วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

วิธีคิดค่าเสียหายปิดเหมืองทอง / โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย

On September 7, 2017

คอลัมน์ : โลกอสังหาฯ
ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

ค่าความเสียหายกรณีสั่งปิดเหมืองทองคำพิจิตรว่ากันว่าประมาณ  30,000 ล้านบาท ถ้าจริงจะต้องไปเก็บกับใครก็เรื่องหนึ่ง แต่ที่เกี่ยวกับการลงทุนคือวิธีการคิดค่าเสียหาย สมมุติว่าดอกเบี้ยปีหนึ่ง 7% ระยะเวลาที่สมมุติไว้ให้ทำเหมืองต่อได้ 15 ปี ก็จะเป็นเงินกำไรที่เขาควรได้รับแต่ไม่ได้รับเพราะถูกปิดเป็นเงินเท่ากับ 25.12902201

เอาเงิน 30,000 ล้านบาทมาตั้ง หารด้วย 25.12902201 จะเป็นเงิน 1,193.838741 บาท คงที่โดยเฉพาะในปีแรกต่อเนื่องเป็นเวลา 15 ปี โดยมีดอกเบี้ยสมมุติที่ 7% ที่น่าเป็นห่วงคือเงินชดเชย ผมเคยให้ความเห็นไว้ว่า นักวิเคราะห์ชี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจต้องใช้เงินส่วนตัวนับหมื่นล้านชดใช้ปมมาตรา 44 ปิดเหมืองทองอัคราเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2559 หรือ คสช. ต้องชดเชยค่าเสียหาย เพราะถือเป็นการกระทำที่ผิดพลาดของตนเองและคณะ

กรณีข้างต้นชี้ให้เห็นว่าถ้าบริษัททำเหมืองมีรายได้สุทธิหรือกำไรปีละ 1,193.8 ล้านบาท และมีรายได้อย่างนี้ทุกปี จะเพิ่มพูนเป็นเงิน 30,000 ล้านบาทเมื่อสิ้นสุดอายุของสัญญา สมมุติอีก 15 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2575) ก็จะเป็นเงิน 30,000 ล้านบาทเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม รายได้ของกิจการอาจไม่ได้มีแค่ที่คำนวณ ความเป็นจริงอาจสูงกว่านี้ ซึ่งต้องดูจากงบการเงินของบริษัทด้วย ถ้าคิดจากตัวเลขจริงในปัจจุบันแสดงว่าบริษัทมีรายได้สุทธิสูงกว่านี้แน่นอน โดยคำนวณจากสูตร = (1-(1/((1+i)^ปี))/i ให้ i คือ 7% ส่วนปีคือ 15 ปี ผลจะออกมาดังนี้ = (1-(1/((1+7%)^15)))/7% = 9.107914005

เอาเงิน 30,000 ล้านบาทมาตั้ง หารด้วย 9.107914005 ก็จะเป็นเงิน 3,293.838741 บาท แสดงว่า ณ ปัจจุบัน บริษัทอาจมีกำไรปีละ 3,293.8 ล้านบาท แต่ถ้าไม่ได้ทำธุรกิจไป 15 ปี สิ่งที่พึงจะได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายไปแล้วคือกำไรเป็นเงินปีละ 3,293.8 ล้านบาท ก็จะรวมกันเป็นเงิน 30,000 ล้านบาท ณ มูลค่าปัจจุบันนั่นเอง การสูญเสียโอกาสเหล่านี้ไปเท่ากับค่าใช้จ่ายที่ คสช. ต้องรับผิดชอบ

อย่างไรก็ตาม ตามมาตรา 44 สามารถออกคำสั่งได้โดยหัวหน้า คสช. ไม่ต้องรับผิดชอบทั้งทางแพ่งและทางอาญา แต่นั่นเป็นสิ่งที่บังคับใช้ในกรณีประเทศไทย ส่วนกรณีระหว่างประเทศอาจไม่สามารถอ้างมาตรา 44 ได้ โดยนัยนี้เราจึงต้องจ่ายเงินค่าเสียหายให้กับบริษัท ซึ่งหากนำเงินภาษีอากรของประชาชนไปจ่ายก็เท่ากับสร้างความเสียหายแก่ประชาชนได้

กรณีนี้ผมจึงขอเสนอให้ทำประชามติให้ประชาชนในท้องถิ่นเสนอความเห็น ซึ่งเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการเปิดเหมืองอย่างแน่นอน ดังนั้น หากรัฐบาลยึดถือตามประชามตินี้ก็ให้บริษัทกลับมาทำเหมืองใหม่ ก็ไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย ส่วนเหมืองไม่ได้ทำมาเกือบปีก็ให้ยืดอายุสัมปทานไปอีก 1 ปีก็น่าจะไม่เป็นความเสียหายแก่ใคร นับว่า win win ทั้งสองฝ่ายนั่นเอง

ถ้าคิดในแง่ความคุ้มค่า ถ้าความเสียหายของบริษัทสูงถึง 30,000 ล้านบาทจริง การมีเหมืองก็ไม่ได้สร้างความเสียหายถึงขนาดนั้น ที่ว่ามีคนตาย เช่น กรณีนายสมคิด ธรรมพเวช ภริยาของผู้ตายก็แจ้งว่า จากผลการชันสูตรศพสามีระบุว่าเสียชีวิตจากสาเหตุปอดอักเสบบวมและภาวะลิ่มเลือดอุดตันในเนื้อปอด ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการทำงานในเหมืองแร่ทองคำชาตรี แต่ยังมีผู้ไม่หวังดีแอบอ้างการเสียชีวิตของสามีตนนำไปเป็นข้ออ้างในการต่อต้านเหมืองแร่ทองคำชาตรีอยู่อีก นอกจากนี้ยังมีการไปแอบอ้างรับบริจาคเงินด้วย โดยที่ตนเองและครอบครัวไม่ได้อนุญาต และไม่ได้รับเงินที่รับบริจาค

หรือกรณีนายเฉื่อย บุญส่ง เป็นอีกรายที่สุดการลวงโลก พวกเอ็นจีโอบอกว่านายเฉื่อยตายเพราะมลพิษของเหมือง แต่ฟังข่าวดีๆ นายเฉื่อยตายเพราะโรคตับแข็ง เป็นต้น

จึงอาจกล่าวได้ว่าไม่มีใครเสียชีวิตเพราะเหมือง ถ้ามีมลพิษคนงานเหมืองคงตายก่อนหรือรีบลาออกไป แต่ในความเป็นจริงคนงานก็อยู่ในบริเวณรอบเหมือง ที่ผ่านมามีแต่คนพยายามสร้างเรื่องเท็จ ถ้ามีการเสียชีวิตจริงคงถูกแห่ประจานไปแล้ว แต่คนงานเหมืองก็ยังแข็งแรงดี ยังสามารถบริจาคโลหิตได้ ถ้ามีโลหะหนักจริงๆคงไม่มีใครรับบริจาค แม้แต่คนขับรถลำเลียงสินแร่ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้หญิง ส่วนที่เป็นผื่นคันคงเป็นเพราะบางคนไปฉีดยาฆ่าแมลงมาแล้วไม่ได้ล้างตัวให้สะอาด เป็นต้น

หลักฐานหนึ่งที่น่าสนใจคือ คนงานเหมืองนับพันๆคนที่พิจิตรไม่มีใครเป็นโรค ยังสามารถบริจาคโลหิตได้ทุกระยะ 3 เดือน สารพิษที่กล่าวถึงได้แก่สารหนูนั้น ร่างกายคนเราสามารถขับออกได้เองภายใน 2-3 วัน ในอาหารทะเลก็มีสารหนู แม้พิจิตรจะไกลจากทะเล แต่ก็อาจได้รับสารหนูจากกุ้งแห้ง กะปิ ฯลฯ ถ้ากินมากๆและต่อเนื่องก็จะตรวจพบได้ในปัสสาวะ แมงกานีสในร่างกายขาดไม่ได้ มีมากในผักสีเขียว ซึ่งพบในชาวมังสวิรัติมาก แต่ไม่มีการตั้งเกณฑ์ว่าควรมีในเลือดเป็นปริมาณเท่าไร กรมอนามัยเคยตรวจแล้วพบว่าไม่เกี่ยวกับการทำเหมือง จึงถือเป็นการป้ายสีโดยไร้เหตุผล และถ้าหากมีไซยาไนด์ก็ปรากฏว่านกยังไปทำรังที่บ่อกักเก็บแร่ได้

เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องการเมือง เรื่องเอ็นจีโอ เป็นเรื่องที่ต้องว่ากันไป สำหรับการคิดถึง How to คำนวณค่าความเสียหายก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราๆท่านๆในฐานะนักลงทุนพึงทราบไว้


You must be logged in to post a comment Login