 14.ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

นายกลินท์ สารสิน 15.ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายเจน นำชัยศิริ 16.ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก และ 17.ประธานสมาคมธนาคารไทย นายปรีดี ดาวฉาย

กรรมการที่ ครม. แต่งตั้ง 12 คน ประกอบด้วย 1.พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี 2.นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี 3.นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี 4.นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 5.พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 6.นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม 7.นายกานต์ ตระกูลฮุน ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการบริหารราชแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ ป.ย.ป. / กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน 8.นายชาติศิริ โสภณพนิช ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ ป.ย.ป. / กรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ 9.นายบัณฑูร ล่ำซำ ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ ป.ย.ป. / กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน 10.นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ ป.ย.ป. 11.นายศุภชัย พานิชภักดิ์ ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ ป.ย.ป. และ 12.นายพลเดช ปิ่นประทีป กรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข

ที่น่าสนใจคือคณะกรรมการทั้ง 29 คนเป็นผู้ชายทั้งหมด และมีอายุรวมกันกว่า 1,800 ปี หรือเฉลี่ย 63 ปี คือพ้นวัยเกษียณหมดแล้ว โดยเกินครึ่งเป็นทหารกับนายทุน ซึ่งมีคำถามต่อว่าตามอายุเฉลี่ยชายไทยปัจจุบันที่ 71 ปี จึงไม่น่าจะมีกรรมการยุทธศาสตร์ชาติชุดนี้ที่จะมีอายุยืนจนถึงวันที่ “ยุทธศาสตร์ชาติ” บังคับใช้จนครบ 20 ปีเลย

20 ปีภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ซึ่งเกาะติดยุทธศาสตร์ชาติ ถือว่าเรื่องยุทธศาสตร์ชาติเกี่ยวข้องกับอนาคตของคนทั้งชาติ จึงไม่ควรเป็นความลับ แม้แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 ก็เขียนว่าต้องจัดทำโดยรับฟังความคิดเห็นประชาชน แต่ประชาชนก็ไม่เคยมีส่วนร่วม และยังเหมือนทำอย่างเป็นความลับอีก โดย iLaw ได้สรุปปัญหาที่พบดังนี้

1.คนที่มีอำนาจเขียนยุทธศาสตร์ชาติคือคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 34 คน ประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่ง 17 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 17 คนที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้น โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ จะเห็นว่า คสช. คือผู้เขียนยุทธศาสตร์ชาติ

2.เมื่อยุทธศาสตร์ชาติใช้บังคับแล้ว จะมีผลให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องแถลงนโยบายและเสนองบประมาณรายจ่ายประจำปีให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ จึงกล่าวได้ว่ากรอบที่ยุทธศาสตร์ชาติกำหนดไว้สำคัญกว่านโยบายของพรรคการเมืองที่ประชาชนเป็นผู้เลือกมา

3.ยุทธศาสตร์ชาติตัวจริงไม่ได้ร่างขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 2560 เท่านั้น แต่แอบจัดทำไว้ก่อนแล้วโดยคณะกรรมการชุดหนึ่งที่ตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีจำนวน 22 คน เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 ซึ่งร่างฉบับที่เขียนไว้ก่อนแล้วก็ไม่เปิดเผยให้ประชาชนได้รับรู้ มีเพียงสรุปย่อที่เผยแพร่อยู่บ้างตามเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการหลายแห่ง

4.ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เพราะ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเขียนรับรองไว้ว่า การจัดรับฟังความคิดเห็นที่ได้ทำไปก่อนหน้านี้ให้ถือว่าได้รับฟังความคิดเห็นไปแล้ว

แผนยุทธศาสตร์ที่ไม่มียุทธศาสตร์

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) และอดีตกรรมการคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด เขียนบทความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว (2 กันยายน 2560) วิจารณ์แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีตอนหนึ่งว่า ถึงจะไม่ชอบ ไม่คิดว่าควรจะมีแผนในลักษณะนี้ แต่ถึงวันนี้คงหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว ได้แต่หวังว่าผู้ที่เกี่ยวข้องจะได้ระมัดระวัง ลดอัตตา ลดอคติ หรือแม้แต่อุดมคติใดๆ เพราะอนาคตชาติอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเพราะเรื่องนี้ทีเดียว

การทำแผนยุทธศาสตร์ชาตินี้เป็นเรื่องสำคัญมาก และเป็นดาบสองคมที่ผู้จัดทำต้องคำนึงถึงคมที่จะบาดตัวให้ดีตั้งแต่เริ่มต้น หาไม่แล้วแทนที่จะใช้ฟาดฟันอุปสรรคกลับจะทำร้ายประเทศให้สาหัสได้เลย แทนที่จะเป็นคบไฟนำทางให้ชาติ อาจกลายเป็นโซ่ตรวนล่ามชาติไปแทน

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว (28 เมษายน 2560) ให้ความเห็นแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีตอนหนึ่งว่า การกำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ถูกต้องทำให้มีทิศทางที่ชัดเจนว่าประเทศจะไปทางไหน เพราะเรามีทรัพยากรจำกัด ไม่สามารถทำทุกอย่างไปเสียทั้งหมดได้ แต่แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีกลับไม่มีทิศทาง จะทำไปเสียทั้งหมด ภาคเกษตรกรรมอย่างไรก็ยังเป็นจุดแข็งของประเทศ กลับไม่เน้น ไม่พูดถึงเลยในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ไม่มีพูดถึงในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในแต่ละฉบับ ซึ่งเป็นแผนระดับรองลงมา

“ผมไม่ได้วิจารณ์แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เหมือนที่คนส่วนใหญ่วิจารณ์ว่า 20 ปีอาจยาวไป เพราะโลกเปลี่ยนตลอดเวลา หากกำหนดยุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง 20 ปีก็ยังไม่เปลี่ยนครับ เช่น ภาคเกษตรกรรมกับการท่องเที่ยว ถามว่าอีก 20 ปี 2 เรื่องนี้จะมีความสำคัญต่อประเทศไทยน้อยลงไหมครับ ผมไม่ทราบว่ารัฐบาลใช้เงินไปเท่าใดในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่บอกได้คำเดียวว่าเสียดายเงินจริงๆครับ”

ประชาธิปไตยไม่ตายก็พิการ

นายโชคชัย สุทธาเวศ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิเคราะห์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีใน “ประชาไท” ตอนหนึ่งว่า ตามรัฐธรรมนูญนั้นนโยบายรัฐบาลสำคัญกว่ายุทธศาสตร์ชาติ เพราะประเทศประชาธิปไตยต้องมีรัฐบาลบริหารประเทศ มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา และต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามที่แถลงไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉบับปี 2540 ก็มีฐานะเป็นยุทธศาสตร์ชาติ (ในความหมายของ คสช.) อยู่แล้ว แต่ คสช. และพรรคพวกมองไม่เห็นโดยบริสุทธิ์ใจหรือแสร้งเป็นมองไม่เห็น ที่ประเทศพบกับอุปสรรคในการทำตามยุทธศาสตร์ชาติก็เพราะการรัฐประหาร 2 ครั้ง คือปี 2549 และ 2557

แม้แต่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ปี 2560 ก็บัญญัติในมาตรา 64 หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐไว้ว่า บทบัญญัติในหมวดนี้เป็นแนวทางให้รัฐดําเนินการตรากฎหมายและกําหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดิน

ยุทธศาสตร์ชาติไม่ใช่หัวใจสำคัญของการบริหารประเทศตามความต้องการพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ กลับให้การทำยุทธศาสตร์ชาติสอดคล้องกับแนวนโยบายแห่งรัฐตามที่รัฐธรรมนูญให้ความสำคัญไว้เป็นพิเศษ แต่รัฐบาล คสช. กลับให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์มากกว่า อีกทั้งการจะแก้ไขแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติก็เป็นไปได้ยาก เพราะกำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องไปขอความเห็นชอบต่อรัฐสภา ไม่ว่าแก้ไขเพียงด้านเดียวหรือหลายด้าน บางส่วนหรือทั้งหมด จึงไม่ต่างกับการบังคับรัฐบาลประชาธิปไตยให้ไปขออนุญาตแก้ไขสาระของนโยบายรัฐบาลที่ปรากฏในรูปภาษาแบบยุทธศาสตร์ชาติกับองค์คณะที่ไม่มีหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งขัดกับหลักการประชาธิปไตยที่รัฐบาลเพียงแถลงนโยบายให้สภาผู้แทนราษฎรทราบก็เพียงพอแล้ว

นายโชคชัยยังตั้งข้อสังเกตว่า ประเด็นที่ไม่พบในกฎหมายคือ หากยุทธศาสตร์ชาติกำหนดมาไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน ขาดความแม่นยำ เลือกปฏิบัติไปในทางที่ขัดแย้งกับสิทธิมนุษยชนของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ เพ้อฝันเกินไป หรือทำไม่ได้เพราะสาระของยุทธศาสตร์เองที่ไม่ได้เรื่อง มิใช่ผู้ปฏิบัติเป็นผู้ผิด คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติผู้นำเสนอเรื่องนี้ต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาจะพร้อมต่อการรับผิดกันอย่างไรหรือไม่?

ผลกระทบระยะยาวของยุทธศาสตร์ชาติจึงเป็นการทำลายความตื่นตัวของประชาชนตามหลักการปกครองที่ประชาชนเป็นใหญ่ ทำให้ประชาธิปไตยถ้าไม่ตายก็พิการ ทั้งยังอาจได้ยุทธศาสตร์ที่หลงทิศผิดทาง ไม่คุ้มกับการลงทุนลงแรง เวลา สติปัญญาและจิตใจ แต่อาจได้อะไรกลับมาที่ไม่คาดคิด ซึ่งเผด็จการไม่เคยพร้อมต่อการรับผิด เพราะผู้สติเฟื่องสูงสุดนิรโทษกรรมให้ตนเองไว้แล้วนั่นเอง!

เดินตามตูดผู้นำ 20 ปี ชาติพ้นภัย?

ยุทธศาสตร์ชาติจึงถูกมองว่าไม่ต่างกับ โซ่ตรวน ผูกมัดประเทศและประชาชน หากรัฐสภาและรัฐบาลในอนาคตไม่ทำตามก็อาจถูกลงโทษหนัก ทั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเองว่าต้องกำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกันใน 20 ปีข้างหน้าและต้องเคารพความเห็นต่าง แต่ก็ถูกหลายฝ่ายถามกลับว่า แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ฟังความเห็นของคนอื่นบ้างหรือไม่? แม้แต่ยุทธศาสตร์ชาติที่เป็นเรื่องใหญ่มากๆยัง มัดมือชก ให้ทุกองค์กรต้องทำตาม 20 ปี ซึ่งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติส่วนใหญ่เป็นกลุ่มทุน ขุนนาง และขุนศึก อายุเฉลี่ยวันนี้ปาเข้าไป 71 ปี ซึ่งถูกตั้งคำถามว่าเป็นแผนการสืบทอดอำนาจหรือไม่ อีก 20 ปีจะอายุปากันไปเท่าไร จะอยู่กันถึงหรือไม่ วิสัยทัศน์ที่วางไว้วันนี้จะสอดคล้องกับวิถีชีวิตในเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปในอนาคตหรือไม่?

พล.อ.ประยุทธ์ย้ำว่า การพัฒนาประเทศในอีก 20 ปีข้างหน้าจะต้องเดินตามยุทธศาสตร์ ซึ่งตัวเองจะคอยนั่งคุมเกมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติในฐานะผู้นั่งอยู่หัวโต๊ะ หมายความว่าแม้ไม่ได้ สืบทอดอำนาจเป็นนายกฯคนนอกตามที่หลายฝ่ายคาดไว้ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ยังสามารถ สถาปนาอำนาจพิสดารให้คนอื่นต้องทำตามสิ่งที่ตนและพวกต้องการผ่าน ยุทธศาสตร์ชาติ ไปอีกอย่างน้อย 2 ทศวรรษ

หลายฝ่ายจึงไม่เชื่อว่าจะทำให้บ้านเมืองมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนได้จริงภายใต้ ประชาธิปไตยแบบไทยๆภายใต้ กลุ่มอำนาจนิยมที่สงวนไว้เฉพาะเผ่าพันธุ์ที่มาจากการสถาปนาตนเองจากอำนาจพิสดาร ซึ่งไม่รู้ว่าแล้วประชาชนอยู่ตรงไหน? อนาคตประเทศและอนาคตประชาธิปไตยไทยจะเป็นอย่างไร?

นี่เรายังหลงอยู่ในยุค “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” ในบรรยากาศ “ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว” กันอีกหรือ?

สรุปว่าเราต้องเชื่อจริงๆใช่มั้ยว่า เดินตามตูด “ทั่นผู้นำ” เท่านั้น แล้วอีก 20 ปีข้างหน้า ชาติจึงจะพ้นภัย!!??


You must be logged in to post a comment Login